เมื่อความจริงไล่ล่าอภิสิทธิ์ ตอนที่ 5 (16/2/2554)

เมื่อความจริงไล่ล่าอภิสิทธิ์ ตอนที่ 5 (16/2/2554)

 
เมื่อความจริงไล่ล่าอภิสิทธิ์ ตอนที่ 5

(16/2/2554)




“เอาไมเคิล แจ็คสันคืนไป . . . เอาพระนารายณ์คืนมา”
       เพลงทับหลัง ของคาราบาว พ.ศ. 2531
       

“เอาอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะคืนไป . . . เอาพระวิหารของไทยคืนมา”
       เพลงที่ยังไม่มีชื่อ ของพันธมิตรฯ และผู้รักชาติ พ.ศ. 2554
       ไม่ผูกขาดหากคนพรรค ปชป.จะร้องไปด้วยกัน



       
       ประเทศไทยจะปล่อยให้อยู่ในความรับผิดชอบของอภิสิทธิ์ในฐานะนายกฯ ได้อีกต่อไปหรือไม่ เพราะข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่ผ่านมาในช่วงเวลา 2 ปีเศษไม่ได้สนับสนุนว่าอภิสิทธิ์มีความสามารถหรือมีสภาวะความเป็นผู้นำแต่อย่างใดไม่ จะไว้ใจคนแบบนี้ให้ดูแลประเทศชาติได้อย่างไร
       

       อภิสิทธิ์จึงได้กลายเป็น “อับปรี-สิทธิ์” ตามขบวนล้อการเมืองของนักศึกษา ม.ธ.
       

       หากอภิสิทธิ์ความจำไม่สั้น ต้นปี พ.ศ. 2552 ช่วงที่รับตำแหน่งมาใหม่ๆ การก่อการจลาจลล้มการประชุมสุดยอดอาเซียน+3 และ +6 โดยกลุ่มคนเสื้อแดงที่ทักษิณบงการ แม้ไม่มีคนตาย แต่การประชุมสุดยอดอาเซียนที่พัทยาก็ต้องล้มลงอย่างไม่เป็นท่า ผู้นำชาติต่างๆ ที่มาประชุมต้องวิ่งหนีม็อบเสื้อแดงกระทบกระเทือนต่อเกียรติภูมิของประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพและแสดงความอ่อนด้อยในการบริหารจัดการต่อหน้าผู้นำหลายๆ ประเทศอย่างชัดเจน
       

       ปล่อยให้คนอย่างฮุนเซนตั้งแต่เข้ามาเหยียบแผ่นดินไทย ใช้แผ่นดินเจ้าภาพการประชุมฯ มาด่ากราดเจ้าภาพ ทำให้นายกฯ ไทยกลายเป็น “เด็กถือขวดนม” ในสายตาของฮุนเซนและนานาชาติ แถมยังต้องกล้ำกลืนความอัปยศจากการที่ฮุนเซนนอกจากปฏิเสธหมายจับจากศาลไทยที่จะไม่ส่งตัวทักษิณที่อาศัยอยู่ในกัมพูชามาดำเนินคดีในไทย โดยยังแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาฯ เป็นการ “ตบหน้า” เสียอีก
       

       แม้การลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตโดยเรียกทูตไทยกลับจากกัมพูชา การขอมติ ครม.ยกเลิกบันทึกความเข้าใจฯ พ.ศ. 2544 ดูจะเป็นมาตรการตอบโต้ที่สมน้ำสมเนื้อ แต่ก็มิได้แก้ไขความสูญเสียที่เกิดกับชื่อเสียงของประเทศไทยที่เสียไปแล้วได้
       

       การก่อการร้ายในช่วงมีนาคมถึงพฤษภาคมปีถัดมา เป็นช่วง 2 เดือนของความไร้ซึ่งขื่อแปในบ้านเมืองอย่างแท้จริง การก่อความไม่สงบโดยใช้กำลังและอาวุธของกลุ่มคนเสื้อแดงโดยเสรีที่แทบจะทำให้ประเทศไทยทั้งประเทศย่อยยับด้วยน้ำมือของคนเพียงหยิบมือเดียว ล้วนเป็นหลักฐานของความล้มเหลวที่เห็นเป็นประจักษ์ชัดเจนว่า อภิสิทธิ์และรัฐบาลของเขาไร้ความสามารถอย่างสิ้นเชิงในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการรักษาความมั่นคงของชาติ
       

       ผิดครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2552 ยังเป็นครู แต่ผิดซ้ำครั้งสองในปี พ.ศ. 2553 ถือว่าให้อภัยไม่ได้ 
       

       อภิสิทธิ์และรัฐบาลของเขาจะปฏิเสธความรับผิดชอบไปได้อย่างไร มิใช่เพราะไร้กฎหมาย ไร้เครื่องมือ ไร้คน หากแต่ไร้ซึ่งความกล้าหาญในการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง การทะลึ่งมาเปิดการเจรจากับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้ายในภายหลังบนเงื่อนไขที่จะยุบสภาเลือกตั้งใหม่เป็นการสมยอมกับอำนาจอันธพาลทางการเมืองที่สังคมทั่วโลกยอมรับหรือไม่ แต่ท้ายสุดก็หลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้อง ใช้กำลัง ใช้อาวุธ เพื่อรักษาความสงบโดยไม่สามารถเจรจาได้อีกต่อไป มีคนตายและบาดเจ็บทั้งสองฝ่ายมิใช่เฉพาะแต่ฝ่ายก่อความไม่สงบแต่เพียงฝ่ายเดียวเพราะอภิสิทธิ์และรัฐบาลของเขาไม่ทำหน้าที่
       

       หากอภิสิทธิ์ ไม่เอาหน้าสร้างภาพเป็นนักเจรจาไม่นิยมความรุนแรง ไม่เล่นการเมืองมากไป ไม่อ่อนแอต่อความไม่ถูกต้อง จะเกิดเหตุการณ์จลาจลจนเกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เป็นบาดแผลที่ฉกรรจ์ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยเช่นนี้หรือไม่
       

       แต่ความเสียหายที่เกิดจากกลุ่มคนเสื้อแดงโดยการบงการของทักษิณ 2 ครั้ง 2 คราวที่ผ่านมา ก็ยังไม่เท่ากับการเสียดินแดนและเสียอธิปไตยไทยให้กับกัมพูชาในปัจจุบัน การออกมาชุมนุมจึงเป็นผลมาจากการปฏิเสธข้อเรียกร้อง 3 ข้อของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ให้ ยกเลิกบันทึกความเข้าใจฯพ.ศ. 2543 ถอนตัวจากการเป็นสมาชิกมรดกโลก และผลักดันชาวกัมพูชาที่ล้ำแดนเข้ามาอาศัยในดินแดนไทย ซึ่งได้เตือนล่วงหน้ามาเป็นเวลาเนิ่นนานมาแล้วให้ปฏิบัติเพื่อมิให้เสียดินแดนและอธิปไตยไทย
       

       อภิสิทธิ์มีสิทธิที่จะไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของพันธมิตรฯ หรือใครก็ตาม แต่ก็ต้องมีเหตุผลหรือประจักษ์พยานที่ดีกว่าที่นำมาหักล้าง แต่ด้วยเวลาที่ผ่านมาก็ไม่ปรากฏข้อโต้แย้งที่เป็นสาระสำคัญที่สามารถนำมาหักล้างได้แต่อย่างใด
       

       การเคลื่อนไหวโดยนัดชุมนุมของพันธมิตรฯ เพื่อกดดันรัฐบาลอภิสิทธิ์ให้ทำหน้าที่ปกป้องดินแดนและอธิปไตยตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.54 ที่ผ่านมาจึงอาจกล่าวได้ว่า
       

       เป็นจุดเริ่นต้นของจุดจบของอภิสิทธิ์โดยแท้ เพราะยังมิทันที่จะถึงเวลานัดก็เกิดเหตุการณ์จับคนไทย 7 คนในดินแดนไทยไปขึ้นศาลกัมพูชา
       

       เป็นความจริงที่เป็นข้อพิสูจน์ที่มาก่อนเวลาว่าอภิสิทธิ์และรัฐบาลของเขาไร้ซึ่งความสามารถที่จะปกป้องคนไทยและอธิปไตยของประเทศไทยด้วยวิธีการของเขา
       

       เป็นข้อพิสูจน์ที่ตรงกันข้ามกับที่อภิสิทธิ์เชื่อและพยายามจะยืนยันความเชื่อนั้นกับสาธารณชน เพราะว่าบันทึกความเข้าใจฯ พ.ศ. 2543 ที่อภิสิทธิ์ยืนยันอยู่ตลอดเวลาว่ามีประโยชน์ต่อประเทศไทยช่วยรักษาดินแดนและอธิปไตยนั้นไม่มีประจักษ์พยานยืนยันว่าเป็นความจริงแต่อย่างใด
       

       ฝ่ายกัมพูชาประสงค์จะยึดถือเอาเฉพาะในส่วนที่เป็นประโยชน์จากบันทึกความเข้าใจฯ พ.ศ. 2543 นั่นคือการใช้เส้นเขตแดนที่ปรากฏตามแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ซึ่งเป็นหลักฐานเพียงชิ้นเดียวนับตั้งแต่อนุสนธิสัญญาปี ค.ศ. 1904 ที่ฝ่ายไทยลงนามยอมรับรอง แต่กัมพูชาก็มิได้เคารพข้อตกลงอื่นๆ แต่อย่างใด แล้วจะเป็นบันทึกความเข้าใจฯ ไปได้อย่างไรในเมื่อฮุนเซนก็ไม่เคารพ ไม่เข้าใจ ขณะที่อภิสิทธิ์ก็เข้าใจว่าฮุนเซนเข้าใจเหมือนกับตนเองทั้งที่ไม่ใช่ แล้วทำไมไทยจึงไม่ยกเลิก
       

       การปะทะระหว่างไทย-กัมพูชาครั้งล่าสุดเกิดที่บริเวณหมู่บ้านภูมิซรอล มิใช่ที่บริเวณหมู่บ้านโนนหมากมุ่นที่ไม่ได้ใช้สันปันน้ำเป็นเงื่อนไขในการกำหนดเส้นเขตแดน การใช้สันปันน้ำที่เขาพระวิหารเป็นเส้นเขตแดนจึงเป็นเสมือนกำแพงธรรมชาติที่ปกป้องชาวไทยจากการรุกราน แต่การปล่อยให้ฝ่ายกัมพูชาสร้างถนนขึ้นมาบนพื้นที่เขาพระวิหาร ยึดพื้นที่ 4.6 ตร.กม.รอบปราสาทพระวิหารของไทยที่เคยล้อมรั้วเอาไว้ และถอนทหารไทยออกจากภูมะเขือซึ่งล้วนเป็นดินแดนไทย ทำให้กัมพูชาสามารถขึ้นมาอยู่ในพื้นที่สูงจากเดิมที่ต้องอยู่ข้างล่างใต้หน้าผาใต้แนวเส้นสีแดงรูปซ้าย เป็นการทำให้คนไทยในบริเวณหมู่บ้านภูมิซรอลตกอยู่ในอันตรายจากการระดมยิงจากฝ่ายกัมพูชาที่อยู่ในภูมิประเทศที่สูงข่มได้โดยง่าย
       

       อภิสิทธิ์จะทำจดหมายประท้วงการสร้างถนนขึ้นมาบนปราสาทพระวิหารเพิ่มขึ้นอีกสักฉบับหรือไม่ หลังจากที่ประท้วงไปแล้วหลายฉบับนับแทบไม่ถ้วน
       

       อภิสิทธิ์จะยังยึดบันทึกความเข้าใจฯ พ.ศ. 2543 อีกต่อไปหรือไม่ ในเมื่อมีข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนว่ากัมพูชามิได้มีความเข้าใจเหมือนที่ท่านอ้างแต่อย่างใด


 



 อภิสิทธิ์จะกล้าสั่งการให้ทหารไทยและคนไทยต่อสู้ด้วยกำลังเพื่อปกป้องประเทศและอธิปไตยโดยการผลักดันให้ทหารและพลเรือนกัมพูชาออกจากดินแดนไทยหรือไม่ ในเมื่อฝ่ายกัมพูชารุกรานขึ้นมาบนดินแดนไทยข้ามแนวสันปันน้ำตามรูปซ้ายแล้วยิงใส่โรงเรียนภูมิซรอลตามรูปขวา หรือจะต้องรอเจรจากับกัมพูชาเพื่อขอใช้ดินแดนตนเอง? ไม่คิดบ้างหรือว่าโรงเรียนที่ถูกระเบิดจะทำให้คนไทยสะเทือนใจกับการกระทำของอภิสิทธิ์อย่างไร?
       

       อภิสิทธิ์กำลังจะทำผิดครั้งที่สาม ในเรื่องดินแดนและอธิปไตยที่ไม่มีใครให้อภัยได้

       
       ผู้นำต้องแสวงหาการยอมรับจากประชาชนด้วยการสร้างความไว้วางใจ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยศรัทธาที่ประชาชนมีต่อผู้นำของตนเอง ตัวอย่างที่สามารถเข้าใจได้ง่ายๆ ก็คือ การประพฤติตนให้มีคุณธรรม เช่น การใช้เศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มิได้ทรงแนะนำหากแต่ปฏิบัติควบคู่ให้เห็นไปด้วย หรือการรักษาศีลของพระสงฆ์ที่ทำให้พุทธศาสนิกชนไว้วางใจในความเป็นผู้ทรงศีลกราบไหว้ได้อย่างสนิทใจ แล้วอภิสิทธิ์ได้ทำอะไรไว้บ้างเมื่อมีตำแหน่งนอกเหนือจากการตระบัดสัตย์ครั้งแล้วครั้งเล่า? จะมีหน้ามาขอความไว้วางใจได้อย่างไร?
       

       การสงครามก็เป็นหน้าที่หนึ่งของรัฐบาล ในปัจจุบันแม้มิได้นำหน้าโดยผู้นำเข้าสู้รบดังเช่นในครั้งโบราณ แต่ผู้นำจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างศรัทธาให้ประชาชนเห็นความจำเป็นการเข้าร่วมสงคราม เชอร์ชิลล์ รูสเวลท์ แธตเชอร์หรือแม้แต่ฮุนเซน ต่างก็ต้องทำ มิเช่นนั้นก็จะประสบกับความพ่ายแพ้ดังเช่นผู้นำสหรัฐฯ ในช่วงสงครามเวียดนาม ที่ไม่สามารถอธิบายได้ว่าครอบครัวคนสหรัฐฯ จะต้องส่งพ่อส่งลูกไปรบเพื่ออะไร
       

       การประพฤติปฏิบัติของผู้นำที่ต้อง ไม่โกหก ไม่ขี้ขลาด และกล้าตัดสินใจ จึงเป็นคุณธรรมที่สำคัญในการสร้างศรัทธาให้กับประชาชนในปกครอง ผู้นำตูนิเซีย อียิปต์ แม้จะสามารถอยู่ในตำแหน่งมาได้อย่างยาวนานด้วยอำนาจที่ตนเองมีอยู่ แต่เมื่อไม่สามารถสร้างศรัทธาให้กับประชาชนจากประพฤติปฏิบัติที่ชอบธรรมได้ก็ไม่สามารถอยู่ต่อในตำแหน่งอีกต่อไปได้แม้แต่เพียงวันเดียว
       

       อภิสิทธิ์ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คุณได้ทำอะไรไว้บ้างให้ประชาชนมีศรัทธาในตัวคุณ นอกเสียจาก “ไม่ฉลาด ขี้ขลาด และตอแหล” มีสักครั้งหรือไม่ในประวัติการบริหารที่อภิสิทธิ์จะเป็น “ฝ่ายรุก” ที่เห็นเป็นประจักษ์ก็คือเป็น “ฝ่ายรับ” กับ “คาดไม่ถึง” อยู่ร่ำไป การจะเรียกร้อง “ความไว้วางใจ” ก็ต้องสร้างศรัทธาขึ้นมาเสียก่อน
       

       ปัญหาในปัจจุบันมิใช่เป็นปัญหาระหว่างประชาชนไทยกับประชาชนกัมพูชา หากแต่เป็นปัญหาเฉพาะผู้นำไทยกับกัมพูชาแต่เพียงลำพังที่ต่างฝ่ายต่างพยายามฉ้อฉลหาประโยชน์จากประเทศตนเอง เพราะต่างฝ่ายต่างก็ไม่ทำหน้าที่อภิบาลรัฐตามหน้าที่ที่ตนเองมี
       

       ประชาชนอียิปต์ไม่ได้ถามสักคำว่า หากไม่เอามูบารัคที่อยู่มานานกว่า 20 ปีแล้วจะเอาใครมาเป็นผู้นำแทน แล้วประชาชนไทยทำไมจึงต้องถามว่า “ไม่เอาอภิสิทธิ์ แล้วจะเอาใคร?” เพราะประเทศไทยสามารถเสียอภิสิทธิ์ไปได้ แต่ไม่สามารถเสียดินแดนให้ใครไปได้แม้แต่เพียงเล็กน้อย





Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้