เมื่อความจริงไล่ล่าอภิสิทธิ์ ตอนที่ 9 (16/3/2554)

เมื่อความจริงไล่ล่าอภิสิทธิ์ ตอนที่ 9 (16/3/2554)


เมื่อความจริงไล่ล่าอภิสิทธิ์ ตอนที่ 9


(16/3/2554) 




คำปราศรัยของเสนีย์ ปราโมช เมื่อ 4 ส.ค. 2479 ที่อภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ในปัจจุบันไม่เคยฟังและสำเหนียกแต่อย่างใด 


       
       “การปกครองบ้านเมืองมี 3 วิธี ด้วยอำนาจ ด้วยอามิส หรือด้วยอุดมคติ การเมืองที่มาด้วยอำนาจ ย่อมโค่นล้มไปด้วยอำนาจ อามิส วันหนึ่งหมดไม่มีจะให้ และให้สักเท่าใดก็มากพอสำหรับผู้รับ อุดมคติเท่านั้นที่จะยั่งยืนอยู่ได้ แม้ตัวผู้ปกครองจะล้มหายตายจากไป สัจจะตามอุดมคติก็จะยังอยู่” 
       


       ประเทศไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองก็ไม่แตกต่างไปจากเหตุการณ์ในปัจจุบันสักเท่าใดนัก เพราะเมื่อญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ลฮาเบอร์และยาตราทัพเข้าประเทศไทยในวันที่ 7 ธ.ค. 2484 รัฐบาลไทยก็ประกาศยอมแพ้ต่อญี่ปุ่นหลังจากนั้น 3 วัน
       


       แต่การประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกาของรัฐบาลไทยเมื่อ 25 ม.ค. 2485 นับว่าเป็นหายนะสำคัญที่รัฐบาลไทยโดยจอมพล ป.พิบูลสงครามได้นำประเทศไทยไปผูกพันกับฝ่ายญี่ปุ่นที่กลายเป็นชาติผู้แพ้สงครามในเวลาต่อมา
       


       สาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยไม่เป็นชาติผู้แพ้สงครามไปกับญี่ปุ่นด้วยก็น่าจะมาจากการที่ทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกาในขณะนั้นคือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช กล้าที่จะไม่ยอมทำตามคำสั่งของรัฐบาลไทยที่ให้ประกาศสงครามกับสหรัฐฯ และยังได้เสนอให้จัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น แต่เมื่อไม่ได้รับการตอบรับจึงประกาศเป็นเสรีไทยดังเช่นบรรดากลุ่มชาติยุโรปที่ดำเนินการเสรีหลังจากพ่ายแพ้สงครามต่อฝ่ายเยอรมนีเมื่อ 12 ธ.ค. 2484 
       


       ผลของการประกาศเสรีไทยในระหว่างสงครามขณะนั้นได้ก่อให้เกิดผลต่อสถานะของประเทศไทยในสายตาของสหรัฐฯ ที่มิใช่เป็นชาติที่เป็นศัตรูในเวลาต่อมาดังแถลงการณ์ของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เมื่อ 20 ส.ค. 2488 ที่กล่าวไว้ว่า “การประกาศสงครามของรัฐบาลไทยต่อสหรัฐฯ เป็นโมฆะเสียเปล่า เพราะเป็นการกระทำผิดต่อรัฐธรรมนูญและเป็นปฏิปักษ์ต่อเจตจำนงของประชาชนชาวไทย . . . ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่รับรู้การประกาศสงครามนั้นและได้รับรองฐานะของทูตไทยในกรุงวอชิงตันเป็นทูตผู้แทนประเทศไทยตลอดมาโดยในเวลาเดียวกัน เราหาได้รับรองฐานะของรัฐบาลไทยที่กรุงเทพฯ ไม่” 
       


       ความกล้าทำงานนอกสั่งของทูตเสนีย์ในขณะนั้น แม้แต่ทูตไทยที่อังกฤษก็ไม่กล้า สุ่มเสี่ยงต่อการเป็นขบถที่มีโทษถึงประหารชีวิต เป็นการแกว่งเท้าเข้าหาเสี้ยนดุ้นใหญ่ที่สุดเพราะขาดการสนับสนุนทั้งจากที่กรุงเทพฯ หรือแม้แต่ที่วอชิงตัน แต่ก็ได้ช่วยให้ประเทศไทยไม่ตกเป็นเหมือนประเทศผู้แพ้สงครามอื่นๆ ที่ต้องถูกประเทศผู้ชนะเข้ามาอารักขา หรืออีกนัยหนึ่งก็คือถูกยึดครองสูญเสียซึ่งอธิปไตยไปอีกกว่า 10 ปี เช่น เยอรมนีหรือญี่ปุ่น
       


       การไม่ประกาศสงครามทำให้สถานทูตไทยในสหรัฐฯ ขณะนั้นเปรียบได้กับตัวแทนรัฐไทยเพียงแห่งเดียวในโลกที่รักษาอธิปไตยของตนเองเอาไว้ได้ในสายตาของสหรัฐฯ และเป็นเงื่อนไขที่เป็นคุณในเวลาต่อมาเมื่อต้องมาเจรจาถอนทหารอังกฤษออกไปจากประเทศไทยเมื่อสงครามสงบเพราะรัฐบาลไทยที่กรุงเทพฯ ได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและประเทศอื่นๆ ยกเว้นสหรัฐฯ
       


       เมื่อญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงคราม ไทยก็ถูกอังกฤษส่งทหารเข้ามายึดครองในฐานะของชาติศัตรูผู้แพ้ภายใต้ข้ออ้างของการปลดอาวุธทหารญี่ปุ่น ทูตเสนีย์จึงได้รับการร้องขอจากรัฐบาลไทยให้กลับมารับตำแหน่งนายกฯ เพื่อเจรจากับอังกฤษเพื่อกอบกู้เอกราชอธิปไตยของไทยคืนมาโดยไม่ต้องตกไปเป็นเมืองขึ้นหรือประเทศในอารักขาของอังกฤษ
       


       อังกฤษได้เสนอให้ทำสนธิสัญญา 21 ข้อที่มีผลให้อังกฤษสามารถเข้ามาควบคุมไทยได้อย่างกว้างขวางทั้ง การสื่อสาร คมนาคม การทหาร เศรษฐกิจ ฯลฯ ไว้นานเท่าใดก็ได้โดยไม่กำหนดระยะเวลาเพื่อแลกเปลี่ยนกับการถอนทหาร ซึ่งหากเซ็นสัญญาดังกล่าวไปแล้ว ไทยก็จะตกเป็นขี้ข้าต่างชาติ แม้อังกฤษจะรับรองว่าจะมีการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม แต่ก็อย่าลืมว่าจะเป็นธรรมในสายตาใคร กฎข้อแรกของการทำสัญญาใดๆ ก็คือ เมื่อมีการแก้ไขสัญญาที่ได้ตกลงลงนามไว้แล้วก็ต้องมีข้อแลกเปลี่ยน การลงนามไปก่อนแล้วค่อยมาแก้ไขทีหลังนั้นเป็นไปได้ยาก
       


       ไทยจึงตกอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบากยิ่ง เพราะรัฐบาลไทยได้ไปประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรอื่นๆ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส ที่ต่างก็ยื่นคำขาดให้ลงนามยอมรับ การเปิดเผยข้อเท็จจริงของสัญญาดังกล่าวต่อสื่อมวลชนสหรัฐฯก่อนกำหนดการลงนามไม่นานจึงเป็นเสมือนอาวุธชิ้นสุดท้ายที่ได้ทำให้สังคมสหรัฐฯ เกิดการวิพากษ์อย่างมากว่า ครอบครัวทหารสหรัฐฯ ไม่ได้มีความประสงค์จะส่งลูกหรือสามีไปตายเพื่อหาเมืองขึ้นให้อังกฤษ ประกอบกับในขณะนั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสภาคองเกรสในการให้ยืมเงินกับอังกฤษ หากอังกฤษพยายามที่จะยึดไทยเป็นเมืองขึ้น สหรัฐฯ ก็ไม่ควรอนุมัติเงินกู้ดังกล่าวให้อังกฤษเพื่อไปล่าเมืองขึ้น อังกฤษจึงจำยอมถอนทหารออกไปจากดินแดนไทยในอีก 3 เดือนต่อมาและไทยจึงรอดมาได้ คำคุกคามว่าไทยเป็นชาติแพ้สงครามจึงได้หายไปไม่ปรากฏในที่ใดอีกต่อไป
       


       นับจาก 1 ม.ค. 2489 ที่อังกฤษและไทยได้ลงนามในสัญญาที่ได้มีการเจรจาต่อรองกันและถอนทหารออกไปจากดินแดนไทย ไม่ทำให้ไทยตกไปเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษจนถึงปัจจุบัน พรรคประชาธิปัตย์ที่เสนีย์ได้ร่วมก่อตั้งขึ้นมากำลังจะประพฤติตนไปในทางที่ทำให้ประเทศไทยต้องเสียดินแดนและอธิปไตยโดยการเชื้อเชิญให้ทหารต่างชาติอินโดนีเซียเพียงหยิบมือเดียวเข้ามากำกับดูแลทหารไทยทั้งกองทัพมิให้มีอิสระในการปกป้องดินแดนและอธิปไตยของประเทศไทยภายใต้ข้ออ้างของการเป็น “ผู้สังเกตการณ์”
       


       เป็นอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์อีกนั่นแหละที่ไปลงนามเซ็นสัญญาผูกมัดประเทศไทยให้ต้องเสียดินแดนและอธิปไตยไม่ว่าจะเป็น บันทึกความเข้าใจฯ พ.ศ. 2543 การเป็นภาคีมรดกโลก และในไม่ช้าการรับรองบันทึกการประชุม JBC 3 ฉบับที่มีลักษณะเป็นสนธิสัญญาโดยอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ที่จะทำให้ไทยต้องเสียดินแดนบริเวณปราสาทพระวิหารในทางนิตินัยให้กับกัมพูชา อุดมคติและสัจจะในการรักษาชาติบ้านเมืองของพวกท่านหายไปไหน?
       


       เป็นอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ใช่หรือไม่ที่ไม่กล้าสู้ความจริงที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเอามาเปิดเผยต่อประชาชน ทำในสิ่งเดียวกันที่ทูตเสนีย์เคยทำมาแล้วมิใช่หรือ แต่อภิสิทธิ์และรัฐบาลของเขากลับใช้วิธีเยี่ยงอันธพาลใช้กฎหมายความมั่นคงเพื่อสลายการชุมนุมเพื่อเผยแพร่ความจริงของพันธมิตรฯ ด้วยข้ออ้างที่น่าอัปยศขอทางสัญจรหรือรื้อส้วม อภิสิทธิ์กำลังใช้อำนาจไปในทางที่ผิด เพราะใช้เพื่อปกป้องความมั่นคงรัฐบาลของเขาซึ่งมิใช่ความมั่นคงของรัฐแต่อย่างใด
       


       เป็นอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์อีกนั่นแหละที่ใช้ให้ทหารมือเปล่าไปตายเพื่อสังเวยสร้างภาพผู้รักสันติภาพเป็นประชาธิปไตยอันสูงส่งของตนเอง ในขณะที่วันนี้ เป็นอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่รักษาหลักนิติรัฐ ปล่อยให้คนเสื้อแดงอยู่เหนือกฎหมายที่พวกคุณให้สัจจะว่าจะรักษาเอาไว้ เพียงเพื่อที่จะแลกกับอามิสให้อภิสิทธิ์อยู่ในอำนาจต่อไปใช่หรือไม่
       


       อภิสิทธิ์ในวันนี้จะจำได้หรือไม่ว่าได้เคยเขียนยกย่องเสนีย์ ปราโมชหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในอดีตผู้ที่ได้กอบกู้ประเทศชาติให้รอดพ้นจากวิกฤตเอกราชอันเป็นผลมาจากการที่ไทยประกาศสงครามกับชาติพันธมิตรเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ไว้ว่า
       


       “ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้สร้างมรดกอันล้ำค่าให้นักการเมือง . . . คือคุณธรรมทางการเมือง ความซื่อสัตย์ต่อแผ่นดินและประชาชน การไม่เห็นแก่อามิสสินจ้างและเครื่องล่อใจทั้งปวง”
       


       อนิจจานักการเมืองหลายๆ คนของพรรคประชาธิปัตย์แม้แต่อภิสิทธิ์ก็ยังจมปลักอยู่กับโคลนตมอามิสสินจ้างและเครื่องล่อใจนั้นอย่างถอนตัวไม่ขึ้น ขาดความกล้าหาญทางจริยธรรม ขาดสัจจะตามอุดมคติที่เคยอวดอ้างอย่างสิ้นเชิง เป็นวิญญูชนจอมปลอมโดยแท้
       


       ความจริงกำลังไล่ล่าอภิสิทธิ์ผู้ปราศจากอนาคตทางการเมืองไปแล้วอย่างกระชั้นชิด







Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้