17. อนุสัย

17. อนุสัย





อนุสัย
 


มีปัญหาที่เปรียบเสมือน “เส้นผมบังภูเขาที่ได้ติดค้างอยู่ในใจของสันติชาติอโศกาลัยมานานเป็นเวลาหลายปีแล้วปัญหาหนึ่งก็คือทั้งๆที่หลักธรรมคำสอนของพุทธธรรมมีความล้ำลึกและสูงส่งถึงขนาดนี้แต่เหตุไฉนคำสอนเหล่านี้จึงยังไม่อาจช่วยคนส่วนใหญ่ให้มีความรุดหน้าทางจิตวิญญาณกว่านี้ได้หรือมี “ปัญญามากกว่านี้ได้


ขอเพียงคำสอนเหล่านี้สามารถมีอิทธิพลยกระดับสติปัญญาของผู้คนส่วนใหญ่ในโลกนี้ให้สูงขึ้นกว่าเดิมแม้เพียงไม่มากสันติชาติก็มั่นใจว่าโลกใบนี้จะต้องน่าอยู่กว่านี้สงครามการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ด้วยกันเองรวมทั้งการทำลายธรรมชาติด้วยความละโมบอย่างไม่คิดการณ์ไกลก็จะต้องหมดไปอย่างแน่นอน


เมื่อได้ฟังทัศนะของท่านเมทัทสุที่บอกกับเขาว่าแค่คำสอนตามคัมภีร์ตามตัวอักษรเพียงอย่างเดียวอย่างมากก็แค่มีอิทธิพลต่อจิตสำนึกภายนอกของมนุษย์เท่านั้นหามีพลังที่จะเปลี่ยนมนุษย์จากข้างในจากจิตใต้สำนึกไม่


สันติชาติจึงรู้สึกว่าเส้นผมที่เคยบังตาเขามาหลายปีได้หลุดหายไปแล้วและเขาเริ่มเข้าใจแล้วถึงความสำคัญของการฝึกจิตและฝึกสมองเพื่อควบคุมจิตใต้สำนึกหรืออนุสัยให้ดำเนินไปในครรลองที่ช่วยให้หลุดพ้นสันติชาติเริ่มเห็นรอยเชื่อมต่ออย่างเด่นชัดระหว่างหลักวิชาของเขาที่ฝึกฝนมาเกือบ 15 ปีในสาย “เต๋ากับหลักวิชาสาย “รหัสนัยหรือวัชรเซนสายธิเบตที่ท่านเมทัทสุกำลังถ่ายทอดให้แก่เขาอยู่นี้


เสียงของท่านเมทัทสุที่ทั้งกังวานแจ่มใสและทรงพลังยังคงเปล่งออกมาอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายเข้าสู่การรับรู้ของสันติชาติ


โลกนี้เกิดจากกรรมและกรรมนี้เกิดจากอนุสัยกรรมที่หลุดจากอนุสัยจะไม่นำมาซึ่งการก่อเกิดอีก


ความแตกต่างในชีวิตของเหล่ามนุษย์ในโลกนี้ล้วนเกิดจากกรรมเช่นกันเพราะกรรมทำให้ “ความคิด” และ “ผลของความคิด” ของคนแต่ละคนไม่เหมือนกันความแตกต่างกันใน “ความคิด” และ “ผลของความคิด” จึงนำมาซึ่งความแตกต่างในชีวิตของผู้คน


กรรมมีการทำงานอยู่ 3 แบบ


แบบแรกคือการก่อให้เกิดการสืบเนื่องของความคิดและผลของความคิดในชาติก่อนหรือในช่วงก่อนกำเนิดให้ตกทอดมาถึงชาตินี้หรือในช่วงหลังกำเนิดดุจดั่งการทำงานของลูกธนูที่ถูกปล่อยออกมาจากคันศรแล้วกำลังพุ่งออกไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด


แบบที่ 2คือการแยกแยะกรรมดีออกจากกรรมชั่วการแยกแยะบุญออกจากบาป


แบบที่ 3คือการก่อให้เกิดศีลหรือก่อให้เกิดหลักประพฤติปฏิบัติ


การทำงานทั้ง 3 แบบเช่นนี้ของกรรมจักปรากฎให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตามนุษย์ในรูปของ “ความคิด” และ “ผลของความคิด” ของคนผู้นั้น


กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือพลังของกรรมจะเริ่มมาจาก “ความคิด” ซึ่งเป็นการปรุงแต่งของ “สังขาร” ก่อนพอมี “ความคิด” แล้วจึงจะเกิด “ผลของความคิด” หรือการกระทำ (กายกรรมวจีกรรมมโนกรรม) ตามมาอีกทีหนึ่งเพราะฉะนั้น “ผลของความคิด” ที่แท้ก็เป็น “ความคิด” ชนิดหนึ่งนั่นเอง


“อนุสัย” ก็เป็น “ความคิด” ชนิดหนึ่งซึ่งจัดอยู่ในประเภทจิตใต้สำนึกโดยที่ “ความคิด” ในที่นี้หมายถึงการทำงานของจิตโดยรวมพลังและการทำงานของกรรมจักปรากฏให้เป็นที่ประจักษ์ได้จะต้องมีการทำงานของ “อนุสัย” เกิดขึ้นก่อน


กรรมที่หลุดห่างจากอนุสัยจักไม่มีพลังไปควบคุมบังคับมนุษย์ได้อนุสัยคือสภาพที่ “ความคิด” หลับลึกนอนก้นอยู่ข้างในภายในจิตใจมนุษย์แต่ยังทำงานของมันต่อไปไม่มีวันหยุด...
 


อนุสัยมีการทำงานอยู่ 10 แบบและอนุสัยมีอยู่ 10 ชนิด


การทำงานแบบที่ 1 ของอนุสัยคือทำให้รากเหง้าแข็งแกร่งยิ่งขึ้นถ้ามีกิเลสเกิดขึ้นก็จะทำให้กิเลสนั้นแข็งตัวดื้อด้านยิ่งขึ้น


การทำงานแบบที่ 2 ของอนุสัยคือทำให้เกิดการต่อเนื่องสืบทอดถ้ามีกิเลสเกิดขึ้นอย่างหนึ่งกิเลสอื่นๆก็จะเกิดขึ้นตามมาไม่ขาดสาย


การทำงานแบบที่ 3 ของอนุสัยคือทำให้งอกเงยถ้ามีกิเลสเกิดขึ้นก็จะทำให้กิเลสนั้นงอกเงยดุจต้นข้าวในนาที่งอกเงยเติบโตขึ้นเรื่อยๆ


การทำงานแบบที่ 4 ของอนุสัยคือทำให้เกิดผล


การทำงานแบบที่ 5 ของอนุสัยคือทำให้เกิดชาติภพสืบเนื่อง


การทำงานแบบที่ 6 ของอนุสัยคือทำให้ขยายตัวถ้ามีกิเลสเกิดขึ้นกิเลสนั้นจะฟูมฟักตัวเองทำให้ขยายตัว


การทำงานแบบที่ 7 ของอนุสัยคือทำให้ใจหลงทางหรือลังเลที่จะเลือกหนทางที่ถูก


การทำงานแบบที่ 8 ของอนุสัยคือชักจูงใจให้ไปทางอื่น


การทำงานแบบที่ 9 ของอนุสัยคือทำให้ใจขุ่นมัวผิดพลาด


การทำงานแบบที่ 10 ของอนุสัยคือผูกมัดให้ใจยึดติดอยู่กับกิเลสในโลกนี้


 
อนุสัยมีอยู่ 10 ชนิด


อนุสัยชนิดที่ 1คือความโลภ


อนุสัยชนิดที่ 2คือความโกรธ


อนุสัยชนิดที่ 3 คือความหลง (อวิชชา)


อนุสัยชนิดที่4 คือความยโสโอหังดูแคลนผู้อื่น


อนุสัยชนิดที่ 5คือความระแวงสงสัยถึงรู้สัจธรรมแล้วแต่ก็ไม่มีพลังที่จะไปปฏิบัติ


อนุสัยชนิดที่ 6คือทัศนะหรือความเห็นผิดๆที่หลงเชื่อว่าสมบัติทั้งหลายในโลกนี้เป็นของตนจริงตนสามารถครอบครองได้จริง


อนุสัยชนิดที่ 7คือทัศนะหรือความเห็นผิดๆที่หลงเชื่อว่าชีวิตนี้มีแค่ครั้งเดียวเมื่อตายไปแล้วทุกอย่างจะจบสิ้น


อนุสัยชนิดที่ 8 คือทัศนะหรือความเห็นผิดๆที่หลงเชื่อว่ากฎแห่งกรรมไม่มีจริงจึงไม่กลัวบาปกรรมไม่เห็นว่าการทำดีมีความหมาย


อนุสัยชนิดที่ 9 คือทัศนะหรือความคิดเห็นผิดๆที่ยึดมั่นอยู่กับความคิดหรืออุดมการณ์ที่ผิดพลาดโดยเชื่อว่าเป็นความคิดหรืออุดมการณ์ที่ถูกต้อง


อนุสัยชนิดที่ 10คือทัศนะหรือความเห็นผิดๆเกี่ยวกับแนวทางในการหลุดพ้น


 
อนึ่งอนุสัย 10 ชนิดนี้ยังก่อให้เกิดอุปกิเลสหรือกิเลสย่อยๆที่เกิดขึ้นตามมาพร้อมๆกับการทำงานของอนุสัยหลักหรือกิเลสหลัก 10 ชนิดข้างต้นอีก 20 ชนิดดังต่อไปนี้


อุปกิเลสชนิดที่ 1 คือใจร้อนฉุนเฉียวง่ายเป็นความโกรธเมื่อพบสิ่งไม่ถูกใจเมื่อเกิดอนุสัยที่เป็นความโกรธอุปกิเลสชนิดนี้จะตามมา


อุปกิเลสชนิดที่ 2 คือเคียดแค้นผูกพยาบาท


อุปกิเลสชนิดที่ 3 คือไม่จริงใจปลิ้นปล้อนตอแหลให้ผู้อื่นตายใจ


อุปกิเลสชนิดที่ 4 คือความอิจฉาริษยาในความสุขความสำเร็จของผู้อื่น


อุปกิเลสชนิดที่ 5 คือความติดข้องทางจิตอันเนื่องมาจากความเคียดแค้นชิงชังจึงทำให้อมทุกข์


อุปกิเลสชนิดที่ 6 คือการปัดความรับผิดชอบปกปิดความผิดของตัวเองเนื่องจากกลัวเสียหน้าเสียตำแหน่งเสียชื่อเสียง


อุปกิเลสชนิดที่ 7 คือความงกความหวงสมบัติหวงวิชา


อุปกิเลสชนิดที่ 8 คือการหลอกลวงเป็นวิญญูชนจอมปลอม


อุปกิเลสชนิดที่ 9 คือการหลงตัวเองหลงในความสามารถฐานะรูปร่างหน้าตาของตัวเอง


อุปกิเลสชนิดที่ 10 คือจิตใจที่คิดร้ายต่อผู้อื่น


อุปกิเลสชนิดที่ 11 คือจิตใจที่ไร้ความละอายต่อบาป


อุปกิเลสชนิดที่ 12 คือจิตใจที่ฟุ้งซ่านไม่อยู่กับร่องกับรอย


อุปกิเลสชนิดที่ 13 คือใจที่ขาดการทบทวนตัวเอง


อุปกิเลสชนิดที่ 14 คือใจที่เซ็งซึมหมองมัวไม่กระปรี้กระเปร่า


อุปกิเลสชนิดที่ 15 คือใจที่ขาดศรัทธาในสิ่งถูกต้องดีงาม


อุปกิเลสชนิดที่ 16 คือใจที่เกียจคร้านไม่วิริยะอุตสาหะ


อุปกิเลสชนิดที่ 17 คือความประมาทเลินเล่อเอาแต่ใจตัวเอง


อุปกิเลสชนิดที่ 18 คือการขาดสติอันเนื่องมาจากสุราการละเล่นและอบายมุข


อุปกิเลสชนิดที่ 19 คือใจที่ไม่รู้จริง


อุปกิเลสชนิดที่ 20 คือใจที่ไม่มีสมาธิ...


 
ลักษณะของใจที่เกิดจากอนุสัย 10 ชนิดและอุปกิเลส 20 ชนิดนี้แหละที่สร้างตัวตนของพวกเราที่เป็นมนุษย์เดินดินขึ้นมาให้แตกต่างกันไปตามลักษณะมากน้อยของอนุสัยและอุปกิเลสแต่ละชนิดที่แต่ละคนมีไม่เท่ากัน


เพราะฉะนั้นอนุสัยและอุปกิเลสเหล่านี้แหละที่เป็นตัวการทำให้มนุษย์ไม่อาจบังคับตัวเองและไม่อาจบังคับใจของตัวเองได้มนุษย์ส่วนใหญ่ในโลกนี้จึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ยังไงล่ะพ่อหนุ่ม!”


...................”


สันติชาติพูดอะไรไม่ออกเขารู้สึกทั้งทึ่งและก็ช็อกทีได้รับทราบถึงโครงสร้างแห่งตัวตนที่แท้จริงของเขาและเพื่อนมนุษย์คนอื่น
เมทัทสุหยุดพักเล็กน้อยจากนั้นถอนใจกล่าวว่า


“ตัวเราเองเมื่อได้ค้นพบสิ่งนี้เมื่อ 20 ปีก่อนก็ยังรู้สึกละอายตนเองเลยเราได้ค้นพบข้อบกพร่องในตัวเองหลายอย่างจากแนวคิดเกี่ยวกับอนุสัยและอุปกิเลสเหล่านี้


มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เราถึงกับฝึกหัดตนเองด้วยการทำตารางอนุสัยและอุปกิเลสของตัวเราแล้วใช้หมึกแดงกาไปที่ประเภทของอนุสัยและอุปกิเลสที่ตัวเราเห็นว่าเป็นข้อบกพร่องของเราเราได้พกตารางอันนี้ใส่กระเป๋าสตางค์ติดตัวและหยิบออกมาเปิดดูทบทวนทุกๆวันวันละหลายๆครั้งเมื่อมีโอกาสเพื่อกระตุ้นเตือนใจของเราให้เปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพของตนเองเราฝึกเช่นนี้เป็นเวลา 2 ปีเต็มก่อนที่จะเดินทางไปฝึกฝนปฏิบัติอย่างเอาเป็นเอาตายที่ธิเบต”


“ท่านครับแนวคิดเกี่ยวกับอนุสัยและอุปกิเลสที่ท่านถ่ายทอดให้แก่ผมนี้เป็นวิชาจิตวิทยาแนวพุทธใช่หรือไม่ครับ?” สันติชาติที่ยืนฟังอยู่เป็นเวลานานได้เอ่ยปากถามบ้าง


เมทัทสุส่ายหน้าเล็กน้อยแล้วกล่าวว่า


“จะเรียกว่าเป็นวิชาจิตวิทยาแนวพุทธคงจะไม่ถูกนักหรอกพ่อหนุ่มตัวเราเองอยากจะเรียกว่าเป็นการอธิบายโครงสร้างแห่งตัวตนของมนุษย์ธรรมดามากกว่าโดยที่ระบบวิธีหรือหลักปฏิบัติในศาสนาพุทธนั้นจะมุ่งที่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างแห่งตัวตนอันนี้ในลักษณะที่เป็นก้าวกระโดดคือมุ่งที่จะเปลี่ยนจากมนุษย์ผู้เป็นสามัญชนและโลกียชนให้กลายเป็นมนุษย์ผู้ประเสริฐหรือพุทธะนั่นอง”


นักวิชาการหนุ่มถามอีกคำถามว่า


“ถ้าหลักคำสอนของศาสนาพุทธคืออริยสัจ 4 กับปฏิจจสมุปบาทแล้วหลักปฏิบัติ ของศาสนาพุทธคืออะไรครับ?”


เมทัทสุตอบว่า


“คือหลักโพธิปักขิยธรรม 37 ประการซึ่งได้แก่
สติปัฏฐาน 4
สัมมัปปธาน 4
อิทธิบาท 4
พละ 5
อินทรีย์ 5
สัมโพชฌงค์ 7
มรรคองค์ 8


แต่ในการฝึกปฏิบัติที่เป็นจริงไม่จำเป็นต้องฝึกทั้งหมดนี่หรอกเพราะหลักปฏิบัติหลายอย่างมีเนื้อหาที่ซ้ำซ้อนกันแต่ที่พระพุทธเจ้าท่านทรงบัญญัติไว้หลากหลายเช่นนี้ก็เพราะสานุศิษย์ของท่านมีคุณสมบัติความสามารถที่แตกต่างกันไปนั่นเอง”
สันติชาติพยักหน้าเป็นเชิงเข้าใจแล้วกล่าวว่า


“หลักโพธิปักขิยธรรม 37 ประการนี้ผมก็เคยได้รับการถ่ายทอดจากอริยสงฆ์รูปหนึ่งมาแล้วเมื่อหลายปีก่อนแต่ตัวผมก็ยังรู้สึกว่ามันค่อนข้างเป็นหลักคำสอนมากกว่าขั้นตอนปฏิบัติในความเป็นจริงครับ”


เมทัทสุอธิบายว่า


“จากหลักโพธิปักขิยธรรม 37 ประการนี้ถ้านำมาจัดใหม่ตามหลักขั้นตอนการฝึกฝนปฏิบัติในความเป็นจริงหรือตามหลักไตรสิกขาคือศีล-สมาธิ-ปัญญาก็จะจัดแบ่งย่อยได้เป็น 17 ขั้นตอนด้วยกันคือ


(1) การมีจิตใจสะอาดมีคุณธรรมรู้จักละอายต่อตัวเองและสังคม
(2) การมีอาชีพสุจริต
(3) การมีวาจาชอบพูดจาด้วยเหตุด้วยผลด้วยหลักด้วยธรรม
(4) การมีความคิดชอบคิดถูกคิดดีคิดเป็น
(5) การใช้ชีวิตชอบใช้ชีวิตในทางที่ถูกที่ดีที่ควร
(6) การรู้จักควบคุมทวารทั้ง 6 คือตาหูจมูกลิ้นกายใจให้อยู่ในการควบคุมด้วยสติ
(7) การบริโภคอาหารแต่พอประมาณ
(8) ความเพียรพยายามชอบพยายามในสิ่งที่ถูกที่ดีที่ควรที่งาม
8 ขั้นตอนแรกนี้คือหลักปฏิบัติแห่งศีลสิกขานั่นเอง


(9) การดำริชอบระลึกชอบการตั้งเป้าหมายในชีวิตที่ถูกที่ดีที่ควรที่งาม
(10) ปลีกตัวหาที่สันโดษสงบเพื่อฝึกสมาธิตัดนิวรณ์ทั้ง 5
(11) ฝึกปฐมฌาน
(12) ฝึกฌาน 2
(13) ฝึกฌาน 3
(14) ฝึกฌาน 4
ตั้งแต่ขั้นที่ 9 จนถึงขั้นที่ 14 คือหลักปฏิบัติแห่งสมาธิสิกขานั่นเอง


(15) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
(16) ทิพยจักษุ - ทิพยโสต
(17) อาสวักขยญาณ
ส่วน 3 ขั้นตอนสุดท้ายนี้ก็คือหลักปฏิบัติแห่งปัญญาสิกขานั่นเอง


ถ้าศีลสิกขาคือการฝึกกายสมาธิสิกขาก็คือการฝึกจิตและปัญญาสิกขาก็คือการฝึกสมอง


หลักปฏิบัติ 17 ขั้นตอนนี้แม้จะเป็นหลักปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าท่านทรงบัญญัติไว้ให้สาวกของท่านหรือพระสงฆ์ซึ่งเป็นผู้สละเรื่องทางโลกแล้วอย่างสิ้นเชิงเพื่อนำไปปฏิบัติให้บรรลุมรรคผลก็จริงแต่หลักปฏิบัติอันนี้ก็มีเนื้อหาหลายอย่างที่พวกฆราวาสหรือผู้ที่ยังมีความรับผิดชอบต่อสังคมสามารถนำไปฝึกฝนเพื่อเปลี่ยนแปลงกรรมของตัวเองและเปลี่ยนแปลงโลกนี้ให้ไปในทางที่ดีได้แม้อาจจะยังไม่ถึงขั้นทำให้บรรลุนิพพานได้ก็ตาม


แต่ภายใต้สถานการณ์วิกฤติของโลกปัจจุบันที่เข้าสู่ยุคอภิมหาโกลาหลแล้วการมุ่งบรรลุนิพพานของคนจำนวนน้อยนิดหรือจะมีความหมายเท่ากับการมุ่งช่วยเหลือคนส่วนใหญ่ให้สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองพัฒนาจิตวิญญาณตัวเองเพื่อหลีกเลี่ยงหายนะในยุคอภิมหาโกลาหลอันเนื่องจากกฎแห่งกรรมที่กำลังจะตามทัน?”
 







Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้