18. หลักปฏิบัติของฆราวาสในยุคนี้

18. หลักปฏิบัติของฆราวาสในยุคนี้




หลักปฏิบัติของฆราวาสในยุคนี้




 
 
เมทัทสุกล่าวสรุปใจความโดยรวมว่า


“เพราะฉะนั้นเป้าหมายหลักของตัวเราจึงอยู่ที่การมุ่งส่งเสริมให้พวกฆราวาสซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของโลกนี้หันมาฝึกฝนปฏิบัติเพื่อเปลี่ยนแปลงกรรมของตัวเองเป็นสำคัญฉะนั้นจึงมีความจำเป็นที่เราจะต้องสร้างหลักสูตรสำหรับการปฏิบัติขึ้นมาใหม่ที่พวกฆราวาสสามารถฝึกฝนได้โดยไม่ต้องบวชเป็นพระซึ่งอ้างอิงจากหลักโพธิปักขิยธรรม 37 ประการและหลักปฏิบัติ 17 ขั้นตอนตามไตรสิกขานี้”


“ท่านคิดว่ามีทางทำได้หรือครับที่จะทำให้คนสมัยใหม่ที่ไม่ค่อยมีเวลาหันมาฝึกฝนหลักวิชาที่มีความลึกล้ำเช่นนี้ได้” สันติชาติถามเมทัทสุอย่างไม่ค่อยแน่ใจในความคิดนี้เท่าใดนัก


เมทัทสุกล่าวเสียงหนักแน่นว่า


“ต้องทำได้สิ! เธอต้องไม่ลืมนะว่ามนุษย์สมัยนี้ส่วนใหญ่มีการศึกษาสูงกว่าคนสมัยก่อนหรือในสมัยพุทธกาลมากอีกทั้งความสามารถในการใช้ตรรกะเหตุผลรวมทั้งความสามารถในการเรียนรู้และเข้าใจก็สูงกว่านอกจากนี้ข่าวสารข้อมูลก็มีมากกว่ากว้างขวางกว่ารวดเร็วกว่าสมัยก่อนมาก


เพราะฉะนั้นสิ่งที่คนโบราณอาจจะต้องทุ่มเทบวชพระใช้เวลาร่ำเรียนเกือบตลอดชีวิตคนสมัยนี้ถ้าตั้งใจจริงอาจะใช้เวลาที่ว่างจากอาชีพการงานมาค่อยๆร่ำเรียนฝึกฝนศึกษาไปก็อาจมีความก้าวหน้าได้เช่นกันภายในเวลาเพียงไม่กี่ปีแต่แน่นอนว่าคนสมัยนี้คงจะบรรลุธรรมขั้นสูงสุดได้ยากกว่าคนสมัยก่อนมากเพราะสิ่งที่รบกวนจิตใจมีมากขึ้นเป็นทวีคูณในขณะที่เวลาที่จะมาหมกมุ่นทุ่มเทให้กับการฝึกฝนมีน้อยลงกว่าคนโบราณมาก
สันติชาติรับฟังจนเข้าใจจากนั้นจึงตั้งคำถามใหม่ว่า


“ท่านได้สร้างหลักสูตรที่เป็นหลักปฏิบัติสำหรับฆราวาสในยุคนี้อย่างไรครับ?”


เมทัทสุตอบว่า


“เราได้แบ่งหลักสูตรที่เป็นหลักปฏิบัติธรรมสำหรับฆราวาสออกเป็น 3 ส่วน

ส่วนแรกคือการเตรียมสภาพแวดล้อมกับการเตรียมกายเตรียมใจของผู้ฝึกให้พร้อมสำหรับการฝึกสมาธิเสียก่อนกล่าวคือในขั้นตอนนี้จะมุ่งฝึกฝนให้ผู้ฝึกสามารถควบคุมจิตสำนึกภายนอกของตัวเองให้ได้เสียก่อน

ส่วนที่ 2คือการฝึกให้ผู้ปฏิบัติสามารถดำดิ่งในสมาธิลึกซึ้งยิ่งขึ้นเรื่อยๆจนถึงระดับฌานกล่าวคือในขั้นนี้จะมุ่งฝึกฝนให้ผู้ฝึกสามารถควบคุมจิตใต้สำนึกของตนเองเพื่อนำไปสู่การดับของอุปกิเลสกับการควบคุมอนุสัย

ส่วนที่ 3 คือการให้ได้มาซึ่ง “ปัญญาญาณอันเกิดมาจากความสงบของจิตใจที่ได้มาจากส่วนที่ 2”


“ผมขอให้ท่านขยายความเกี่ยวกับเนื้อหาการปฏิบัติในแต่ละส่วนได้มั้ยครับ?” นักวิชาการหนุ่มถามเจาะลึกเข้าไปในส่วนของรายละเอียด


เมทัทสุยิ้มพลางกล่าวว่า


“ได้สิพ่อหนุ่มผู้มีใจใฝ่รู้สำหรับในส่วนแรกนั้น


(ก)    ก่อนอื่นจะเน้นการรวมจิตเพ่งจิตอย่างง่ายๆก่อนจากนั้นต้องช่วยให้ผู้ฝึกมีโลกทัศน์และชีวทัศน์ที่สอดคล้องกับหลักพุทธธรรมซึ่งอาจทำได้ด้วยการศึกษารวมหมู่หรือส่งเสริมผู้ฝึกให้อ่านหนังสือดีมีสาระหรือแลกเปลี่ยนความเห็นกับอาจารย์ผู้คอยดูแลในการฝึก


(ข)    จากนั้นจึงให้ฝึกหธะโยคะเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงปรับปรุงส่วนที่บกพร่องของร่างกายลดความเครียดภายในจิตใจ...


...สำหรับในส่วนที่ 2นั้นจะเน้นการฝึกนั่งสมาธิกับเริ่มการฝึกกุณฑาลินีโยคะมุ่งการพัฒนาจักรมูลธารจักรสวาธิษฐานจักรมณีปุระและจักรอนาหตะเป็นหลัก


...สำหรับในส่วนที่ 3 นั้นจะเน้นการพัฒนาสมองเพื่อก่อให้เกิดปัญญาญาณด้วยการมุ่งพัฒนาจักรอาชญะกับจักรสหัสธารตามหลักวิชากุณฑาลินีโยคะเป็นหลักเธอต้องเข้าใจนะว่าการฝึกสมาธิเฉยๆซึ่งเป็นการฝึกจิตเท่านั้นยังไม่สามารถก่อให้เกิดการพัฒนาปัญญาในลักษณะก้าวกระโดดหรือก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางคุณภาพขึ้นมาได้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง “กระตุ้น” จักรในสมอง 2 จักรนี้ให้ได้เสียก่อนจึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางคุณภาพเช่นนั้นขึ้นมา”


สันติชาติใช้ความคิดเรียบเรียงคำอธิบายของเมทัทสุสักครู่หนึ่งแล้วกล่าวว่า


“ผมจำได้ว่าในตอนต้นๆท่านได้บอกกับผมว่าการบำเพ็ญตบะกับการฝึกสมาธินั้นเป็น 2 เสาหลักแห่งการปฏิบัติธรรมของศาสนาพุทธยุคต้นๆและสามารถเปลี่ยนแปลงมนุษย์โดยเฉพาะจิตใต้สำนึกและจิตไร้สำนึกของมนุษย์ได้


สำหรับความสำคัญของการฝึกสมาธินั้นผมมีความกระจ่างแล้วตามที่ท่านเพิ่งอธิบายให้ผมเมื่อครู่แต่ความหมายของการบำเพ็ญตบะนั้นผมยังไม่กระจ่างเท่าไหร่ครับพูดตรงๆก็คือการบำเพ็ญตบะกับการบำเพ็ญทุกขกิริยาต่างกันหรือไม่และการบำเพ็ญตบะมีส่วนเกื้อกูลต่อการพัฒนาปัญญาอย่างไรครับ?”


“ถ้าการบำเพ็ญตบะหมายถึงการต้องอดทนอดกลั้นในการฝึกฝนสิ่งที่ยากลำบากด้วยการเคี่ยวกรำตนเองแล้วเราก็ต้องมานิยามความหมายของคำว่า “ความลำบากกันใหม่.. “ความลำบากคืออะไรกันแน่?ขอถามเธอหน่อยพ่อหนุ่มผู้ฝึกฝนวิทยายุทธ์มานานหลายปีสำหรับตัวเธอการฝึกฝนวิชากังฟูเป็นทุกขกิริยาหรือไม่?”เมทัทสุตอบเป็นเชิงคำถามย้อนกลับไปสู่ผู้ถาม


“ไม่เลยครับผมไม่เคยรู้สึกว่าช่วงเวลาที่ผมฝึกฝนกังฟูอยู่นั้นต่อให้เหนื่อยยากขนาดไหนก็ไม่รู้สึกเป็นทุกข์ทรมานตรงกันข้ามช่วงขณะนั้นกลับเป็นช่วงที่ผมมีความเพลิดเพลินมากเลยครับ” อาจารย์หนุ่มจากประเทศไทยกล่าวออกมาจากใจจริง


เมทัทสุหัวเราะเล็กน้อยจากนั้นกล่าวว่า


“สำหรับตัวเธอน่ะใช่แต่สำหรับคนบางคนการฝึกกังฟูแม้เพียง 5 นาทีก็ถือเป็นเรื่องทรมานแสนสาหัสแล้วเพราะฉะนั้นการบำเพ็ญตบะจะเป็นทุกขกิริยาก็สำหรับสายตาของคนภายนอกเท่านั้นหาใช่สำหรับเจ้าตัวผู้เป็นคนฝึกซึ่งมีศรัทธาและเข้าใจความหมายที่แท้จริงของการฝึกฝนสิ่งนั้นไม่!


ทำไมถึงต้องบำเพ็ญตบะ? เราบำเพ็ญตบะก็เพื่อฝึกฝนให้เกิด “การหลุดร่วงทั้งกายใจในความหมายของท่านปรมาจารย์โดเง็นแห่งนิกายเซนสายโซโตแล้วอะไรล่ะคือสิ่งที่จะหลุดร่วงไปจากกายใจ? สิ่งนั้นก็คือ “ความเคยชินที่ไม่ดีหรือ “สันดานร้ายๆที่เกาะยึดแน่นในร่างกายและจิตใจ


อะไรคือ “สันดานหรือ “ความเคยชิน” ที่ไม่ดีทั้งปวง?


สิ่งนั้นก็คือแรงเฉื่อยของกรรมที่สืบเนื่องมาจากอดีตและแฝงเร้นอยู่ในจิตใต้สำนึกกับจิตไร้สำนึกของมนุษย์และบางส่วนก็โผล่ให้เห็นชัดในจิตสำนึกภายนอกของมนุษย์


การขจัดความเคยชินที่ไม่ดีของเราทิ้งไปจึงหมายถึงการหลุดร่วงทั้งกายใจจึงหมายถึงการฝึกศีลจึงหมายถึงการฝึกวินัยตนเองตราบใดที่ยังไม่มีการฝึกฝนการหลุดร่วงทั้งกายใจก่อนตราบนั้นมนุษย์สมัยใหม่จะเข้าสู่ภาวะสมาธิหรือฌานสมาบัติที่แท้จริงไม่ได้เลย


นี่ท่านกำลังจะบอกผมว่าการฝึกวิปัสสนาเฉยๆจะมีผลน้อยมากต่อมนุษย์สมัยใหม่ใช่ไหมครับสันติชาติร้องออกมาอย่างตกตะลึงในความเห็นของเมทัทสุการฝึกปฏิบัติวิปัสสนาในยุคปัจจุบันยังไม่มีประสิทธิผลเพียงพอสำหรับผู้คนสมัยนี้หรอกหรือนี่


เมทัทสุพยักหน้าแล้วกล่าวว่า


“ถูกแล้วเพราะว่าวิปัสสนาเป็นงานทางปัญญามิใช่งานทางจิตปัญญาจะเกิดขึ้นได้จิตจะต้องเป็นอิสระเสียก่อนแต่เธอลองหันไปดูสังคมรอบๆตัวเราสิพ่อหนุ่มใช่หรือไม่ว่าโลกใบนี้คือโรงพยาบาลโรคจิตขนาดใหญ่ผู้คนส่วนใหญ่ล้วนมีปัญหาทางจิตกันทั้งนั้นไม่มากก็น้อยโดยออกมาในรูปของความเครียดหรือโรคนักบริหาร


ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าสังคมสมัยใหม่ซึ่งมีพลังการผลิตและพลังงานที่ปลดปล่อยออกมามากกว่าสังคมโบราณอย่างเทียบกันไม่ได้อีกทั้งยังมีปริมาณข้อมูลข่าวสารเพิ่มขึ้นมากมายมหาศาลจนมีผลทำให้โครงสร้างทางจิตใจของมนุษย์สมัยใหม่แตกต่างไปจากคนโบราณอย่างสิ้นเชิงโดยเฉพาะการเก็บกดขัดแย้งบาดแผลทางใจที่แฝงลึกอยู่ใต้จิตใต้สำนึกกับจิตไร้สำนึกของมนุษย์สมัยนี้


เพราะฉะนั้นถ้าหากไม่ “บำบัด” สภาพเก็บกดขัดแย้งและบาดแผลทางใจในจิตใต้สำนึกเหล่านี้เสียก่อนด้วยการทำให้เกิดการหลุดร่วงผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจเสียก่อนโอกาสที่คนสมัยใหม่จะเข้าถึงภาวะสมาธิฌานสมาบัติที่แท้จริงและเข้าถึงวิปัสสนาปัญญาญาณขั้นสูงคงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมากเลยเพราะฉะนั้นก็จงอย่าแปลกใจที่คนสมัยใหม่ซาบซึ้งกับศาสนาไม่เท่ากับคนสมัยก่อน


ด้วยเหตุนี้การขจัด “ความเคยชิน” ที่ไม่ดีอันเนื่องมาจากการเก็บกดความขัดแย้งบาดแผลทางใจในจิตใต้สำนึกด้วยการบำเพ็ญตบะซึ่งก็คือการปฏิบัติหรือการฝึกฝนหรือการเคี่ยวกรำตนเองนี้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับคนสมัยนี้


การฝึกสมาธินั่งหลับตาที่ไม่เชื่อมโยงกับการบำเพ็ญตบะจึงมีความหมายแค่การฝันกลางวันแต่การบำเพ็ญตบะที่ขาดการฝึกสมาธิก็จะทำให้ผู้ฝึกกลายเป็นคนกระด้างดื้อรั้นไปเช่นกัน”


เมทัทสุหยุดพักเพื่อให้สันติชาติทบทวนในสิ่งที่ตนได้อธิบายให้ฟังสักครู่หนึ่งจึงกล่าวต่อไปว่า


“ต่อหน้า “สันดาน” หรือ “ความเคยชิน” ที่ไม่ดีซึ่งเป็น “ความคิด” ชนิดหนึ่งนี้ทฤษฎีหรือคำสอนทั้งหลายต่อให้ล้ำเลิศเพียงใดก็จะไร้ความหมายโดยสิ้นเชิงเพราะสันดานหรือความเคยชินที่ไม่ดีเหล่านี้จะต่อต้านปฏิเสธขัดขวางไม่ยอมรับจะมีก็แต่ “การกระทำ” หรือ “การปฏิบัติ” เท่านั้นที่จะควบคุม “ความคิด” ได้จงอย่าลืมคำคมต่อไปนี้นะพ่อหนุ่มว่า “ความอ่อนแอจักเป็นของผู้ที่ยอมให้้ความคิดของตนมาควบคุมการกระทำของตนแต่ความเข้มแข็งจักเป็นของผู้ที่ใช้การกระทำของตนไปควบคุมความคิดของตนเองในแต่ละวัน!”


การบำเพ็ญตบะคือการฝึกจิตในเรื่องอะไรบ้างครับ?” สันติชาติตั้งคำถามอีก


เมทัทสุยิ้มแล้วตอบว่า


“การบำเพ็ญตบะคือการฝึกจิตในเรื่องต่างๆดังต่อไปนี้

(1) ศรัทธาคือการฝึกใจให้เลื่อมใสต่อการทำความดีเลื่อมใสในธรรมะและเชื่อมั่นในกฎแห่งกรรม
(2) วิริยะคือการฝึกใจให้มีความพากเพียรพยายามในการทำความดี
(3) อุเบกขาคือการฝึกใจให้ละทิ้งอัตตาตัวเองสงบนิ่งไม่เอนเอียง
(4) หิริโอตตัปปะคือการฝึกใจให้มีความละอายต่อบาป
(5) ไม่โลภคือการฝึกใจไม่ให้มีความโลภไม่ให้ยึดติดกับลาภยศสรรเสริฐ
(6) ไม่โกรธ (ขันติ) คือการฝึกใจให้มีการอดกลั้นสูงและรักผู้อื่น
(7) ไม่คิดร้ายคือการฝึกใจให้เป็นอหิงสาไม่ใช้ความรุนแรงทั้งทางกายวาจาใจ
(8) ปัสสัททิคือการฝึกใจให้สงบระงับ”


 
สันติชาติพอได้ฟังคำอธิบายจากเมทัทสุก็พยักหน้าเข้าใจพร้อมกล่าวว่า


“การฝึกจิตเหล่านี้ในหลักวิชาที่ผมได้ฝึกฝนมาได้กระทำโดยผ่านการฝึกชี่กง (การฝึกลมปราณ) ฝึกการยืนการนั่งการเดินการเคลื่อนไหวร่ายรำกระบวนท่ามวยฯลฯผมไม่ทราบว่าในหลักวิชารหัสนัยหรือวัชรเซนของท่านนั้นได้กระทำโดยผ่านอะไรครับ?”


เมทัทสุอธิบายต่อไปว่า


“ในหลักวิชาวัชรเซนของเรานั้นเราได้ทำการฝึกจิตบำเพ็ญตบะเหล่านี้โดยผ่าน

()    การทำมือ (มุทรา)ที่เรียกกันว่า “ชุอิน
()    การท่องมนตร์ (มนตรา) ที่เรียกกันว่า “ชินง็อน
()    การเพ่งจิต (สมาธิ)ที่เรียกกันว่า “ซันมัยไปตามจุด (จักร) ต่างๆที่สำคัญในร่างกายเพื่อให้เกิดสภาวะที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพุทธะหรือพระโพธิสัตว์ที่เรียกกันว่า “โซกุชินโยบุทสุ (การกลายเป็นพุทธะในร่างกายสังขารนี้ในขณะนี้หรือในโลกนี้)


สภาวะที่เรียกกันว่า “โซกุชินโยบุทสุนี้ในทางกายภาพจะไปกระตุ้นระบบ Solar Plexus ที่ควบคุมระบบย่อยอาหารกระตุ้นต่อมไทรอยด์ที่ควบคุมกระบวนการเมตาบอลิสซึมซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงนอกจากนี้ยังไปช่วยกระตุ้นผิวสมองชั้นต่างๆกับระบบสมองรอบๆมันสมองใหญ่เพื่อช่วยให้การ “เปิด” พุทธภาวะที่แฝงเร้นอยู่ใต้จิตสำนึกของมนุษย์สามารถเผยตัวเองได้ง่ายขึ้น


รวมทั้งยังไปกระตุ้นต่อมไพนีลกลีบสมองส่วนหน้าและสมองด้านในเพื่อให้เกิดการพัฒนาพลังสร้างสรรค์พลังญาณพิเศษ (Intuition) ในตัวของผู้ฝึกจะได้สามารถทำลายความเป็น “อัตตาของตัวเองออกไปและสามารถมี “ประสบการณ์โดยตรงในการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับมหาสากลจักรวาลจนกระทั่งมีสำนึกแห่งจักรวาลได้และถ้าฝึกได้รุดหน้าแล้วคนผู้นั้นจะสามารถเอาชนะยุคสมัยของตนกลายเป็นคนที่สามารถสร้างสรรค์ความก้าวหน้าให้แก่โลกอนาคตได้เข้าใจหรือยังล่ะพ่อหนุ่ม?”


“เข้าใจแล้วครับ” สันติชาติรับคำเพราะเขาเริ่มเข้าใจในหลักวิชาวัชรเซนนี้ขึ้นมาบ้างแล้ว


“ถ้าเช่นนั้นเธอพร้อมที่จะรับการถ่ายทอดหลักวิชาวัชรเซนนี้จากเราหรือยังล่ะ” เมทัทสุถามสันติชาติเพื่อรอให้เขาตัดสินใจ


 
สันติชาติถึงกับนิ่งอึ้งไม่สามารถกล่าวถ้อยคำใดออกมาได้วิชาวัชรเซนที่เขาได้รับทราบจากท่านเมทัทสุนี้นับว่าเป็นหลักวิชาขั้นสูงในการฝึกฝนเพื่อพัฒนากายและจิตของมนุษย์ซึ่งถือเป็นโอกาสอันหาได้ยากยิ่งสำหรับตัวเขาที่มีผู้เสนอว่าจะถ่ายทอดหลักวิชาต่างๆเหล่านี้ให้


ผิดกับวิชามวยจีนสายต่างๆที่เขาร่ำเรียนมาโดยเขาต้องดั้นด้นไปค้นหาอาจารย์เพื่อการเรียนรู้หลักวิชาต่างๆด้วยตัวเองแต่ในยามกระทันหันเช่นนี้เขาจะทำอย่างไรได้ในวันรุ่งขึ้นเขาก็ต้องเดินทางกลับประเทศไทยตามหมายกำหนดการแล้วถ้าหากปฏิเสธท่านเมทัทสุไปในตอนนี้เขาจะยังได้รับโอกาสเช่นนี้จากท่านเมทัทสุอีกเป็นครั้งที่สองหรือไม่


เมทัทสุเห็นสันติชาตินิ่งเงียบไปพักใหญ่ก็คิดได้ว่านักวิชาการหนุ่มผู้นี้จะต้องเดินทางกลับประเทศไทยในวันพรุ่งนี้แล้วและก็คงลำบากใจไม่น้อยที่ไม่กล้าจะบอกเรื่องนี้ออกไปเนื่องจากเกรงว่าตนจะเข้าใจผิดคิดว่าสันติชาติไม่ได้สนใจในหลักการวิชาวัชรเซนนี้ดังนั้นจึงหัวเราะออกมาด้วยความเอ็นดูพร้อมกับกล่าวว่า


“เธอยังไม่ต้องให้คำตอบเราในตอนนี้ก็ได้เพราะในวันพรุ่งนี้เธอก็จะเดินทางกลับมาตุภูมิของเธอแล้วเอาอย่างนี้ก็แล้วกันนะพ่อหนุ่มผู้มีคุณธรรมในจิตใจวันนี้ของปีหน้าเราจะมาที่นี่อีกครั้งถ้าหากในตอนนั้นเธอพร้อมที่รับการถ่ายทอดวิชาจากตัวเราก็จงมาที่นี่เราจะมอบคัมภีร์วิชารหัสนัยอันเร้นลับของเราให้แก่ตัวเธอพร้อมทั้งถ่ายทอดเคล็ดลับแห่งวิชารหัสนัยหรือวัชรเซนของเรานี้ให้แก่ตัวเธอด้วยวาจาโดยตรง”


“ครับ” สันติชาติรับคำด้วยความปลื้มปิติในน้ำใจอันเมตตาของท่านเมทัทสุเขาตั้งใจไว้แล้วว่าในปีหน้าตนจะกลับมาเยือนลานวัดคุโรตานิแห่งนี้อีกครั้งเพื่อขอรับการถ่ายทอดหลักวิชาวัชรเซนจากท่านเมทัทสุ
 








Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้