38. หลักปฏิบัติแบบเซนของโดเง็น

38. หลักปฏิบัติแบบเซนของโดเง็น



หลักปฏิบัติแบบเซนของโดเง็น   

     
หลักการและแนวทางการปฏิบัติธรรมแบบเซนของโดเง็นที่เขาเขียนไว้ในกักขุโดโยยินชู” (ข้อพึงสำเหนียกในการปฏิบัติมรรค) ปี..1234 สามารถสรุปเป็นข้อๆได้ดังต่อไปนี้


1.ความจำเป็นของการปลุกโพธิจิตในการปฏิบัติพุทธธรรม

โพธิจิตคือใจที่เป็นหนึ่งเดียวของพุทธะและเป็นใจที่เห็นแจ้งความเป็นไตรลักษณ์ของโลกใบนี้เพราะใจที่เห็นแจ้งในอนิจจัง-ทุกขัง-อนัตตาจะสลัดความเห็นแก่ตัวและไม่แสวงหาลาภยศสรรเสริญอีกต่อไป


โพธิจิตคือใจที่ตระหนักว่ากาลเวลาเป็นสิ่งที่โหดร้ายไม่เคยรอใครผู้ที่มีใจเป็นโพธิจิตจักต้องฝึกสมาธิภาวนาจิตอย่างเด็ดเดี่ยวมุ่งมั่นเพราะการสืบทอดและการถ่ายทอดพุทธธรรมมีอยู่หนทางเดียวคือการฝึกสมาธิอย่างทุ่มเทและใจจดใจจ่อโดยไม่หวั่นไหวไปกับอุปาทานขันธ์ 5ที่มาปรุงแต่งล่อลวงให้จิตกับใจแยกจากกันคนเราเป็นหนึ่งเดียวกับโพธิจิตได้ก็ต่อเมื่อเป็นอิสระจากการจองจำของขันธ์ 5 เท่านั้น  


ผู้ที่ปลุกโพธิจิตของตนให้ตื่นแล้วมักจะดำเนินวิถีชีวิตของโพธิสัตว์เพื่อปลุกโพธิจิตของคนอื่นให้ตื่นด้วยเช่นกันเขาจะไม่เห็นคนอื่นหรือสรรพชีวิตอื่นแปลกแยกไปจากตัวเขาเขาไม่จำเป็นต้องเพียรพยายามทำดีมีคุณธรรมเพราะความดีความมีคุณธรรมจักเป็นธรรมชาติของเขาอยู่แล้วโดยไม่ต้องพากเพียร


โดเง็นมีความเห็นว่าแนวทางในการปฎิบัติธรรมทุกรูปแบบที่อิงอยู่กับความอยากได้อยากเป็นแม้ไม่ใช่สิ่งผิดแต่มันไม่บริสุทธิ์ไม่ว่าผู้นั้นจะมาปฏิบัติธรรมเพื่อเสริมชะตาได้ลาภหรือเพื่อไปสวรรค์หรือเพื่อได้ฤทธิ์หรือเพื่อโพธิญาณก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์อยู่ดี


การปฏิบัติธรรมที่บริสุทธิ์จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคนผู้นั้นได้ขจัดเป้าหมายแห่งความอยากได้อยากเป็นในการปฏิบัติธรรมได้แล้วเท่านั้นซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับคนทั่วไปที่ชินกับการต้องมีแรงจูงใจที่จะทำอะไรเพื่อได้หรือเพื่อเป็นอะไร


บางทีคนเราอาจต้องใช้เวลาทั้งชีวิตกว่าที่จะทำใจยอมรับได้ว่าอันที่จริงการแสวงธรรมที่ตัวเองทำมาทั้งชีวิตนั้นมันไม่จำเป็นเลยเพราะจริงๆเราก็มีมันอยู่แล้วแต่การที่คนเราจะตระหนักถึงความจริงอันนี้ได้ก็มักภายหลังจากที่คนผู้นั้นได้ดิ้นรนพากเพียรฝึกฝนปฏิบัติธรรมและแสวงธรรมอย่างทุ่มเทมาเป็นเวลาแรมปีแล้วเท่านั้น


การฝึกนั่งสมาธิของเซนแบบโดเง็นเป็นการฝึกเพื่อตระหนักถึงความเป็นหนึ่งเดียวระหว่างตัวเรากับผู้อื่นเพื่อการหลุดร่วงของอัตตาที่เกาะแน่นอยู่กับกายและใจเรามันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ปุถุชนผู้ยังมิได้ตื่นทางจิตวิญญาณจะมานั่งฝึกสมาธิกำหนดลมหายใจเข้าออกมีสติรู้ตัวทั่วพร้อมเพื่อที่จะลืมเลือนอัตตาตัวตนของตนเพื่อที่จะได้นั่งสมาธิเพราะเป็นสุขกับการได้นั่งสมาธิโดยไม่คาดหวังอะไรไปมากกว่านั้น


มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ปุถุชนผู้ยังมิได้ตื่นทางจิตวิญญาณจะมานั่งสมาธิที่ไม่หนีความจริงไม่หนีความทุกข์ยากของชีวิตที่ตัวเองกำลังเผชิญอยู่และต้อนรับมันด้วยหัวใจที่สงบ


มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยก็เพราะมันดูง่ายเกินไปที่คนเราจะเข้าถึงความเป็นพุทธะในตัวเองได้ง่ายๆเช่นนี้แต่ไม่มีอะไรง่ายอย่างที่เห็นนั้นดอกเพราะความง่ายที่เซนสอนชี้ให้เห็นนั้นที่แท้มันเป็นผลพวงของความซับซ้อนบากบั่นวิริยะอุตสาหะแห่งการฝึกสติฝึกสมาธิฝึกคุมอินทรีย์ทั้ง 5 มาอย่างยาวนานทั้งสิ้นมันจึงเป็นความง่ายในสายตาของพุทธะมิใช่ในสายตาของปุถุชนที่ยังไม่ได้ตื่นทางจิตวิญญาณ


เซนของโดเง็นมิได้มีไว้สอนปุถุชนเหล่านี้แต่มีไว้สำหรับผู้ที่มีโพธิจิตหรือผู้ที่ปรารถนาจะเป็นพุทธะเท่านั้นไม่มีการบรรลุธรรมที่ไหนหรอกจะบังเกิดขึ้นได้โดยไม่มีการปฏิบัติธรรมบำเพ็ญตบะบำเพ็ญบารมีเพียงแต่ การมีดวงตาเห็นธรรมจะบังเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อผู้ปฏิบัติได้ตระหนักถึงความสมบูรณ์พร้อมที่ตัวผู้นั้นเป็นและมีอยู่แล้วในฐานะที่เป็นพุทธะจนทำให้ผู้นั้นสามารถข้ามพ้นความลังเลสงสัยทั้งปวงทุ่มเทจิตใจให้กับการฝึกตบะ-สติ-จิต-สมาธิ-ปราณได้โดยมิได้ปรารถนาสิ่งใดอื่นอีกแล้วนอกจากได้บำเพ็ญเพื่อการบำเพ็ญเท่านั้น


2.ความจำเป็นของการฝึกตนเพื่อเตรียมพร้อมไว้เสมอกับการเผชิญพุทธธรรม

โดเง็นกล่าวว่าในโลกนี้มีคนจำนวนน้อยนิดเท่านั้นที่แค่ฟังพุทธพจน์แล้วสามารถเข้าถึงจิตวิญญาณของพระพุทธองค์ได้ผู้ที่จะทำเช่นนั้นได้จะต้องเป็นผู้มีปัญญาดุจพระราชาที่สามารถคัดเลือกแยกแยะคำแนะนำที่ดีๆของคณะที่ปรึกษามาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้โดยไม่ถูกจูงจมูกอย่างมีวิจารณญาณที่เป็นตัวของตัวเองในทำนองเดียวกันในโลกนี้ย่อมมีผู้คนเป็นจำนวนมากที่ได้เคยสัมผัสฟังหรืออ่านพุทธธรรมแต่กลับไม่สามารถซึมซับและซาบซึ้งได้แม้บางคนเกิดความเลื่อมใสจนคิดปฏิบัติธรรมแต่ยิ่งปฏิบัติธรรมนานปีเข้ากลับยิ่งสูญเสียความใจกว้างยิ่งนานยิ่งคับแคบและจมปลักอยู่กับความเข้าใจความเชื่อที่ตื้นเขินของตัวเอง


โดเง็นจึงบอกว่าการแค่มีแนวคิดเกี่ยวกับพุทธธรรมยังไม่เพียงพอหรอกตราบใดที่คนผู้นั้นยังไม่สามารถสำแดงความเป็นผู้อยู่บนทางนี้ต่อหน้าคุรุหรือครูที่แท้ได้ด้วยหัวใจและจิตวิญญาณทั้งหมดที่เขามี


การศึกษาธรรมหรือการปฏิบัติธรรมของคนผู้หนึ่งมีความก้าวหน้าแค่ไหนเขามิได้วัดกันที่จำนวนเล่มของหนังสือธรรมะหรือคัมภีร์ที่อ่านเขามิได้วัดกันที่จำนวนปีที่บวชหรือฝึกสมาธิหรอกแต่เขาวัดกันตรงที่ยามที่คนผู้นั้นเผชิญกับคุรุผู้เป็นตัวแทนของพุทธธรรมที่มีเลือดเนื้อมีชีวิตมีจิตวิญญาณแล้วคนผู้นั้นมีความพร้อมแค่ไหนในการรับการถ่ายทอดพุทธธรรมจากคุรุแบบกายสู่กายจิตสู่จิตและวิญญาณสู่วิญญาณต่างหาก


เพราะฉะนั้นโดเง็นจึงย้ำถึงความจำเป็นอย่างเหลือเกินในการฝึกตนทั้งทางกายและทางจิตเพื่อเตรียมพร้อมเสมอไว้เผชิญกับการถ่ายทอดพุทธธรรมที่จะมีขึ้นเมื่อไหร่ก็ไม่มีใครทราบนอกจากฟ้าเท่านั้น


3.ความจำเป็นในการตระหนักถึงมรรคที่กำลังเดินอยู่โดยผ่านการฝึกตนเองอย่างต่อเนื่อง

โดเง็นกล่าวว่าเขาไม่เคยเห็นหรือได้ยินมาก่อนว่ามีใครที่สามารถกลายเป็นขุนนางได้โดยไม่ศึกษาเล่าเรียนมาก่อนฉันใดก็ฉันนั้นเขาไม่เคยได้ยินมาก่อนว่าจะมีใครบรรลุธรรมได้โดยไม่ฝึกฝนปฏิบัติประวัติศาสตร์ของเซนได้บันทึกเรื่องราวนับไม่ถ้วนของผู้ที่ฝึกฝนปฏิบัติอย่างหนักหน่วงกว่าจะบรรลุธรรมได้พระพุทธองค์เองก็ทรงย้ำถึงความสำคัญของวิริยะในการบำเพ็ญตบะเพื่อบรรลุอรหัตผล


ผู้ที่ไม่ฝึกซะเซน” (นั่งสมาธิแบบเซน) ก็อย่าไปหลงหรือหลอกตัวเองเลยว่ากำลังฝึกปฏิบัติแบบเซนอยู่ผู้ที่ต้องการบรรลุในวิถีแห่งพุทธธรรมพึงตระหนักว่าการฝึกฝนปฏิบัติอย่างหนักเป็นเวลาแรมปีเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้และมิใช่สิ่งที่สูญเปล่าต่อให้เป็นการลองผิดลองถูกก็ตามฝึกแล้วถึงตระหนักได้ตระหนักแล้วถึงแจ่มแจ้งได้ถ้าไม่ฝึกก็ไม่มีตระหนักถ้าไม่ตระหนักก็ไม่มีวันแจ่มแจ้ง


4.ความจำเป็นของการปฏิบัติพุทธธรรมอย่างไร้ตัวตน

โดเง็นบอกว่าในการปฏิบัติมรรคของพุทธธรรมผู้ปฏิบัติจะต้องยอมรับคำสอนที่แท้ของครูเซนรุ่นก่อนโดยละทิ้งอคติหรือความเข้าใจที่ตื้นเขินของผู้นั้นออกไปให้หมดก่อนเพราะวิถีแห่งพุทธะไม่อาจเข้าถึงได้ด้วยความคิดหรือความนึกคิดของใจแต่ก็ไม่อาจเข้าถึงโดยปราศจากใจได้เช่นกันผู้ปฏิบัติจึงต้องข้ามพ้นทั้งใจและไม่ใช่ใจไปพร้อมๆกันเพื่อเข้าถึงจิตแท้


สำหรับโดเง็นแล้วการถ่ายทอดพุทธธรรมจากครูไปสู่ศิษย์คือการถ่ายทอดสภาวะแห่งฌานสมาบัติของจิตครูไปสู่จิตศิษย์นั่นเองโดยทำให้กายกับจิตหลุดร่วงจากอัตตาตัวตนจิตจะต้องไม่ยึดติดอะไรแต่ก็ไม่ปฏิเสธอะไรเพื่อการนี้ผู้ปฏิบัติพุทธธรรมควรปฏิบัติเพื่อพุทธธรรมเท่านั้นมิใช่เพื่อมุ่งหวังลาภยศสรรเสริญหรือแม้แต่ฤทธิ์


5.ความจำเป็นของการมีครูที่แท้

โดเง็นกล่าวว่าถ้าโพธิจิตเป็นสิ่งที่ไม่จริงหรือไม่มีจริงการปฏิบัติฝึกฝนตนเองทั้งหมดของคนเราจะเป็นความสูญเปล่าและคุณภาพในการปฏิบัติของศิษย์ขึ้นอยู่กับความเป็นของจริงของครูของเขาศิษย์เป็นได้อย่างมากแค่ไม้เนื้อดีการที่ไม้เนื้อดีจะกลายมาเป็นพระพุทธรูปที่สวยงามให้คนกราบไหว้บูชาได้ย่อมขึ้นอยู่กับฝีมือของผู้แกะสลักซึ่งก็คือครูครูที่ดีคือผู้ที่สามารถปลุกเร้ากระตุ้นศิษย์ให้สามารถเปล่งศักยภาพที่ตัวเขามีอยู่ได้ถึงขีดสุด


6.ไม่มีทางลัดทางง่ายทางสะดวกในเซน

โดเง็นบอกว่าการฝึกซะเซน(นั่งสมาธิแบบเซน) เป็นแก่นแท้ของพุทธธรรมและเป็นเส้นทางตรงเพื่อการหลุดพ้นแต่เส้นทางนี้ไม่ใช่เส้นทางง่ายผู้ที่จะเดินบนเส้นทางนี้จะต้องมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าผู้คนชอบหัดอะไรที่ง่ายๆสะดวกแล้วคิดว่านี่คือการฝึกฝนบำเพ็ญตบะแต่จริงๆแล้วพวกเขาเข้าใจผิดหากไม่ชอบฝึกหัดอะไรที่ทำให้กายลำบากจิตลำบากแล้วจะทำให้กายและจิตหลุดร่วงไปได้อย่างไรเล่า?


พวกที่ชอบทำอะไรง่ายๆพวกนี้จึงยังไม่สมควรที่จะมาปฏิบัติพุทธธรรมในสายตาของโดเง็นเพราะยังไม่ถึงเวลาของพวกเขาที่จะเข้าถึงความล้ำลึกและกว้างใหญ่ไพศาลของพุทธธรรมที่ต้องใช้สภาวะแห่งสมาธิอันล้ำลึกระดับฌานและสามารถขจัดทวิคติและความคิดแบ่งแยกที่ครอบงำใจและการกระทำของตัวเองอยู่ได้แล้วเท่านั้น
 








Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้