31. โพธิสัตตบูรณาเทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 31) 28/10/2551

31. โพธิสัตตบูรณาเทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 31) 28/10/2551

โพธิสัตตบูรณา:เทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 31)

31. จอมคนเทียนแห่งธรรม (ต่อ)

ภาพลักษณ์ที่โดดเด่นของ คุรุ ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงในสายตาของ “เขา” คือความขี้เล่น มีอารมณ์ขัน อารมณ์ดีอยู่เป็นนิตย์ มีความตรงไปตรงมา แต่ก็จริงใจที่จะมอบความสุขให้แก่ผู้คน ด้วยความร่าเริง สนุกสนาน แจ่มใส จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้คนเป็นจำนวนมากรู้สึกสุขใจเมื่อได้อยู่ใกล้ท่าน เพราะพวกเขาล้วนสัมผัสได้ว่า คุรุ ท่านนี้อยู่ในครรลองที่ท่านสอนทุกขณะจิต ทุกลมหายใจเข้าออก ทุกคนล้วนสัมผัสได้ถึงเนื้อในอันบริสุทธิ์แห่งจิตวิญญาณของท่านที่เป็นประดุจกระจกเงาที่สะท้อนให้พวกเขาได้เห็น และสัมผัสเนื้อในแห่งจิตวิญญาณของพวกเขาเองได้

บุคลิกภาพอันดึงดูดของ คุรุ สะท้อนสภาวธรรมภายในตัวท่านออกมา ท่านเป็นผู้ที่จริงแท้ ผู้ที่ประเสริฐยิ่ง มีดวงจิตที่สงบนิ่งล้ำลึกยากจะหยั่งถึง และเป็นหนึ่งในน้อยคนที่สามารถกราบบูชาได้โดยสนิทใจ ท่านทำให้ “เขา” รู้สึกปีติในความเป็นมนุษย์ รู้สึกชื่นชมใน วิถีแห่งโพธิสัตว์ ของท่าน และรู้สึกยินดีที่ได้มีชีวิตให้ห้วงเวลาเดียวกับ เลิศมนุษย์ เช่นท่าน

* * *

ในการฝึกฝนทางจิตแบบ วัชรยาน เพื่อยกระดับจิตวิญญาณของตนเองไปสู่ความรู้แจ้งนั้น มันมีความจำเป็น และความเป็นไปได้ที่ผู้นั้นจะต้อง “ละเลิก” มุมมองแบบปุถุชนที่คับแคบของตนเอง และใช้จินตภาพ สร้างนิมิตแห่ง “ตัวตนใหม่” ที่ตื่นทางจิตวิญญาณขึ้นมาแล้วใน สมาธิภาวนา เพื่อที่จะพัฒนาจิตวิญญาณของตนเองต่อไปอย่างถึงที่สุด

รากฐานการปฏิบัติธรรมแห่ง ตันตระ หรือ วัชรยาน คือ การหล่อหลอมตนเองด้วยพลังอันศักดิ์สิทธิ์ ที่เป็นที่มาของแรงบันดาลใจทั้งปวงของผู้นั้น โดยผ่านการฝึก คุรุโยคะ การฝึก คุรุโยคะ เป็นการตระเตรียมผู้นั้นให้เข้าสู่ประสบการณ์ที่ผสาน “การรู้แจ้งอย่างสมบูรณ์” เอาไว้ด้วย การสร้างนิมิต ที่เห็นตัวเองเป็น ผู้ศักดิ์สิทธิ์ คนหนึ่ง เพราะฉะนั้น ในการฝึก คุรุโยคะ นี้ก่อนอื่น ผู้นั้นต้องขจัดความคิดในเชิงลบที่มองตัวเองเป็นคนต่ำต้อยให้หมดไปจากจิตใจเสียก่อน จากนั้นผู้นั้นก็ต้องเรียนรู้ที่จะรู้ซึ้งถึงจิตใจส่วนที่ลึกที่สุดของตนเอง และของ คุรุ ของตน โดยผ่านการฝึก คุรุโยคะ นี้ เพราะใน คุรุโยคะ ตัว คุรุ คือ ผู้ที่บรรลุความรู้สึกตัว ความรู้เนื้อรู้ตัวอย่างสมบูรณ์แล้ว

การฝึกปฏิบัติตามวิธีของ คุรุโยคะ จะทำให้ผู้นั้นสามารถหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับ คุรุ ของตนได้ ภูมิปัญญาอันล้ำลึกของ คุรุ พลังของ คุรุ ความเมตตากรุณาอันเปี่ยมล้นของ คุรุ จะถูกบ่มเพาะภายในตัวผู้นั้น จนทำให้ผู้นั้นสามารถแสดงออกถึงคุณสมบัติอันประเสริฐของ คุรุ ออกมาได้ และผู้นั้นก็จะกลายเป็น คุรุ ในที่สุด เขาผู้นั้นก็ย่อมสามารถที่จะให้ความช่วยเหลืออย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยแก่สรรพชีวิตทั้งปวงได้ เช่นเดียวกับ คุรุ ของตน

ในอีกด้านหนึ่ง การฝึก คุรุโยคะ เป็นวิธีการเบื้องต้น เพื่อเรียนรู้ที่จะปลุกและรับฟัง คุรุภายใน ตัวเองของผู้นั้นให้จงได้ การฝึก คุรุโยคะ จะทำให้ผู้นั้นสามารถตัดทอนความฉาบฉวยตื้นเขินที่ดำรงอยู่ในความสัมพันธ์กับโลกภายนอกของผู้นั้น และทำให้ผู้นั้นสามารถเชื่อมต่อกับปัญญาญาณภายในของผู้นั้นอย่างลึกซึ้งได้

การปฏิบัติสมาธิแบบ คุรุโยคะ นั้นเป็นการภาวนาโดยใช้ ภาพนิมิต เริ่มต้นด้วยการที่ผู้นั้นจดจ่อไปที่ภาพของ คุรุพุทธะ หรือภาพของพระพุทธเจ้าภาพใดภาพหนึ่งที่ผู้นั้นได้เลือกแล้ว โดยจดจ่อภาวนาเพ่งไปที่ ภาพนิมิต นั้นเป็นเวลายี่สิบนาทีในแต่ละวัน ทำเช่นนั้นต่อเนื่องทุกๆ วันเป็นเวลาหกเดือนเป็นอย่างน้อย ขณะที่ผู้นั้นจดจ่อมองดู ภาพนิมิต นั้น จะต้องมองอย่างสบายๆ ด้วยสายตาที่ผ่อนคลายอย่างสิ้นเชิง ลมหายใจและกายนิ่งไม่เคลื่อนไหวเปิดรับประสบการณ์แห่งการภาวนานี้อย่างเต็มที่ ไม่ช้า ภาพนิมิต นั้นจะค่อยๆ ผสานรวมเข้ากับการตระหนักรู้ของผู้นั้นอย่างเป็นธรรมชาติ ในที่สุด ผู้นั้นจะสามารถฝึกฝนจิต จนกระทั่งเห็น ภาพนิมิต นั้น ภายในตัวของผู้นั้นได้อย่างชัดเจน

การเห็นในการปฏิบัติภาวนา คุรุโยคะ ด้วย ภาพนิมิต เป็นการเห็นด้วยความรู้สึกตัว ด้วยความตระหนักรู้ มากกว่าที่จะเป็นการเห็นด้วยตาเนื้อธรรมดา เพราะฉะนั้น เป้าหมายของภาวนา คุรุโยคะ ด้วย ภาพนิมิต จึงอยู่ที่การพัฒนาความตระหนักรู้ หรือความรู้สึกตัวนี้เพื่อรับรู้สรรพวิทยาทั้งปวงที่มีอยู่ภายในจิตใต้สำนึกของผู้นั้น การภาวนา คุรุโยคะ ด้วย ภาพนิมิต จึงเป็นการเพิ่มมิติใหม่ในการรับรู้โลก และให้มุมมองใหม่ในการมองดูความจริงที่ต่างออกไปจากการมองของปุถุชนแบบเดิมอย่างสิ้นเชิง ในที่สุด คนผู้นั้นจะบรรลุการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้ง เมื่อเจริญภาวนา คุรุโยคะ นี้อย่างต่อเนื่องยาวนานพอ

* * *

“เขา” นั่งขัดสมาธิ กายตั้งตรง เบื้องหน้าของเขามีภาพโครงกระดูกในรูปนั่งขัดสมาธิตั้งอยู่ “เขา” จดจ่อมองดูภาพโครงกระดูกนี้ด้วยสายตาที่ผ่อนคลายอย่างสิ้นเชิง ภาพโครงกระดูกนั่งขัดสมาธิภาพนี้เป็นภาพที่ถ่ายมาจากรูปภาพโครงกระดูกที่แขวนไว้อยู่ในถ้ำไก่หล่น และตั้งไว้ที่หอกรรมฐานในวัดของ คุรุ ของเขา

ภาพโครงกระดูกในรูปนั่งขัดสมาธิที่ “เขา” กำลังใช้เป็นภาพนิมิตในการภาวนา คุรุโยคะ นี้เป็นภาพของโครงกระดูกที่มีช่วงกระดูกแขน และช่วงกระดูกขาที่ค่อนข้างยาวกว่าคนทั่วไป “เขา” รับรู้ได้ด้วยใจว่า โครงกระดูกในรูปภาพนี้เป็นโครงกระดูกของพระพุทธเจ้า “เขา” กำลังใช้โครงกระดูกของพระพุทธเจ้าเป็น ภาพนิมิตคุรุพุทธะ แห่งการภาวนา คุรุโยคะ ของเขา

หลังจากที่ “เขา” จดจ่อมองดูภาพนิมิตโครงกระดูกของพระพุทธเจ้าภาพนี้ไปได้พักใหญ่ “เขา” ก็ค่อยๆ น้อมนำภาพนิมิตโครงกระดูกนี้ผสานรวมเข้ากับการตระหนักรู้ของตัวเขาเอง พร้อมกับหลับตาลง สูดลมหายใจเข้าไปลึกๆ เพื่อเตือนสติตัวเองว่า หลังจากนี้ “เขา” จะใช้ สติ นี้พิจารณาโครงกระดูกของตนเองแล้วนะ จากนั้นก็พ่นลมหายใจออกมายาวๆ

เมื่อ “เขา” ตั้งจิตให้มีสติรู้อยู่ที่รูปนั่งขัดสมาธิของตัวเองแล้ว ทั้งๆ ที่กำลังหลับตาอยู่ “เขา” ก็เลื่อนจิตเอาความรู้สึกไปจับที่กลางกระหม่อมให้เห็นเป็นกระดูก ปรากฏจากกลางกระหม่อม “เขา” เลื่อนจิตไปจับกระดูกหน้าผาก เลื่อนมาเรื่อยๆ ที่กระดูกโหนกคิ้วทั้งสองข้าง ทุกๆ จุดที่ “เขา” เลื่อนจิตไป “เขา” จะรู้สึกร้อนซ่านวูบวาบตามจุดต่างๆ นั้น

จากกระดูกโหนกคิ้วทั้งสองข้าง “เขา” เลื่อนจิตไปจับกระดูกเบ้าตาสองข้าง กระดูกสันจมูก...กระดูกโหนกแก้มสองข้างซ้ายขวา...กระดูกริมฝีปากด้านบนพร้อมฟัน...กระดูกริมฝีปากล่างพร้อมฟัน...กระดูกปลายคาง...กระดูกรวมข้างขวา...กกหูข้างขวา “เขา” เลื่อนจิตอ้อมไปด้านหลังกะโหลกศีรษะด้านขวา...กะโหลกศีรษะด้านหลังตรงกลาง...กะโหลกศีรษะด้านซ้าย...กระดูกกกหูตรงศีรษะด้านซ้าย...กรามข้างซ้าย...ปลายคาง...ขยับขึ้น ริมฝีปากด้านล่างพร้อมกระดูกฟัน...ริมฝีปากด้านบนพร้อมกระดูกฟัน...เลื่อนไปที่กระดูกโหนกแก้มสองข้าง...เลื่อนไปที่สันจมูกซึ่งมีรูสองข้าง...เบ้าตาสองข้าง...กระดูกคิ้วสองข้าง...กระดูกหน้าผากอันขาวโพลนขึ้นไปจนถึงจอมประสาทกลางกระหม่อม

จากกลางกระหม่อม “เขา” เลื่อนจิตไหลเรื่อยลงไปที่กะโหลกศีรษะด้านหลังไปถึงข้อกระดูกต้นคอที่ติดกับกะโหลกศีรษะ จากข้อที่หนึ่ง ไหลเรื่อยลงไปถึงข้อที่เจ็ด จากนั้น “เขา” เลื่อนจิตไปพิจารณากระดูกบ่าด้านหลังทั้งซ้ายขวา ซึ่งมีสะบักสองข้างเป็นแผ่นกระดูกบางๆ รูปใบโพธิ์ สำรวจเสร็จแล้ว “เขา” ก็เลื่อนจิตอ้อมไปด้านขวาด้านหน้าไปสำรวจดูกระดูกไหปลาร้าด้านหน้าด้านขวา ตั้งแต่หัวไหล่ขวาไปถึงลำคอด้านขวา จากด้านขวา “เขา” เลื่อนจิตไปไหปลาร้าด้านซ้ายตั้งแต่ลำคอถึงหัวไหล่ซ้าย...มาที่กระดูกหัวไหล่ข้างซ้าย...มาที่กระดูกสะบักอีกครั้ง...มาถึงต้นคอด้านซ้ายด้านหลัง...กระดูกบ่าต้นคอด้านขวาด้านหลัง “เขา” รู้สึกร้อนวูบวาบไปตามจุดต่างๆ เหล่านี้ เมื่อ “เขา” เอาสติไปจับรับรู้มัน

จากนั้น “เขา” เลื่อนจิตไปที่กระดูกหัวไหล่ด้านขวา...ลงไปที่กระดูกต้นแขนท่อนบนด้านขวาไล่ลงไปจนถึงข้อศอกขวา...ท่อนแขนด้านล่างด้านขวาซึ่งมีกระดูกลักษณะคล้ายตะเกียบสองท่อนอยู่ติดกันกับกระดูกท่อนบนด้านขวา “เขา” เลื่อนจิตไหลเรื่อยไปจนถึงกระดูกข้อมือด้านขวา จากข้อมือก็ไปถึงกระดูกฝ่ามือด้านขวา จากนั้น “เขา” เลื่อนจิตไปสำรวจนิ้วทุกนิ้ว และทุกข้อของมือขวา ก่อนที่จะเลื่อนจิตย้อนกลับขึ้นมาที่กระดูกฝ่ามือ...กระดูกข้อมือ...กระดูกแขนด้านล่าง...กระดูกข้อศอก...กระดูกต้นแขนบนด้านขวา...กระดูกหัวไหล่ด้านขวา โดยวิธีเดียวกันนี้ “เขา” ก็เลื่อนจิตไปสำรวจกระดูกแขนด้านซ้ายด้วยเช่นกัน จนย้อนกลับมาที่กระดูกหัวไหล่ด้านซ้ายเลาะมาถึงกระดูกสันหลังต้นคอที่ติดต่อกับกระดูกคอข้อที่เจ็ด “เขา” เลื่อนจิตจากกระดูกสันหลังต้นคอนี้ไล่ลงไปทีละข้อ สำรวจลงไปจนถึงข้อที่สิบเจ็ด

จากนั้น “เขา” เลื่อนจิตไปสำรวจกระดูกก้นกบที่มีลักษณะคล้ายกับหางเต่าจับไปจนถึงปลายหางกระดูกแล้วย้อนไล่ขึ้นมาจับกระดูกก้นกบด้านบน ก่อนที่จะกระจายความรู้สึกไปรับรู้ถึงกระดูกเชิงกรานทั้งสองข้างที่มีลักษณะเหมือนใบตาล จากนั้น “เขา” จึงเลื่อนจิตไปพิจารณากระดูกขาข้างขวา...กระดูกขาท่อนบนด้านขวาที่เป็นเหมือนลูกหมากที่ติดกับเชิงกราน...เลาะลงไปจนถึงหัวเข่า...ถึงสะบ้า...ถึงกระดูกหน้าแข้งอันเป็นกระดูกขาด้านล่างสองท่อน ซึ่งมีลักษณะคล้ายตะเกียบ...ถึงกระดูกข้อเท้า...กระดูกส้นเท้า...กระดูกฝ่าเท้า จากนั้น “เขา” เลื่อนจิตไปสำรวจกระดูกนิ้วเท้าทุกนิ้วและทุกข้อ ก่อนที่จะเลื่อนจิตย้อนกลับมาจับกระดูกฝ่าเท้าขวา ข้อเท้าขวาท่อนขาด้านล่างขวา หัวเข่าขวา สะบ้า ท่อนขาด้านบนด้านขวา และเชิงกรานด้านขวา ในทำนองเดียวกัน “เขา” ก็เลื่อนจิตไปพิจารณากระดูกขาด้านซ้ายด้วย “เขา” พิจารณาโครงกระดูกของตัวเขา ตลอดทั้งร่างนี้ไปเรื่อยๆ

เมื่อ “เขา” พิจารณาย้อนขึ้นมาจนถึงกระดูกเชิงกรานด้านซ้ายแล้ว “เขา” ก็เลื่อนจิตมาหยุดตรงกระดูกก้นกบข้อที่สิบเจ็ด ไล่ขึ้นไปเรื่อยๆ ทีละข้อจนถึงกระดูกสันหลังข้อที่หนึ่งตามลำดับ จากนั้น “เขา” ก็จับไปที่กระดูกต้นคอข้อที่เจ็ดที่ต่อกับกระดูกหัวไหล่ พิจารณาย้อนกลับขึ้นไปทีละข้อ จนถึงกระดูกต้นคอข้อที่หนึ่งที่ติดกับกะโหลกศีรษะ

“เขา” เลื่อนจิตไล่ขึ้นไปช้าๆ รู้สึกถึงไออุ่นในทุกๆ จุดที่จิตเข้าไปจับ “เขา” จับภาพกะโหลกศีรษะด้านหลัง เลื่อนจิตช้าๆ จนไปหยุดที่กึ่งกลางกระหม่อมบนกะโหลกศีรษะด้านบน “เขา” สูดลมหายใจเข้าไปลึกๆ แล้วพ่นลมออกมายาวๆ ช้าๆ ก่อนที่จะลืมตา และออกจากกรรมฐาน

ใน วิชาลม 7 ฐาน ของ คุรุ ของเขา ไม่ว่าจะเป็นการเจริญภาวนาด้วยภาพนิมิตแบบคุรุโยคะของ วัชรยาน หรือ อนุตรตันตระปฏิบัติ หรือจะเดินลมปราณชำระไปกระดูกแบบ เต๋า หรือแบบ เซนของตั๊กม้อ แห่งวัดเส้าหลิน หรือจะเจริญสติ เจริญความรู้สึกตัวแบบ มหาสติปัฏฐาน 4 ของเถรวาท ต่างก็ใช้ การพิจารณาโครงกระดูก ของตัวเอง ดังข้างต้น เป็น ที่ตั้งของจิตและเป็น แก่นแกนกลาง ในการปฏิบัติทั้งสิ้น






 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้