30. โพธิสัตตบูรณาเทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 30) 21/10/2551

30. โพธิสัตตบูรณาเทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 30) 21/10/2551

โพธิสัตตบูรณา:เทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 30)

30. จอมคนเทียนแห่งธรรม (ต่อ)

“เขา” เชื่อมั่นอย่างแน่นแฟ้นจากประสบการณ์ภายในของตัวเขาเองว่า ลม 7 ฐาน เป็น กุญแจ ไขไปสู่ สรรพวิชาทางจิตวิญญาณได้ ไม่ว่าจะเป็นวิชาทางพลังจิต วิชาเกี่ยวกับปราณ หรือวิชาเพื่อการรู้แจ้ง ความรอบรู้ในสรรพวิชาและสรรพศาสตร์ของ คุรุ ของเขาเป็นเครื่องยืนยันเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

ในความเข้าใจของ “เขา” แม้ วิชาลม 7 ฐาน จะไม่เคยปรากฏอยู่ในคัมภีร์ใดๆ เลย แต่ดูเหมือนว่า ลม 7 ฐาน แฝงเร้นอยู่ในพุทธแทบทุกสาย ทั้งวัชรยาน มหายาน (เซน) และเถรวาท อีกทั้งยังแฝงเร้นร่องรอยอยู่ในเต๋า และฮินดู (โยคะ) อีกด้วย แต่กล่าวโดยรวมแล้ว บุคลิกภาพและจิตลักษณะแห่งลม 7 ฐาน ที่สรุปรวบรัดสั้นได้ใกล้เคียงที่สุด น่าจะเป็น “พุทธะอิสระ” ซึ่งเป็นชื่อของ คุรุ ของเขากับ “ธรรมะอิสระ” ซึ่งเป็นชื่ออารามวัดที่ คุรุ ได้สร้างขึ้นมา หรือถ้าดูจากบทโศลกของคุรุที่สะท้อนบุคลิกภาพและจิตลักษณะแห่งลม 7 ฐาน ก็น่าจะเป็นบทโศลกดังต่อไปนี้

(1) “เจ้าต้องทำชีวิตให้เหมือนกับ เมฆหมอกที่กำลังเคลื่อนตัวหรือสายน้ำที่กำลังไหลริน”

บทโศลกนี้ของ คุรุ คล้ายคลึงกับ สำนวนเซน มากที่สุด ที่บอกว่า

“เมฆเคลื่อนน้ำคล้อย”

(2) “พุทธแท้ๆ หิวกิน ง่วงนอน ร้อนอาบน้ำ แต่กว่าจะเป็นเช่นนี้ได้นั้น เจ้าจักต้องซึมสิง ซึมซาบ และซึมซับในวิถีแห่งความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น และเบิกบานอย่างละเอียดหมดจด”

บทโศลกนี้ของคุรุ ก็คล้ายคลึงกับคำสอนของ เซน เช่นกัน

ถ้าเช่นนั้นแล้วจะสรุปว่า ลม 7 ฐาน ก็คือ เซน ได้หรือไม่ เพราะ เซน ตามตำนานก็มีกำเนิดมาจากพระมหากัสสปะ และเป็นการถ่ายทอดจากจิตสู่จิตด้วยเช่นกัน แต่ในความเห็นของเขา ตัวเขากลับมองว่า เซนก็อยู่ในลม 7 ฐานมากกว่า เพราะ เซน เป็นเพียงเสี้ยวเดียวของลม 7 ฐาน แม้จะเป็นเสี้ยวที่สำคัญก็ตาม แต่ ลม 7 ฐาน เป็นอะไรที่มากกว่า “เซน” ที่ชาวตะวันตกทั่วไปรู้จักกันในปัจจุบัน บางที “เซนโบราณ” ในยุคของพระโพธิธรรม (ตั๊กม้อ) แห่งวัดเส้าหลิน อาจจะมีความใกล้เคียงกับลม 7 ฐานมากกว่า “เซนสมัยนี้” (เซนในญี่ปุ่น) ที่ขาดการฝึกวิชาลมปราณ โดยเฉพาะวิชาปราณชำระกระดูก (ลมปราณล้างไขกระดูก)

แต่เมื่อ คุรุของเขาได้กล่าวอย่างชัดเจนว่า วิชาลม 7 ฐาน มีความหมายใกล้เคียงกับ มหาสติปัฏฐาน 4 ใกล้เคียงกับ หลักปฏิจจสมุปบาท และก็ตรงกับ หลักโพธิปักขิยธรรม 37 ประการ เราก็สามารถกล่าวได้ว่า วิชาลม 7 ฐาน เป็นการฝึก กรรมฐาน อย่างหนึ่งที่ครอบคลุมทั้ง สมถะกรรมฐาน และ วิปัสสนากรรมฐาน อย่างครบถ้วน อย่างมีลักษณะเฉพาะตัว กล่าวโดยนัยนี้ ลม 7 ฐานก็คือ เถรวาทที่ยึดถือการฝึกมหาสติปัฏฐาน 4 เป็น “ทางเอก” เพื่อการรู้แจ้ง อย่างมิต้องสงสัย โปรดพิจารณาบทโศลกของ คุรุ ต่อไปนี้ก็จะเห็นชัดเอง

“ลูกรัก...เจ้าจักสำคัญความนี้เป็นไฉน

ความไม่รู้สึกตัวทั่วพร้อม เป็นเหตุให้เกิดความปรุงแต่ง

ความปรุงแต่งเป็นเหตุให้เกิดกิเลส ตัณหา อุปาทาน

กิเลส ตัณหา อุปาทาน ก็คือ ความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความยึดถือ

ถ้าเจ้าถามพ่อว่า ความรัก โลภ โกรธ หลง มีตัวตนหรือไม่

พ่อก็ต้องตอบว่า มันมิได้มีตัวตน จุดที่จะแก้ความปรุงแต่งได้คือ ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ซึ่งทำให้เข้าถึง พระบริสุทธิธรรม ความไม่รู้เนื้อรู้ตัวเป็นที่มาของการปรุงแต่ง เป็นที่มาของความรัก โลภ โกรธ หลง และยึดถือ

ความรัก โลภ โกรธ หลง และยึดถือเป็นที่มาของชาติ ชรา พยาธิ มรณะ เป็นผลทำให้เกิดทุกข์

วิถีเข้าถึงพระบริสุทธิธรรม คือ ต้องทำความรู้สึกตัวตลอดเวลา ตัดสิ่งที่เป็นอดีตที่ผ่านมาแล้ว ตัดสิ่งที่เป็นอนาคตที่ยังไม่มาถึง คงไว้แต่ปัจจุบัน”

บางครั้งเวลาที่ คุรุ เอ่ยถึงพลังปราณ ท่านก็ได้แสดงความลึกซึ้งของท่านออกมาว่า ตัวท่านรอบรู้และเข้าใจ วิถีเต๋า เป็นอย่างดี เมื่อท่านกล่าวว่า

“ลูกรัก...ฟ้า มีอายุยืนยาว ดิน มีอายุที่ยิ่งใหญ่ เหตุเพราะทั้งสองนั้นไซร้ มิได้อยู่เพื่อตนเอง” และ

“นักพรตเต๋าหรือเซียน ทำ พลังแห่งชีวิต ให้เข้าถึง ธรรมชาติของเต๋า โดยการเรียนรู้ ดิน น้ำ ลม ไฟ มาบวกเข้ากับลมปราณ คือ ผนึกกำลังกับกาย ทำให้เซียนมีอายุหลายร้อยปีได้ เหตุผลก็เพราะมีพลังที่เข้าถึงดิน น้ำ ลม ไฟ และก็ควบคุมมันได้”

แต่ คุรุ ก็เตือนพวกลูกศิษย์อีกว่า การมีพลังที่เข้าถึงดิน น้ำ ลม ไฟ อย่างพวกเซียน พวกฤาษีนั้นยังเป็นพลังแค่เปลือกกระพี้ พระพุทธองค์ไม่ได้สอนให้พวกเราเข้าถึงธาตุทั้งสี่ แต่พระองค์สอนให้พวกเราเข้าใจถึง จิตวิญญาณ ที่เป็นตัวควบคุมดิน น้ำ ลม ไฟอีกทีหนึ่ง

คุรุ จึงสอนพวกลูกศิษย์ว่า ผู้ที่เข้าถึงจิตวิญญาณของตน ก็สามารถเข้าถึงควบคุมจิตวิญญาณของสรรพโลกได้ และการควบคุมสรรพจิตวิญญาณของเราทั้งหลายนั้น จะทำให้สามารถเข้าถึงพลังแห่งธรรมชาติได้ เพราะ จิตวิญญาณ เป็นตัวที่แสดงออกถึงพลังอำนาจของจักรวาฬ จิตวิญญาณจึงคืออำนาจของพลัง เป็นที่รวมของพลัง ถ้าผู้นั้นเข้าถึงอำนาจของจิตวิญญาณได้ ก็จะควบคุมดิน น้ำ ลม ไฟ ให้คงสถานะรูปเดิมได้

การจะเรียนรู้เพื่อเข้าถึงจิตวิญญาณ ผู้นั้นจึงต้องรู้ว่า จิตวิญญาณทำหน้าที่ควบคุมธาตุลม (ในกาย) ธาตุลมควบคุมธาตุไฟ ธาตุไฟควบคุมน้ำ ธาตุน้ำควบคุมธาตุดิน ธาตุดินไม่ควบคุมสรรพธาตุ แต่เป็นที่อยู่ของสรรพธาตุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นการจะเข้าถึงพลังแห่งจิตวิญญาณจึงต้องเข้าใจพื้นฐานของลม ไฟ น้ำ ดิน เสียก่อน โดยเฉพาะต้องรู้ว่าลมมีคุณสมบัติอย่างไร อนึ่ง ธาตุลม ธาตุไฟ ธาตุน้ำ ธาตุดินที่กล่าวถึงในที่นี้หมายถึง ธาตุลม-ไฟ-น้ำ-ดินในร่างกาย

เมื่อรู้แล้วว่า จิตวิญญาณ มีความหมายที่สื่อถึงพลังแห่งธรรมชาติ และจักรวาฬ การจะเข้าถึงธรรมชาติและจักรวาฬนั้นสามารถทำได้ ด้วยการเรียนรู้จิตวิญญาณของตนเอง โดยเริ่มต้น จากการชำระล้างกายและใจของตน ให้สะอาด จากนั้นก็ต้องค้นหาจิตวิญญาณของตัวเองให้เจอ ด้วย การฝึกความรู้สึกรู้เนื้อรู้ตัว โดยต้องพยายามฝึกจนกระทั่งความรู้เนื้อรู้ตัวนี้มันอยู่กับเราตลอดเวลา หากมันหายไปก็ต้องรีบเรียกมันกลับมาทันที

เมื่อ ความรู้เนื้อรู้ตัว เกิดกับผู้นั้นแล้ว มันจะเกิดพลังชนิดหนึ่งไปปิด “ประตูวิญญาณ” ที่อยู่บนหน้าผากและหัวขม่อมของผู้นั้นให้แคบลง ถ้าหากผู้นั้นทำเช่นนั้นได้ ผู้นั้นจะสามารถมีอายุยืนยาวกว่าปุถุชนสามัญได้ ผู้ที่เข้าถึง “ประตูวิญญาณ” จะสามารถบังคับระงับความเกิด แก่ เจ็บ ตายได้ มีชีวิตที่ยืนยาวได้ แต่ไม่ใช่อมตะตลอดกาล เพราะ ความไม่ตายจากโลกเป็นไปได้โดยความไม่ตายจากวิญญาณอมตะเท่านั้น มิใช่มีร่างกายอันอมตะแต่อย่างใด ถึงกระนั้น ผู้ใดก็ตามที่สามารถฝึกปรือจิตวิญญาณของตนให้มีอำนาจ และมีพลังได้ เขาผู้นั้นก็จะสามารถเลือกเกิด เลือกตายได้ด้วย เพราะพลังอันนี้สามารถขัง ชำระล้าง ผลักดัน พลังกรรม อันเป็นพลังที่มีอำนาจอีกชนิดหนึ่งได้

คุรุ จึงสอนพวกลูกศิษย์ว่า การจะค้นหาจิตวิญญาณของตนให้ได้นั้น จะต้องเริ่มจากการชำระสิ่งปฏิกูลในใจตนให้หลุดลอกออกไปให้หมดจนเหลือแต่ความสะอาดเสียก่อน ด้วย การทำกรรมดีต่างๆ ไม่ว่าจะวิธีใดก็แล้วแต่ อันเป็นการบ่มเพาะสะสม พลังบุญ (พลังอนันต์) ที่มีผลต่อการชำระล้างจิตวิญญาณของตนโดยตรง ครั้นเมื่อจิตวิญญาณของตนสะอาดแล้ว ผู้นั้นก็ต้องหา ที่อยู่ของจิตวิญญาณ ให้เจอว่า มันอยู่ตรงไหนในกาย ซึ่งคุรุพบว่า ตัวที่ตั้งของจิตนั้น เป็นโครงกระดูกของตัวเราเอง การค้นหาจิตวิญญาณของตัวเองให้เจอ

จึงเป็น กระบวนการที่เปลี่ยนแปลงฝึกปรือวิญญาณของผู้นั้นให้เป็นวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ โดยที่การค้นหาจิตวิญญาณของผู้นั้นทำได้ โดยการ เปลี่ยนวิญญาณเป็นโครงกระดูก ซึ่งการทำเช่นนี้ ในขณะเดียวกัน ก็เป็นการเปิดประตูวิญญาณให้เข้าหาตัวผู้นั้น ทำให้ผู้นั้นรู้จักตัวเองว่า ตัวเองอยู่ตรงไหน อันเป็นที่ตั้งของจิตอันจะค้นพบได้ โดยการ ฝึกสมาธิแบบกายรวมใจ

หลายครั้งเหลือเกินที่ คุรุ ของเขาเคยพูดถึงทิเบตราวกับว่าหัวใจ และวิญญาณของท่านเคยอยู่ที่นั่น คำสอนเร้นลับของวิชาลม 7 ฐานข้างต้น นอกจากจะมีร่องรอยของเซนและเต๋าแล้ว จึงมีร่องรอยของ พุทธแบบวัชรยาน ดำรงอยู่ด้วยเช่นกัน

ท่านสระหะ (Saraha) หนึ่งใน 84 ผู้ทรงฤทธิ์ในตำนานของชาวทิเบต เคยกล่าวไว้ว่า

“ถ้าหาก ถ้อยคำ ของ คุรุ ของผู้ใด เข้าไปใน หัวใจ ของเขา

มันจะกลายเป็น ทรัพย์ ในมือของผู้นั้น

โลกนี้เป็นทาสด้วยความหลงผิด ด้วยความเข้าใจที่ผิดพลาด

ผู้ที่ขลาดเขลาจึงไม่รับรู้ ธรรมชาติที่แท้จริงของเขาเอง”

“จงอย่าพลาด ประสบการณ์ของการพบตนเอง”

“ผู้ที่ยังไม่ได้ดื่มน้ำทิพย์ของคำสอนของคุรุ จะตายในความกระหายในทะเลทรายของคำสอนอันมากมาย”

“อย่านั่งในเรือน อย่าออกไปในป่า

แต่จง ระลึกรู้ จิตทุกขณะที่มีลมหายใจอยู่

เมื่อผู้หนึ่งได้ซึ่งความสมบูรณ์ และเพียบพร้อม

ที่ใดเล่ามีสังสารวัฏ ที่ใดเล่ามีนิพพาน”

“จงอุทิศตัวเองต่อคำสอนของคุรุ และตัวตนแท้ๆ จะปรากฏขึ้น”

เมื่ออ่านคีตสมบัติของสระหะข้างต้นแล้ว “เขา” แทบคิดว่าเป็นคำสอนเดียวกับ ประสบการณ์ลม 7 ฐาน ของ คุรุ ของเขาเลยทีเดียว

จากการสืบค้น ร่องรอยของลม 7 ฐาน ที่แฝงอยู่ในเซน เต๋า เถรวาท และวัชรยาน “เขา” ได้ข้อสรุปกับตนเองว่า แก่นกลางในการฝึกปรือวิชาลม 7 ฐานนั้น น่าจะประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ส่วนด้วยกันคือ

(1) คุรุโยคะแบบอนุตรโยคะตันตระของวัชรยาน

(2) การเดินลมปราณชำระไขกระดูกแบบเต๋า หรือแบบเซนของตั๊กม้อแห่งวัดเส้าหลิน

(3) การเจริญภาวนาความรู้สึกตัว หรือความรู้เนื้อรู้ตัวแบบมหาสติปัฏฐาน 4 ของเถรวาท

ด้วยเหตุนี้ วิชาลม 7 ฐาน จึงถือได้ว่าเป็น ระบบการฝึกฝนทางจิตวิญญาณที่มีลักษณะบูรณาการเป็นอย่างยิ่ง และเป็นแก่นของแทบทุกสรรพวิชาแห่งบูรพาวิถี จนแทบจะเรียกได้ว่า ในศตวรรษที่ 21 นี้ วิชาลม 7 ฐาน นี้ น่าจะเป็น ศิลปะแห่งการรู้แจ้ง ขั้นสูงสุดของมนุษยชาติแขนงหนึ่งเลยทีเดียว

แต่ ลม 7 ฐาน จริงๆ แล้วเป็นเช่นไรนั้น ยากนักที่ใครๆ จักล่วงรู้ได้ “เขา” เองก็มิกล้ายืนยันว่าตัวเองล่วงรู้วิชานี้อย่างถ่องแท้แล้ว ผู้ใดที่รู้จัก คุรุ ของเขาได้ถึงหัวใจ และวิญญาณนั่นแหละ จึงจะกล่าวได้ว่า รู้จัก ลม 7 ฐาน แต่ความลึกล้ำสุดหยั่งถึงแห่ง หัวใจของมหาโพธิสัตว์ เช่น คุรุ นั้น

มีใครบ้างเล่าจักหยั่งถึงได้?

มีใครสักกี่คนเล่าที่เข้าถึงได้?







 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้