มวยจีนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า

มวยจีนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า

 


มวยจีนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า
ความรักกับจอมยุทธ์

คำนำผู้เขียน
มวยจีนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า

 


คำขึ้นต้น

เขียนหนังสือวิชาการได้สิบปี ได้แลเห็นถึงความไม่จีรังยั่งยืนในงานวิชาการของตนเอง จึงเกิดความรู้สึกที่ถูกกระตุ้นจากภายในอย่างรุนแรง ที่จะเขียนหนังสือขึ้นมาสักเล่มหนึ่งที่ฉีกแนวการเขียนที่ผ่านของตนดูซักครั้งครา หนังสือที่ว่านั้นคือหนังสือเล่มนี้

ในทะเลนั้นมีกระแสน้ำอยู่ 2 ประเภท กระแสหนึ่งนั้นไหลอยู่บนพื้นผิวทะเลเป็นเกลียวคลื่นไหวพริ้วไปตามสายลมและผันแปรอย่างไม่หยุดยั้งตามเจตจำนงค์ของธรรมชาติ ที่มีทั้งรุนแรงและสงบราบเรียบราวกับไม่เคยหลับใหล ดุจการเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ แต่ในทะเลก็ยังมีกระแสน้ำอีกประเภทหนึ่ง ที่อยู่ล้ำลึกลงไปใต้ผิวทะเลหนึ่งร้อยเซียะกระแสนน้ำนี้ สงบนิ่ง มั่นคง และไหลลึกเป็นอยู่เช่นนั้นตลอดไป แม้ในอนาคต

ผมหวังว่า หนังสือเล่มนี้ คงเป็นเฉกเช่น "ใจของน้ำ" ที่อยู่ลึกใต้ทะเลหนึ่งร้อยเซียะนั้น

 

 

คำลงท้าย

แต่เดิมที ผมตั้งใจจะเขียนหนังสือเล่มให้เสร็จทันวันที่ 27 พ.ค. 2533 นี้ เพื่อขอมีส่วนร่วมในการสักการะ วันครบอายุ 84 ปี ท่านพุทธทาสภิกขุ แต่ก็เขียนเสร็จช้าไปหนึ่งวัน ท่านพุทธทาสภิกขุเคยกล่าวไว้ว่า "ถ้าเปลี่ยนจิตใจได้ก็เปลี่ยนโลกได้ จิตที่เปลี่ยนย่อมเห็นโลกผิดไปจากที่เคยเห็น" "การมีโภคทรัพย์มากน้อยไม่สำคัญ สำคัญที่ว่า การครอบครองโภคทรัพย์นี่จะต้องเชื่อมโยงกับการบำเพ็ญธรรมด้วย" และ ""ไม่หนีโลก" และไม่หลงโลกหากแต่จะอยูในโลกอย่างมีจิตสำนึกเพื่อทำการเปลี่ยนแปลงโลกจากภายใน" ผมหวังว่าสารัตถะของหนังสือเล่มนี้ของผม คงพอจะช่วยสื่อสารในประเด้นข้างต้นที่ท่านพุทธทาสภิกขุได้กล่าวมานี้กับท่านผู้อ่านได้บ้าง

ท่านพุทธทาสภิกขุยังมีความเห็นเกี่ยวกับศาสตร์ว่าด้วย "เศรษฐกิจ" หรือวิชาเศรษฐศาสตร์ที่เป็นวิชาชีพของผมด้วยว่า เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวกับการทำสิ่งที่ไม่มีค่าหรือสิ่งที่มีค่าน้อยให้มีค่ามากที่สุด ถ้ากล่าวโดยนัยนี้ หนังสือเล่มนี้ของผู้เขียนก็น่าที่จะจัดเป็นหนังสือทางเศรษฐศาสตร์ประเภทหนึ่งได้เช่นกัน (เศรษฐศาสตร์กำลังภายใน?) หนังสือทางเศรษฐศาสตร์ที่ผมใช้เวลาสิบกว่าปีขึ้นไปกว่าจะเขียนออกมาได้ และเป็นหนังสือทางเศรษฐศาสตร์ที่ผมใช้เวลาตระเตรียมนานที่สุดกว่าจะเขียนออกมาได้ แต่ก็อาจเป็นหนังสือเศรษฐศาสตร์ที่พวกนักเศรษฐศาสตร์เถรตรง (Orthodox economist) อาจจะไม่ยอมรับว่าเป็นหนังสือเศรษฐศาสตร์ก็เป็นได้

สิ่งที่ผมต้องการจะให้ผู้อ่านได้รับประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้ ก็คือการยกระดับคุณภาพชีวิต (ทางร่างกายและจิตใจ) ของ"คน" ไทย "คน" ในฐานะที่เป็นองค์ประธานทางเศรษฐกิจและสังคมไทย โดยพยายามที่จะลงทุนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เหล่านี้ในทางวัตถุให้น้อยที่สุด และก่อให้เกิดคุณค่าให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด้วยการปลุกให้ตื่นจากภายใน และการปฏิบัติชอบ เพราะฉะนั้น "คน" ที่เป็นเป้าของผมในการค้นคว้าของหนังสือเล่มนี้ จึงลุ่มลึกกว่า "คน" ในวิชาเศรษฐศาสตร์จุลภาคโดยทั่วไป ผมพยายามเข้าไปให้ถึง "ชีวิตภายใน" ของพวกเขาเหล่านี้และพยายามปลุกเร้า อัดฉีดพลังใส่เข้าไปด้วยหวังว่าพวกเขาเหล่านี้จะกลายเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพที่สามารถจะทำประโยชน์ให้แก่สังคม มนุษยชาติและแก่ตนเองสืบไปได้ และหวังว่าพวกเขาจะกลายมาเป็น "ตัวเอก" ในการแบกรับการพัฒนาระบบการบริหารธุรกิจแบบไทยที่เป็นแบบพุทธธรรม ที่ผมเคยนำเสนอต่อไปได้

วิธีการนำเสนอในหนังสือเล่มนี้ของผมจึงมีทั้งการแจกแจง ชี้แนะ และเสนอวิธีปฏิบัติประกอบด้วย เพียงแต่ผมไม่พยายามเสนอแบบเถรตรง แข็งทื่อ น่าเบื่อ ไม่จูงใจ ไม่เร้าใจเหมือนอย่างตำราทางวิชาการทั่วไป ผลพยายามใช้ศิลปะแห่งวรรณกรรม มาสอดแทรกทำให้หนังสือเล่มนี้น่าอ่านและชวนติดตามยิ่งขึ้น คุณจะอ่านหนังสือเล่มนี้ของผมอย่างจริงๆตามตัวอักษรก็ได้ หรืออย่างตีความก็ย่อมได้

การทดลองในครั้งนี้ของผมจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ผู้อ่านเท่านั้นที่จะเป็นผู้ตัดสินใจที่แท้จริง ถ้าหากจะมีใครแม้เพียงซักคนเดียวที่ได้รับประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้ ก็นับว่าความพยายามของผมไม่ได้สูญเปล่าแล้วเพราะสิ่งสูงสุด 4 ประการที่ผมเห็นว่ามนุษย์เราควรจะบรรลุได้นั้นคือ
1. ความสุข ซึ่งผมหมายถึง ความที่ไม่มีกิเลสมารบกวน เมื่อไม่มีกิเลสก็มีความสงบ และความสงบก็คือความสุข
2. ความเต็มเปี่ยมของการเป็นมนุษย์ ซึ่งผมหมายถึง ความสำเร็จหรือความก้าวหน้าตามวิถีทางของมนุษย์หรือฆราวาส ที่ปลอดโปร่งจากการรบกวนของกิเลส ทำให้มนุษย์เรามีใจที่สะอาด สว่าง และสงบมากที่สุดเท่าที่มนุษย์จะเป็นได้
3. หน้าที่เพื่อประโยชน์แห่งหน้าที่ หรือความเป็นมืออาชีพ ซึ่งผมหมายถึงการที่ไม่ถืออะไรเป็นตัวเรา ของเรา ก็เท่ากับว่า ทุกสิ่งเป็นธรรมชาติเราจึงทำงานเพื่องาน เพื่อหน้าที่เพราะเราเป็นมืออาชีพเท่านั้นเรามิได้ทำงานเพิ่อเงินหรือเพื่อผลประโยชน์แต่อย่างใดและการงานหรือหน้าที่นั้นจะต้องไม่ขัดกับคุณธรรมประจำใจของตัวเราด้วย
4. ความรัก ซึ่งผมหมายถึง สิ่งที่เป็นสากล ไม่มีเรา ไม่มีเขา ทุกคนเป็นเพื่อนกัน เป็นความรักในสรรพสิ่งที่ไม่มีการแบ่งแยก กีดกัน

สุดท้ายนี้ ผมต้องขอขอบคุณคุณสุวดี จงสถิตวัฒนา แห่งสำนักพิมพ์หยินหยาง และบริษัทนานมี จำกัด เธอผู้เป็นเพื่อนของผมมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมศึกาาตอนปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมมาด้วย ถ้าไม่มีเธอก็คงไม่มีหนังสือเล่มนี้ และผมต้องขอขอบคุณจริงๆที่เธอได้ให้โอกาสผมถ่ายทอด "มวยจีน" ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ที่ล้ำค่าที่สุดสำหรับมนุษยชาติประการหนึ่งของจีน ให้กลายมาเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมชิ้นหนึ่งแก่สังคมไทย ที่เป็นมาตุภูมิอันเป็นที่รักของผมนี้

ด้วยจิตคารวะ
สุวินัย ภาณวลัย
28 พ.ค. 2533
ท่าพระจันทร์

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้