ความรักกับจอมยุทธ์

ความรักกับจอมยุทธ์

 

ความรักกับจอมยุทธิ์
คำขึ้นต้น


ผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์ และก็เป็นผู้ฝึกวิชาบู๊ผู้หนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันผมก็เป็น 'ผู้ชาย'คนหนึ่งด้วย ผู้ชายที่เคนผ่านความรัก ผู้ชายที่ได้เคยลิ้มรสชาติแห่งความหอมหวานและความขมขื่นอันเนื่องมาจากความรัก

'นิยาม' ที่ผมจะพรรณนาต่อไปในหนังสือเล่มนี้ เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับเมืองโตเกียว คัมภีร์วิทยายุทธเล่มหนึ่ง และผู้ชายที่มีไฟในดวงใจคนหนึ่งกับความรักของเขา….เรื่องราวที่เกี่ยวกับการจุติขึ้นและแตกสลายไปของความรักของเขา

ผมอยากถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ออกมา เผื่อว่ามนุษย์เราในสังคมปัจจุบันนี้จะได้หันมาให้ความสนใจ และเอาใจใส่กับตนเอง โดยเฉพาะกับหัวใจตนเองอย่างจริงจังให้มากขึ้น เพราะผมเชื่อว่า นี่เป็นก้าวแรกแห่งการปลดปล่อยตนเอง เอาชนะใจตนเองและเป็นก้าวแรกแห่งการเดินเข้าไปสู่มรรคาแห่งการพ้นทุกข์กับการบรรลุซึ่งความสุขที่แท้จริง

มีนักเขียนผู้เรืองนามคนหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า 'เพื่อนทางใจ' ในวัยหนุ่มวัยสาวก็คือ มิตรสหายกับหนังสือ แต่เนื่องจากมิตรสหายเป็นผู้คน มีเลือดเนื้อมีหัวใจ จึงย่อมเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่หนังสือไม่เคยเปลี่ยนพลังของมัน ความคิดของมันไม่เคยเปลี่ยน สิ่งที่จะเปลี่ยนไปก็คือ ทัศนคติของผู้คนที่เคนอ่าน หรือคิดจะอ่านมันเท่านั้น

ผมหวังว่าหนังสือเล่มนี้ของผมคงจะเป็น 'เพื่อนทางใจ' ของ 'พวกเรา' ตลอดไป เพื่อนที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงทั้งในมิตรภาพ ความคิดและพลังของมัน

"การอ่านหนังสือเล่มนี้ อาจจะสร้างความผิดหวังให้แก่ผู้ที่ประสงค์จะได้รับคำสอนอย่างง่ายๆในศิลปะของความรัก ในทางตรงกันข้าม หนังสือเล่มนี้ต้องการจะแสดงให้เห็นว่า ความรักมิใช่อารมณ์รัญจวนของคนคนหนึ่งที่ถูกทำให้เคลิบเคลิ้มโดยใครบางคน โดยไม่เกี่ยวกับว่า คนที่ตกอยู่ในห้วงแห่งความรักนั้นจะมีระดับวุฒิภาวะขนาดไหน แต่หนังสือเล่มนี้ต้องการจะให้ผู้อ่านยอมรับว่า ความพยายามทั้งปวงของเขาเพื่อความรักนั้นจะล้มเหลวแน่ๆ ถ้าหากเขาไม่พยายามอย่างจริงจังที่จะพัฒนาบุคลิกภาพของเขาอย่างรอบด้าน และหนังสือเล่มนี้ยังต้องการจะทำให้ผู้อ่านยอมรับอีกว่าคนเราจะไม่มีวันได้รับความพึงพอใจในความรักแห่งปัจเจกชนเลย ถ้าหากเขาไม่มีความสามารถที่จะรักคนรอบข้าง ถ้าหากเขาไม่มีความถ่อมตน ความกล้าหาญ ศรัทธา และวินัยอย่างแท้จริง…"

จากเรื่อง "ศิลปแห่งการรัก" (The Art Of Loving)
ของ อีริช ฟรอมม์

คำลงท้าย
ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2534 ผมได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยริวโกกุ เมืองเกียวโต ให้ไปสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ ว่าด้วย "บรรษัทข้ามชาติญี่ปุ่นกับการพัฒนาการของทุนนิยมไทย" ที่นั่นเป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม นิยายเรื่องนี้เป็นผลผลิตของ 4 ฤดูกาลในเมืองเกียวโต ที่ผมเคยศึกษาที่นั่นเกือบ 10 ปี ผมได้ดื่มด่ำและอำลากับมันด้วยหนังสือเล่มนี้ ในระหว่างที่ผมพำนักอยู่ที่นี้ เนื่องเพราะในอนาคตข้างหน้า ผมอาจไม่มีโอกาสกลับมาเยือนที่นี่อีก อย่างเป็นระยะเวลายาวนานเหมือนครั้งนี้อีกแล้วก็เป็นได้

ถ้ามีหนังสือ "มวยจีนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า" (สำนักพิมพ์ยินหยาง พ.ส. 2533) ของผมเป็น "หยาง" คือ เป็นความหวัง เป็นแสงสว่าง เป็นความสดใส เป็นพลังแห่งชีวิต ที่ผมต้องการจะถ่ายทอดออกมา

นิยายเรื่อง "ความรักกับจอมยุทธิ์" เล่มนี้ของผม ก็คงเป็น"หยิน" คือเป็นความรันทด ความผิดหวัง ความเจ็บช้ำ ความปวดร้าวของชีวิต ที่ผมก็ต้องการจะถ่ายทอดออกมาเช่นกันด้วย เพราะมีบางครั้งที่คนเราสามารถเข้าถึงแก่นแท้สารัตถะของชีวิตได้ง่ายกว่า หากได้สัมผัสกับด้าน "หยิน" ที่ผมคิดว่ามีอยู่ในตัวของพวกเราทุกคน

แต่ถ้าหากจะกล่าวถึงความต่อเนื่องของเนื้อหาวิชาความรู้เกี่ยวกับมวยจีนแล้ว สาระต่างๆเกี่ยวกับมวยจีนที่ผมนำมาเขียนและถ่ายทอดไว้ในนิยายเล่มนี้ ก็คงจะช่วยสานต่อความรู้เกี่ยวกับมวยจีนในหนังสือ "มวยจีนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า" ของผมให้แจ่มชัดยิ่งขึ้น สำหรับผู้อ่านที่สนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ เพราะเหตุหรือแรงจูงใจประการหนึ่งที่ทำให้ผมเขียนนิยายเรื่องนี้ออกมา ก็เนื่องจากผมได้รับจ.ม. การติดต่อทางโทรศัพท์ และการเข้ามาพบโดยตรงจากผู้อ่าน"มวยจีนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า"หลายท่านซึ่งล้วนแต่ให้กำลังใจหรือแสดงความชื่นชมต่อหนังสือเล่มนั้นของผม ผมจึงหวังให้หนังสือ "ความรักจอมยุทธิ์" เล่มนี้จะเป็นความปรารถนาดีเล็กๆน้อยๆที่ผมขอกำนัลมอบคืนให้แก่น้ำใจที่แสนอบอุ่นของผู้อ่านเหล่านั้น

ถ้าผู้อ่านท่านใดที่เคยอ่านหนังสือ "มวยจีนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า" ของผมมาก่อน ก็คงจะพบว่าแก่นแท้ของสิ่งที่ผมต้องการจะสื่อสารด้วยในนิยายเรื่องนี้ก็ยังเป็นสิ่งเดียว สิ่งเดิมกับของหนังสือ "มวยจีนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า" มิได้แตกต่างในทางสารัตถะแต่ประการใด เพียงแต่รูปแบบ รายละเอียด วิธีการในการนำเสนอของหนังสือเล่มนี้จะแตกต่างออกไปอย่างที่แทบเรียกได้ว่าราวขาวกับดำของหนังสือ "มวยจีนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า" เพราะเป็นความตั้งใจของผมเองที่จะเขียนให้หนังสือ 2 เล่มนี้ออกมาเป็นด้านหัวกับด้านก้อย ของเหรียญอันเดียวกัน คือเหรียญที่เขาเรียกกันว่า สัจจะแห่งชีวิต ที่ผมได้เรียนรู้มาและนำมากลั่นกรองออกมาเป็นหนังสือ 2 เล่มนี้

อย่างไรก็ตาม ผมก็ได้พยายาม "ปรุงแต่ง" ให้หนังสือแต่ละเล่มนี้มีความสมบูรณ์อยู่ในตัวของมันเอง สามารถแยกอ่านกันอย่างเป็นเอกเทศได้ เมื่อผมเขียน "มวยจีนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า" ออกมานั้น ผมได้มุ่งไปยังผู้อ่านที่เป็นบุรุษเพศอ่านเป็นหลัก แต่ในขณะที่ผมเขียน "ความรักกับจอมยุทธิ์" ออกมานี้ ผมได้มุ่งเขียนเพื่อให้สตรีเพศอ่านเป็นหลัก เผื่อว่าสตรีเพศจะได้รู้จักจิตใจของผู้ชายประเภทหนึ่ง-จิตใจของผู้ชายที่เป็นจอมยุทธิ์-แต่ถ้าหากบุรุษเพศจะอ่านหนังสือเล่มนี้ด้วย ก็มิได้มีข้อขัดข้องแต่ประการใด

หนังสือเล่มนี้ ผมได้เขียนเป็นเชิงปริศนา เป็นเชิงสัญลักษณ์ เป็นเชิงให้ตีความไว้อยู่หลายตอนโดยเจตนา เพื่อทิ้งไว้ให้ผู้อ่าน ขบคิด และเผื่อเป็นหัวข้อสนทนาระหว่างเราถ้าหากจะมีขึ้นในอนาคต ผมขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าหนังสือเล่มนี้เป็น"นิยาม" เป็นเรื่องแต่งขึ้นทั้งสิ้น ตัวละคร เหตุการณ์ต่างๆในเรื่องเป็นสิ่งสมมุติทุกอย่าง มิได้เกิดขึ้นจริงเช่นนั้นเลย ผมขอให้ผู้อ่านอย่าได้ไปสนใจในรายละเอียดของ "การปรุงแต่ง" ของผมเพื่อการนำเสนอ มากไปกว่า "สาระความคิด" ที่ผมต้องการจะสื่อสารกับผู้อ่านเลย เพราะสิ่งนี้ต่างหากที่ผมเชื่อมั่นว่าเป็นคุณค่าที่แท้จริงของหนังสือเล่มนี้

สุดท้ายนี้ ผมต้องขอขอบคุณ คุณสุวดี จงสถิตย์วัฒนา แห่งสำนักพิมพ์ยินหยาง และบริษัทนานมี จำกัด ที่ได้ให้การสนับสนุนการจัดพิมพ์หนังสือในแนวนี้ของผมอย่างเต็มที่เช่นเคย ถ้าไม่มีเธอก็คงไม่มีหนังสือเล่มนี้คุณประโยชน์อันใดของหนังสือเล่มนี้ถ้าหากจะมีแม้เพียงน้อยนิดผมขอให้ผลบุญนั้นจงตกแก่ผู้ที่ผมรู้จักทุกคน ผู้ที่เป็นที่รักของผมทุกคน ผมเขียนหนังสือเล่มนี้ออกมาเพราะผมอยากให้พวกท่านมีชีวิตที่เปี่ยมไปด้วยความสุขและยั่งยืนตลอดไป

ด้วยจิตคารวะ
สุวินัย ภรณวลัย
14 ก.พ. 2535 เกียวโต ญี่ปุ่น

คำลงท้ายของผู้เขียน(อีกที)
ผมจำเป็นต้องจับปากกาขึ้นมาเขียนคำลงท้ายของหนังสือเล่มนี้อีกครั้งหนึ่งอย่างยากที่จะหักห้ามใจตนเองได้ ภายหลังที่ผมเขียนนิยายเรื่องนี้เสร็จและเดินทางกลับมายังประเทศไทย ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2535 ผมไม่เคยนึกฝันมาก่อนว่า อีกหนึ่งเดือนหลังจากนั้น ตัวผมเองจะต้องมารวมตัวกับเพื่อนอาจารย์เป็น กลุ่มนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตย 10 สถาบัน เข้าร่วมในการอดข้าวประท้วง ประสานงานกับกลุ่มพลังประชาธิปไตยอื่นๆในการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก ผมไม่เคยคาดคิดเลยว่า ตัวเองจะเป็นผู้หนึ่งที่ได้เข้ามาอยู่ท่ามกลางฝูงชนเรือนแสนในคืนวันที่จะถูกล้อมปราบด้วยความเหี้ยมโหดผิดมนุษย์ และจะต้องมายืนตากแดดร่วมกับเพื่อนๆอาจารย์เป็นเวลาหลายช.ม. เพื่อขอเข้าเยี่ยมประชาชนนักศึกษาที่ถูกกวาดต้อนไปคุมขัง ที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขนในวันรุ่งขึ้น ผมแทบไม่เชื่อสายตาตนเองว่า เหตุการณ์นองเลือดที่มีการสังหารประชาชนดุจผักปลาเช่นนี้ จะเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งในสังคมไทย ภายหลังจากที่ได้เกิดเหตุการณ์นองเลือดอย่างนี้ไปแล้วที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 "บาดแผล" และ "ความปวดร้าว" ทางจิตใจที่ประชาชนไทยได้รับในครั้งนี้ ดูเหมือนว่าจะร้าวลึกกว่าครั้ง 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 เสียอีก

เดิมที ที่ผมเขียนนิยายเรื่อง "ความรักกับจอมยุทธิ์" นี้ขึ้นมานั้น ผมได้ตั้งใจที่จะเขียนถึง "บาดแผล" และ "ความปวดร้าว" ทางจิตใจของคนรุ่นหนึ่งซึ่งเป็นเยาวชนในสมัย 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 อันเป็นคนรุ่นเดียวกับสันติชาติ อโศกาลัย ตัวเอกของนิยายเรื่องนี้ ผมต้องการเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับความปวดร้าวและบาดแผลทางจิตใจของคนรุ่นนี้ออกมา เพื่อให้อุทาหรณ์แก่คนรุ่นหลังว่า "ความปวดร้าว" นั้น มิใช่จะถูกทำให้ลบเลือนหายไปได้ด้วย "ความแค้น" แต่จะต้องถูกทำให้สูญสิ้นไปด้วย "ความรัก" ที่หลั่งล้นออกมาจากจิตใจภายในแม้ว่า "ความรัก" เช่นนี้จะเกิดขึ้นและบ่มเพาะขึ้นมาได้อย่างยากลำบาก และกินเวลายาวนานเป็นอย่างยิ่งก็ตาม และแม้ว่า "ความรัก" เช่นนี้จักต้องเกิดขึ้นท่ามกลางการต่อสู้กับ "อธรรม" และ "อวิชชา" ที่อยู่ภายนอกตัวและภายในตัวเราเองอย่างถึงที่สุดก็ตาม แต่ผมก็เชื่อมั่นว่า นี่เป็นหนทางที่ถูกต้องแล้วในการจะ "ลบรอยคราบน้ำตาประชาราษฎร์"

อย่างไรก็ตาม ผมก็ไม่เคนนึกฝันหรือคาดหวังให้เยาวชนคนรุ่นปัจจุบันจะต้องมาประสบและเผชิญกับ "ความปวดร้าว" และ "บาดแผล" ทางจิตใจเฉกเช่นผู้คนในรุ่นของสันติชาติอีก เพราะบาดแผลทางใจเช่นนี้ แค่ครั้งเดียวผมก็เห็นว่ามากเกินพอไปแล้วสำหรับสังคมไทย

ผมได้แต่หวังว่า แนวทางชีวิตในนิยายเรื่อง "ความรักกับจอมยุทธิ์" ของผมเล่มนี้ คงจะมีส่วนช่วยบรรเทา 'ความปวดร้าว" และ "บาดแผลทางใจ" ให้กับประชาชนไทยได้บ้างไม่มากก็น้อย และถ้าหากจะมีใครซักคน แม้เพียงคนเดียวที่ได้รับประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้ ก็นับได้ว่าความพยายามทั้งหมดที่ผมได้ทุ่มเทลงไปกับหนังสือเล่มนี้มิได้สูญเปล่าแล้ว

ด้วยจิตคารวะ
สุวินัย ภรณวลัย "พฤษภาวิปโยค"
25 พฤษภาคม 2535
ท่าพระจันทร์ ประเทศไทย

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้