ทุนนิยมฟองสบู่

ทุนนิยมฟองสบู่

 

หนังสือเล่มนี้เรียบเรียงขึ้นมาจากคอลัมน์ 'มองอย่างตะวันออก' ของผมในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ในช่วงปี ค.ศ. 1992-ต้นปีค.ศ 1994 ในส่วนที่เกี่ยวกับ 'เศรษฐกิจฟองสบู่'

ปรากฏการณ์ 'เศรษฐกิจฟองสบู่' ที่กลายมาเป็นปัญหาทางโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่นานนัก เพียงไม่กี่ปีมานี้เอง อีกทั้งเป็นผลโดยตรงจากกระแสโลกานุวัตร (GLOBALIZATION) ที่ก่อตัวขึ้นในศตวรรษที่ 1980 และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ-สังคมไทยอย่างรุนแรง ตั้งแต่ปี ค.ศ1987เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

ในความเข้าใจของผม กลไกการเกิดฟองสบู่นั้นมีอยู่ 3 ประเภทด้วยกัน
ประเภทที่หนึ่งผมเรียกมันว่า'กลไกฟองสบู่แบบศตวรรษที่19'ซึ่งเป็นต้นแบบของเศรษฐกิจฟองสบู่ในยุคต้นๆ กลไกฟองสบู่แบบนี้เกิดขึ้นในเมืองไทยหลายครั้งแล้ว เท่าที่จำได้ก็ได้แก่ กรณีราชาเงินทุน กรณีแชร์แม่ชม้อย และล่าสุดกรณีบลิสเชอร์ รวมทั้งการคลั่งไคล้ในการเล่นหุ้นของ'แมลงเม่าภูธร' ในช่วงปีค.ศ.1993-1994 หนังสือเล่มนี้ของผมได้ให้ความสนใจกับการวิเคราะห์กลไกฟองสบู่ประเภทนี้เป็นหลัก เพราะนี่คือพื้นฐานของการวิเคราะห์เศรษฐกิจฟองสบู่ทั้งปวง

ประเภทที่สอง ผมเรียกมันว่า 'กลไกฟองสบู่แบบศตวรรษที่20' ซึ่งผมใช้บทเรียนของการล่มสลายของเศรษฐกิจฟองสบู่ในสหรัฐอเมริกาปีค.ศ.1929 เป็นต้นแบบในการวิเคราะห์ ผมได้พบว่ารูปลักษณ์ของเศรษฐกิจฟองสบู่ไทยในระหว่างปี ค.ศ.1987-1990 นั้น มีส่วนคล้ายคลึงกับ 'กลไกฟองสบู่แบบศตวรรษที่ 20' นี้มากเลยทีเดียว โดยเฉพาะการก่อตัวของ 'ชนชั้นกลาง' หรือ 'มวลชนผู้มีอันจะกิน' ซึ่งเป็น 'ตัวเอก' ของกลไกฟองสบู่ประเภทนี้ ในขณะที่มวลชนผู้ไม่ค่อยรู้อิโหน่อิเหน่' คือ 'ตัวเอก' ของกลไกฟองสบู่แบบศตวรรษที่ 19

ประเภทที่สาม ผมเรียกมันว่า 'กลไกฟองสบู่แบบศตวรรษที่ 21' ซึ่งผมใช้บทเรียนของเศรษฐกิจฟองสบู่ในญี่ปุ่นช่วงระหว่างปี ค.ศ.1986-ปัจจุบัน (ค.ศ.1994) เป็นต้นแบบในการวิเคราะห์ ผมได้พบว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มคลี่คลายเข้าสู่กลไกฟองสฐู่ประเภทนี้นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1993 เป็นต้นมา โดยดูจากบทบาทที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆของ 'กองทุนรวม' และ 'ทุนต่างชาติ' ทั้งนี้ก็เพราะว่าลักษณะพิเศษของกลไกฟองสบู่แบบศตวรรษที่ 21 นี้ก็คือ เป็นลักษณะโลกานุวัตร (GLOBALIZATION) กับ 'สถาบันการลงทุน' ทั้งภายในและต่างประเทศ เป็น 'ตัวเอก' ของกลไกฟองสบู่ประเภทนี้ ผลลัพย์ของมันก็คือ การเกิด 'ภาวะถดถอยแบบเชิงซ้อน' (COMBINE RECESSION) นั่นเอง

เศรษฐกิจไทยยังไมได้เผชิญกับ'ภาวะถดถอยแบบเชิงซ้อน' เหมือนกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ แต่ผมคาดว่าภายใน 10-15 ปีข้างหน้านี่ เศรษฐกิจไทยจะต้องเผชิญกับมันอย่างแน่นอน ถ้าหากทิสทางของเสรษฐกิจฟองสบู่ไทยยังเป็นเช่นนี้อยู่และเป็นที่แน่นอนว่า ชะตากรรมของ 'แมลงเม่าไทย' ทั้งหลายจะต้องน่าอเนจอนาถมากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้อย่างเทียบกันไม่ได้เลย

ท่านผู้อ่านที่มีสติปัญญา คงจะจับสิ่งที่ผมต้องการนำเสนอในหนังสือเล่มนี้ของผมได้ว่า ในด้านหนึ่ง ผมต้องการนำเสนอบทวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับ 'เศรษฐกิจฟองสบู่' ในฐานะที่เป็นปรากฏการณ์ใหม่ของสังคมทุนนิยมไทย ที่มีผลสะเทือนต่อสังคมไทยอย่างลึกซึ้งยิ่ง

ส่วนอีกด้านหนึ่ง ผมต้องการเตือนให้เห็นถึงภัยของมันโดยเฉพาะภัยที่มีต่อการทำลาย 'บุคลิกภาพ' ของชนชั้นกลางไทย ดังตัวอย่างรูปธรรมของคนรอบข้างตัวผม ที่ผมได้ยกตัวอย่างมาเป็นอุทาหรณ์ในหนังสือเล่มนี้

ในความเข้าใจของผม 'เศรษฐกิจฟองสบู่' เป็นปรากฏการณ์ที่ทดสอบ ความเข้มแข็งของจิตใจและความแหลมคมทางสติปัญญาของคนไทยโดยแท้!!

เพราะ'ศัตรู' ที่แท้จริงของเรานั้น มิใช่ใครอื่น หากคือ ความโลภและความหลง (อวิชชา) ที่แฝงเร้นอยู่ภายในจิตใจของเรานั่นเอง

ผมหวังว่า หนังสือเล่มนี้ของผม คงจะมีส่วนช่วยให้พวกเรา 'ตาสว่าง' ขึ้นมาได้บ้าง แม้ว่า 'คนเล็กๆ' อย่างพวกเราอาจจะไม่สามารถหยุดยั้งกระแสกิเลส 'ฟองสบู่' เหล่านี้ ที่กำลังไหลเชี่ยวแรงอยู่ในสังคมไทยได้ก็ตาม แต่อย่างน้อย พวกเรายังสามารถ 'ยับยั้ง' มิให้กระแสนี้เข้ามาทำลายจิตใจของเรา และคนที่เรารักได้ ด้วยวิถีแห่งศีล-สมาธิ-ปัญญา หรือวิถีแห่งตะวันออกนั้นเอง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้