นักรบแห่งแสงสว่าง

นักรบแห่งแสงสว่าง

เมื่ออ่านต้นฉบับนักรบแห่งแสงสว่างจบ คำถามที่ผุดขึ้นมาก เราได้อะไรจากหนังสือเล่มนี้ ก็อยากเล่าสู่กันฟัง เป็นความรู้สึกส่วนตัวล้วน ๆ เป็นความคิดอิสระบนฐานความรับรู้และความเข้าใจของตนเองเท่าที่มีอยู่ในขณะนี้ บางกรณีอาจจะเห็นด้วย บางกรณีอาจจะขัดแย้งกับอาจารย์สุวินัย แต่ด้วยจิตใจของความเป็นครูของดร.สุวินัย ก็หวังว่าท่านคงเปิดกว้างสำหรับการรับฟัง เพราะตัวผู้เขียนเองก็บอกแล้วว่า การแสดงความเห็นนี้ตั้งอยู่บนความรับรู้และความเข้าใจในขณะนี้

บทที่ 1 อิสระธรรม เห็นภาพของการปะทะความคิดระหว่างลูกศิษย์กับอาจารย์ วิถีของศิษย์ผู้ยึดมั่นในหลักการของตน กล้าขัดแย้ง กล้าโต้เถียงตามแบบผู้ได้รับการศึกษาแบบตะวันตก แม้จะเคารพรักผู้เป็นคุรุอย่างสุดจิตสุดใจก็ไม่ยอมตามที่คุรุคิด นี่อาจจะเรียกได้ว่าท่าทีของศิษย์เป็นการประสานแบบตะวันออกและแบบตะวันตกอย่างกลมกลืนมาก แต่ทั้งนี้ หากคุรุนั้น มิใช่ผู้ยึดมั่นในพรหมวิหารสี่ ศิษย์คงจะถูกตีหัวไปแล้ว "หลวงปู่" เพียงแสดงออกในสิ่งที่ถูกต้องในเวลานั้นด้วยความเมตตาสมกับที่เป็น "คุรุ" อย่างแท้จริง หากครูอาจารย์ทั้งหลายแสดงออกด้วยท่าทีเหมือน "หลวงปู่" ลูกศิษย์ทั้งหลายคงจะพัฒนาความคิดได้แหลมคมยิ่งขึ้น

บทที่ 2 นักรบแห่งแสงสว่าง "จิตจักรวาล" แจ้งว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 ของเดือนมกราคมของปีค.ศ. 2003 หากอำนาจแม่เหล็กโลกมีการปรับเปลี่ยนสำเร็จแล้ว มนุษย์ก็ไม่จำเป็นต้องฝึกสมาธิแบบเดิม ๆ เพื่อยกระดับสติปัญญา แต่ด้วยอำนาจแม่เหล็กโลกใหม่จะช่วยให้มนุษย์สามารถฝึกพลังสมาธิใหม่ได้ มนุษย์ทุกคนจะมีสมาธิสูงมาก นี่มิใช่เป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับความรับรู้เดิมหรอกหรือที่ว่า ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน กิเลสของมนุษย์ที่ทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารสามารถถูกทำลายไปอย่างง่าย ๆ ด้วยการเปลี่ยนแปลงอำนาจแม่เหล็กโลก ด้วยอำนาจของจักรวาลสิ่งนี้จะเป็นจริงหรือ? หากจะเปรียบเทียบกับคติความเชื่อเรื่อง
"การเข้าทรง" แล้วอาจารย์ปริญญา ก็เปรียบเสมือน "ร่าง" ที่มีจิตดวงอื่นส่งข่าวสารผ่านมา จะอย่างไรก็ตามข่าวสารที่แจ้งมานั้นคงต้องอยู่ในการพินิจพิเคราะห์และตั้งอยู่ในความไม่ประมาท มนุษย์….หากต้องการสติปัญญาที่สูงส่ง คงจะต้องศึกษาและปฏิบัติด้วยตนเองเท่านั้น

บทที่ 3 และบทที่ 4 เป็นเรื่องการสืบค้น "จิตจักรวาล" ในแง่มุมต่าง ๆ ในเชิงวิชาการ ต้องขอขอบคุณคุณเวทินที่ได้รวบรวมข้อมูล จิตจักรวาลกับขบวนการนิวเอจ ให้พวกเราได้ก้าวทันตามโลก เป็นเรื่องแปลกที่ขบวนการพัฒนาจิตวิญญาณกลับไปเจริญเติบดตในกลุ่มประเทศตะวันตกมากกว่า ทั้งนี้อาจเป็นเพราะกลุ่มประเทศตะวันตกมีวิธีการบันทึกและถ่ายทอดเรื่องราวอย่างเป็นขบวนการ มีหลักฐานอ้างอิง อันเป็นวัฒนธรรมการศึกษาของเขา ในขณะที่ผู้คนตะวันออกซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับวิถีธรรมชาติ มีวิถีที่กลมกลืนกับธรรมชาติจนมองไม่เห็นความแปลกแยก จะมีการถ่ายทอดประสบการณ์ทางจิตจากหนึ่งสู่หนึ่ง จากครอบครัวสู่สังคมและซึมลึกจนเป็นวัฒนธรรม นักวิชาการทางจิตในประเทศไทยท่านหนึ่งเคยกล่าวว่าขบวนการพัฒนาจิตวิญญาณรุ่งเรืองมากในประเทศแถบยุโรปและจะเป็นผู้นำในการพัฒนา ผู้เขียนอยากจะแย้งว่า หากการตีความคำว่ารุ่งเรืองหมายถึงการมีเอกสารวิชาการไว้ค้นคว้าอ้างอิงแล้ว ก็ต้องยอมรับว่าจริงที่ตำราการสืบค้นทางจิตวิญญาณตำราเกี่ยวกับศาสนา มีในยุโรป อเมริกามากมาย แต่หากความรุ่งเรืองจะหมายถึงจิตสำนึกของความเป็นมนุษย์แล้ว คนในภาคพื้นตะวันออกมีมานานและต่อเนื่องมากกว่านัก จะเรียกว่าตั้งแต่เกิดเลยก็ได้ จนเป็นวัฒนธรรมประเพณีในชีวิตประจำวันเพียงแต่เราไม่ได้บอกว่า นี่คือขบวนการพัฒนาจิตวิญญาณเท่านั้น

บทที่ 5 ประสบการณ์เร้นลับของลม 7 ฐาน พลังจากพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องการบรรลุธรรม ไหนเลยจะสู้พลังจากดวงจิตที่สะอาดบริสุทธิ์ไร้ซึ่งความต้องการได้ อย่างไรก็ตาม เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าพิธีกรรมก็มีความสำคัญต่อความเติบโตทางจิต พิธีกรรมทำให้เกิดความเชื่อมั่น ศรัทธา แปรเป็นคลื่นซึ่งมีพลังหนุนซึ่งกันและกัน พิธีกรรมเป็นเพียงเครื่องมือ มิใช่เป้าหมาย

บทที่ 6 ว่าด้วยเรื่องของความรัก ด้วยรักจากนักรบแสงสว่างผู้หนึ่ง ซึ่งมองความสัมพันธ์ในความรักของหนุ่มสาว ของคุรุ จนถึงความรักของจักรวาลนั้น ส่งผลต่อการพัฒนาจิตวิญญาณ ผู้หนุ่มผู้สาวในวัยสดใสเอย! คงจะต้องตระหนักในใจว่าชีวิตนี้มิใช่เพียงเพื่อ "เขา" และ "เธอ" แต่ชีวิตนี้คือของคนทุกคน

บทที่ 7 บทส่งท้ายของวิชาการมากหลาย ซึ่งตามร่องรอยมาตั้งแต่มังกรจักรวาลเล่ม 1 ถึง เล่ม 7 มาสรุปว่า อานิสงส์จะเกิดผล ต่อเมื่อได้ลงมือปฏิบัติเท่านั้น นี่คือสัจธรรม โชคชะตามิได้ล่องลอยมาจากฟากฟ้า แต่โชคชะตาเกิดจากกรรมและกรรมนั้นคือการกระทำ ไม่มีใครรอดพ้นกรรมแห่งตน ในบทนี้มีเรื่องราวที่เหลือเชื่อ แปลงประหลาด บางเรื่องพิสูจน์ได้ บางเรื่องยากแก่การพิสูจน์ จะมีก็แต่ลงมือปฏิบัติด้วยตนเองเท่านั้นจึงจะเกิดผล

มังกรจักรวาลทั้ง 7 เล่ม ขมวดปมที่หนทางรอดของจิตวิญญาณ มิใช่ดิ้นรนรอดพ้นความตาย แต่รอดเพื่อกลับสู่จุดกำเนิดของชีวิต ทางรอดของมนุษย์ต้องเกิดจากความก้าวหน้าทางจิตด้วยความเพียรเฉพาะตน
ความตายเป็นสิ่งที่แน่แท้และไม่น่ากลัวสำหรับผู้ทำกรรมดี ในด้านหนึ่งแม้ว่าความตายเป็นทุกข์ เป็นความพลัดพราก แต่ในอีกด้านหนึ่ง ความตายเป็นความปรานีของธรรมชาติ ซึ่งเปิดโอกาสให้จิตวิญญาณได้เกิดใหม่ ได้ตัดสินดีชั่วใหม่และสะสมความรู้ใหม่เพื่อพ้นจากวัฏสงสารในที่สุด

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้