มูซาชิฉบับท่าพระจันทร์

มูซาชิฉบับท่าพระจันทร์

 



"มูซาชิ" - จอบดาบผู้ชนะปัจเจก
จอมดาบผู้ชนะฝูงชน
และจอมดาบผู้ชนะยุคสมัย

ผมไม่เคยสงสัยเลยแม้แต่น้อยว่ามิยาโมโต้ มูซาชิ (ค.ศ. 1584-1645) คือจอมดาบอัจฉริยะผู้หนึ่งโดยแท้ ในชีวิตของเขา มูซาชิผ่านการต่อสู้ที่ต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพันกว่า 60 ครั้ง และไม่เคยแพ้แม้แต่ครั้งเดียว มิหนำซ้ำ คู่ต่อสู้แต่ละคนของเขาล้วนไม่ใช่ย่อยเลย ไม่ว่าจะพวกสำนักโยชิโอกะ หรือซาซากิ โคยิโร่ บุคคลเหล่านี้ล้วนแต่เป็นคู่มือที่ถ้าหากมูซาชิพลาดแต่ก้าวเดียว เขาต่างหากที่จะเป็นฝ่ายตายก่อน เหตูที่มูซาชิสามารถเอาชนะและรอดตายมาได้ คงเป็นเพราะเขามี"ความสามารถรบชนะ"นั่นเอง

"ความสามารถที่จะรบชนะ " นี้แหละคือ บทเรียน ที่มีความหมายที่สุดที่คนรุ่นหลังสามารถจะเรียนรู้มาจากมูซาชิได้ ไม่ว่าคนนั้นต้องการจะ"ชนะ"อะไรก็ตาม แต่ที่แน่ๆ ก็คือความสามารถที่จะรบชนะนั้นมได้มาเพราะความโชคช่วยอย่างแน่นอนมูซาชิเป็นบุคคลประเภทที่เราสามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า เขาไม่เชื่อในเรื่องของดวงชะตาหรือโชคชะตา ดังแนวทางชีวิตที่เขาบัญญัติไว้ 19 ประการ ชื่อ "วิถีที่เด็ดเดียวแม้โดดเดี่ยว" ข้อสิบแปดของเขาที่กล่าวไว้ว่า "จบเคารพบูชาพระเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธ์ แต่จงอย่าขอร้องอ้อนวอนให้ท่านช่วย! "

แม้ใน "คัมภีร์ห้าห่วง" (โกะรินโนะโฉะ) ซึ่งเป็นคัมภีร์ดาบเพียงเล่มเดียวที่มูซาชิเขียนทิ้งไว้ให้แก่คนรุ่นหลัง ก็ยังเขียนไว้อย่างชัดเจนว่าในวิถีแห่งดาบนนั้น ความบังเอิญไม่เคยดำรงอยู่ สำหรับตัวมูซาชิแล้ว โชคชะตาเป็นสิ่งที่เขาจะต้องแผ้วถางสร้างขึ้นมาเองทั้งสิ้น

ยุคสมัยที่มูซาชิมีชีวิตอยู่เป็นยุคสมัยแห่งความไร้ระเบียบที่บ้านเมืองวุ่นว่ายโกลาหลเป็นอย่างยิ่ง ผู้คนในยุคนี้คิดอยู่อย่างเดียวว่าทำอย่างไรถึงจะมีชีวิตอยู่รอดไปได้ ในท่ามกลางยุค"อภิมหาโกลาหล" อย่างญี่ปุ่นในช่วงนั้น การมีชีวิตรอดเป็นกระบวนการเดียวกับการหล่อหลอมฝึกฝนตนเองให้ฉลาดและเข้มแข็งด้วย

การที่มูซาชิสามารถก้าวไปถึงระดับนั้นได้ แน่นอนว่าเพราะเขามีพรสวรรค์อยู่ในตัว มิใช่ใครก็ได้ที่จะสามารถเป็นอย่างเขาได้ แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งที่พวกเราไม่ควรมองข้ามไปก็คือว่า มูซาชิได้ใช้ความมานะพยายามวิริยะอุตสาหะอย่างยิ่งยวดและอย่างไม่หยุดหย่อน ทั้งในการคิดปรับปรุงและฝึกฝนเพื่อขัดเกลาพรสวรรค์ที่มีอยู่ภายในตัวเขาให้เจิดจ้าขึ้นมาโดยพึ่งการเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นหลัก

ลูกผู้ชายที่ชื่อมิยาโมโต้ มูซาชิในทัศนะของผม คือ บุคคลที่สามารถบ่มเพาะ พัฒนาบุคลิกภาพที่โดดเด่นอันหนึ่งขึ้นมาภายหลัง จากที่ได้ผ่านการขัดเกลาตนเองอย่างถึงที่สุดแล้วนั่นเอง' เขามีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์เป็นเครื่องยืนยันรับรองบุคคลิกภาพอันนี้ของเขา ซึ่งยังต่อกับ "ลี้คิมฮวง" ของโกวเล้ง ผู้เป็นบุรุษอุดมคติในนิยายกำลังภายในเท่านั้น

มูซาชิเป็นคนที่มีความสามารถหลายด้าน รูปภาพเขาก็วาดได้ งานแกะสลักเขาก็ทำได้ มิหนำซ้ำผลงานทุกชิ้นของเขาล้วนไม่ธรรมดา มันเป็นความสามารถของคนซึ่งบรรลุสูงสุดในศิลปะหนึ่ง ๆ ซึ่งสำหรับเขาก็คือ ดาบ แล้วนำไปใช้ประยุกต์กับศิลปะแขนงอื่นๆ

ใช่หรือไม่ว่า ปัจจุบันพวกเราก็กำลังมีชีวิตอยู่ในยุค "อภิมหาโกลาหล" เฉกเช่นเดียวกับยุคสมัยของมูซาชิ ? ถ้าหากพวกเราเห็นด้วยเช่นนั้น เหตุไฉนพวกเราจึงไม่หันไปศึกษาวิถีชีวิตของคนที่เคยผ่านยุคอภิมหาโกลาหลมาแล้วอย่างองอาจหฤหรรษ์ สง่างามและด้วยความเป็นอิสระเป็นไทแก่ตัวอย่างมูซาชิกันเล่า ? เพราะฉะนั้นผมจึงจับปากกาขึ้นมาเพื่อถ่ายทอดบทเรียนชีวิตจากมูซาชิ มาให้แก่พวกเรา

แน่นอนว่า ยุคนั้นของมูซาชิกับยุคนี้ของพวกเราย่อมมีความแตกต่างกันบ้างอย่างน้อยในสมัยนี้ พวกเราคงไม่จำเป็นต้องจับดาบขึ้นมาประจันหน้ากับศัตรูของพวกเราอีกต่อไปแล้ว และการต่อสู้ที่ต้องการจะเด็ดชีวิตของคู่ต่อสู้ในฝ่ามือเดียวก็คงไม่มีอีกแล้ว แต่การต่อสู้ในยุคปัจจุบันก็ยังคงใช้ "ปากกา" "คำพูด" และ "ความคิด" ประหัตประหารปรปักษ์แทนดาบอยู่มิใช่หรือ ? ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว พวกเราทุกคนคงหลีกเลี่ยงชะตากรรมของการเป็น "นักรบ" กันได้ยากเต็มที ไม่ว่าพวกเราจะต่อสู้กับอะไรก็ตาม เพราะฉะนั้นพวกเราจึงสามารถเรียนรู้ได้มาเหลือเกินจากมูซาชิโดยเฉพาะจาก "คัมภีร์ห้าห่วง" ของเขาที่เขาเขียนขึ้นมาในช่วงสองปีก่อนวาระสุดท้ายของชีวิตเขา ซึ่งเราอาจจะถือไว้ว่า หนังสือเล่มนี้ของเขาคือตัวแทนแห่งการบรรลุการพัฒนาบุคลิกภาพขั้นสุดยอดของเขาก็ไม่ผิดอย่างแน่นอน

เวลาที่คนทั่วไปนึกถึงมูซาชิ ส่วนใหญ่มักจะจิตนาการถึงบุคคลที่ใช้ชีวิตอย่างเปี่ยมไปด้วยพลังและความมั่นใจในตัวเอง ซึ่งคงถูกเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น แต่อีกด้านหนึ่งที่ไม่ควรลืมก็คือว่า ชีวิตของมูซาชิเป็นชีวิตที่เปลี่ยวเหงายิ่ง เดียวดายยิ่งราวกับเขาได้ใช้ชีวิตแบบที่เจาะถึงแก่นแท้ของความจริงในโลกนี้ว่า ชีวิตทุกชีวิตล้วนมีชีวิตของตนเองเพียงลำพังเท่านั้น สำหรับคนอื่นไม่ว่าจะเป็นบิดา มารดา เพื่อน คู่รัก หรือบุตรหลาน อย่างมากก็เป็นได้แค่ "คนร่วมทาง" ที่เดินทางร่วมกันค่อนข้างยาวนานเท่านั้น ไม่ช้าก็เร็ว แต่ละคนก็ต้องแยกทางกันไปเดินตามวิถีของแต่ละคน

มูซาชิเริ่มเขียน "คัมภีร์ห้าห่วง" ในปี 1643 และเขียนเสร็จปี 1645 ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตเพียงเจ็ดวันเท่านั้น เขาเริ่มเขียน "คัมภีร์ห้าห่วง" เมื่ออายุหกสิบปีซึ่งในสมัยนี้ต้องถือว่าเขาอยู่ในวัยชรามากแล้ว….ชายชราคนหนึ่งผู้ทุ่มเทชีวิตที่เหลืออยู่อีกเพียงอีกเพียงสองปีของเขาให้กับการเขียนหนังสือเล่มหนึ่ง อันเป็นหนังสือที่เขากลั่นกรองประสบการณ์ชีวิตเกือบหกสิบสองปีของเขาทั้งหมดบรรจุใส่หนังสือเล่มนี้หนังสือเล่มนั้นย่อมไม่ต่างไปจาก "พินัยกรรม" ที่เขาเขียนทิ้งไว้นั่นเอง ปัญหาอยู่ที่ว่ามูซาชิเขียน "พินัยกรรม" ชิ้นนี้ไว้ให้ใครอ่าน ? เพราะเรารู้อยู่แน่ ๆ ว่า เขาเขียนคัมภีร์เล่มนี้ขึ้นมาโดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นพินัยกรรมมิใช่เพื่อการค้า เพื่ออำนาจหรือ เงินตราอย่างเด็ดขาด

คำตอบก็คือ เขาเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นพินัยกรรมให้แก่ "ยุคสมัยของเขา" ซึ่งเป็นยุคสมัยที่ผู้คนยังบูชา "อำนาจ" และ "ความมั่นคงในชีวิต" อยู่ โดยมองไม่เห็นคุณค่าของการใช้ชีวิตในวิถีอื่น ๆ ที่ต่างกันออกไป ด้วยเหตุนี้ "คัมภีร์ดาบ" ของมูซาชิจจึงกลายเป็นหนังสือที่วิจารณ์ยุคสมัยของเขาไปด้วยโดยปริยาย โดยเป็นหนังสือที่วิจารณ์ยุคสมัยและสังคมของเขาทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เขียนถึงสังคมและยุคสมัยของเขาไว้เลย นอกจากวิชาดาบ!

ในคำนำ (คำขึ้นต้น) ของคัมภีร์ห้าห่วง มูซาชิได้เขียนถึงตัวเองไว้ว่า ตัวเขา "ตั้งแต่อายุสิบสามจนถึงอายุสี่สิบเก้าได้ทำการประลองฝีมือกับผู้คนไม่ต่ำกว่าหกสิบครั้ง และก็ไม่เคยสูญเสียความได้เปรียบเลยแม้แต่ครั้งเดียว แต่ครั้นพอมีอายุล่วงวัยสามสิบไปแล้ว และกลับมาพิเคราะห์การต่อสู้ของตนเองในอดีตก็ได้ข้อสรุปว่า ที่ผ่านมาไม่ใช่เพราะวิทยายุทธ์ของตัวเองที่สูงกว่าคู่ต่อสู้หรอกที่ทำให้ได้รับชัยชนะ อาจเป็นเพราะตัวเองมีไหวพริบดี รู้จักช่วงชิงโอกาสจึงทำให้ได้ชัยมากกว่า ดังนั้นหลังจากนั้นแล้ว ตัวเองจึงมุ่งที่จะแสวงหาความลึกซึ้งในมรรคาแห่งวิทยายุทธ์ของตนมุ่งมั่นฝึกฝนทั้งเช้าและเย็น จนเมื่อมีอายุห้าสิบปีถึงได้รู้สึกว่าบรรลุมรรคาแห่งดาบได้เป็นผลสำเร็จ"

สรุปสั้น ๆ ก็คือ ชีวิตของมูซาชินั้นแบ่งออกได้เป็นช่วงใหญ่ ๆ สองช่วง ช่วงแรกก่อนถึงอายุสามสิบปี เป็นช่วงที่เขาแสวงหาคู่ต่อสู้เพื่อโค่นล้มเอาชนะ ในขณะที่ช่วงหลังอีกสามสิบปีเป็นช่วงที่เขาอุทิศเวลาและพลังงานส่วนใหญ่ให้กับการฝึกจิตเพื่อเอาชนะศัตรูภายในตัวเอง ทำการยกระดับวิทยายุทธ์ของเขาให้กลายเป็น "มรรค" (เต๋า) สายหนึ่ง ดังที่ปรากฏใน "คัมภีร์ห้าห่วง" ของเขา

ถ้าหากผมจะพยายามดึงบทเรียนจากมูซาชิจากมุมมองของ ความสามารถที่จะรบชนะ ตามที่เขียนไว้ใน "คัมภีร์ห้าห่วง" ผมก็สามารถสรุปออกมาได้เป็นคำคมและหลักการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
-ไม่ถูกความคิดเก่า ค่านิยมเก่าและประเพณีที่คร่ำครึครอบงำ
-ไม่ขายวิชาเพื่อการพาณิชย์
-แม้ยามสงบก็หมั่นลับเขี้ยวเล็บเอาไว้เสมอ
-จิตใจมิใช่สิ่งที่ฝึกฝนได้ด้วยตำรา แต่จะต้องฝึกฝนโดยผ่านการต่อสู้จริง ๆ โดยผ่านการปฏิบัติที่เป็นจริง
-"การเมือง" คือวิทยายุทธ์ของการต่อสู้แบบรวมหมู่
-หลักการต่อสู้ที่เอาชนะปัจเจกได้ย่อมสามารถประยุกต์ใช้กับการต่อสู้เพื่อเอาชนะคนหมู่มากได้
-จงใช้อาวุธทุกชนิดที่มีอยู่ทั้งหมดในการต่อสู้
-จะต้องสำเหนียกให้ดีว่า อาวุธที่ตนเองมีอยู่คืออะไร
-ไม่ยึดติดกับการใช้อาวุธประเภทเดียว
-จงมีจิตใจที่หนักแน่น ราบเรียบ ไม่หวั่นไหวโดยง่าย จิตใจเช่นนี้จะได้มาจากการฝึกฝนเท่านั้น ไม่อาจเกิดขึ้นเองได้เป็นอันขาด
-การลำเอียงเข้าข้างตัวเอง เป็นอุปสรรคของการพัฒนาจิตใจ
-พยายามรักษาความคึกคัก และ กระตือรือร้นในชีวิตประจำวันเอาไว้ตลอดเวลา
-ไม่ติดกับ "กระบวนท่า" หรือ "สามัญสำนึก" ที่ตัวเองมีอยู่
-มีกระบวนท่าก็เหมือนไม่มี ยามมีกระบวนท่าก็คือยามไม่เคลื่อนไหว
-อ่านคู่ต่อสู้ให้ออก มองให้เห็นด้วยธาตุแท้ของเขาให้ได้
-หัดวางตัวเองให้อยู่ในฐานะของคู่ต่อสู้
-"ศัตรู" มักอยู่ในพวกเดียวกันเอง
-ศัตรูเป็นสิ่งไม่ถาวร เพราะศัตรูคือความสัมพันธ์ที่เกี่ยวโยงกับสถานที่เวลา และผู้คน ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงได้
-ก้าวแรกของชัยชนะอยู่ที่การขจัดเงื่อนไขของการเป็นศัตรู
-สร้างความหวั่นไหวให้กับจิตใจของคู่ต่อสู้
-แสวงหาวิธีที่จะเปล่งพลังและศักยาภาพของตัวเองออกมาได้จนถึงขีดสูงสุด
-เป้าหมายคือสิ่งที่ตัวเองสามารถบรรลุได้
-จงอย่ากลัวการมีชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยว
-การฝึกฝนตนเองนี้ไม่มีที่สิ้นสุดและสุดท้าย
-จงต่อสู้เมื่อคิดว่าจะชนะ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้