คัมภีร์มังกรตันตระ

คัมภีร์มังกรตันตระ

"คัมภีร์ตันตระ" เป็นคัมภีร์โบราณจากทิเบต มีอายุกว่า 5 พันปี "ตันตระ"หมายถึง การทำจิตสำนึกให้ข้ามพ้น และการเปลี่ยนแปลงตนเองด้วยการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง "ตันตระ" เป็นภาษาของความรัก ซึ่งมีข้อแตกต่างจากศาสตร์อื่นตรงที่ ผู้ถ่ายทอดวิชากับผู้เรียนต้องมีความรักทางจิตวิญญาณดำรงอยู่ในความสัมพันธ์ระหว่างกัน จึงจะสามารถเรียนรู้จากกันและกันได้อย่างลึกซึ้ง

"คัมภีร์มังกรตันตระ" : อภิศาสตร์แห่งรัก" เป็นผลงานล่าสุดของ ดร.สุวินัย ภรณวลัย ที่มีมุมมองแตกต่างไปจากงานเล่มอื่นๆ

นั่นคือเป็นมุมมองของความรัก และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่ทุกคนต้องพานพบ

ดร.สุวินัย ตีความ ความรักจากคัมภีร์โบราณ เพื่อนำมารับใข้คนในยุคปัจจุบัน เพื่อช่วยยกระดับจิตสำนึก และแก้ไขวิกฤตทางจิตวิญญาณ ซึ่งจะนำไปสู่การเข้าใจตนเอง เข้าใจชีวิต เข้าใจโลก และข้ามพ้นอวิชชาแห่งวัตถุ

โครงการวิถีทรรศน์ สนใจงานชิ้นนี้ เนื่องจากมีวัตถุประสงค์ให้คนไทยหันมาสนใจวิถีทรรศน์แบบตะวันออกอย่างจริงจัง และคัมภีร์มังกรตันตระ : อภิศาสตร์แห่งรัก เล่มนี้ ดร.สุวินัย ได้พูดถึงคัมภีร์ตันตระ ลัทธิเต๋า และคัมภีร์ภควคีตา ซึ่งเป็นศาสตร์เก่าแก่ และเป็นมรดกทางภูมิปัญญาตะวันออกสืบทอดมายาวนาน

เท่าที่ผ่านมาการศึกษาศาสตร์ตะวันออกเป็นเรื่องของศรัทธาและความเชื่อมากกว่าจะเป็นการแยกแยะ และวิเคราะห์อย่างจริงจังซึ่งทำให้ขาดการพัฒนาภูมิปัญญาเหล่านี้เพื่อนำมาปรับใช้กับโลกที่เป็นจริงในยุคปัจจุบันและดร.สุวินัย เป็นผู้หนึ่งที่พยายามนำเสนอแง่มุมในการวิเคราะห์ ให้เห็นถึงคุณค่าของศาสตร์เหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแสวงหาทางออกสู่สภาวการณ์ของการหลุดพ้น (นิพพาน)

อย่างไรก็ตาม งานนี้ คงถือได้ว่าเป็นการพยายามในการแสวงหาทางออกทางหนึ่ง ข้อเสนอและวิธีการปฏิบัติต่างๆ ในงานเขียนชิ้นนี้ ถือเป็นทางเลือกที่เพิ่มขึ้นสำหรับการดำเนินชีวิตและพัฒนาจิตวิญญาณเท่านั้น คงไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูปที่ดีที่สุด เหมาะสมที่สุด เพราะสิ่งที่เราต้องการนำเสนอคือ ทางเลือกอันหลากหลาย และการแสวงหาทางภูมิปัญญาที่ไม่มีวันสิ้นสุด

การแสวงหาทางออก สู่สภาวะแห่งการหลุดพ้น หรือนิพพานนั้น คือเป้าหมายสูงสุดของปรัชญาพุทธ และปรัชญาตะวันออกโบราณ แม้แต่นักคิดและนักวิทยาศาสตร์ปัจจุบันก็ยังพยายามแสวงหาทางออกเช่นกัน แต่ทางออกนี้กลับยุ่งยากเกินกว่าจะเข้าใจได้ เพราะมันซ่อนเร้นอยู่กับความเข้าใจเรื่องเวลาซึ่งเป็นรากฐานแห่งการกำเนิดสรรพชีวิตทั้งปวง ในมหากาพย์ มหาภารตยุทธ์ ซึ่งเป็นที่มาของคัมภีร์ภควคีตา ได้พูดถึงความสำคัญของเวลาไว้ว่า

กาลเวลาเป็นผู้สร้าง กาลเวลาเป็นผู้ทำลาย……..
กาลเวลาเท่านั้นที่ยืนยง แม้ในเมื่อทุกอย่างได้ล้มลง
อดีต ปัจจุบัน และอนาคต นั้นเป็นลูกของกาลเวลา……..

ในเมื่อเวลาเป็นผู้สร้างหรือผู้ก่อเกิด การค้นพบทางออก ก็อยู่ที่การเข้าใจเรื่องการสิ้นสุดของเวลา ซึ่งกลายเป็นความลี้ลับที่ยิ่งใหญ่ของโลกที่มนุษย์ยากจะเข้าใจได้ การเข้าถึงสภาวะนิพพานได้ ก็คือ การเข้าถึงความหมายแห่งเวลาและการหาทางออกจากมิติแห่งเวลา

Krishnamurati ซึ่งเป็นนักคิดที่ยิ่งใหญ่ทางปรัชญา กับ David Bohm ซึ่งเป็นนักฟิสิกส์ที่มีชื่อเสียงของโลก ได้ร่วมกันเขียนงาน เรื่อง The End of Time Krishnamurati ได้สรุปไว่ว่า ถ้าไม่มีเวลา ความขัดแย้งทั้งมวลก็จะสิ้นสุดลง และสิ่งที่เรียกว่า ฉัน และคุณก็จะสิ้นสุดลงด้วย ซึ่งหมายถึงการสิ้นสุดของอัตตา อันนำไปสู่การเข้าถึงสภาวะนิพพานในที่สุด

แต่การเข้าถึงสภาวะนิพพานนี้ คงไม่มีคำตอบ และเส้นทางที่ตายตัวเช่นกัน คัมภีร์ตันตระก็เป็นอีกคัมภีร์หนึ่ง ที่ใช้การเข้าถึงความรัก นำสู่การเข้าถึงสภาวะหลุดพ้น ซึ่งดร.สุวินัยได้กล่าวไว้ว่า ความรักก็เป็นเฉกเช่นสมาธิและความตาย มันดำรงอยู่ในปัจจุบันขณะตลอดเวลา คนที่กลัวความตาย จึงไม่อาจมีความรักได้ และคนที่กลัวความรัก ก็ไม่อาจเข้าถึงสมาธิได้ และคนที่ไม่ทำสมาธิ ชีวิตของคนผู้นั้นย่อมไร้ความหมาย

เรื่องราวของความรักเป็นเรื่องยาก ที่จะให้คำจำกัดความและแยกแยะได้อย่างตรงกับความรู้สึก มีนักปราชญ์จำนวนมากที่กล่าวถึงเรื่องความรักไว้ในมิติต่างๆอย่างน่าสนใจเช่น

"ความรักคือหนทางที่จะเดิน คือสะพานที่จะข้ามไปสู่กันและกัน การให้จะกรุยทางและปูสะพานนี้ไปอย่างราบรื่น เมื่อปรารถนาจะให้รักแท้ อย่าสร้างกำแพงขวางทางรักของตนเอง ด้วยความเห็นแก่ตัว ความรักไม่มีเริ่มต้นและไม่มีสิ้นสุด เพราะความรักเป็นเพียงความรักที่เป็นหนึ่งเดียวกับทุกสิ่ง" (ติช นัท ฮันห์)

"ความรักเป็นเทพเจ้าที่งดงามที่สุด มีดอกไม้เป็นอาหารและอยู่ท่ามกลางดอกไม้ ความรักเป็นเทพเจ้าที่ดีที่สุด เพราะสิ่งที่ความรักให้แก่มนุษย์ คือ ความงามและความดี ก่อให้เกิดสันติสุขและความร่มเย็นในชีวิตทุกชีวิต" (อธากอน)

"ความรักไม่ใช่เทพเจ้า เพราะเทพเจ้าครอบครองสิ่งต่างๆที่ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่ความรักปราร๔นาและขาดหายไป ความคิดที่ว่าความรักเป็นเทพเจ้าที่ดีงาม เกิดจากการไม่รู้จักแยกแยะความรักออกจากวัตถุของความรัก ความรักไม่เป็นอมตะแต่เป็นทูต ที่เชื่อมโยงระหว่างความเป็นอมตะ (เทพเจ้า) กับความไม่เป็นอมตะ (มนุษย์) (โสกราตีส)

แต่ไม่ว่าความรักจะเป็นอะไร มีความหมายงดงามหรือเลวร้ายเพียงใดก็ยากที่มนุษย์จะหลีกหนีความรักไปได้พ้น เพราะธรรมชาติของความรักนั้นอ่อนโยน ชอบเลือกอยู่ในที่อ่อนนุ่ม นั่นคือในหัวใจของมนุษย์ และความรักนั้นแยบยลที่สุด เพราะสามารถเข้าออกหัวใจมนุษย์ได้โดยที่มนุษย์ไม่รู้ตัว

แล้วมนุษย์จะใช้ประโยชน์อย่างไรกับความรักเล่า…..ชีวิตจึงจะสงบสุขร่มเย็น และมีประโยชน์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ดร.สุวินัย ได้เสนอมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับการอภิวัมน์ความรักให้หลุดพ้นจากความทุกข์ สู่การสร้างสรรค์ การเสียสละอุทิศตน เป็นการแสวงหาที่ยิ่งใหญ่ในการเอาชนะความโกรธ ความเกลียดชังด้วยความรัก เอาชนะความอยากด้วยการละวางและเสียสละ เพราะความรักคือธรรมะ คือหน้าที่ของมนุษย์ต่อโลกและจักรวาล

โครงการวิถึทรรศน์หวังเป็นอย่างยิ่งว่า หนังสือ "คัมภีร์มังกรตันตระ : อภิศาสตร์แห่งรักเล่มนี้"จะมีส่วนในการจุดประกายความคิด และความสนใจในศาสตร์ตะวันออกให้กว้างขวางยิ่งขึ้น คงมีประเด็นอีกมาก ซึ่งเราหวังว่าจะนำสู่การถกเถียง แลกเปลี่ยนทางภูมิปัญญาในอนาคต

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้