33. โพธิสัตตบูรณาเทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 33) 11/11/2551

33. โพธิสัตตบูรณาเทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 33) 11/11/2551

โพธิสัตตบูรณา:เทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 33)

33. จอมคนเทียนแห่งธรรม (ต่อ)

พวกเราไม่เคยรู้สึกแปลกใจ หรือฉงนสนเท่ห์ในใจบ้างหรือว่า ทั้งๆ ที่พระไตรปิฎกก็มีให้อ่าน อรรถกถาหรือคำอธิบายเกี่ยวกับพุทธธรรมก็มีคนเขียนออกมาเป็นหนังสือมากมายจนนับไม่ถ้วน สำนักปฏิบัติธรรมก็มีอยู่เยอะแยะทั่วประเทศนี้ แต่ทำไมหนอ “พุทธธรรม” จึงยังคงเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดได้ยาก หรือเข้าถึงได้ยากอยู่ดีสำหรับผู้คนเป็นจำนวนมาก?

คำตอบที่ผู้เขียนได้รับภายหลังจากการแสวงธรรมและการปฏิบัติธรรมมาอย่างยาวนานก็คือ เพราะผู้คนเหล่านั้นศึกษาธรรมะหรือปฏิบัติธรรมโดยไม่สามารถโน้มนำ “พลังศักดิ์สิทธิ์” ให้เข้ามาร่วมกระทำ ร่วมสร้างสรรค์กับตัวผู้นั้น ในการเข้าถึงพุทธธรรมได้นั่นเอง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ก็เพราะคนผู้นั้นยังมิได้ฝึกฝนตนเองจนถึงขั้นพร้อมแล้วต่อการเป็น “ภาชนะที่สมบูรณ์” เพื่อที่จะสามารถรองรับ พลังงานอันศักดิ์สิทธิ์ ที่จะเข้ามา “กระทำ” เพื่อเปลี่ยนแปลงบุคคลผู้นั้นให้เข้าถึงพุทธธรรมได้นั่นเอง

อุปมาได้ว่า ต่อให้หลอดไฟ (พระไตรปิฎก) ก็มีอยู่ สายไฟ (หนังสือธรรมะ) ก็มีอยู่ ปลั๊กไฟ (สำนักปฏิบัติธรรม) ก็มีอยู่ แต่เหตุไฉนพอเสียบปลั๊ก (ปฏิบัติธรรม) แล้ว ไฟในหลอดไฟจึงไม่สว่าง (เข้าถึงพุทธธรรม) เสียที? คำตอบที่รวบรัดตรงเป้า และชัดเจนที่สุดก็คือ ก็เพราะไม่มีกระแสไฟฟ้า (พลังงานอันศักดิ์สิทธิ์) ไหลเข้าสู่หลอดไฟนั่นเอง!

จุดเด่นอันสำคัญอีกประการหนึ่งของ วิชาลม 7 ฐาน ของ คุรุ ของ “เขา” ที่ตัวเขาได้ตระหนักก็คือ วิชานี้เป็นหลักการปฏิบัติธรรมแขนงหนึ่งตามแนวทางมหาสติปัฏฐาน ที่มุ่งชักนำ พลังงานอันศักดิ์สิทธิ์ของมหาโพธิสัตว์ทั้งปวงโดยเฉพาะมหาโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (มหาโพธิสัตว์กวนอิม) ให้ลงมาเข้าร่วมบำเพ็ญเข้าร่วมปฏิบัติธรรม และเข้าร่วมเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลผู้นั้นให้กลายเป็น โพธิสัตว์ ด้วย

ข้อผิดพลาดอีกประการหนึ่งของผู้คนจำนวนไม่น้อยที่เข้ามาศึกษาธรรมะก็คือ พวกเขาได้เข้ามาศึกษาพุทธธรรมโดยให้ “ตัวตนเปลี่ยนธรรมะ” แทนที่จะปล่อยให้ “ธรรมะเปลี่ยนตัวตน” ของผู้นั้น ด้วยเหตุนี้ เมื่อผู้คนเหล่านี้ยิ่งจมดิ่งศึกษามากเข้าไป แต่กลับได้มาซึ่งความเชื่อที่แข็งทื่อตายตัว หรือไม่ก็หันไปหลงใหลหมกมุ่นอยู่กับอรรถะและพยัญชนะของคำสอน โดยหาได้มีประสบการณ์แห่งการตื่นทางจิตวิญญาณมารองรับคำสอนอันลึกล้ำเหล่านี้แต่ประการใดไม่

พุทธธรรมที่แท้นั้น จึงต่างกับปรัชญาอื่นโดยทั่วไปตรงนี้ ตรงที่พุทธธรรมที่แท้ย่อมมีหลักการปฏิบัติอย่าง วิชาลม 7 ฐาน หรือ สติปัฏฐาน 4 ที่สามารถชักนำพลังงานอันศักดิ์สิทธิ์ให้ลงมาเข้าร่วมบำเพ็ญ ร่วมกระทำกับบุคคลผู้นั้น เพื่อเปลี่ยนแปลงบุคคลผู้นั้นอย่างแท้จริงในระดับจิตวิญญาณได้

ก่อนอื่น จงนั่งขัดสมาธิ เท้าขวาทับเท้าซ้าย ลำตัวตั้งตรง หลังตรง ไหล่ขนานกับพื้นไม่เอียง คอตรง สายตามองไปข้างหน้า ทอดตาลงต่ำ รวบรวมอารมณ์ ความรู้สึกนึกของตนลงไปใน โครงกระดูก ภายในกาย พร้อมๆ กับหายใจเข้าช้าๆ จนเต็มปอด แล้วค่อยๆ ผ่อนลมหายใจออกช้าๆ อย่างผ่อนคลายหมดจด สบายๆ จงทำอยู่เช่นนี้ จนอารมณ์นิ่งสงบ กายกับจิตรวมอยู่ด้วยกันเป็นหนึ่งเดียวด้วยความรู้สึกตัวทั่วพร้อม

จากนั้น จงหลับตาลงเบาๆ สูดลมหายใจเข้า พร้อมกับจินตนาการว่าปราณกำลังไหลเข้ามาสู่ตัวผู้นั้น ที่กำลังตั้งจิตแนบแน่นอยู่กับ โครงกระดูก ภายในของตน โดยไหลผ่านเข้ามาทาง กลางกระหม่อม ในช่วงแรกๆ จงบริกรรมคำว่า “โอม” ภายในใจพร้อมกันไปด้วย เมื่อหัดไปจนชำนาญเข้า คำบริกรรมนี้จะหายไปเอง

ในช่วงที่ผู้นั้นกำลังกักลมหายใจอยู่นั้น ให้จินตนาการต่อไปว่า ปราณได้ไหลลงมาอยู่ บริเวณลำคอ พร้อมกับบริกรรมคำว่า “อา” ภายในใจพร้อมกันไปด้วย เมื่อหัดไปจนชำนาญเข้า คำบริกรรมนั้นจะหายไปเอง

ตอนหายใจออก ให้จินตนาการต่อไปว่า ปราณได้ไหลออกจากตัวผู้นั้นผ่านทาง กลางอก พร้อมกันนั้น ให้บริกรรมคำว่า “ฮุม” ภายในใจพร้อมกันไปด้วย เมื่อหัดไปจนชำนาญเข้า คำบริกรรมนี้จะหายไปเอง

ข้างต้นนี้ คือ วิธีการฝึกปราณ-สติ-สมาธิอย่างบูรณาการควบคู่กันไปเพื่อชำระกาย จิตใจ และจิตวิญญาณของผู้นั้นให้บริสุทธิ์ยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อการเตรียมพร้อมที่จะทำให้ผู้นั้นสามารถกลายเป็น “ภาชนะที่สมบูรณ์” ในการรองรับพลังงานอันศักดิ์สิทธิ์ ที่จะลงมาเข้าร่วมเปลี่ยนแปลงบุคคลผู้นั้นให้กลายเป็น ผู้ศักดิ์สิทธิ์ ในที่สุด

นี่เป็นวิธีการฝึกที่สมบูรณ์ในตัวของมันเอง เพราะนอกจากวิธีการฝึกนี้จะสามารถช่วยชำระจิตวิญญาณของผู้นั้นให้บริสุทธิ์ยิ่งๆ ขึ้นไปแล้ว ยังเป็นการช่วยบ่มเพาะพลังปราณของผู้นั้นไปพร้อมๆ กันด้วย ไม่แต่เท่านั้น ยังเป็นที่เชื่อกันมาแต่โบราณในทางทิเบตว่า วิธีการฝึกแบบนี้จะสามารถขับไล่กรรมไม่ดีของผู้นั้นที่อาจสั่งสมไว้ตลอดสามชาติ อันได้แก่ ชาติก่อน ชาตินี้ และชาติหน้าได้ด้วย กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมของผู้นั้นจะค่อยๆ ถูกชำระให้บริสุทธิ์ยิ่งๆ ขึ้นไป นอกจากนี้ ความปรารถนาดีทั้งหลายทั้งปวง และความตั้งใจที่จะช่วยเหลือรับใช้มนุษยชาติทั้งหลายทั้งปวงของผู้นั้นจักบรรลุผลสำเร็จ

ในพุทธวัชรยานของทิเบต สายซ็อกเชน หรือ มหาบริบูรณ์ นั้น ได้ให้คำแนะนำแก่ผู้ที่ฝึก มหาสติปัฏฐาน ในขั้น ปราณชำระกระดูก แล้วให้ฝึกฝนต่อไปในขั้น ปราณร่างสายรุ้ง (rainbow body) เพื่อเข้าถึง ความว่าง หรือ มหาสุญญตาดังต่อไปนี้

ในขณะที่นั่งเจริญสมาธิภาวนา ขอให้ผู้นั้นจงใช้จินตนาการนึกถึงพระพุทธเจ้าจำนวนนับอสงไขยกำลังแวดล้อมตัวผู้นั้นอยู่ ขณะที่พระพุทธะทั้งหลายกำลังเปล่งแสงรังสีอันสว่างเจิดจ้ามาที่ตัวผู้นั้น แสงรังสีนี้สว่างไสวและศักดิ์สิทธิ์มากจนทำให้ตัวผู้นั้นบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น จากนั้นจงนึกเห็นภาพเนื้อหนัง กล้ามเนื้อ และอวัยวะต่างๆ ของผู้นั้นปลาสนาการไป ตัวผู้นั้นมีแต่ โครงกระดูก เท่านั้นที่ยังเหลืออยู่

โครงกระดูกนี้อยู่ในท่านั่งสมาธิเช่นเดียวกับที่ผู้นั้นนั่งเมื่อเริ่มต้นเจริญสมาธิภาวนา ต่อไปจงนึกเห็นภาพว่า โครงกระดูก ของผู้ฝึกมีสีธรรมชาติหรือสีขาวของกระดูก ขณะเดียวกันก็จงรู้สึกถึงแสงรังสีแห่งจักรวาฬของพระพุทธะทั้งหลายที่สาดส่องมายังตัวผู้นั้นอย่างต่อเนื่อง

ทันใดนั้นเอง จงนึกเห็นภาพว่า โครงกระดูกของผู้นั้นเริ่มเปลี่ยนเป็น สีแดง สีแดงอันสดใสนี้ค่อยๆ เปล่งแสงออกมาจากทุกส่วนของ โครงกระดูก ของผู้นั้น แสงสีแดงนี้เปล่งแผ่ออกไปข้างนอกไปเรื่อยๆ จนทั่วทั้งจักรวาฬถูกเอิบอาบ ด้วยสีแดงเต็มไปหมด จากนั้นจงนึกเห็นภาพว่า โครงกระดูก ของผู้นั้นกลับคืนสู่สีธรรมชาติของกระดูก ในขณะที่ส่วนอื่นๆ ในจักรวาฬยังคงเป็นสีแดงอยู่

จากนั้นให้ผู้นั้นนึกภาพต่อไปว่า โครงกระดูก ของผู้ฝึกเริ่มกลายเป็น สีส้ม มันเปล่งแสงสีส้มแผ่ออกนอกไปเรื่อยๆ จนเต็มทั่งทั้งจักรวาฬ จากนั้นจงนึกเห็นภาพว่า โครงกระดูก ของผู้นั้นคืนสู่สีธรรมชาติของกระดูก แต่มันสว่างสดใสยิ่งกว่าในตอนแรก

ทำเช่นนี้เป็นลำดับ โดย เปลี่ยนสีของโครงกระดูกไปตามสีของสายรุ้ง ในลำดับต่อไป จึงเป็น สีเหลือง จากนั้นจึงเป็น สีเขียว แล้วจึงนึกเห็นภาพเป็น สีน้ำเงิน แล้วจึงเป็น สีคราม และเป็น สีม่วง ตามลำดับ โดยที่ก่อนจะนึกเห็นภาพเปลี่ยนสี ผู้ฝึกผู้นั้นจะต้องนึกเห็นภาพ โครงกระดูก ของตนคืนสู่สีธรรมชาติของกระดูกทุกครั้งก่อนเสมอ เพียงแต่ภาพ โครงกระดูกของผู้นั้นจะสว่างสดใสยิ่งขึ้น สะอาดยิ่งขึ้น และบริสุทธิ์ยิ่งขึ้นตามลำดับ

หลังจากที่ผู้นั้นจินตภาพเห็น โครงกระดูก ของตัวเองเปลี่ยนเป็นสีม่วง และเปล่งแสงสีม่วงออกมาเป็นการประสาทพรไปทั่วทั้งจักรวาฬแล้ว จงนึกเห็นภาพ โครงกระดูก ของตัวเองเริ่มเปล่งแสงสว่างไสวของแสงอาทิตย์ที่บริสุทธิ์อย่างยิ่งออกมา จนกระทั่ง โครงกระดูกของตัวเองกลายเป็นแก้วใส และในฉับพลันนั้นเอง จงนึกเห็นให้ โครงกระดูกที่เป็นแก้วใส นั้น ได้กลายเป็น “ความว่าง”

เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการฝึกลมปราณร่างสายรุ้งของวัชรยานสายซ็อกเชนข้างต้น คำสอนของ คุรุ ของ “เขา” ในการเข้าถึง “ความว่าง” ด้วยวิชาลม 7 ฐานในฐานะที่เป็นมหาสติปัฏฐานแขนงหนึ่งนั้น จะรวบรัดกว่า แม้จะมุ่งสู่ผลแบบเดียวกัน กล่าวคือ คุรุ ของเขาได้สอนให้ ส่งความรู้สึกทั้งตัวให้อยู่ในโครงกระดูก ภายในกาย เช่น พอเอาจิตไปจับที่หน้าผาก หรือกระหม่อมก็จะเกิดความรู้สึกว่า ตรงที่ผู้ฝึกเอาจิตไปจับนั้น มันจะรู้สึกหนักๆ เหมือนกับมีไออุ่นออกมา ซึ่งแสดงว่า สติของผู้นั้นเริ่มชัด ถ้ายิ่งกว่าชัดคือ ผู้นั้นจะเห็นภาพ โครงกระดูก ของตนใสแจ๋ว จากนั้น คุรุ ก็ได้สอนพวกลูกศิษย์ของท่านให้ทุบ บด ย่อย ป่นกระดูกของตนเองทีละชิ้น ทีละชิ้นจนละเอียดกลายเป็นไม่มีอะไร แล้วก็จะเข้าถึง “ความว่าง” ได้เช่นกัน

คุรุ ของเขายังบอกอีกว่า หลวงปู่ทวดท่านก็สำเร็จ วิชามหาสติปัฏฐานตามแนวลม 7 ฐานนี้ ถึงขนาดกระดูกของท่านกลายเป็นทองแดง เพราะฉะนั้น มหาสติปัฏฐาน จึงมีอานิสงส์มหาศาลสามารถทำให้กระดูกของผู้นั้นกลายเป็นแก้วเมื่อดับขันธ์ไปแล้วได้ วิธีการฝึกมหาสติโดยการพิจารณาโครงกระดูกตัวเองนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นวิธีการฝึกที่สำคัญที่สุดใน วิชาลม 7 ฐาน ของ คุรุ ของเขาก็เห็นจะไม่ผิดนัก ที่สำคัญในความเห็นส่วนตัวของเขา การฝึกมหาสติโดยการพิจารณาโครงกระดูก คลำกระดูก และบริกรรมถึงแต่โครงกระดูกตามแนวทางของ คุรุ ของเขานี้ มันเป็นการเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปของ แนวทางสติปัฏฐาน ในพระไตรปิฎกที่เป็นปริยัติให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นในทางปฏิบัติได้

* * *

หลังจากที่ได้ฝึกลมปราณชำระกระดูก และฝึกมหาสติโดยการพิจารณาโครงกระดูกมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน “เขา” ก็หันกลับมาภาวนา “สมาธิพระโพธิสัตว์” ของคุรุของเขาอีกครั้ง แต่คราวนี้ “เขา” ฝึกมันในฐานะที่เป็น การขบปริศนาธรรม อย่างหนึ่ง มิใช่การฝึกเพื่อให้มีสติ มีสมาธิแจ่มชัดรู้สึกถึงปราณเหมือนอย่างการฝึกในช่วงแรกๆ อีกต่อไป การฝึกขบปริศนาธรรม (โกอาน) ใน “สมาธิพระโพธิสัตว์” เพื่อลับ ปัญญาแห่งโพธิสัตว์ ให้แหลมคมตามแนวทาง เซน ที่ “เขา” ฝึกนั้น ตัวเขาได้ตั้งปริศนาธรรมให้แก่ตนเองว่า

“อะไรคือ ความหมายแห่งพันกรของพระโพธิสัตว์กวนอิม?”





 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้