(7) วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (18/5/53)

(7) วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (18/5/53)

วิชันพันธมิตรฯ กับอัจฉริยะแห่งจิต

7. วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.)


 

ข้อเขียนชุดนี้ของผม เป็นงานเขียนเกี่ยวกับ วิชัน หรือ มุมมองเกี่ยวกับอนาคต ที่ตัวผมขอนำเสนอต่อพี่น้องชาวพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่รักของผมทุกคน และนำเสนอต่อพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) ของพันธมิตรฯ ที่ตัวผมเป็นที่ปรึกษาอยู่ด้วยว่า พวกเราควรมองอนาคตอย่างไร เพื่อที่จะนำประเทศนี้ได้ถูกทางหากพรรคของพวกเราได้รับความไว้วางใจ และศรัทธาจากพ่อแม่พี่น้องประชาชนให้เข้ามาบริหารประเทศ

เพื่อที่จะเข้าใจอนาคตได้ชัดเจนและถูกต้อง ผมคิดว่า การทำความเข้าใจอนาคตจากมุมมองของอารยธรรม และระบบพลังงานที่ค้ำจุนอารยธรรมนั้นเอาไว้ เป็นมุมมองที่สำคัญที่สุด สำหรับผู้ที่อาสาจะเข้ามาชี้นำ และบริหารประเทศอย่างพรรคการเมืองใหม่ของพวกเรา ทั้งนี้ก็เพราะว่า การทำความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับ วิกฤตพลังงาน จะทำให้เราใส่ใจต่อสัญญาณเตือนภัยต่างๆ ที่บ่งบอกถึงอันตรายแห่งการล่มสลายของอารยธรรมนั้น และทำให้เราสามารถ ตัดสินใจเพื่ออนาคต ในการรับมือกับวิกฤตพลังงานได้อย่างถูกต้อง

ทั้งนี้ก็เพราะว่า วิกฤตพลังงานเป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะต้องเกิดขึ้นและทำนายได้ล่วงหน้า มิหนำซ้ำมันยังเป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนทั้งหมดในประเทศนี้ในอนาคตอันใกล้อย่างแน่นอน พรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) ของพวกเราที่อาสาเข้ามาชี้นำ และบริหารประเทศนี้ในวันข้างหน้า จึงต้องให้ความใส่ใจกับ วิกฤตพลังงาน นี้เป็นความสำคัญอันดับต้นๆ ของพรรค เพราะมันจะเป็นตัวกำหนดทิศทางของประเทศเราในอนาคตว่า จะสามารถรอดพ้นจากความหายนะ และความล่มสลายอันเนื่องมาจาก วิกฤตพลังงาน นี้ได้หรือไม่นั่นเอง

อนึ่ง ข้อเขียนตอนนี้ของผมได้อ้างอิงจากหนังสือ “เศรษฐกิจไฮโดรเจน” (The Hydrogen Economy) (ค.ศ. 2002) ของเจเรมี ริฟกิน (Jeremy Rifkin) (ฉบับแปลเป็นภาษาไทยโดยโครงการจัดพิมพ์คบไฟ พ.ศ. 2549) เป็นหลัก ผมมีความเห็นว่า หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในหนังสือที่พวกเราชาวพันธมิตรฯ และชาวพรรคการเมืองใหม่ทุกคน “ต้องอ่าน”

ถ้ามองจากมุมมองของ ระบบพลังงาน ความก้าวหน้าของมนุษย์ก็คือ วิวัฒนาการของการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะเราสามารถวัดระดับอารยธรรมของแต่ละยุค ของแต่ละสังคม ของแต่ละชุมชน และของแต่ละปัจเจกได้จาก ความสามารถในการใช้พลังงานเพื่อสนองความต้องการของตน ด้วยเหตุนี้ บทบาทของวัฒนธรรม ในด้านหนึ่งก็คือ การควบคุมและจัดการพลังงานให้อยู่ในรูปที่สามารถทำงานรับใช้มนุษย์ได้ นั่นเอง โดยที่มนุษย์ได้ใช้สติปัญญาของตนทำการประดิษฐ์สร้างเครื่องมือขึ้นมาเก็บ และเปลี่ยนรูปพลังงานจากนั้นก็สร้างระบบสื่อสาร และสถาบันทางสังคมขึ้นมาเพื่อจัดการดูแลกระบวนการส่งถ่าย และกระจายพลังงานให้เป็นไปด้วยดี และเพื่อให้มีพลังงานใช้ได้มากขึ้นเรื่อยๆ จากนั้นก็แผ่ขยายกับเพิ่มระดับความเป็นอยู่ของตนขึ้นไปอีก เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ เสมอมา

เราจะไม่สามารถทำความเข้าใจประวัติศาสตร์อารยธรรมของมนุษย์ได้เลย ถ้าหากเราไม่เข้าใจถึงความสำคัญของ พลังงานที่ค้ำจุน อารยธรรมนั้นๆ เพราะสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับทุกๆ สังคมในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาก็คือ การที่สังคมนั้นต้องมี พลังงานส่วนเกิน สะสมเอาไว้มากพอจึงจะสามารถธำรงความเป็นสังคมและยกระดับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมให้ดีขึ้นได้ จึงเห็นได้ว่า สังคมมนุษย์มีการเพิ่มปริมาณและคุณภาพของพลังงานที่ไหลเวียนผ่านแต่ละชีวิต และแต่ละสังคมมาโดยตลอด โดยที่กฎเทอร์โมไดนามิกส์เป็นกฎธรรมชาติที่ควบคุมพลังงานที่ใช้ในสังคมมนุษย์อีกทีหนึ่ง

กฎข้อแรกและข้อที่สองของเทอร์โมไดนามิกส์ กล่าวไว้ว่า ข้อที่หนึ่ง “ปริมาณทั้งหมดในจักรวาลมีอยู่คงที่” ซึ่งหมายความว่า พลังงานไม่สามารถถูกสร้างขึ้น หรือถูกทำลายลงได้ ปริมาณพลังงานทั้งหมดของจักรวาลถูกกำหนดมาแล้ว เมื่อจักรวาลก่อเกิดและจะคงอยู่ต่อไปเช่นนั้น จนกว่าจะถึงกาลอวสานของจักรวาล ด้วยเหตุนี้ มนุษย์ทุกคนและทุกๆ สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นบนโลกใบนี้ คือ พลังงานที่เปลี่ยนรูปจากสภาวะหนึ่งไปสู่อีกสภาวะหนึ่งเท่านั้น

พลังงานที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นร่างกายมนุษย์ก็ดี หรือเป็นสิ่งต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นมาก็ดี ล้วนถือกำเนิดขึ้นในสภาวะหนึ่งๆ ณ ที่ใดที่หนึ่งในธรรมชาติ ครั้นเมื่อมนุษย์ตายลงหรือสิ่งของวัตถุเสื่อมสลายจะมีการปลดปล่อยพลังงานออกมา และพลังงานจะกลับคืนสู่ธรรมชาติอีกครั้ง พอถึงตรงนี้กฎข้อที่สองของเทอร์โมไดนามิกส์จะเข้ามาเกี่ยวข้อง

ข้อที่สอง “แต่ เอนโทรปี (entropy) รวมทั้งหมดจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” ซึ่งหมายความว่า ในขณะที่เราไม่สามารถสร้างพลังขึ้นมาหรือทำลายพลังงานลงได้ แต่พลังงานจะเปลี่ยนแปลงรูปของมันไปเรื่อยๆ โดยที่การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นไปในแบบทิศทางเดียวคือ จากมีให้นำมาใช้ได้กลายเป็น มีแต่ไม่สามารถนำมาใช้ได้

ด้วยเหตุนี้ กฎข้อที่สองของเทอร์โมไดนามิกส์จึงบอกว่า เมื่อใดที่พลังงานเปลี่ยนรูปจะมีการสูญเสียพลังงานที่ใช้ได้บางส่วนไป กล่าวคือ เราไม่สามารถนำมันกลับมาใช้ได้อีก การสูญเสียพลังงานส่วนที่ใช้งานได้ไปนี้ มักใช้คำเรียกว่า เอนโทรปี (entropy) ซึ่งบ่งชี้ว่า พลังงานจะเปลี่ยนรูปไปในทิศทางเดียวเสมอ เช่น จากร้อนไปสู่เย็น จากเข้มข้นไปสู่กระจัดกระจาย และจากที่เป็นระเบียบไปสู่ความยุ่งเหยิง

แนวคิดเรื่อง เอนโทรปี ข้างต้นนี้ มีความสำคัญมาก เมื่อเราใช้มุมมองนี้มาทำความเข้าใจเรื่อง ชีวิตในชีววิทยา เพราะเราสามารถมองได้ว่า ชีวิตดำรงอยู่ได้โดยการดูดซับพลังงานจากสิ่งแวดล้อมของตัวเองอยู่ตลอดเวลา และก็ปล่อยเอนโทรปีออกมาสู่สิ่งแวดล้อมเช่นกัน ยิ่งสิ่งมีชีวิตนั้นมีวิวัฒนาการสูงเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องการดูดซับพลังงานจากสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น และปล่อยเอนโทรปีออกมาสู่สิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้นเพียงนั้น เพราะฉะนั้น เมื่อสังคมมนุษย์มีวิวัฒนาการ และความซับซ้อนมากขึ้น สังคมนั้นก็ยิ่งต้องการพลังงานในการคงสภาพสังคม และยิ่งผลิตเอนโทรปีออกมามากยิ่งขึ้นจากการนั้น

กิจกรรมทางเศรษฐกิจของสังคมหนึ่ง เมื่อมองจากมุมมองของพลังงานและเอนโทรปี จึงหมายถึงการหยิบยืม พลังงานเอนโทรปีต่ำ จากสิ่งแวดล้อมเพื่อนำมาแปรรูปเป็นสินค้า และบริการที่มีมูลค่าเป็นการชั่วคราว โดยที่ในขั้นตอนการแปรรูป เราได้ใช้พลังงานในการแปรรูปและสูญเสียพลังงานไปสู่สิ่งแวดล้อมมากกว่าพลังงานที่เราบรรจุลงในสินค้าและบริการเสียอีก เพียงแต่สิ่งนี้แทบไม่เคยถูกนำมาคิดเป็นต้นทุนทางธุรกิจ และต้นทุนทางสังคมในวิชาเศรษฐศาสตร์กระแสหลักเลย เพราะตัววิชาเศรษฐศาสตร์เองนั้นได้ถือว่าทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่จำกัดนั้น สามารถนำมาใช้ได้เสมอ หากมีราคาที่เหมาะสม โดยที่ เอนโทรปี เป็นเรื่องนอกเหนือไปจากความสนใจของวิชาเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก

ทั้งๆ ที่ตัวสินค้าที่ผลิตสำเร็จแล้ว หรือตัวบริการเองในวิชาเศรษฐศาสตร์ ความจริงก็เป็นเพียง “สินค้าและบริการ” ชั่วคราว ในมุมมองของพลังงานและเอนโทรปีเท่านั้น เพราะเมื่อสินค้าหรือบริการได้ถูกใช้หรือถูกบริโภคมันจะเกิดการแยกสลาย กระจัดกระจาย และกลับคืนสู่สิ่งแวดล้อมอีกครั้งในรูปของพลังงานที่ใช้แล้วหรือของเสีย

ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่เรียกว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Products หรือ GDP) ซึ่งเป็นดัชนีวัดความมั่งคั่งที่ประเทศหนึ่งๆ สามารถผลิตได้ในแต่ละปีของวิชาเศรษฐศาสตร์ เมื่อถูกนำมา “มองใหม่” จากมุมมองของพลังงานและเอนโทรปี ก็จะกลายเป็นว่าสิ่งที่เรียกกันว่า GDP นั้น ความจริงก็คือ ดัชนีวัดค่าพลังงานแบบชั่วคราวที่บรรจุอยู่ในสินค้า และบริการที่ผลิตขึ้นโดยทำให้ปริมาณสำรองพลังงานของสังคมลดลง และทำให้เกิดการสะสมของเสียที่เกิดจากเอนโทรปี โดยที่ในท้ายที่สุดแล้ว สินค้าและบริการที่ผลิตขึ้นนั้น ก็ต้องกลายเป็นส่วนหนึ่งของกระแสเอนโทรปีในที่สุด

จะเห็นได้ว่า สิ่งที่เป็น “ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ” นั้น สุดท้ายย่อมต้องกลายเป็น ตัวเลขติดลบทางบัญชีเศรษฐศาสตร์ เสมอ เมื่อคำนวณต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจากเอนโทรปีเข้าไปด้วย ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ทุกๆ อารยธรรมมนุษย์จะต้องดูดกินเอาความเป็นระเบียบออกจากสิ่งแวดล้อมเข้าไปมากกว่าที่ผลิตขึ้นมา จึงทำให้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทรุดโทรมลงเรื่อยๆ ตราบเท่าที่อารยธรรมของมนุษย์ยังคงดำรงอยู่

นี่คือความจริงและเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ เพราะฉะนั้น ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติจึงเป็นประวัติศาสตร์แห่งความรุ่งเรือง และล่มสลายของอารยธรรมต่างๆ ของมนุษย์ นั่นเอง โดยที่สังคมหรืออารยธรรมที่ดำรงอยู่ได้นานที่สุดคือ สังคมหรืออารยธรรมที่สามารถรักษาสมดุลระหว่างสังคมกับธรรมชาติไว้ได้มากที่สุดนั่นเอง





 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้