(8) วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ) (25/5/53)

(8) วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ) (25/5/53)

วิชันพันธมิตรฯ กับอัจฉริยะแห่งจิต

8. วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ)


 

ปัจจุบัน อารยธรรมของพวกเราซึ่งเป็น อารยธรรมที่ต้องพึ่งพิงพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก กำลังมาถึงจุดเปลี่ยนหรือจุดหักเหทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง การที่เราจะทำความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับอารยธรรมของเราที่กำลังเผชิญกับ วิกฤตหลากมิติ ในขณะนี้ได้ เรามีความจำเป็นที่จะต้องย้อนกลับไปศึกษา บทเรียนจากความรุ่งเรืองและการล่มสลายของอารยธรรมในอดีต โดยมองผ่านมุมมองของพลังงาน และเอนโทรปีเสียก่อน

จะว่าไปแล้ว อารยธรรม เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เมื่อเทียบกับความยาวนานแห่งประวัติศาสตร์ของโลก อารยธรรมแตกต่างจากสังคมธรรมดาทั่วๆ ไปตรงที่มีการจัดลำดับ การแปรรูป และการบริโภคพลังงานจำนวนมหาศาล เพราะในอดีต เมื่อหกพันปีก่อน อารยธรรมมีความเป็น ระบบจักรวรรดิ มากกว่าเป็นแค่สังคมบุพกาลที่มักเป็นแค่ชุมชนเล็กๆ ที่เป็นระบบเครือญาติ กล่าวคือ มีการแบ่งเขตแดนเป็นรัฐหรือแคว้น มีการจัดการปกครองแบบมีการควบคุมจัดการอย่างมีลำดับชั้น โดยมีกลุ่มผู้ปกครองที่เป็นกลุ่มปัญญาชนที่กุมอำนาจ มีรัฐบาลกลางเป็นผู้จัดลำดับ และควบคุมดูแลกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดระบบราชการขึ้นเพื่อจัดการกับชีวิตประจำวันของประชาชน มีการบัญญัติกฎหมายขึ้นมาเพื่อควบคุมความประพฤติของพลเมือง

มีการวางระเบียบกลไกต่างๆ ในการจัดเก็บภาษีจากผลผลิตทางการเกษตร มีการเกณฑ์ทหารไปยึดครองดินแดนของเพื่อนบ้าน เสริมสร้างความมั่นคงในดินแดนของตนเพื่อป้องกันผู้รุกรานต่างชาติจากภายนอก และรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน ด้วยเหตุนี้ อำนาจจึงถูกกระจุกตัวอยู่ในเมืองซึ่งเป็นศูนย์กลาง และกระจายออกไปสู่หัวเมืองตามชายแดนของอาณาจักรซึ่งเป็นจักรวรรดิ

อย่างไรก็ตาม มีปริศนาอยู่ 2 ข้อซึ่งรบกวนจิตใจของนักประวัติศาสตร์อารยธรรมตั้งแต่สมัยกรีกโบราณมาจนถึงปัจจุบัน ปริศนาข้อที่หนึ่งคือ ทำไมจึงมีอารยธรรม (ระบบจักรวรรดิ) เกิดขึ้นบนโลกนี้น้อยมาก เมื่อเทียบกับประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติอันยาวนาน ส่วนปริศนาข้อที่สองคือ เพราะเหตุใด อำนาจที่รวมศูนย์ไว้จนเป็นปึกแผ่น และก่อเกิดเป็นสถาบันซึ่งดูแข็งแกร่งยิ่งกลับแตกสลายลงอย่างรวดเร็ว และนำไปสู่การล่มสลายลงของอารยธรรมนั้นอย่างฉับพลันในที่สุด

การล่มสลายลงของอารยธรรมจาก มุมมองของพลังงาน นั้นเกิดขึ้นจาก การหมดพลังของสังคมนั้น ที่ไม่สามารถระดมพลังของผู้คนในสังคมได้พอเพียงสำหรับการเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ที่กำลังคุกคามระบบของสังคมนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลเพียงพอ กรณีล่มสลายของ จักรวรรดิโรมัน ถือเป็นตัวอย่างของอารยธรรมในอดีตที่เหมาะสมที่สุดสำหรับพวกเราในการทำความเข้าใจเรื่อง การล่มสลายของอารยธรรมจากมุมมองของพลังงาน

เมื่อเทียบกับการล่มสลายของอารยธรรมอื่นๆ เช่น อียิปต์ ขอม เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพราะว่า จักรวรรดิโรมันมีลักษณะคล้ายคลึงกับโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะโลกตะวันตกซึ่งเป็นตัวแทนของอารยธรรมปัจจุบันมากยิ่งกว่าอารยธรรมใดๆ ในอดีตที่ผ่านมา ทั้งในแง่วิถีชีวิต เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ด้วยเหตุนี้ บทเรียนจากความรุ่งเรืองและการเสื่อมสลายของจักรวรรดิโรมันจึงน่าจะเป็นอุทาหรณ์ในการเผชิญกับอนาคตของพวกเราได้เป็นอย่างดี

จักรวรรดิโรมันในอดีตเมื่อเกือบสองร้อยปีก่อนคริสตกาลนั้น ยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้ด้วยการพิชิตอาณาจักรอื่นๆ ด้วยกองทหารที่เก่งกาจ ท้องพระคลังของกรุงโรมในตอนนั้นมีทรัพย์สมบัติที่ได้จากการยึดครองอาณาจักรอื่นๆ มากมายจนทางการหยุดเก็บภาษีจากประชาชน การทำสงครามยึดดินแดนอย่างต่อเนื่องให้ผลดีทางเศรษฐกิจแก่จักรวรรดิโรมันเป็นอย่างมาก กล่าวคือ มันทำให้จักรวรรดิโรมันสามารถเลี้ยงตัวเองได้ และยังมีพลังงานเหลือเฟือพอให้ออกไปใช้ทำสงครามอย่างต่อเนื่องต่อไปอีก

แรงงานทาส แหล่งทรัพยากรแร่ ป่าไม้และพื้นที่เพาะปลูกมีส่วนช่วยเพิ่มปริมาณพลังงานในจักรวรรดิโรมันอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน การแผ่ขยายอำนาจของจักรวรรดิโรมันมาสิ้นสุดลงเมื่อสามารถยึดครองอียิปต์ได้สำเร็จ จากนั้นจักรวรรดิโรมันก็เปลี่ยนสถานะจาก รัฐผู้พิชิต กลายมาเป็น รัฐที่มีอาณานิคมในครอบครองมากมายซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก เนื่องจากไม่มีรายรับใหม่ๆ เข้ามาอีกจากดินแดนที่ตนยึดครองในขณะที่จักรวรรดิโรมันต้องใช้พลังงานเพื่อการสร้างโครงสร้างพื้นฐานในการบำรุงรักษาจักรวรรดิของตนมากขึ้นกว่าเดิมเป็นอย่างมาก

จากนั้นไม่นาน จักรวรรดิโรมันก็เริ่มพบว่า ตนเองไม่มีเงินทุนพอที่จะจัดบริการขั้นพื้นฐานให้แก่ประชาชนได้ จึงจำต้องมีการเรียกเก็บภาษีที่ไม่เคยเรียกเก็บกันมานานจนเคยชิน ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชนเป็นอย่างมาก

มิหนำซ้ำ การบำรุงกองทหารได้กลายเป็นภาระหนักอึ้งสำหรับจักรวรรดิโรมันที่ไม่ได้ทำสงครามยึดดินแดนอีกต่อไปแล้ว เพราะกองทหารประจำการได้ดูดพลังงานไปจากจักรวรรดิ และดึงเอาความสุขสบายของประชาชนไป การที่การบำรุงรักษา “จักรวรรดิอันยิ่งใหญ่” มีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้จักรวรรดิโรมันต้องใช้พลังงานในการส่งกองทหารไปรักษาการณ์พื้นที่รอบชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และยุโรปทั้งหมด

ในขณะที่พลังงานที่เก็บเกี่ยวได้จากดินแดนอาณานิคมของตนกลับลดลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อไม่สามารถพิชิตดินแดน หรือใช้กำลังเข้าไปยึดครองทรัพย์สินของอาณาจักรอื่นๆ ได้อีกต่อไป จักรวรรดิโรมันจึงจำเป็นต้องหันไป พึ่งพลังงานแหล่งเดียวที่เหลืออยู่ซึ่งก็คือ เกษตรกรรม

ความเสื่อมสลายที่ค่อยๆ กัดกร่อนจักรวรรดิโรมันอย่างช้าๆ นั้น เกี่ยวข้องกับความเสื่อมสลายของการผลิตในภาคเกษตรกรรมของอาณาจักรโรมันเป็นอย่างมาก การที่จักรวรรดิโรมันเสื่อมสลายลงนั้น สาเหตุหนึ่งมาจากความตกต่ำเสื่อมทราม และการคอร์รัปชันของชนชั้นปกครองก็จริง แต่สาเหตุหลักๆ ของความเสื่อมสลายของจักรวรรดิโรมันน่าจะอยู่ที่ ผืนดินมีความสมบูรณ์ลดลง และผลผลิตการเกษตรที่ลดต่ำลง มากกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นแรงกดดันให้ชาวนาทิ้งที่ดินในชนบท และบากหน้าเข้าสู่เมืองเพื่อพึ่งสวัสดิการจากรัฐ

การที่จำนวนประชากรในชนบทของจักรวรรดิโรมันลดน้อยลง ยังทำให้เกิดผลกระทบตามมาอีกหลายอย่าง ผืนดินที่ถูกทิ้งร้างขาดการดูแลผืนดินจึงยิ่งถูกกัดกร่อน และเสื่อมความอุดมสมบูรณ์ ไม่มีการระบายน้ำออกจากพื้นที่นาที่มีน้ำขัง จึงกลายเป็นหนองน้ำที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และทำให้เกิดการระบาดของโรคมาลาเรีย จะเห็นได้ว่า จักรวรรดิโรมันเริ่มประสบกับ “ความจริงอันโหดร้าย” ตามทฤษฎีเทอร์โมไดนามิกส์ ที่เราได้กล่าวไปแล้ว เพราะในขณะที่จักรวรรดิโรมันต้องการพลังงานปริมาณมหาศาลในการบำรุงธำรงความเป็นจักรวรรดิของตนเอาไว้ แต่การณ์กลับเป็นว่า แหล่งพลังงานที่จักรวรรดิโรมันมี และพึ่งพาอยู่นั้นกำลังร่อยหรอลงเรื่อยๆ โดยที่ไม่สามารถหาแหล่งพลังงานใหม่มาทดแทนได้

เมื่อเป็นเช่นนี้ พอถึงจุดหนึ่ง จักรวรรดิโรมันก็เริ่มทรุดโทรมลงเพราะระบบพลังงานร่อยหรอ และเข้าสู่กระบวนล่มสลายลงทีละน้อย เริ่มจากการให้บริการพื้นฐานแก่ประชาชนลดลงอย่างเห็นได้ชัด ต่อมาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของอาณาจักรโรมัน ก็เริ่มทรุดโทรมทำให้กองกำลังทหารไม่สามารถต้านทานผู้รุกรานที่เข้าโจมตีทางน่านน้ำได้อีก

กลุ่มโจรต่างชาติผู้รุกรานจึงเริ่มกัดกร่อนทำลายจักรวรรดิโรมันที่กำลังเสื่อมสลาย โดยเริ่มจากรอบนอกก่อน ในที่สุดเมื่อสิ้นศตวรรษที่หก ผู้รุกรานต่างชาติได้บุกรุกเข้ามาจนถึงประตูกรุงโรม และแล้วจักรวรรดิโรมันที่ยิ่งใหญ่มากว่าเจ็ดร้อยปี ก็ล่มสลายลงในที่สุด

อุทาหรณ์แห่งการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันในอดีต ดังข้างต้นช่างน่าคิดเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเราคำนึงถึง อนาคตของระบบทุนนิยมในปัจจุบันของเราซึ่งเป็นอารยธรรมที่พึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก เพราะระบบทุนนิยมของเราในช่วงร้อยห้าสิบปีมานี้ ก็ได้สร้างโครงสร้างพื้นฐานทางสถาบัน และทางเทคโนโลยีที่ซับซ้อน และกว้างใหญ่ไพศาลขึ้นมาเพื่อสกัดแยก และนำพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลมาใช้อย่างมโหฬาร และอย่างไม่บันยะบันยัง

จนกระทั่งในปัจจุบัน การผลิตน้ำมันจากเชื้อเพลิงฟอสซิลกำลังจะมาถึงขีดสูงสุด ภายในไม่กี่ปีข้างหน้านี้แล้ว นั่นก็หมายความว่า ราคาน้ำมันจะแพงขึ้นๆ อย่างถาวร จนกระทั่งมีความเป็นไปได้ที่จะเกิด “ความเสี่ยง” ที่ระบบใหญ่และระบบย่อยของสังคมจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง อันเนื่องมาจากราคาที่แพงขึ้นอย่างถาวรของน้ำมัน จนส่งผลต่อวิถีชีวิตของผู้คนจำนวนมากในแทบทุกด้าน

เป็นไปได้หรือไม่ว่า การล่มสลายของระบบต่างๆ จะทำให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่เหมือนอย่างที่ได้เคยเกิดขึ้นกับจักรวรรดิโรมันในอดีตมาแล้ว การจะตอบคำถามข้อนี้ได้ ก่อนอื่นเราต้องหันกลับไปพิจารณาก่อนว่า อารยธรรมของเราได้ก้าวมาอยู่ในสถานะปัจจุบันอันเป็นวิกฤตได้อย่างไร หรือกล่าวในอีกนัยหนึ่งได้ว่า เชื้อเพลิงฟอสซิลได้เข้ามาเป็นรากฐานแห่งอารยธรรมของพวกเราได้อย่างไร




 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้