(10) วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ) (8/6/53)

(10) วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ) (8/6/53)

วิชันพันธมิตรฯ กับอัจฉริยะแห่งจิต

10. วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ)



 

ขณะนี้เป็นปี ค.ศ. 2010 ขณะที่ผลการศึกษาเกี่ยวกับการผลิตน้ำมันของโลกก่อนหน้านี้หลายชิ้น ล้วนทำนายค่อนข้างใกล้เคียงกันว่า การผลิตน้ำมันของโลกจะถึงขีดสูงสุด (peak oil) ช่วงใดช่วงหนึ่งระหว่างปี ค.ศ. 2010 ถึงปี ค.ศ. 2020 ซึ่งหมายความว่า ห้วงเวลานั้นกำลังใกล้เข้ามาถึงแล้ว และเมื่อถึงเวลานั้น น้ำมันจำนวนครึ่งหนึ่งของเท่าที่มีอยู่ทั้งโลกได้ถูกนำขึ้นมาใช้หมดแล้ว และเพราะ เมื่อการผลิตน้ำมันของโลกถึงขีดสูงสุด ราคาน้ำมันจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะไม่มีอะไรมาหยุดยั้งได้ ท่ามกลางการต่อสู้ของนานาประเทศ และของทุกแวดวงธุรกิจ รวมทั้งในหมู่ผู้บริโภครายใหญ่เพื่อแย่งชิงปริมาณสำรองน้ำมันที่เหลืออยู่

วิกฤตน้ำมันที่กำลังจะเกิดขึ้นหลังจากการผลิตน้ำมันของโลกถึงขีดสูงสุดในคราวนี้ จะไม่เหมือนกับวิกฤตน้ำมันที่เคยเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1970 และช่วงทศวรรษ 1980 ซึ่งเกิดขึ้น เนื่องจากเหตุผลทางการเมืองเป็นหลัก แต่ครั้งนี้ มันจะเกิดจากการขาดแคลนน้ำมันอย่างแท้จริง เพราะในช่วงที่ผ่านมา ปริมาณความต้องการบริโภคน้ำมันของโลกได้เพิ่มมากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก

เนื่องจากมีความต้องการบริโภคพลังงานจำนวนมหาศาลของกลุ่มประเทศขนาดใหญ่อย่างจีน อินเดีย บราซิล และรัสเซีย รวมไปถึงประเทศเกิดใหม่ในยุโรปตะวันออก อันเป็นผลมาจากกระแสโลกาภิวัตน์ที่ได้ช่วยสร้างพลเมือง “ชนชั้นกลาง” จำนวนมหาศาลให้แก่ประเทศเหล่านี้ มิหนำซ้ำ ชนชั้นกลางเหล่านี้กำลังใช้และต้องการใช้ชีวิตแบบบริโภคนิยมเหมือนกับพลเมืองในประเทศร่ำรวยอย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรปตะวันตก

ในขณะที่ ภาวะโลกร้อน กำลังกลายเป็น ปัญหาเร่งด่วนระดับโลก โดยที่ในอีกด้านหนึ่ง การขุดเจาะหาแหล่งน้ำมันใหม่ๆ นับวันจะหาได้ยากขึ้นทุกที ทั้งๆ ที่มีความต้องการบริโภคน้ำมันทั่วโลกสูงขึ้นกว่าเดิมมาก

พูดง่ายๆ ก็คือ นับจากบัดนี้เป็นต้นไป ชาวโลกจะต้องเจอ ปัญหาทรัพยากรน้ำมันของโลกร่อยหรอ ทับซ้อนกับปัญหาการขับเคลื่อนระบอบเศรษฐกิจออกจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ทำลายสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน เพื่อกอบกู้โลกจากภาวะโลกร้อน อันเป็นลักษณะของวิกฤตซ้อนวิกฤตที่น่าเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นจริงๆ แล้ว แม้แต่ประชาชนคนทั่วไปอย่างเราท่าน จะไม่สนใจเรื่อง peak oil หรือ Hubbert Peak ก็คงไม่ได้แล้ว เพราะวิธีการสร้างแบบจำลองอันเป็นที่มาของคำทำนายเรื่อง การถึงขีดสูงสุดของการผลิตน้ำมันของโลก คือ ทฤษฎีกราฟรูประฆังคว่ำของฮับเบิร์ต คิง (Hubbert King) นั่นเอง

ดร.ฮับเบิร์ต คิง เป็นนักธรณีฟิสิกส์ชาวสหรัฐอเมริกาที่เคยทำงานกับบริษัทเชลล์ ในปี ค.ศ. 1956 เขาได้ตีพิมพ์บทความซึ่งต่อมากลายเป็นรายงานอันโด่งดังยิ่ง ในรายงานฉบับดังกล่าว ดร.ฮับเบิร์ต ได้ใช้แนวคิดทางเศรษฐกิจ และธรณีวิทยามาคำนวณสถานการณ์น้ำมันโลก โดยเขาได้นำเสนอว่า รูปแบบของอุปทานน้ำมัน (ที่เรียกว่า เส้นโค้งฮับเบิร์ต) จะอยู่ในรูปของเส้นโค้งระฆังคว่ำ คือ จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อยๆ จนถึงจุดสูงสุดที่เรียกว่า Peak จากนั้นจะค่อยๆ ลดลงจนหมดไม่มีเหลือ

ในรายงานฉบับนั้น ดร.ฮับเบิร์ต ได้ทำนายสภาวการณ์ผลิตน้ำมันในสหรัฐอเมริกาว่าจะถึงขีดสูงสุดในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1965 ถึงปี ค.ศ. 1970 ณ เวลาที่เขาคาดการณ์นั้น สหรัฐอเมริกากำลังผลิตน้ำมันได้จำนวนมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน นักธรณีวิทยาและผู้บริหารในบริษัทพลังงานต่างๆ เกือบทั้งหมด พากันหัวเราะเยาะคำทำนายของฮับเบิร์ต และพากันล้อเลียนทั้งตัวเขาและทฤษฎีของเขา แต่แล้วคนเหล่านั้นก็ต้องตกตะลึงเมื่อคำทำนายของฮับเบิร์ตเกิดเป็นจริงขึ้นมา การผลิตน้ำมันของสหรัฐอเมริกาถึงขีดสูงสุดในปี ค.ศ. 1970 และเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่องหลังจากนั้น

ทฤษฎีกราฟรูประฆังคว่ำของฮับเบิร์ต ไม่ได้สลับซับซ้อนอะไร เขาอธิบายว่า การผลิตน้ำมันเริ่มต้นจากศูนย์ไต่สูงขึ้น และจะถึงขีดสูงสุดเมื่อ EUR (Estimated Ultimately Recoverable Reserves) หรือปริมาณน้ำมันดิบทั้งหมดที่คาดว่าจะผลิตขึ้นมาได้จากหลุมเจาะ หรือจากแอ่งใดๆ ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจและสภาพทางวิศวกรรมในปัจจุบันได้ถูกผลิตไปแล้วจำนวนครึ่งหนึ่ง จากนั้นจะเริ่มตกลงเรื่อยๆ

หากนำมาสร้างเป็นกราฟรูปกราฟที่แสดงการขึ้นลงของการผลิตน้ำมันจะเป็นรูประฆังคว่ำ ซึ่งหมายความว่า การผลิตน้ำมันเริ่มต้นอย่างช้าๆ ในตอนแรก จากนั้นจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อมีการค้นพบบ่อน้ำมันใหญ่ๆ แต่หลังจากที่บ่อน้ำมันใหญ่ๆ ถูกค้นพบ และใช้ประโยชน์ไปแล้ว การผลิตจะเริ่มชะลอตัวลง บ่อน้ำมันที่เล็กกว่าจะหาได้ยากขึ้น การขุดเจาะน้ำมันและการผลิตจะแพงขึ้น

ในขณะเดียวกัน การดูดน้ำมันที่เหลืออยู่ในบ่อน้ำมันขนาดใหญ่ที่มีการดูดน้ำมันไปแล้วกว่าครึ่งบ่อจะทำได้ยากขึ้น เพราะหลังจากถัดจากช่วงที่น้ำมันพุ่งขึ้นมาเองโดยไม่ต้องสูบ ก็จะก้าวเข้าสู่ช่วงที่ไหลอย่างช้าๆ ต่อเนื่องและลดจำนวนลงอัตราการค้นพบบ่อน้ำมันใหม่ที่ลดจำนวนลง บวกกับผลผลิตน้ำมันจากบ่อน้ำมันเดิมที่ค่อยๆ ลดปริมาณลง จะทำให้การผลิตน้ำมันถึงขีดสูงสุดในที่สุด จุดสูงสุดของกราฟรูประฆัง คือ จะกึ่งกลางซึ่ง EUR ได้ถูกผลิตไปแล้วจำนวนครึ่งหนึ่ง จากนั้นการผลิตจะตกลงในช่วงครึ่งหลังของกราฟด้วยความเร็วพอๆ กับที่มันไต่ขึ้นในตอนต้น

จุดสูงสุดของประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่ไม่ใช่สมาชิกโอเปกหลายประเทศได้ผ่านเลยไปแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกาในปี 1970 อินโดนีเซีย ปี 1997 อังกฤษ ปี 1999 ออสเตรเลีย ปี 2000 และเม็กซิโก ปี 2004 เพราะฉะนั้นการคำนวณตามทฤษฎี Peak Oil ของฮับเบิร์ตที่ได้ทำนายว่า ประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกโอเปกจะถึงจุดสูงสุดในราวปี ค.ศ. 2015 จึงน่าจะมีความเป็นไปได้สูงมาก

ส่วนประเทศสมาชิกโอเปก ทฤษฎีนี้ได้ทำนายว่าจะถึงจุดสูงสุดในปี 2020-2025 หรืออีกสิบห้าปีข้างหน้าเท่านั้นเอง ที่ผ่านมา บริษัทน้ำมันต่างๆ ได้พยายามลงทุนค้นหาแหล่งน้ำมันใหม่ๆ เหมือนกัน แต่แหล่งที่ค้นพบกลับมีสภาพภูมิประเทศที่เสี่ยงอันตรายเพิ่มมากขึ้นทำให้การลงทุนต้องใช้เงินทุนจำนวนมหาศาล แต่ผลการสำรวจกลับไม่พบแหล่งน้ำมันที่มีปริมาณมากพอเหมือนในอดีต

โลกทั้งใบมีน้ำมันทั้งหมดประมาณ 2 ล้านล้านบาร์เรล ก่อนที่มนุษย์จะเริ่มขุดขึ้นมาใช้เป็นเชื้อเพลิง ปัจจุบันน้ำมันสำรองทั่วโลกคงเหลือประมาณเกือบ 1.3 ล้านล้านบาร์เรล ถ้าอัตราการบริโภคน้ำมันทั่วโลกยังคงที่ ณ อัตราปัจจุบัน คือ 31,000 ล้านบาร์เรลต่อปี (85 ล้านบาร์เรลต่อวัน) นั่นก็หมายความว่า น้ำมันจะหมดโลกภายในปี ค.ศ. 2040 ตัวเลขดังกล่าวมิได้หมายความว่า อัตราการผลิตน้ำมันจะคงที่ไปอีก 30 ปี แล้วค่อยกลายเป็นศูนย์ เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่จะรักษาอัตราการผลิตให้คงที่ขณะที่น้ำมันกำลังร่อยหรอ แต่มันหมายความว่า วันหนึ่งในอนาคตอันใกล้ แหล่งน้ำมันใหม่ๆ จะหายากมากขึ้นทุกที และการขุดเจาะจะมีต้นทุนสูงมากจนไม่คุ้มที่จะทำอีกต่อไป

เมื่อเป็นเช่นนั้น เราจึงควรหวนมาพิจารณาดูแหล่งน้ำมันดิบในแถบตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีปริมาณน้ำมันสำรองมากที่สุดในโลก คือ มีน้ำมันดิบสำรองกว่า 2.6 แสนล้านบาร์เรล หรือกว่า 20% ของน้ำมันสำรองของโลก โดยที่ซาอุดีอาระเบียผลิตน้ำมันวันละ 10 ล้านบาร์เรล หรือคิดเป็น 12.5% ของการผลิตทั้งหมด แต่ตอนนี้ผู้เชี่ยวชาญบางคนเริ่มตั้งข้อสงสัยบ้างแล้วว่า ปริมาณสำรองของซาอุดีอาระเบียจะมีถึง 2.6 แสนล้านบาร์เรลจริงหรือไม่ เพราะเป็นข้อมูลที่หาหลักฐานพิสูจน์ได้ยากยิ่ง ขณะที่ Saudi Aramco รัฐวิสาหกิจของซาอุดีอาระเบียก็เลิกเปิดเผยข้อมูลการผลิตของบริษัทมานานกว่า 2 ทศวรรษแล้ว

หากปริมาณน้ำมันสำรองของซาอุดีอาระเบียมีน้อยกว่าที่ประกาศ นั่นก็หมายความว่า จุด Peak Oil ของประเทศแถบตะวันออกกลางจะมาเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์เอาไว้อีก ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจโลกและระบบทุนนิยมในโลกนี้มีปัญหาอย่างแน่นอน อนึ่ง สมาชิกกลุ่มประเทศโอเปกมีแรงจูงใจแบบนักลัทธิฉวยโอกาสที่จะปกปิดข้อมูลและกล่าวอ้างว่า ประเทศตนมีน้ำมันสำรองเกินจริง เพราะถ้ายิ่งอ้างว่า ตัวเองมีน้ำมันสำรองมากเท่าไร่ ตัวเองก็จะได้รับจัดสรรโควตาการผลิตในกรอบของโอเปกมากขึ้นเท่านั้น

ในกรณีของซาอุดีอาระเบีย บ่อกาวอร์เป็นบ่อน้ำมันที่ใหญ่ที่สุด เพราะผลิตน้ำมันมาได้ 50 กว่าปีแล้ว แม้ปัจจุบันนี้ก็ผลิตน้ำมันได้ถึงวันละ 5 ล้านบาร์เรล หรือ 50% ของกำลังการผลิตของซาอุดีอาระเบียทั้งหมด แต่ในระยะหลังๆ นี้ การผลิตน้ำมันจากบ่อกาวอร์ทำได้ยากขึ้นเรื่อยๆ และต้องใช้น้ำมันเข้าไปผลักดันให้ปริมาณน้ำมันออกมาในจำนวนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้น่าเป็นห่วงว่า น้ำมันที่จะนำขึ้นมาจากหลุมจะค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ

ถึงแม้ว่ายังมีน้ำมันในตอนใต้ของบ่อน้ำมันที่ยังไม่ได้ขุดเจาะก็จริง แต่ลักษณะภูมิประเทศตรงนั้นกลับขุดเจาะได้ยากกว่าบริเวณที่เป็นแหล่งผลิตในปัจจุบันมาก หากการผลิตน้ำมันในบ่อกาวอร์ของซาอุดีอาระเบียลดลงจริง โลกเราคงไม่สามารถแสวงหาบ่อน้ำขนาดใหญ่ที่ใกล้เคียงกันมาทดแทนได้อีกแล้ว

จากที่กล่าวมาข้างต้น คงพอจะทำให้พวกเราเห็นภาพรวมได้แล้วกระมังว่า อะไรกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้กับโลกใบนี้? ถูกแล้ว มันไม่ใช่แค่เรื่องวิกฤตราคาน้ำมันแพงเท่านั้น แต่มันหมายถึงเรื่องของ อวสานของยุคน้ำมัน ที่จะมาถึงในอีกสามสิบปีข้างหน้านี้อย่างแน่นอน

นี่จึงเป็นเรื่องของ ยุทธศาสตร์ระดับชาติที่เกี่ยวพันกับความอยู่รอดของชาติเราในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้านี้ และเป็นเรื่องที่จะต้องริเริ่มทำอะไรอย่างจริงจังต่อเนื่องเสียแต่บัดนี้ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้ โดยที่ พรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) ของพวกเราชาวพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะต้องเข้าไปผลักดันเรื่องนี้ให้จงได้





 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้