(15) วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ) (13/7/53)

(15) วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ) (13/7/53)

วิชันพันธมิตรฯ กับอัจฉริยะแห่งจิต

15. วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ)

 

อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อโลกร้อนขึ้นทีละนิด? อะไรจะเกิดขึ้นกับชายฝั่งทะเลของเรา ป่าของเรา แม่น้ำของเรา ภูเขาของเรา ไร่นาของเรา และเมืองของเรา เมื่อโลกร้อนขึ้นทีละองศา? มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ลูกหลานเหลนโหลนของพวกเรา อาจจะต้องดิ้นรนใช้ชีวิตเพียงเพื่อขอให้มีชีวิตรอดไปวันๆ บนซากอารยธรรมอันล่มสลาย ซึ่งคนรุ่นเราและคนรุ่นก่อนพวกเราได้ก่อขึ้น?

มาร์ก ไลนัส หมกมุ่นอยู่กับคำถามข้างต้นเหล่านี้ ในขณะที่ตัวเขาได้เริ่มอ่านรายงานวิทยาศาสตร์ล่าสุดเกี่ยวกับ ภาวะโลกร้อน แล้วในตอนนั้น เขารู้พอเลาๆ แล้วว่า นักวิทยาศาสตร์ได้คาดการณ์ไว้มากมายหลายเรื่องแล้วว่า ภาวะโลกร้อนในอนาคตจะมีผลกระทบต่อสิ่งต่างๆ อย่างไรบ้าง การคาดการณ์ส่วนใหญ่มีพื้นฐานมาจากแบบจำลองคอมพิวเตอร์ที่ซับซ้อน นานๆ ครั้งที่ผลการศึกษานั้นได้สร้างความสนใจให้แก่สื่อมวลชนเป็นพิเศษจนได้ขึ้นพาดหัวหนังสือพิมพ์ แต่ส่วนใหญ่รายงานวิทยาศาสตร์เหล่านี้ กลับจมปลักอยู่ในวารสารของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ตั้งใจให้อ่านกันในหมู่นักอุตุนิยมวิทยาด้วยกันเท่านั้น

ไลนัส พบว่า วารสารเหล่านี้ส่วนใหญ่มีอยู่ในห้องสมุดวิทยาศาสตร์เรดคลิฟของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด โดยถูกทิ้งอยู่บนชั้น ไม่มีใครแตะต้องเป็นเวลาหลายสัปดาห์ หลายเดือน หรือหลายปี โชคดีสำหรับตัวเขาที่ห้องสมุดวิทยาศาสตร์เรดคลิฟอยู่ห่างจากบ้านเขาเพียงหนึ่งไมล์เท่านั้น เพื่อหาคำตอบให้แก่คำถามข้างต้น ไลนัส จึงเริ่มไปที่ชั้นใต้ดินของห้องสมุดวิทยาศาสตร์เรดคลิฟเป็นประจำทุกวัน พร้อมด้วยคอมพิวเตอร์พกพาของเขา

เวลาผ่านไปเหมือนปีกบิน ไลนัสได้อ่านและผ่านตารายงานวิทยาศาสตร์ถึงหนึ่งหมื่นฉบับ เขาแยกแยะเก็บบทความที่เกี่ยวข้องแต่ละชิ้นไว้ตามช่องของตาราง โดยรายงานเกี่ยวกับโลกร้อนขึ้น 2 องศาก็อยู่ในช่อง 2 องศา ส่วนรายงานเกี่ยวกับโลกร้อนขึ้น 5 องศาก็เข้าไปอยู่ในช่อง 5 องศาเป็นอย่างนี้เรื่อยไป ไลนัสอยังได้พบอีกว่า รายงานที่น่าสนใจบางชิ้นมาจากการศึกษาภูมิอากาศบรรพกาล ทำให้ตัวเขาฉุกคิดถึงประเด็นใหม่ขึ้นมาได้ว่า ความแตกต่างของอุณหภูมิมีผลกระทบต่อโลกยุคก่อนประวัติศาสตร์อย่างไร เมื่อเกิดเหตุการณ์คล้ายภาวะโลกร้อนในช่วงนั้น ไลนัสเชื่อว่า ข้อมูลเรื่องภาวะเรือนกระจกในอดีตอาจใกล้เคียงกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตก็เป็นได้

ยิ่งค้นคว้าศึกษารวบรวมข้อมูลเรื่องโลกร้อนมากเท่าใด ไลนัสก็ยิ่งค้นพบว่า เขากำลังรวบรวม องค์ความรู้ที่เป็นคู่มือของโลกในอนาคตแบบองศาต่อองศา โดยเขาได้ทำการสังเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวกับผลกระทบจากโลกร้อนทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทีละหนึ่งองศา จนกระทั่งถึง 6 องศา ซึ่งเป็นสถานการณ์ในเชิงวิทยาศาสตร์ที่ร้ายแรงที่สุด

ที่ผ่านมาไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนใด หรือนักข่าวคนไหนเคยทำเช่นนี้มาก่อนโดยใส่ใจในรายละเอียดถึงเพียงนี้ ไลนัสจึงคิดที่จะเขียนหนังสือ “6 องศาโลกาวินาศ” เล่มนี้ขึ้นมา เพื่อให้สาธารณชนได้รับรู้ข้อมูลมากมายเหล่านี้ในวงกว้าง โดยเขาได้สังเคราะห์ขึ้นมาในรูปแบบของหนังสือ เพราะ คนส่วนใหญ่ไม่รู้ และนึกภาพไม่ออกเลยว่า เมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2 องศา หรือ 4 องศา หรือ 6 องศาโลกนี้จะเป็นอย่างไรบ้าง ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง และในสายตาของผู้เชี่ยวชาญ หากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเปลี่ยนแปลงไปถึง 6 องศาจริง โลกใบนี้จะแตกต่างไปจากโลกที่เรารู้จักอย่างสิ้นเชิง แม้จะไม่ถึงกับ “โลกแตก” ก็ตาม

ไลนัส อธิบายคำว่า “ภาวะโลกร้อน” ซึ่งเขาใช้สลับกับคำว่า “การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ” ว่าหมายถึง การที่อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น เนื่องจากความหนาแน่นของก๊าซเรือนกระจกในอากาศรอบตัวคนเราเพิ่มขึ้น ก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้ทำให้เกิดความอบอุ่นเหมือนเป็นผ้าห่มพิเศษที่ห่อโลกไว้ นี่คือ ความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ และเป็นวิทยาศาสตร์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นมากว่าร้อยปีแล้ว ก๊าซเหล่านี้ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกเพราะมันไม่เปิดรับรังสีอินฟราเรดคลื่นยาว รังสีความร้อนคลื่นสั้นจากดวงอาทิตย์จึงผ่านเข้ามาได้

แต่เมื่อโลกดูดซับรังสีความร้อนและปล่อยรังสีความร้อนกลับออกไป คลื่นของรังสียาวขึ้น และบางส่วนก็ไม่อาจทะลุผ่านก๊าซออกไปได้แบบเดียวกับกระจกในเรือนกระจกที่กักเก็บความร้อนไว้ ความหนาแน่นของก๊าซเรือนกระจกชนิดหลักคือ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้เพิ่มขึ้นถึงหนึ่งในสามส่วนนับตั้งแต่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา ขณะที่ก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง ก็มีความหนาแน่นเพิ่มขึ้นถึงเท่าตัว

ในช่วง 150 ปีที่ผ่านมานี้ อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกได้เพิ่มขึ้นประมาณ 0.8 องศาเซลเซียส และคาดว่าจะเพิ่มเร็วขึ้นอีกใน 100 ปีข้างหน้า ถ้าหากระดับของ CO2 ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ หรือถ้ายังมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ ไลนัสย้ำแล้วย้ำอีกว่า ข้อมูลทั้งหมดในหนังสือ “6 องศาโลกาวินาศ” เล่มนี้ของเขา ล้วนมาจากงานวิจัยวิทยาศาสตร์ที่นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นคว้ามาทั้งสิ้น ไม่มีส่วนไหนที่ตัวเขาคาดการณ์หรือคาดเดาจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือน้อยกว่า เช่น บทความหนังสือพิมพ์หรือแถลงการณ์ หรือแถลงข่าวของกลุ่มรณรงค์เลย

อนึ่ง ระดับอุณหภูมิที่ไลนัสเขียนถึงในหนังสือเล่มนี้อยู่ในช่วง 1.4 ถึง 5.8 องศาเซลเซียส ตามช่วงอุณหภูมิสำคัญของ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) หรือคณะกรรมการนานาชาติว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ตีพิมพ์ในรายงานการประเมินสถานการณ์สภาพภูมิอากาศ ฉบับที่ 3 ค.ศ. 2001 รายงานฉบับนี้คาดการณ์ว่า อุณหภูมิจะสูงขึ้นถึง 6 องศา ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2007 IPCC ได้ตีพิมพ์รายงานการประเมินสถานการณ์สภาพภูมิอากาศ ฉบับที่ 4 (AR4) ซึ่งขยายช่วงอุณหภูมิที่คาดการณ์ไว้สำหรับปี ค.ศ. 2100 ว่า หากทั่วโลกมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงอย่างมาก ซึ่งถือว่าเป็น ระดับต่ำสุด ในรายงานนี้ อุณหภูมิในปี ค.ศ. 2100 อาจเพิ่มขึ้นเพียง 1.1 องศาเซลเซียส

แต่ถ้าหากมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน ระดับสูงสุด อุณหภูมิอาจสูงขึ้นถึง 6.4 องศาเซลเซียส ซึ่งอาจเทียบได้เท่ากับ 7 องศาในระดับการวัดอุณหภูมิของหนังสือเล่มนี้ เพราะ 6 องศาคือช่วงอุณหภูมิที่ครอบคลุมอุณหภูมิระหว่าง 5.1 ถึง 5.8 องศาเซลเซียส รายงานฉบับเต็มทุกฉบับของ IPCC สามารถหาอ่านได้จาก www.ipcc.ch สำหรับรายงานการประเมินสถานการณ์สภาพภูมิอากาศ ฉบับที่ 5 (AR5) ทาง IPCC กำลังอยู่ในขั้นตอนเตรียมการเขียนรายงาน (ปี ค.ศ. 2010) เท่านั้น

ผลสรุปของรายรายงานประเมินสถานการณ์สภาพภูมิอากาศ (AR4) ก็คือ ถ้าหากปล่อยเอาไว้อย่างนี้โดยไม่พยายามทำอะไร เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะทำให้เกิดภัยพิบัติดังต่อไปนี้

(1)น้ำแข็งทะเล (sea ice) อาจจะหายไปในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 21

(2)คลื่นความร้อน และอากาศร้อนจัดจะเกิดบ่อยขึ้น และถี่ขึ้น

(3)พายุไซโคลนจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น

(4) แหล่งน้ำจืดจะลดลงเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในแถบเมดิเตอร์เรเนียน ฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา แอฟริกาใต้ และแถบตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิล

(5) แผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์จะหายไป ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 7 เมตร

(6) สปีชีส์ของสิ่งมีชีวิตจะสูญพันธุ์ราวๆ 20-30% ถ้าหากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงกว่า 1.5 ถึง 2.5 องศาเซลเซียส

(7) วิกฤตแหล่งน้ำจืด จะส่งผลกระทบต่อประชากรของโลกกว่า 2 พันล้านคน และปัญหาน้ำท่วมอาจทำให้ผลผลิตการเกษตรของบางประเทศลดลงถึง 50%

นับวัน มาร์ก ไลนัส ก็ยิ่งรู้สึกเหมือนมี นอสตราดามุส ผู้หยั่งรู้อนาคตเป็นเพื่อนบ้าน เพียงแต่ คำทำนายเกี่ยวกับหายนะของโลกอนาคตอันใกล้ที่ตัวเขาได้รับรู้ ไม่ได้มาจากตาทิพย์หรือญาณวิเศษเหมือนอย่างนอสตราดามุส แต่มาจากการคาดการณ์เชิงวิทยาศาสตร์ล้วนๆ มิหนำซ้ำคำทำนายบางส่วนได้เริ่มเกิดขึ้นจริงแล้ว!

ความหดหู่ย่างกรายเข้ามายึดกุมจิตใจของไลนัสอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ภายหลังจากที่ตัวเขาได้รับรู้ในสิ่งที่คนจำนวนมากยังไม่ได้รับรู้ และไม่ได้ตระหนัก ในห้วงยามนี้ ไลนัสเข้าใจความรู้สึกของ ดังเต อลิเกียร์ (ค.ศ. 1265-1321) กวีเอกชาวอิตาเลียน ผู้ประพันธ์ Divina Commedia โดยเฉพาะในภาค Inferno ตอนดังเตเข้าสู่ขุมนรกดีกว่าห้วงยามใด เพราะขณะนี้ ตัวเขาก็รู้สึกเหมือนกับดังเตขณะที่ยืนอยู่ปากประตูนรก มีสิทธิพิเศษที่จะได้ชมสิ่งที่น้อยคนจะได้เคยเห็นมาก่อน

“ลมพัดกระชากจากพื้นดินร่ำไห้
ลุกเป็นไฟด้วยแสงสีแดงเพลิง
มันครอบงำความรู้สึกของข้าไปสิ้น
แล้วข้าก็ทรุดตัวลงเหมือนชายผู้ตกสู่ห้วงนิทรา”

ไลนัสเฝ้าบอกกับตัวเองในใจ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า โดยการเขียนหนังสือ “6 องศาโลกาวินาศ” เล่มนี้ออกมา เขาจะนำพาผู้อ่านทุกคนเข้าสู่ขุมนรกร่วมไปกับตัวเขาทีละองศา ทีละองศา





 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้