(17) วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ) (27/7/53)

(17) วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ) (27/7/53)

วิชันพันธมิตรฯ กับอัจฉริยะแห่งจิต

17. วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ)




อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อโลกร้อนขึ้น 2 องศา? (จากหนังสือ “6 องศาโลกาวินาศ” ของ มาร์ก โลนัส)

(1) ปัญหาการขาดแคลนน้ำแบบเรื้อรังของจีน

ในโลกที่ร้อนขึ้น 2 องศา อาจทำให้ลมมรสุมฤดูร้อนที่จะอุ้มฝนมาถึงภาคเหนือของจีนที่ปกติก็เผชิญกับภัยแล้งรุมเร้าอยู่แล้ว มาถึงได้ช้าลง เมื่อเป็นเช่นนั้น การเกษตรของจีนย่อมได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่เมืองใหญ่ๆ ของจีนที่มีน้ำน้อยอยู่แล้วก็จะขาดแคลนน้ำต่อไป

(2) ทะเลกรด

ก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศตลอดหนึ่งร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ไม่เพียงเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อมหาสมุทรอีกด้วย โดยปกติมหาสมุทรจะมีความเป็นด่างเล็กน้อยตามธรรมชาติเพื่อให้สัตว์และพืชหลายชนิดที่อยู่ในทะเลได้สร้างเปลือกจากแคลเซียมคาร์บอเนต ขณะที่คาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์กว่าครึ่งหนึ่งจะลงมาอยู่ที่มหาสมุทร คาร์บอนไดออกไซด์ที่ละลายในน้ำนี้ได้ทำให้เกิด กรดคาร์บอนิกซึ่งจะไปเพิ่มความเป็นกรดของมหาสมุทร ทำให้ในโลกที่ร้อนขึ้น 2 องศา หลังจากปี ค.ศ. 2050 เป็นต้นไป บริเวณกว้างใหญ่ของมหาสมุทรทางใต้ และบางส่วนของแปซิฟิกจะเป็นพิษเกินไปสำหรับสิ่งมีชีวิตที่มีเปลือกทำจากแคลเซียมคาร์บอเนต (หินปูน)

และถ้ามนุษย์ยังคงปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มสูงขึ้นต่อไปเรื่อยๆ มหาสมุทรเกือบทั่วโลกจะค่อยๆ มีความเป็นกรดมากเกินกว่าจะรองรับชีวิตสัตว์ทะเลที่มีแคลเซียมคาร์บอเนตเป็นส่วนประกอบได้ เพราะแพลงก์ตอนพืชซึ่งเป็นฐานสำคัญของห่วงโซ่อาหารในมหาสมุทรมีความอ่อนไหวต่อการเป็นกรดของมหาสมุทรมากเป็นพิเศษ

นอกจากนี้ การเกิดกรดยังกระทบโดยตรงต่อสัตว์ทะเลอื่นๆ ด้วย เช่น ปูและหอยทะเล เพราะพวกมันต้องมีเปลือกจึงจะอยู่รอด ขณะที่ปะการังเขตร้อนซึ่งถูกโจมตีอย่างหนักจากการฟอกขาวอยู่แล้ว จะยิ่งถูกกัดกร่อนมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อกรดในมหาสมุทรสูงขึ้น

ด้วยเหตุนี้ ในโลกที่ร้อนขึ้น 2 องศา สภาวะทางเคมีของมหาสมุทรในอีก 100 ปีข้างหน้า อาจเปลี่ยนแปลงกลายเป็นกรดจนสิ่งมีชีวิตหลักไม่อาจปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงนี้ก็เป็นได้ เพราะการทำให้มหาสมุทรเป็นกรดด้วยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจนแพลงก์ตอนพืชตายหมดก็เหมือนกับการพ่นยาฆ่าวัชพืช ใส่พื้นที่เกษตรกรรมส่วนใหญ่บนบก และจะมีผลกระทบร้ายแรงเท่าเทียมกันด้วย เพราะในขณะที่ทะเลทรายบนบกแผ่ขยายออกไป เมื่อภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้น “ทะเลทรายแห่งท้องทะเล” (ทะเลกรด) ก็จะแผ่ขยายออกไปตามไปด้วยเช่นกัน และมันจะสร้างความเสียหายอย่างไม่อาจหยุดยั้งได้

(3) คลื่นความร้อนในยุโรป

ภาวะโลกร้อนได้เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดคลื่นความร้อนในยุโรปเป็นสองเท่า ความถี่ของวันที่อากาศร้อนสุดขีดทั่วยุโรปได้เพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าในศตวรรษที่ผ่านมา และช่วงความยาวของคลื่นความร้อนของภาคพื้นทวีปก็เพิ่มเป็นสองเท่าด้วย ภัยจากคลื่นความร้อนในยุโรปจึงไม่ใช่ภัยพิบัติตามธรรมชาติอีกต่อไปแล้ว ในโลกที่ร้อนขึ้น 2 องศาภัยจากคลื่นความร้อนจะกลายเป็นวาระประจำปีสำหรับยุโรป เพราะมีการคาดการณ์ว่า เมื่อถึงทศวรรษที่ 2040 ฤดูร้อนในยุโรปเกินครึ่งจะร้อนกว่าในปี ค.ศ. 2003 ซึ่งเป็นฤดูร้อนที่ร้อนจัดเป็นพิเศษเสียอีก

นอกจากนี้ ในช่วงที่มีคลื่นความร้อนรุนแรง การปล่อยคาร์บอนจากป่า และดินจะเพิ่มขึ้นด้วยกลายเป็นแรงกดดัน และผลักดันให้ภาวะโลกร้อนหนักยิ่งขึ้น และถ้าการปล่อยก๊าซที่เกิดจากผืนดินยังคงที่ในช่วงเวลายาวนาน และในบริเวณกว้างใหญ่ของผิวโลก ภาวะโลกร้อนก็จะเริ่มคุมไม่อยู่

(4) ไฟป่าในแถบเมดิเตอร์เรเนียน

ในโลกที่ร้อนขึ้น 2 องศา ความเสี่ยงของการเกิดไฟป่าจะเพิ่มขึ้น 2 ถึง 6 สัปดาห์ ในทุกประเทศรอบแนวชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนบริเวณที่รับผลกระทบหนักสุดคือ พื้นที่ตอนในของทวีปถัดจากชายฝั่ง ขณะที่ทวีปแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลางจะเกิดความเสี่ยงการเกิดไฟป่าตลอดทั้งปี ไฟป่าเหล่านี้ถูกกระตุ้นโดยอุณหภูมิที่ร้อนแผดเผา อุณหภูมิสูงจะถูกซ้ำเติมด้วยภัยแล้ง พื้นที่ในแถบเมดิเตอร์เรเนียนตอนใต้จะสูญเสียน้ำฝนราวหนึ่งในห้าของปริมาณรวม ซึ่งสร้างความเสียหายแก่การเกษตร การขาดแคลนน้ำจะกลายเป็นปัญหาเรื้อรังรอบแอ่งเมดิเตอร์เรเนียน

(5) การละลายของพืดน้ำแข็งขั้วโลก

ในโลกที่ร้อนขึ้น 2 องศา อาจทำให้พืดน้ำแข็งที่กรีนแลนด์ซึ่งหนาสามกิโลเมตร และมีน้ำมากมายที่จะทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น 7 เมตร ละลายจนท่วมเมืองชายฝั่งทั่วโลกได้ นอกจากนี้เมื่อน้ำแข็งจำนวนมหาศาลไหลออกจากศูนย์กลางของกรีนแลนด์ในธารน้ำแข็งใหญ่อย่างต่อเนื่อง และนำก้อนน้ำแข็งออกสู่ทะเล ธารน้ำแข็งนี้อาจมีผลกระทบอย่างรวดเร็วต่อเสถียรภาพของแผ่นน้ำแข็ง ทำให้ธารน้ำแข็งบางลงเรื่อยๆ เมื่อกระบวนการนี้เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับธารน้ำแข็งรอบพืดน้ำแข็ง มันจะทำให้น้ำแข็งหลายพันล้านตันถูกพัดพาไปทิ้งในมหาสมุทรแอตแลนติก และทำให้ระดับน้ำทะเลสูงยิ่งขึ้นไปอีก

(6) น้ำแข็งทะเลที่ลดลง

ในโลกที่ร้อนขึ้น 2 องศา น้ำแข็งทะเลที่ลดลงเป็นข่าวร้ายสำหรับหมีขั้วโลกที่จะอยู่รอด เมื่อสายพันธุ์ของพวกมันต้องเผชิญกับโลกที่ไม่มีน้ำแข็งทะเลในฤดูร้อนอีกต่อไป ไม่ใช่แค่หมีขั้วโลกเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แมวน้ำวอลรัสก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน จริงๆ แล้วสายใยอาหารทั้งหมดจะได้รับผลกระทบเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น และน้ำแข็งทะเลหายไป

(7) วิกฤตการเกษตรของอินเดีย

ในโลกที่ร้อนขึ้น 2 องศา ผลผลิตการเกษตรของอินเดียจะลดลง ทั้งข้าวสาลี และข้าวเจ้าจนกลายเป็น วิกฤตความมั่นคงด้านอาหาร นอกจากนี้ หากธารน้ำแข็งขนาดใหญ่บนเทือกเขาหิมาลัย หายไปจากยอดเขาสูงสุดทุกแห่ง จะไม่มีน้ำไหลลงแม่น้ำใหญ่ ซึ่งส่งน้ำสะอาดอันสำคัญยิ่งไปให้ผู้คนหลายร้อยล้านคนในอนุทวีปอินเดีย การขาดแคลนน้ำ และความอดอยากจะเกิดตามมา

(8) น้ำแข็งละลายที่เปรู

ในโลกที่ร้อนขึ้น 2 องศา ทุ่งน้ำแข็งในเทือกเขาแอนดีสของเปรูจะอ่อนไหวกว่าธารน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยที่มีขนาดใหญ่กว่า ลิมาเมืองหลวงของเปรูซึ่งพึ่งพาน้ำที่ละลายจากธารน้ำแข็งบนเทือกเขาแอนดีส เป็นอ่างเก็บน้ำลอยฟ้าตามธรรมชาติ ย่อมประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำเรื้อรัง เพราะอ่างเก็บน้ำตามธรรมชาติของลิมาจะต้องแห้งเหือดอย่างแน่นอน คนจนที่สุดในเมืองลิมาจะได้รับผลกระทบก่อน เพราะไม่สามารถซื้อน้ำบรรจุขวดจากแดนไกลได้เหมือนคนรวย การเกษตรก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน ทำให้คนหลายแสนคนตกงานทั่วชายฝั่งเปรู ผู้คนจะอพยพออกจากเมืองกลับไปยังหมู่บ้านบนภูเขาที่แหล่งน้ำยังมีเพียงพอ และปลูกพืชได้ ขณะที่อิทธิพลของเมืองจะเสื่อมลง วิถีชีวิตของผู้คนตามชายฝั่งเปรูจะแตกต่างไปมาก เมื่อไม่มีธารน้ำแข็งสูงแห่งเทือกเขาแอนดีสอีกต่อไป

(9) ภาวะอดอยากที่รุนแรงขึ้น

ในโลกที่ร้อนขึ้น 2 องศา ภาวะอดอยากจะรุนแรงขึ้นในโลกที่มีอาหารน้อยลงโดยเฉลี่ย เมื่อมีการแก่งแย่งผลผลิตที่มีจำนวนลดลง แต่ราคาในตลาดโลกกลับพุ่งสูงในปีที่ไม่อุดมสมบูรณ์ การป้องกันความอดอยากในวงกว้างจะทำได้ยากขึ้น ประชาชนหลายล้าน จนถึงหลายพันล้านในเวลาต่อมา จะต้องเผชิญกับการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดในอุณหภูมิที่สูงขึ้นจนทำให้แม้แต่การเพาะปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตพอเพียง ก็ยังกลายเป็นภารกิจที่ทำได้ยากขึ้นทุกที

(10) การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

แม้ภาวะโลกที่ร้อนขึ้น 2 องศา จะยังเป็นสถานการณ์ที่อยู่รอดได้สำหรับมนุษยชาติส่วนใหญ่ก็ตาม แต่วิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพในบริเวณกว้างทั้งพืช และสัตว์จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง อันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งของจำนวนประชากรโลก และกิจกรรมต่างๆ ทางเศรษฐกิจที่มุ่ง “พัฒนา” อย่างไม่บันยะบันยัง ซึ่งจะทำให้สายพันธุ์กว่าล้านชนิด อาจถูกคุกคามจนสูญพันธุ์ได้ ถ้าหากอุณหภูมิโลกสูงขึ้น 2 องศา ใน ค.ศ. 2050

เมื่อระบบนิเวศสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศซึ่งเป็นโครงข่ายอันซับซ้อนที่ไม่อาจแทนที่ได้ด้วยเทคโนโลยี ย่อมทำให้มนุษยชาติต้องเผชิญกับหายนะด้วยเช่นกัน เพราะเราต้องไม่ลืมว่า สังคมมนุษย์ได้พึ่งพิงระบบนิเวศของธรรมชาติมาโดยตลอด ตั้งแต่ยุคบรรพกาลจนถึงยุคปัจจุบัน และแม้ในยุคอนาคตข้างหน้าก็เช่นกัน การล่มสลายของระบบนิเวศจึงไม่อาจแทนที่ได้ด้วยการสร้าง “ระบบนิเวศเทียม” โดยฝีมือมนุษย์





 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้