(13) ไขคดียึดทรัพย์ ฉบับสามัญชน (24/2/2553)

(13) ไขคดียึดทรัพย์ ฉบับสามัญชน (24/2/2553)

ไขคดียึดทรัพย์ ฉบับสามัญชน


รศ.ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง , รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


สามก๊กยังมีทั้งฉบับวณิพกและฉบับนายทุน แล้วทำไมคดียึดทรัพย์จึงจะมีฉบับเข้าใจง่ายสำหรับสามัญชนบ้างไม่ได้ จะได้เอาไว้เข้าใจว่าทักษิณ ชินวัตรเป็นคนอย่างไร


คำพิพากษาในคดียึดทรัพย์จำนวนมหาศาลที่กำลังจะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ อาจมีความสำคัญกับทักษิณมากกว่าตัวเงินที่จะถูกยึดเสียอีก เพราะเงินหาใหม่ได้หากมีอำนาจ แต่อรรถาธิบายในคำพิพากษาจะทำลายความชอบธรรมของทักษิณตั้งแต่หลังคดีซุกหุ้นภาคแรกให้หมดไปอย่างสิ้นเชิงไม่มีวันหวนกลับมาได้ หมดสิ้นซึ่งโอกาสในการกลับเข้ามามีอำนาจ และผลของคำพิพากษาก็เช่นเดียวกับในคดีที่ดินรัชดาฯ ที่ไม่มีใครในโลกสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ได้

นี่จึงอาจเป็นเหตุผลอธิบายได้ว่าทำไมทักษิณและลูกทั้ง 2 คนจึงพยายามร้องต่อศาลห้ามการวิพากษ์วิจารณ์จากสาธารณชน

คดีนี้อาจถือได้ว่าเป็นคดีที่สืบเนื่องมาจากการปกปิดความเป็นเจ้าของในหุ้นที่ทักษิณมีอยู่แต่ให้ไว้กับคนรับใช้ คนรถ ถือแทนหรือที่เรียกโดยทั่วไปว่าคดีซุกหุ้นเมื่อปีพ.ศ. 2544 ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินให้ทักษิณพ้นผิดไปอย่างน่ากังขาและสร้างรอยด่างให้กับกระบวนการยุติธรรมไทยเป็นอย่างมาก

ทักษิณไม่เข็ด แทนที่จะแก้ไขให้ถูกต้อง กลับปกปิดการถือหุ้นต่อไป ในปี พ.ศ. 2552 ประวัติศาสตร์ก็มาซ้ำรอยอีกครั้ง ป.ป.ช.ที่รับไม้ต่อมาจาก คตส.ได้เป็นผู้ร้องขอให้ยึดทรัพย์ของทักษิณ ที่อยู่ในชื่อของลูกทั้ง 2 คน พานทองแท้ และพิณทองทา ชินวัตร น้องสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพี่ชายภรรยาบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ในข้อกล่าวหา “ร่ำรวยผิดปกติ” โดยได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควรสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่เอื้อประโยชน์ ดังนั้นแม้บุคคลทั้ง 4 จะมิได้เป็นนักการเมืองแต่ต้องมาขึ้นศาลของนักการเมืองก็เพราะนักการเมืองเอาทรัพย์สินมาซุกซ่อนไว้นั่นเอง

คดีนี้แตกต่างไปจากคดีฟ้องร้องยึดทรัพย์ให้ตกเป็นของแผ่นดินโดยทั่วไปที่ข้อกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกตินั้นมีพื้นฐานมาจากการเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติของทรัพย์สินที่มีอยู่เดิม และหากไม่สามารถชี้แจงที่มาที่ไปของทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นมาได้ก็จะถูกยึดทรัพย์ให้ตกเป็นของแผ่นดิน

แต่ข้อกล่าวหาในคดีนี้ตั้งอยู่บนหลักการที่ว่า ทรัพย์สินคือหุ้นชินคอร์ปที่บุคคลทั้ง 4 คนข้างต้นได้รับมาจากทักษิณและพจมานเพื่อถือแทน และได้ถูกเอาไปรวมกันขายให้กับเทมาเส็กของสิงคโปร์ เป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาหรือร่ำรวยโดยไม่สมควรก็เนื่องจากหัวหน้ารัฐบาลคือทักษิณ ชินวัตรเอื้อประโยชน์ให้โดยมิชอบ เพราะชินคอร์ปเป็นบริษัทแม่ที่ถือหุ้นของบริษัทที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ 2 บริษัทคือ เอไอเอส ที่รับสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่จากทีโอที (องค์การโทรศัพท์ เดิม) และชินแซทเทลไลท์ ที่รับสัมปทานดาวเทียมกับกระทรวงคมนาคม (กระทรวงไอซีทีในสมัยปัจจุบัน) อัยการมิได้ขอให้ศาลยึดทรัพย์อื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรับสัมปทานของรัฐแต่อย่างใด และมิได้สนใจว่าจะมีทรัพย์เพิ่มขึ้นจากเดิมในจำนวนเท่าใด

การเอื้อประโยชน์เป็นคำทั่วไป แต่ทางวิชาการอาจกล่าวว่าเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก และจะเกิดการขัดกันกับผลประโยชน์ส่วนตัวหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนกันหากไม่แยกแยะผลประโยชน์ทั้ง 2 อย่างนี้ออกจากกัน เช่น การที่ยังคงถือหุ้นของกิจการที่ได้รับสัมปทานของรัฐไม่ว่าจะเป็น เอไอเอส หรือชินแซทเทลไลท์ อยู่อย่างลับๆ ทั้งๆ ที่ตนเองในเวลาเดียวกันเป็นฝ่ายบริหารหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลไม่โดยตรงก็โดยอ้อม เพราะหากไม่แยกแยะฐานะของตนเองที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกับฐานะคู่สัญญาค้าขายกับรัฐก็จะไม่รักษาหรือเอาใจใส่ต่อผลประโยชน์ส่วนรวม ส่วนทุจริตเชิงนโยบายก็คือการใช้อำนาจรัฐในการกำหนดนโยบายเพื่อให้ตนเองได้รับประโยชน์ที่มีทับซ้อนกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนรวมกับส่วนตน

กฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 100 จึงได้ห้ามไว้อย่างชัดแจ้งในเรื่องการขัดกันของผลประโยชน์ดังกล่าว ทักษิณและอดีตเมียน่าจะรู้ดีที่สุดเพราะที่ทักษิณต้องโทษ 2 ปีในคดีที่ดินรัชดาฯ ก็เพราะขัดกับมาตรา 100 นี้ ที่ทักษิณหรือเป็ดเหลิมพูดอยู่เสมอว่า“ผัวเซ็นรับรองเอกสารให้เมียไปซื้อที่แล้วติดคุก”จึงถูกต้องแล้วเพราะผัวเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ กฎหมายห้ามเอาไว้ในขณะที่อดีตเมียไม่ติดคุกไปด้วยก็เพราะมิได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หากเป็นก็ติดคุกด้วยเหมือนกัน

ทักษิณ ในระหว่างที่อยู่ตำแหน่งนายกฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544-49 เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมีผลประโยชน์ทับซ้อนที่แอบถือหุ้นชินคอร์ปและทุจริตเชิงนโยบาย เพราะเอื้อประโยชน์ให้กับทั้ง เอไอเอส และชินแซทเทลไลท์ อยู่หลายกรณี เช่น การปรับลดค่าสัมปทานที่เอไอเอสมีกับองค์การโทรศัพท์เมื่อปี พ.ศ. 2544 การแก้ไขสัญญาปรับลดค่าใช้เครือข่ายร่วมหรือค่าโรมมิ่งให้กับเอไอเอสเมื่อปี พ.ศ. 2545 การแปลงค่าสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นภาษีสรรพสามิตเมื่อปี พ.ศ. 2546 การแก้สัญญายกเว้นการยิงดาวเทียมดวงที่ 4 ให้กับชินแซทเทลไลท์ และอนุมัติเงินกู้จากธนาคารของรัฐให้พม่ากู้เพื่อซื้อสินค้าจากชินแซทเทลไลท์ เมื่อปี พ.ศ. 2547 ทำให้หุ้นของชินคอร์ปมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากกำไรของบริษัทลูกทั้ง 2 และนำไปขายได้ถึง 76,000 ล้านบาท นั่นคือร่ำรวยโดยไม่สมควรเพราะอาศัยตำแหน่งหน้าที่ที่อัยการกล่าวหา

ตัวอย่างที่น่าอเนจอนาถใจของการทุจริตเชิงนโยบายก็คือ การแปลงค่าสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นภาษีสรรพสามิตเมื่อปี พ.ศ. 2546 ทำให้รัฐเสียหายไม่สามารถเก็บรายได้เข้าสู่รัฐเพิ่มได้ทั้งที่มีการเพิ่มฐานภาษีสรรพสามิตที่เรียกเก็บจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ แต่ได้อนุญาตให้ผู้รับสัมปทานรายเดิม เช่น เอไอเอส สามารถนำเอาเงินภาษีสรรพสามิตที่ต้องจ่ายเพิ่มไปหักจากค่าสัมปทานเดิมที่ต้องจ่ายอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังเป็นการกีดกันคู่แข่งรายใหม่อย่างร้ายกาจ เนื่องจากรายใหม่แม้ไม่มีค่าสัมปทานแต่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต

ในขณะที่ผู้รับสัมปทานรายเดิมแม้ต้องเสียภาษีสรรพสามิตนี้เช่นกันแต่สามารถนำเอาภาษีสรรพสามิตที่จ่ายไปมาหักออกจากค่าสัมปทานได้ เปรียบเสมือนไม่ต้องเสียภาษีเพิ่มแต่อย่างใดเพราะเอาค่าสัมปทานที่ต้องจ่ายอยู่แล้วมาจ่ายเป็นค่าภาษีแทน ทำให้เอไอเอสที่ได้ลดค่าสัมปทานเมื่อปี พ.ศ. 2544 แล้วยังได้ประโยชน์จากผู้ใช้บริการที่มีอยู่ในปี พ.ศ. 2546 ประมาณ 35 ล้านรายที่เพิ่มขึ้นมาเป็น 100 ล้านรายในปัจจุบันโดยไม่มีคู่แข่งรายใหม่แต่อย่างใด

แม้ศาลรัฐธรรมนูญในขณะนั้นได้วินิจฉัยแล้วว่ากฎหมายแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิตสามารถทำได้ แต่เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ก็อย่าลืมว่า เป็นการออกกฎหมายเพื่อให้ตนเองอาศัยกฎหมายนั้นมาดำเนินการเพื่อประโยชน์ของตนเองมิใช่หรือ? ไม่แตกต่างจากการแก้กฎหมายเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติในกิจการโทรคมนาคมจากร้อยละ 25 เป็น 49 ที่ทำให้ทักษิณสามารถขายหุ้นชินคอร์ปให้เทมาเส็กได้จำนวนมากเพราะหากไม่แก้ใครจะมาซื้อเพราะไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

ไม่ใช่เป็นการทุจริตแบบดั้งเดิม ที่กินทวนน้ำเรียกร้องสินบนที่ผิดกฎหมาย หากแต่เป็นการทุจริตเชิงนโยบาย โดยออกกฎหมายเพื่อรับรองให้สิ่งที่ตนกระทำไม่ผิดกฎหมายต่างหาก

จุดที่สำคัญก็คือ ทักษิณได้อำพรางการถือหุ้นชินคอร์ปที่เป็นบริษัทแม่ของทั้ง 2 บริษัทที่ได้รับการเอื้อประโยชน์จากการที่ทักษิณมีบทบาทเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยแสร้งว่ามีการโอนไปให้นิติบุคคลอื่นๆ เช่น แอมเพิลริชหรือวินมาร์ค โดยปิดบังเจ้าของที่แท้จริง ในช่วงที่ลูกยังไม่บรรลุนิติภาวะ ตั้งแต่ก่อนเข้ารับตำแหน่งเมื่อ ก.พ. 2544 จนถึงก่อนวันที่ขายให้กับเทมาเส็กเมื่อ ม.ค. 2549 จึงได้โอนกลับมาให้ลูกเพราะบรรลุนิติภาวะแล้วเพื่อขายให้เทมาเสก

ข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากหลักฐานทางการเงินที่ต้องทำกับบุคคลภายนอกเช่น รายการเงินเข้าออกบัญชี กับคำชี้แจงจึงไม่สอดคล้องไปด้วยกันตามธรรมชาติ เหตุก็เพราะหลักฐานทางการเงินเกิดก่อนและบุคคลภายนอกเป็นคนทำจึงต้องมาแต่งเรื่องทำหลักฐานใหม่สวมเข้าไปทีหลัง ทำให้มีพิรุธหลายอย่าง ไม่เป็นตามธรรมชาติ เช่น ลูกปกปิดไม่แจ้งการได้มาของหุ้นกว่า 6 ปี น้องสาวตัว พี่ชายเมีย แม้แต่ลูกล้วนแต่ไม่เคยชำระค่าหุ้นด้วยตนเองแม้จะซื้อมาในราคาที่แสนถูก หลักฐานซื้อขายหรือโอนหุ้นจึงมักเป็นหลักฐานที่สามารถทำขึ้นเองได้แต่ฝ่ายเดียวโดยไม่มีบุคคลภายนอกอื่นๆ รับรองหรือรับทราบแต่อย่างใด

เป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่สรรพากรเวลาตรวจสอบบัญชีย้อนหลังมักจะได้ฟังนิทานเช่นนี้จากผู้ถูกตรวจสอบอยู่เสมอว่ารายการเงินเข้าในบัญชีธนาคารที่พบไม่ใช่การขายแต่เป็นการยืมเงินที่ทำหลักฐานขึ้นมาเองภายหลังเพื่อจะได้ไม่ถือเป็นรายรับที่ต้องเสียภาษี

การนำคดีนี้เข้าสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่แม้เป็นศาลเดียวแต่ก็เป็นศาลสูงสุด ถือได้ว่าเป็นเกียรติสำหรับผู้ทรงเกียรติตัวแทนประชาชนที่ชอบอวดอ้างเพราะเป็นการลัดขั้นตอนถึง 2 ศาลก่อนหน้านั้น แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือเป็นมาตรการป้องกัน เพราะการคอร์รัปชันไม่สามารถทำได้โดยคนทั่วไป หากแต่เกิดจากนักการเมืองและ/หรือข้าราชการเป็นผู้กระทำจึงจะเกิดได้ และ ยิ่งเป็นการคอร์รัปชันหรือทุจริตเชิงนโยบายก็ต้องเป็นนักการเมืองที่มีอำนาจในเชิงบริหารเท่านั้นจึงสามารถกระทำได้ ดังนั้นจึงต้องมีการพิจารณาคดีโดยรวดเร็ว “ให้ผลกรรมตามทัน” จึงจะเป็นการป้องปรามที่ได้ผล

ดังนั้นเงินที่ได้มาจากการขายหุ้นชินคอร์ปให้เทมาเส็กจึงเป็นความร่ำรวยที่ไม่สมควรจะได้รับเพราะทักษิณได้กำหนดนโยบายเพื่อให้ตนเองได้รับประโยชน์ที่ทับซ้อนกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนรวมกับส่วนตนหรือทุจริตเชิงนโยบายนั่นเอง

การลงโทษจึงสมควรยึดไว้ทั้งก้อน เพราะเปรียบได้กับการทุจริตการสอบที่โดยทั่วไปอย่างน้อยผู้ทุจริตก็ต้องถูกปรับตกในวิชานั้น จะอ้างได้หรือว่าให้ปรับตกเฉพาะช่วงที่ทุจริต เช่น ทุจริตสอบไล่ก็งดให้คะแนนสอบไล่หรือเฉพาะข้อที่ทำทุจริตเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว คะแนนเก็บช่วงกลางภาคหรือข้อที่ไม่ทุจริตก็ให้คงไว้และหากมีมากพอก็อาจผ่านได้อย่างนั้นหรือ ในบางสถานศึกษามีการปรับตกในวิชาอื่นที่อาจมิได้ทุจริตแต่ลงทะเบียนในภาคนั้นเสียด้วยซ้ำเพื่อเป็นการลงโทษ

ไม่ว่าคำพิพากษาจะออกมาเช่นใด ทักษิณก็มีเรื่องที่ต้องอธิบายต่อสาธารณชนที่ไว้วางใจให้เข้ามาบริหารบ้านเมืองว่า หากผลปรากฏว่าไม่ยึดทรัพย์แล้วทำไมจึงรับได้ทั้งที่ก็เป็นศาลเดียวกันกับที่ตัดสินจำคุกตนเอง 2 ปีและกล่าวหาก่อนหน้านี้ว่าไม่ยุติธรรมไม่ยอมกลับมารับโทษ ไม่รู้ว่าใครกันแน่ที่ใช้ 2 มาตรฐาน ส่วนในกรณีตรงกันข้ามที่จะยึดหมดหรือไม่ อรรถาธิบายในคำพิพากษาก็จะเป็นบรรทัดฐานถึงความชอบธรรมและความยุติธรรมที่สังคมมีต่อทักษิณ ที่ไม่สามารถอ้างอีกต่อไปได้ว่าตนเองนั้นมีความชอบธรรมอย่างใดเพราะทักษิณได้ทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชน

ทักษิณจึงควรจะอธิบายว่า หากหุ้นเป็นของลูก น้องสาว และพี่ชายอดีตเมียจริง ทำไมทักษิณจึงต้องเดือดร้อนออกมาเคลื่อนไหวเอาเป็นเอาตาย เพราะหุ้นนั้นไม่ใช่ของตนเองแล้วมิใช่หรือ? หรือว่าแสร้งโอนกลับไปมาปิดบังการถือหุ้นที่แท้จริงของตน? ทำไม นปช. คนเสื้อแดง และพรรคเพื่อไทยจึงต้องเดือดร้อนกับคดีของปัจเจกชน? จะกลับมารับโทษหรือไม่หากได้เงินคืน?





 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้