2. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 2 ก้าวผิดไปก้าวหนึ่ง 9/5/49

2. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 2 ก้าวผิดไปก้าวหนึ่ง 9/5/49


พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส (ตอนที่ 2)



2. ก้าวผิดไปก้าวหนึ่ง

"การรู้ตัวว่าก้าวผิดทำให้พบเงื่อนของการจะก้าวถูก"

พุทธทาส ภิกขุ

ไม่มีจุดเปลี่ยนแปลงใดที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อความเป็นไปของพุทธศาสนาในปัจจุบันเท่ากับการปฏิรูปพุทธศาสนาโดย วชิรญาณภิกขุ ซึ่งต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) เพราะการปฏิรูปที่เริ่มจากวชิรญาณภิกขุ และสืบทอดโดยคณะธรรมยุตของท่านนั้น ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการตีความที่พยายามสนองตอบต่อความทันสมัย อย่างพยายามอธิบายหลักธรรมให้สอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ และเหตุผลนิยม เน้นเฉพาะประโยชน์อันประจักษ์รับรู้ได้ในชีวิตนี้ ซึ่งการลดทอนพุทธศาสนาให้เหลือแต่หลักโลกียธรรม โดยมองว่า โลกุตตรธรรมเป็นเรื่องเหลือวิสัย หรือสุดวิสัยสำหรับผู้คนในยุคนี้ เป็นเหตุผลสำคัญที่เปิดทางให้รัฐ และลัทธิชาตินิยมเข้ามาครอบงำและกำกับพุทธศาสนามาจนทุกวันนี้

ขนาดผู้นำการปฏิรูปอย่างวชิรญาณภิกขุเอง แม้โดยคติจะยังถือเอานิพพานเป็นอุดมคติสูงสุดของชีวิต แต่ท่านก็ตระหนักแก่ใจของท่านเองว่า นิพพานหรือโลกุตตรธรรมเป็นสิ่งที่ตัวท่าน หรือคนทั่วไปยากจะเข้าถึงได้ในชาตินี้ เพราะเหตุนี้ โลกียธรรมก็เลยกลายเป็นจุดหมายของชีวิตนี้ไปในที่สุด แม้ในหมู่พระสงฆ์เองก็ตาม

นิพพานหรือหลักธรรมขั้นโลกุตตระนั้น เมื่อตกมาถึงสมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ก็ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องวิชาการล้วนๆ ที่ไม่สัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกับชีวิตของคนทั่วไป เพราะฉะนั้น การบวชจึงไม่ใช่เป็นเรื่องของการทำนิพพานให้แจ้งอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องของการมีหน้ามีตา การไต่เต้ายกระดับทางสังคมเป็นสำคัญ

แม้ว่าการศึกษาสำหรับพระสงฆ์จะมีเรื่องกรรมฐานอยู่บ้าง แต่ก็เป็นการศึกษาในระดับปริยัติล้วนๆ การศึกษาที่เป็นการปฏิบัติธรรม ไม่ว่าสมถกรรมฐาน หรือวิปัสสนากรรมฐาน ถูกตัดทิ้งออกไปจากหลักสูตรในสมัยนั้น เพราะเป็นวิชาที่ไม่มีหลักที่จะจัดสอบไล่ได้

ในสมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระที่มีบทบาทสำคัญในคณะสงฆ์ ล้วนเป็นพระที่เชี่ยวชาญด้วยปริยัติธรรมแทบทั้งสิ้น ไม่มีนโยบายส่งเสริมพระสงฆ์ให้ใฝ่ในกรรมฐานในฐานที่เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงพรหมจรรย์ มีแต่นโยบายส่งเสริมให้พระสงฆ์ใส่ใจในเรื่องปริยัติธรรม และการปกครอง โดยใช้ระบบสมณศักดิ์เป็นเครื่องหนุน ผลที่ตามมาก็คือ สมาธิภาวนาได้ถูกกันออกไปจากวิถีชีวิตของพระสงฆ์ส่วนใหญ่อย่างเป็นระบบในช่วงที่รัฐไทยกำลังแปรเปลี่ยนไปเป็นรัฐชาติ ภายใต้การปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)

เนื่องจากการสร้างชาติเป็นภารกิจสำคัญที่สุดของผู้นำในสมัยนั้น จึงได้มีการนำหลักธรรมทางพุทธศาสนามาเสริมสร้างสถานะของผู้ปกครอง อันได้แก่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสืบต่อมาอย่างเห็นได้ชัดในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) เพราะพระองค์ทรงตระหนักดีว่า "ชาติ" ยังเป็นสิ่งใหม่สำหรับคนไทยในยุคของพระองค์ วิธีเดียวที่จะทำให้ "ชาติ" เป็นที่รักที่หวงแหนของคนไทยได้ก็ต่อเมื่อ เชื่อมโยง "ชาติ" เข้ากับของเดิมที่คนไทยผูกพันมาช้านานแล้ว นั่นคือ พุทธศาสนา

ในสมัยรัชกาลที่ 6 นี้เองที่ "ชาติ" ได้เริ่มกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกสิ่งทุกอย่าง และทุกชีวิตจักต้องยอมรับและต้องยอมเสียสละเพื่อความคงอยู่ของมัน "ความเชื่อ" อันนี้นำไปสู่การตีความหลักการทางพุทธศาสนาให้หันมารับใช้ชาติเป็นสำคัญ

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอันใดที่จุดหมายของพุทธศาสนาแต่เดิมซึ่งมุ่งให้ปัจเจกได้ลุถึงอิสรภาพภายในจากความทุกข์ทั้งปวง ครั้นมาถึงสมัยรัชกาลที่ 6 คุณค่าของพุทธศาสนาในฐานะวิถีแห่งความหลุดพ้นของชีวิตด้านในจึงถูกลดความสำคัญ ถูกลดทอนเหลือเป็นแค่เรื่องศีลธรรม จริยธรรมหรือเรื่องของความดีความชั่วเท่านั้น

* * * *

...ปลายปี พ.ศ. 2474 (ค.ศ. 1931)

ณ วัดปทุมคงคา กรุงเทพฯ

พระหนุ่มอินทปัญโญ หรือพระเงื่อม เดินกลับกุฏิของตน ซึ่งเป็นกุฏิโบราณอยู่ข้างหอสวดมนต์ของวัด เสียงหมูกัดกันที่อยู่ใต้กุฏิดังแว่วเข้ามาเป็นระยะๆ

ห้าพรรษาผ่านไปแล้ว หลังจากที่เขาบวช แต่ตัวเขาก็ยังรู้สึกเหมือนพายเรืออยู่ในอ่าง ไม่ได้ก้าวหน้าไปถึงไหนเลย ยกเว้นภาษาบาลีเท่านั้นที่เขาชำนาญขึ้นกับการสอบเปรียญธรรม 3 ประโยคได้เมื่อปลายปีที่แล้ว

การเข้าถึงพุทธธรรมที่เป็นจุดมุ่งหมายเดิมในการบวชของเขาเมื่อห้าปีก่อน ดูเหมือนจะยากกว่าที่เขาคาดคิดเอาไว้มากนัก เพราะสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเขาไม่เอื้ออำนวยเอาเสียเลย

พระส่วนใหญ่ที่เขารู้จักมุ่งแสวงหาความนับหน้าถือตาจากสังคมมากกว่าที่จะมุ่งดับทุกข์อย่างจริงจัง

ตอนที่ตัวเขาเพิ่งบวชใหม่ๆ ตัวเขานึกว่าจะมีเวลาว่างมากพอที่ศึกษาธรรมอย่างจริงจังได้ แต่กลับปรากฏว่า เขาก็ยังไม่ค่อยมีเวลาเหมือนเดิม เพราะง่วนอยู่กับกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการเทศน์ เนื่องจากท่านสมภารเห็นเขาเป็นคนพูดจาเป็นหลักเป็นฐาน ตัวท่านสมภารเองก็เทศน์บ่อยจนเบื่อเต็มทีแล้ว จึงอยากให้พระใหม่อย่างเขาได้ลองเทศน์ดูบ้าง เพราะท่านได้ยินเสียงเล่าลือจากคนบางคนว่า เขาเทศน์สนุกและแปลกกว่าคนอื่น

พระหนุ่มสนุกอยู่กับการเทศน์ได้ทุกวันโดยไม่เบื่อ แต่กลับรู้สึกสนุกและท้าทาย จนเขาลืมเลือนปณิธานที่ตั้งใจเอาไว้ก่อนบวชไปเลย กลายเป็นว่า เขาสนุกกับการเป็นพระ เพราะได้แสดงออก เพราะได้ถูกใช้งาน โดยที่อุดมคติยังไม่ได้ทันได้ก่อตัวชัดเจน ความอุทิศตัวที่คิดจะกอบกู้พระศาสนาก็ยังไม่เกิด สมาธิภาวนาก็ยังไม่มีการปฏิบัติอย่างจริงจัง

จริงๆ แล้ว เขาก็ยังเป็นหนุ่มเงื่อมที่ชอบถูกธรรมะ คุยเรื่องธรรมะ คนเดิมที่แต่งกายเป็นพระ โดยยังไม่รู้สึกเป็นพระโดยสมบูรณ์เท่าไหร่นัก นั่นเพราะ พระหนุ่มยังไม่ได้เจอ "คุรุ" (ครูทางจิตวิญญาณ) ที่ทำให้ตัวเขาเลื่อมใสอย่างหมดหัวใจ แม้แต่รูปเดียว มิหนำซ้ำ การทำวิปัสสนาแบบโบราณก็ขาดการสืบทอดจนหมดไปก่อนที่เขาเกิดเสียอีก จึงทำให้ในละแวกวัดที่เขาพำนักอยู่ ไม่มีผู้ใดจะมาชี้นำทางจิตวิญญาณให้แก่ตัวเขาได้เลย มีแต่พระผู้ใหญ่ที่น่าเคารพเท่านั้น

พระเงื่อมบวชได้สองพรรษา จนสอบนักธรรมโทได้ในปี พ.ศ. 2471 (ค.ศ. 1928) อาเสี้ยงของเขาจึงยัดเยียดเขาให้ไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ ก่อนไปถึงกรุงเทพฯ พระหนุ่มบ้านนอกอย่างเขาเคยคิดว่า พระที่กรุงเทพฯ น่าจะมีพระอรหันต์เต็มไปหมด พระกรุงเทพฯ ดีที่สุด ถูกต้องที่สุด ใครได้เปรียญ 9 ก็คือคนที่เป็นพระอรหันต์

แต่ครั้นพอพระหนุ่มมาอยู่ที่กรุงเทพฯ จริงๆ เขาจึงรู้ว่าสิ่งที่ตัวเองเคยคิดวาดเอาไว้ช่างไร้เดียงสาจริงๆ

พอไปเจอเข้าจริงๆ เขาก็รู้ว่า มหาเปรียญมันไม่มีความหมายอะไรเลย แต่ที่เขารับไม่ได้มากที่สุด เห็นจะเป็นเรื่องที่พระเณรที่กรุงเทพฯ ไม่ค่อยมีวินัย โดยเฉพาะเรื่องสตางค์กับเรื่องผู้หญิง ขนาดที่บ้านนอกของเขา เขาว่ายังไม่ค่อยเคร่งแล้ว ที่กรุงเทพฯ ยิ่งไม่เคร่งเข้าไปใหญ่ พระกรุงเทพฯ ไม่สำรวมแม้แต่เรื่องการกินการฉัน ยังสรวลเฮฮาตลอดทั้งวันเหมือนกับคนเมา

มันไม่มีอะไรที่น่าเลื่อมใสเลยในกรุงเทพฯ และเขายังไม่เคยเจอพระที่น่าเลื่อมใสจนหมดหัวใจเลย

ปีนั้นเป็นครั้งแรกที่พระเงื่อมรู้สึกผิดหวังกับการเข้ามาบวช และคิดจะสึก เขามากรุงเทพฯ โดยมีความใฝ่ฝันอย่างแรงกล้า อย่างหาที่พึ่งที่หาไม่ได้ในบ้านนอกของเขา และคิดจะมาหาเอาที่กรุงเทพฯ นั่นคือหาผู้ที่จะสามารถถ่ายทอดพุทธธรรมที่แท้จริงให้แก่ตัวเขาได้ แต่เขากลับพบแต่ความน่าผิดหวัง เขาพบเห็นแต่สิ่งที่เขารู้สึกว่าไม่ถูกต้องเต็มไปหมดในสังคมพระกรุงเทพฯ และเขากำลังรู้สึกว่าตัวเองกำลังจะถูกกลืนเป็นไปกับพวกเขาด้วย ทั้งๆ ที่เขาเพิ่งมาอยู่กรุงเทพฯ ได้แค่ 2 เดือนเท่านั้น

เขาจึงเดิมทางกลับมาบ้านนอก คิดจะมาสึกที่นั่น แต่พอกลับมาถึงบ้านนอกมันจวนเข้าพรรษาแล้ว มีคนท้วงว่าไม่ดีหรอก จะสึกทำไม เพราะจะเข้าพรรษาอยู่รอมร่อแล้ว เขาจึงตัดสินใจบวชต่ออีกพรรษาหนึ่งที่วัดใหม่พุมเรียง

ในพรรษาที่สามนี้ พระเงื่อมจริงจังทุ่มเทกับการอ่านหนังสือมากขึ้นกว่าเดิม เขาอ่านหนังสือมากขึ้น กว้างขวางขึ้น เรียกได้ว่า เขาอ่านทุกอย่างเท่าที่จะไขว่คว้ามาหาอ่านได้ การที่เขาอ่านหนังสือมากขึ้น ทำให้พระเงื่อมสามารถสอบนักธรรมเอกได้ และถูกทาบทามให้เป็นครูสอนนักธรรมของโรงเรียนนักธรรม วัดพระบรมธาตุไชยาที่บ้านเกิดในปี พ.ศ. 2472 (ค.ศ. 1929) เขาจึงอยู่ช่วยสอนนักธรรมอยู่ปีหนึ่งในพรรษาที่ 4 จึงไม่ได้สึก และความรู้สึกเบื่อที่จะคิดสึกก็ลดน้อยลงไป

พอเขาสอนนักธรรมเสร็จแล้ว อาเสี้ยงของเขาก็เร่งเร้าให้ตัวเขากลับไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ อีก ในปี พ.ศ. 2473 (ค.ศ. 1930) เพื่อเรียนบาลีต่อ

พระหนุ่มกลับมากรุงเทพฯ อีกครั้ง แต่เขาก็ยังไม่ชอบกรุงเทพฯ อยู่ดี เขาไม่ชอบฝุ่น กลิ่นคลอง เสียงรถราง และอากาศในฤดูร้อนของกรุงเทพฯ รวมทั้งขยะมูลฝอย และน้ำเน่าที่มีอยู่ทั่วไปเกือบทุกคลอง เขารู้ว่านี่ไม่ใช่ที่ของเขา และเขาจะทนอยู่ที่นี่เท่าที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น

ความสนใจในสินค้าไฮเทคของยุคนั้น อย่างวิทยุ พิมพ์ดีด กล้องถ่ายรูป และแผ่นเสียง ทำให้พระเงื่อมมีงานอดิเรกทำนอกเหนือจากการเรียนบาลี เขาจึงอยู่กรุงเทพฯ ได้นานกว่าเก่า เขาอยู่กรุงเทพฯ ถึงปลายปี พ.ศ. 2474 (ค.ศ. 1931) คืออยู่เกือบสองปี จึงเบื่ออีกครั้ง บางทีการเบื่อครั้งนี้อาจเป็นเพราะงานอดิเรกของเขาที่เคยรู้สึกสนุกอย่างการถ่ายรูป พอหมกมุ่นกับมันจนถึงที่สุด เขาก็เบื่อมันอีกจนไม่มีความรู้สึกสนุกอีกต่อไป ทั้งวิทยุและแผ่นเสียงก็เช่นกัน ยกเว้นการพิมพ์ดีดที่เขายังใช้ประโยชน์จากการพิมพ์ข้อเขียนของเขาอยู่

พระหนุ่มอินทปัญโญ กลับเข้ากุฏิของตนเพื่อเขียนจดหมายถึงน้องชายของเขาที่บ้านเกิด มีใจความตอนหนึ่งว่า

"ฉันได้พบคัมภีร์ดีๆ พอที่ฉันจะตัดสินใจอย่างเด็ดขาดได้แล้วว่า ฉันจะออกจากกรุงเทพฯ เป็นการออกครั้งสุดท้าย..."

"...ฉันตั้งใจว่าจะไปหาที่สงัดปราศจากการรบกวน ทั้งภายนอกและภายในสักแห่งหนึ่ง เพื่อสอบสวนค้นคว้าวิชาธรรมที่ได้เรียนมาแล้ว"

"และเมื่อได้หลักธรรมพอที่จะเชื่อได้ว่า การค้นคว้าของฉันไม่ผิดทางแล้ว ฉันก็จะทิ้งตำราที่ฉันเคยรัก และหอบหิ้วมาโดยไม่เหลือเลย..."

"ฉันจะมีชีวิตอย่างปลอดโปร่งเป็นอิสระที่สุด เพื่อค้นหาความบริสุทธิ์และความจริงต่อไป..."

"กรุงเทพฯ มิใช่เป็นที่ที่จะพบความบริสุทธิ์ พวกเราถลำตัวเข้าเรียนปริยัติธรรมที่เจือด้วยยศศักดิ์ ฉันรู้ตัวว่าได้ ก้าวผิดไปก้าวหนึ่ง แล้ว หากรู้ไม่ทันก็จะต้องก้าวผิดไปอีกหลายก้าว และยากที่จะถอนออกได้เหมือนบางคน"

"การรู้ตัวว่าก้าวผิดนั่นเอง ทำให้ฉันพบเงื่อนว่าทำอย่างไร ฉันจึงจะก้าวถูกด้วย ฉันยังพบอีกว่า ความเป็นห่วงญาติพี่น้อง ลูกศิษย์มิตรสหายเป็นการทำลายความสำเร็จแห่งการค้นหาความสุข และความบริสุทธิ์ การปลงตกเช่นนี้ได้ ทำให้ฉันเป็นอิสระขึ้นอีกเปลาะหนึ่ง..."

"เรื่องของฉัน บัดนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ฉันเกลียดทั้งอลัชชี และเกลียดกรุงเทพฯ เพราะฉันรู้ว่าที่เป็นมา และกำลังเป็นอยู่ ฉันไม่มีทางที่จะพบพระพุทธเจ้าได้เป็นอันขาด"

จดหมายฉบับนี้ คือจุดเริ่มต้นของ"พุทธทาส" ที่คนไทยและทั่วโลกจะได้เป็นที่รู้จักในเวลาต่อมา





 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้