3. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 3 พระบ้า เมฆบ้า 16/5/2549

3. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 3 พระบ้า เมฆบ้า 16/5/2549


พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส (ตอนที่ 3)



3. พระบ้า เมฆบ้า

"เมฆขาวพราวฟ้า บ้าคลั่ง
ละล่องลอย ระรื่นไหล ไอระเหย
ละล่องลิ้ว พลิ้วแรงลม มาชมเชย
หยาดฝนเอย คือ หยาดฟ้าน่าชื่นชม"
บทโศลกแห่งเมฆบ้า

เมฆบ้า เป็นนามปากกาของพระเซน "อิคคิว-ซัง" ผู้โด่งดังของญี่ปุ่น ท่านเป็นทั้งกวี จิตรกร และคุรุพเนจรแห่งเซน นามปากกานามนี้ของท่านเป็นคำเล่นสำนวนในภาษาญี่ปุ่นของคำว่า อุนซุย ซึ่งหมายถึงพระภิกษุผู้ที่ความไม่ยึดติดกับชีวิตทางโลกีย์ ทำให้ท่านล่องลอยไหลลื่นอย่างเสรีดุจเมฆเหนือผิวน้ำ เพราะฉะนั้น เมฆบ้า ในความหมายกว้างจึงหมายถึง ผู้ที่เป็นนักปฏิรูปขบถและพวกนอกรีตแห่งวิถีเซนที่ริเริ่มสิ่งใหม่ๆ ให้แก่สังคมที่พวกเขาสังกัดอยู่ บ่อยครั้งที่นักปราชญ์อย่างพวกเขา และผู้แสวงธรรมอย่างพวกเขาได้แปลงตัวเป็นขอทาน เป็นนักเทศน์พเนจร หรือแม้แต่แสร้งเป็นคนบ้า วิถีเซนของเหล่าเมฆบ้าอย่างพวกเขาได้ส่งอิทธิพลอย่างล้ำลึกต่อการปฏิบัติสมาธิภาวนา ชีวิตประจำวัน จิตวิญญาณ สังคม และการเมืองในศาสนาพุทธนิกายเซนมาจนกระทั่งทุกวันนี้

การแสดงออกอย่างสุดขั้วในพุทธศาสนานิกายเซนของพวกเมฆบ้าเหล่านี้ บ่อยครั้งปรากฏว่ายากเกินไปที่จะเข้าใจ และล้ำหน้าเกินไปสำหรับผู้คนในสมัยเดียวกับพวกเขา หากแต่เป็นแนวทางที่ล้ำค่าเหลือเกินสำหรับอนุชนคนรุ่นหลังผู้เป็นทายาททางจิตวิญญาณในปัจจุบัน เพราะพวกเมฆบ้าคือ บุคคลตัวอย่างที่มีอยู่จริง พวกเขาไม่เพียงต่อต้านอำนาจนิยมเท่านั้น หากแต่ยังตั้งคำถามกับโครงสร้างทุกอย่าง โดยเฉพาะการตั้งคำถามเกี่ยวกับผู้มีอำนาจอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งพบได้ยากในชีวิตทางศาสนาโดยทั่วไป มิหนำซ้ำพวกเขายังโยงความเป็นขบถนี้บูรณาการเข้ากับอิสรภาพภายในแห่งปัจเจก โดยตั้งอยู่บนประสบการณ์แห่งสุญญตาของตนอย่างกระจ่างแจ้งอีกด้วย

บุรุษเซนผู้พลิกโฉมหน้าเหล่านี้ จึงเป็นแบบอย่างที่เหมาะเจาะสำหรับยุคสมัยที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่อย่างยุคของเราในศตวรรษที่ 21 นี้
* * *
เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2475 (ค.ศ. 1932) หลังเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่กรุงเทพฯ เพียงไม่กี่วัน

ณ วัดร้างตระพังจิก (สวนโมกข์เก่า) ที่ไชยา

อินทปัญโญ เพิ่งกลับจากบิณฑบาต ขณะกำลังเดินกลับมา เขารู้สึกกระหายน้ำเป็นกำลัง แต่ไม่สามารถหาน้ำที่ไหนได้ พอดีเห็นใบหญ้ารังไก่ที่เป็นเฟินชนิดหนึ่งเป็นหญ้าที่มีน้ำค้างเกาะมากที่สุด ทุกปลายใบจะมีหยดน้ำเป็นหยดๆ เขาจึงเอามือไปลูบใบหญ้ารังไก่ดูดกินน้ำค้างจากใบดับกระหาย เขาเพิ่งสังเกตเห็นว่า น้ำค้างแต่ละหยดที่เกาะอยู่บนใบหญ้ารังไก่นี้เปล่งประกายที่มีชีวิตชีวาเหลือเกิน

ขณะที่อินทปัญโญกำลังจะเข้าวัดร้างตระพังจิก ซึ่งเขาเพิ่งมาจำวัดอยู่คนเดียวได้ไม่นานนัก พวกเด็กๆ ละแวกนั้น ก็ตะโกนร้องบอกต่อๆ กันว่า

"พระบ้ามาแล้ว พระบ้ามาแล้ว"
พวกเด็กๆ คิดกันไปเองว่า เขาเป็นพระบ้าที่ถูกเอามากักตัวเพื่อรักษาที่วัดร้างแห่งนั้น
วัดตระพังจิกที่อินทปัญโญเลือกเป็นที่ที่ตัวเขาจะมาใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรม และส่งเสริมการปฏิบัติธรรมนี้เป็นวัดร้างมากว่า 80 ปีแล้วจนกลายเป็นป่ารกครึ้มไปหมด สำหรับชาวบ้านแถบนั้น วัดนี้ได้หมดสภาพความเป็นวัดไปนานแล้ว แต่เป็นแค่ที่เก็บเห็ดเผาะเห็ดโคน ล่าหมูป่า และเป็นที่กลัวผีของพวกเด็กๆ เท่านั้น

"พระบ้า พระบ้า พระบ้า"

อินทปัญโญก้มหน้าเดินต่อไปอย่างสงบ แม้จะถูกพวกเด็กๆ โห่ไล่ เขาต้องทำใจยอมรับการถูกเข้าใจผิด ซึ่งไม่ได้มีแค่พวกเด็กๆ เท่านั้น เขาตระหนักดีว่า การจะริเริ่มทำอะไรใหม่ๆ ที่แปลกไปจากที่ผู้คนกระทำกันอยู่นั้น มักจะต้องถูกมองในแง่ร้ายบ้างส่วนหนึ่งเสมอ ไม่ว่าผู้ทำจะมีกำลังและอิทธิพลมากหรือน้อย ถ้ามีอิทธิพลมากจะแตกต่างอยู่บ้างก็ตรงที่เขาไม่กล้าพูดซึ่งหน้าเท่านั้น

อินทปัญโญ จึงกล่าวในใจให้กำลังใจตัวเองว่า "เรากำลังคิดที่จะทำสิ่งซึ่งเป็นการปฏิวัติจิตใจ แก้ไขรื้อฟื้นพุทธศาสนาให้ดีขึ้น เราจึงไม่ควรไปใส่ใจกับการนินทาว่าร้ายของผู้เข้าใจผิดซึ่งก็ย่อมต้องมีเป็นธรรมดา ขอเพียงตัวเรากระทำไปด้วยสุจริตใจก็พอแล้ว ผลจักเกิดขึ้นแก่การกระทำอันบริสุทธิ์ของเรา ไม่ช้าก็เร็ว"

ขณะที่อินทปัญโญเดินมาถึงพงรกริมสระใหญ่หน้าโบสถ์เก่าของวัด เขาพบนากถึกโทนตัวผู้ตัวหนึ่งออกมากลิ้งเกลือกกลางพื้นทราย ยืดตัวสองขาชะเง้อดูเขาอยู่พักใหญ่ราวกับนักเลงโตที่ยืนขวางทางไม่ให้เขาเดินเข้าไป อินทปัญโญจนใจได้แต่ยืนนิ่งๆ ยืนคอยอย่างสงบ จนกว่าเจ้านากถึกโทนตัวนั้นจะเดินจากไป

พออินทปัญโญเดินเข้ามาจะถึงกุฏิของเขาที่อยู่โบสถ์เก่า อีกาฝูงใหญ่ก็บินมารับมันบินตามเขาไปเพื่อรอกินเศษอาหารที่เขาโยนให้ มันบินเกาะกลุ่มคล้ายกับหลังคาตามเขาไปติดๆ เขาเคยลองนับจำนวนอีกาที่มากินอาหารจากเขา เขานับได้ 49 ตัว

ที่พักของเขาเป็นเพียงโรงพื้นดิน กั้นและมุงด้วยจากเล็กๆ ขนาดวางแคร่ได้ 3-4 แคร่ อยู่ติดกับโรงสังกะสี ซึ่งยกขึ้นสำหรับมุงพระพุทธรูปองค์ใหญ่องค์หนึ่งไว้สวมทับลงตรงโบสถ์เก่า เพื่อรักษาพระพุทธรูปเอาไว้ มีต้นไม้ขนาดเขื่องมีเงาครึ้มงอกรุกล้ำเข้ามาในแนวพัทธสีมา นอกนั้นก็เป็นป่าไม้ที่แน่นทึบอยู่โดยรอบ กับมีบ่อน้ำโบราณอยู่ห่างจากโบสถ์เก่าประมาณ 50 เมตร กับมีสระน้ำเป็นสระใหญ่ที่เรียกกันว่า สระตระพังจิกเท่านั้น

พอตกเที่ยง นกกะปูดผู้ทำหน้าที่เป็นผู้ให้สัญญาณระฆังพักผ่อนก็ส่งเสียงร้อง อินทปัญโญตระหนักได้ถึงความสงัดตามธรรมชาติอีกครั้งหนึ่งในป่านั้น เพราะนกทุกตัวจับเจ่า กระรอกก็อยู่นิ่งๆ ไก่ป่าก็กกแปลงสัตว์เล็กตามพื้นดินก็หลบตัวพักผ่อน มันเป็นความเงียบสงัดทำนองเดียวกับเวลาดึกสงัด อินทปัญโญจึงสงบอารมณ์ดื่มด่ำกับความสงบสุขในช่วงหลังเที่ยงจนถึงบ่ายจนกว่านกกะปูดจะให้สัญญาณอีกครั้งหนึ่ง การเคลื่อนไหวของสัตว์ต่างๆ เริ่มมีขึ้น จนเป็นป่าที่ตื่นอยู่ตามปกติ

อินทปัญโญเอาข้าวสุกจำนวนหนึ่งวางบนฝาบาตรสีเหลืองอ่อน แล้วนำไปวางไว้บนน้ำตื้นๆ ริมสระดูปลาเล็กปลาน้อยที่มาตอมวนเวียนกันอยู่เป็นกลุ่มในวงฝาบาตรสีเหลืองอ่อนนั้น เพียงแค่เพ่งดูไปชั่วประเดี๋ยว นิมิตของฝาบาตรสีเหลืองอ่อนนี้ก็ติดตาเขาจนเขาสามารถนำไปขยายเป็นภาพเล็กภาพใหญ่ได้ดังใจปรารถนา นี่คือ "สมาธิเล่นสนุกแบบเด็กๆ" ของเขาที่เขาลองทำเล่นดูเท่านั้น ไม่ได้ยึดติดอะไรเลย

จากนั้น อินทปัญโญก็นั่งอ่านข้อความในพระไตรปิฎกอยู่เงียบๆ การอ่านพระไตรปิฎกในที่สงัดอย่างในวัดร้างกลางป่าแห่งนี้ สำหรับตัวเขาแล้วได้รสชาติที่จับใจกว่าการอ่านที่กรุงเทพฯ หลายเท่านัก เพราะเขาสามารถขบข้อธรรมได้ต่อเนื่องติดต่อกันเป็นสาย อบอวลไปด้วยกระแสจิตกระแสธรรมอีกชนิดหนึ่งที่แปลกใหม่สำหรับตัวเขาที่เพิ่งทิ้งเมืองหลวงมาเป็น พระป่า ได้ไม่นานนัก

ที่หน้าโบสถ์เก่ามีต้นโมกกับต้นพลาอยู่หลายต้น โมกมาจากคำว่า โมกขะ แปลว่า ความหลุดพ้น พลามาจากคำว่า พละ แปลว่า กำลัง อาราม แปลว่า ที่รื่นรมย์ เขาจึงดำริที่จะตั้งชื่อสถานที่แห่งนี้ว่า สวน โมกขพลาราม แปลว่า สถานที่อันเป็นพลังเพื่อความหลุดพ้น

ตกเย็น อินทปัญโญนั่งสมาธิอยู่บนพื้นดินกลางป่า อากาศที่นั่นแปรปรวนอย่างรวดเร็ว เมฆขาวที่กระจายอยู่เต็มท้องฟ้า อยู่ดีๆ ก็บ้าคลั่งจับกลุ่มกันเป็นเมฆก้อนดำทะมึน อยู่เหนือวัดร้างแห่งนี้ แต่อินทปัญโญคร้านที่จะลุกขึ้น เมื่อครู่เขาเพิ่งเห็นนกกระเต็นบินโฉบลงมาจับปลาในสระน้ำอย่างรวดเร็ว และแลเห็นฝูงนกเป็ดน้ำกำลังว่ายน้ำอย่างมีความสุข

เขารำพึงในใจว่า สัตว์เหล่านี้กำลังมีชีวิตอย่างเบิกบานสำราญใจใช่หรือไม่ว่า ธรรมชาติต้องการจะสอนอะไรแก่ตัวเรากระมัง? เขารำลึกถึงความทุกข์ใจ ความกระวนกระวายใจที่ตัวเขามีขณะที่อยู่ที่กรุงเทพฯ จนถึงขนาดต้องตัดสินใจไปตายเอาดาบหน้า มาทดลองปฏิบัติธรรมใช้ชีวิตตามอุดมคติในพุทธศาสนาที่นี่ ตัดขาดจากความอัปลักษณ์แห่งความเป็นจริงของสถาบันสงฆ์ในกรุงเทพฯ อย่างสิ้นเชิง

อินทปัญโญหลับตานั่งสมาธิแน่วนิ่งในความสงบ ฝนเริ่มตกลงมาเป็นหยาดหยดเล็กๆ ก่อนที่จะตกแรงขึ้นจนตัวเขาเปียกโชก แต่เขาก็ยังคงนั่งนิ่งอย่างเดิมไม่ได้ลุกหนี หยาดฝนนี้ทำให้ตัวเขานึกถึงหยาดน้ำค้างบนใบหญ้ารังไก่ที่ตัวเขาเพิ่งเลียกินมาตอนเช้านี้

ความเขียวขจีของใบหญ้า ความสดใสของหยาดน้ำค้าง ความชุ่มฉ่ำของสายฝน กลิ่นดินสดจากพื้นดินที่ตัวเขากำลังนั่งสมาธิอยู่ มันได้ให้พลังแห่งความมีชีวิตชีวาแก่ตัวเขา

โอชีวิตนี้ แท้จริงเป็นสิ่งที่น่ารื่นรมย์เป็นยิ่งนัก!

อินทปัญโญดื่มด่ำอยู่กับธรรมชาติ ถือเอาธรรมชาติเป็นครู เป็นตัวแทนที่ยิ่งใหญ่ของพระพุทธะ จนลืมเลือนแม้กระทั่งกาลเวลา เขาได้รู้แก่ใจแล้วว่า เส้นทางใหม่ที่ตัวเขาได้เลือกเดินมานี้ เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วอย่างไม่ต้องสงสัย ไม่ว่าเขาจะต้องเดินอยู่บนเส้นทางสายนี้ไปอีกไกลสักแค่ไหนก็ตาม

อินทปัญโญนั่งสมาธิด้วยจิตใจอันเปิดกว้างดุจท้องฟ้า แต่ในขณะเดียวกันก็ดำรงอยู่และหยั่งรากอย่างมั่นคงกับพื้นพสุธา เขารู้ดีว่า ชีวิตคือการเชื่อมโยงสิ่งสูงสุดกับสิ่งสามัญเข้าด้วยกัน จึงจะเป็นชีวิตที่แท้จริงตามความหมายพุทธ เพราะตัวเขาเพิ่งได้ตระหนักว่า ตัวเขากำลังมี "ชีวิตที่แท้จริง" ก็ต่อเมื่อเขาได้เข้ามาอยู่ที่นี่แล้วเท่านั้น

ฝนหยุดตกแล้ว ลมแรงที่กระโชกเมื่อครู่พลันสงบลง อินทปัญโญน้อมนำดวงจิตออกจากสมาธิลืมตาขึ้นช้าๆ หวนคืนกลับสู่ชีวิตประจำวันอย่างเปี่ยมไปด้วยปัญญา ความกรุณา ความเปิดกว้าง ความไม่ยึดติด และความมีอารมณ์ขันอีกครั้ง




 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้