7. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 7 การศึกษามโหฬาร 13/6/49

7. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 7 การศึกษามโหฬาร 13/6/49

พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส (ตอนที่ 7)



7. การศึกษามโหฬาร

"ศาสนาหมายถึง การรวมพลังของเธอทั้งหมดที่มีอยู่ไปค้นหาสัจธรรม"
กฤษณะมูรติ
พ.ศ. 2480 (ค.ศ. 1937)...

หนังสือพิมพ์ "พุทธสาสนา" ได้กลายเป็นปากกระบอกเสียงในการเผยแพร่งานคิด และงานเขียนของพระหนุ่มอินทปัญโญ เจ้าสำนักสงฆ์เถื่อนแห่งไชยาไปอย่างรวดเร็ว โดยผ่านการบอกปากต่อปาก และการสมัครเข้าเป็นสมาชิก ในไม่ช้า หนังสือพิมพ์รายสามเดือนฉบับนี้ก็กลายเป็น หนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้าของเหล่าผู้อ่านปัญญาชนหัวก้าวหน้าไทยในสมัยนั้น ในส่วนที่เกี่ยวกับศาสนาไปโดยปริยาย

เหล่าพวกผู้หวังดี หรือผู้สนับสนุนสวนโมกข์ต่างก็รู้จักสวนโมกข์ และกิจกรรมทางปัญญาของอินทปัญโญผ่านทางหนังสือพิมพ์ "พุทธสาสนา" นี้ทั้งสิ้น ในบรรดาพันธมิตรถาวรของสวนโมกข์ยุคบุกเบิก ฝ่ายที่เป็นฆราวาสที่เป็นบุคคลในระดับชนชั้นนำนั้นได้แก่ พระดุลยพากษ์สุวมัณฑ์ (ปิ่ณฑ์ ปัทมสถาน) (พ.ศ. 2437-2525) ท่านผู้นี้เป็นข้าราชการชั้นสูงคนแรกที่ไปเยี่ยมอินทปัญโญ เมื่อสวนโมกข์เพิ่งตั้งได้ปีสองปีเท่านั้น ขณะนั้นท่านเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาล จังหวัดนครศรีธรรมราช ท่านได้ร่วมมือกับอินทปัญโญ เผยแพร่ธรรมมาโดยตลอด จนถึงวาระสุดท้าย และเมื่อตอนที่เขายังมีอำนาจอยู่ ในกระทรวงยุติธรรม ก็ได้นิมนต์อินทปัญโญมาแสดงธรรมแก่ข้าราชการในกระทรวงยุติธรรมด้วย แต่นั่นเป็นเรื่องราวอีกยี่สิบกว่าปีหลังจากนั้น

ชนชั้นนำฝ่ายฆราวาสอีกท่านหนึ่งที่ต้องเอ่ยถึงในฐานะ สหายธรรมทาน หมายเลขหนึ่งของสวนโมกข์ในยุคบุกเบิกก็คือ พระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์ (วงค์ ลัดพลี) ท่านผู้นี้ อินทปัญโญถือว่าเป็นบุคคลแรกที่มีความเข้าใจ และพอใจในกิจการของสวนโมกขพลาราม และคณะธรรมทานผู้ออกหนังสือพิมพ์ "พุทธสาสนา" มากถึงขนาดที่ขอปวารณาตัวเพื่อรับใช้ทุกประการ ถึงขนาดเคยคิดจะลาออกจากราชการมาช่วยทำงานให้พระศาสนา

ที่สำคัญ ความที่พระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์ผู้นี้ เคยเป็นนักเรียนนอกมาก่อนจึงมีหูตากว้างไกล เขาจึงกลายเป็นเพื่อนร่วมศึกษาของอินทปัญโญทางด้านวิชาตะวันออก (บูรพวิทยา) ที่เลยพ้นไปจากพุทธศาสนาเถรวาทในเมืองไทย เพราะท่านผู้นี้แหละที่เป็นคนแนะนำให้ อินทปัญโญหันมาสนใจเรื่องของสวามีวิเวกนันทะ และกฤษณะมูรติ รวมทั้งวิชาโยคะโดยรวม ซึ่งช่วยเปิดโลกความรู้ทางจิตวิญญาณของอินทปัญโญให้กว้างขวางขึ้นและลุ่มลึกยิ่งขึ้นไปอีก และนำไปสู่ "การศึกษาครั้งมโหฬาร" ของตัวเขาซึ่งครอบคลุมมิติต่างๆ ทั้งสังคม การเมือง วัฒนธรรม และศาสนาในเวลาต่อมา

อินทปัญโญสนใจเรื่องราวของสวามีวิเวกนันทะในแง่ที่เขาเป็นโยคีรุ่นแรกๆ ที่ออกไปเผยแพร่วิชาโยคะให้แก่โลกตะวันตกในปลายศตวรรษที่ 19 ส่วนความสนใจของอินทปัญโญที่มีต่อ กฤษณะมูรติ (ค.ศ. 1895-1986) นั้นเป็นเรื่องของคนร่วมสมัย เพราะกฤษณะมูรติมีอายุมากกว่าอินทปัญโญเพียง 11 ปีเท่านั้น เรื่องราวของกฤษณะมูรติใน ขณะนั้น (พ.ศ. 2480 หรือ ค.ศ. 1937) ได้สร้างความทึ่งให้แก่พระอินทปัญโญอย่างเหลือที่จะกล่าว

กฤษณะมูรติ เกิดเมื่อวันที่ 12 เดือนพฤษภาคม ปีค.ศ. 1895 ที่เมืองมาดนะปาเล ซึ่งเป็นเมืองเล็กในใจกลางอินเดียตอนใต้ โหรท้องถิ่นได้ทำนายดวงชะตาของกฤษณะมูรติ ว่าจะมีความยิ่งใหญ่ทางศาสนาและมีชื่อเสียงขจรขจายไปทั่วโลก แต่ตราบจนกระทั่งกฤษณะมูรติมีอายุเกือบสิบห้าปีไม่ปรากฏวี่แววว่า ตัวเขาจะเป็นผู้มีชื่อเสียงระดับโลกในอนาคตเลย

อย่างไรก็ดี สมาคมเทวญาณวิทยา (ก่อตั้งปี ค.ศ. 1875) ซึ่งมีความเชื่อเรื่อง พระเมสสิอาห์จะอวตารลงมาเกิดเป็นมนุษย์ เช่นเดียวกับที่เคยเกิดมาเป็นพระเยซูใน ยุคนี้ จึงทำการ "ค้นหา" คนคนหนึ่งซึ่งอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งในโลก และเป็นผู้ซึ่งมีชีวิตและร่างกายเหมาะสมสำหรับเป็น "ภาชนะ" รองรับการอวตารของพระเมสสิอาห์นี้

แกนนำคนสำคัญคนหนึ่งของสมาคมเทวญาณวิทยาชื่อ ชาร์ลส์ ลีดบีเธอร์ (ค.ศ. 1847-1934) ที่ผู้คนในสมาคมล้วนเชื่อว่า เขามี "ตาทิพย์" ที่สามารถมองเห็นรังสีออราของคนได้ เป็นผู้ค้นพบกฤษณะมูรติในวัย 14 ปี ในปี ค.ศ. 1909 ขณะที่ตัวเขากำลังเล่นน้ำทะเลอยู่ที่ชายหาดเมืองอัดยาร์ แล้วลีดบีเธอร์เหลือบไปมองเห็นรังสีออราของกฤษณะมูรติ และพบว่ามันเป็นรังสีออราที่มหัศจรรย์มาก คือ มันเป็นรังสีออราที่ไม่มีอณูแห่งความเห็นแก่ตัวปะปนอยู่เลย

เมื่อได้รับแจ้งจากลีดบีเธอร์ว่า ค้นพบพระเมสสิอาห์ในตัวของเด็กชายกฤษณะมูรติแล้ว ทางสมาคมเทวญาณวิทยาก็ได้ติดต่อผู้ปกครองของกฤษณะมูรติ โดยเสนอตัวเข้ามาเลี้ยงดูกฤษณะมูรติ และนิตยาน้องชายของเขา พร้อมกับตระเตรียมปั้นกฤษณะมูรติให้เป็น "คุรุของโลก" ภายในยี่สิบปีข้างหน้า

ดร.แอนนี่ บีแซนท์ ผู้นำของสมาคมเทวญาณวิทยาได้พากฤษณะมูรติ และนิตยาน้องชายของเขาไปศึกษาต่อที่อังกฤษ เด็กชายทั้งสองได้รับการเลี้ยงดูให้เติบโตขึ้นมาท่ามกลางสังคมผู้ดีชั้นสูงของอังกฤษ มีครูพิเศษแต่งตัวประณีตฝึกฝนมารยาทการเข้าสังคม ฝึกพูดภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสได้อย่างสมบูรณ์ จนร่องรอยความเป็นฮินดูจากวัยเด็กค่อยๆ ถูกลบเลือนไปจากกฤษณะมูรติอย่างช้าๆ

แต่แปลกที่กฤษณะมูรติกลับเป็นเด็กที่เรียนไม่เก่ง ในการสอบทุกครั้งกฤษณะมูรติจะสอบตกเสมอ จนมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดปฏิเสธที่จะรับเขาเข้าเรียน แม้ว่าตัวเขาจะมีอิทธิพลหนุนหลังมากมายก็ตาม หนึ่งในอิทธิพลนั้นคือความเชื่อของชาวตะวันตกจำนวนหนึ่งที่ว่า กฤษณะมูรติเป็นบุตรของพระเจ้า ด้วยเหตุนี้ตัวกฤษณะมูรติจึงเรียนไม่จบแม้เขาจะย้ายไปเรียนที่มหาวิทยาลัยลอนดอน และย้ายไปที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนแล้วก็ตาม

เป็นไปได้มากว่า กฤษณะมูรติกลายเป็นเด็กหนุ่มที่ว้าเหว่ รุ่มร้อนใจและปราศจากความสุข เพราะตัวเขามักจะถูกเตือนและถูกกดดันจากผู้คนรอบข้างที่เป็นคนของสมาคมเทวญาณวิทยาอยู่เสมอว่า ตัวเขามีอนาคตและความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่รออยู่เบื้องหน้า เพราะเขาจะต้องเป็น "คุรุของโลก" ผู้คนจำนวนนับพันนับหมื่นในหลายประเทศกำลังบริจาคเงินและอุทิศชีวิตให้กับการสร้างองค์การศาสนาสำหรับตัวเขา และคำสอนของเขาก็เป็นที่รอคอยอย่างใจจดใจจ่อของผู้คนเป็นจำนวนมาก พวกเขากำลังรอวันที่กฤษณะมูรติจะมาปรากฏตัวต่อหน้าพวกเขาเพื่อประกาศคำสอน ขณะที่ตัวกฤษณะมูรติเองไม่ได้เต็มใจที่จะเป็นพระเมสสิอาห์ตั้งแต่แรก ตรงข้ามเขากลับรู้สึกว่าตัวเองเป็นแค่ "หุ่นเชิด" ของสมาคมเทวญาณวิทยาให้เป็นพระเมสสิอาห์มากกว่า

อย่างไรก็ดี ในเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ. 1922 เมื่อกฤษณะมูรติมีอายุได้ 27 ปี ได้บังเกิดเหตุการณ์ประหลาดขึ้นภายในตัวของกฤษณะมูรติที่วิชาโยคะเรียกว่า "การตื่นขึ้นของพลังกุณฑาลินี" กล่าวคือ ร่างกายของกฤษณะมูรติได้ถูกบีบคั้นด้วยความเจ็บปวดจากภายใน จนตัวเขาสิ้นสติไปเป็นเวลานาน พอรู้สึกตัวก็บ่นว่าร้อน เจ็บปวดที่ศีรษะและลำคอ มีอาการสั่นเทา เขาเป็นเช่นนี้อยู่สามวันเต็มก่อนเข้าสู่สภาวะสงบเงียบอย่างน่าประหลาด เขาเริ่มนั่งทำสมาธิอยู่ใต้ต้นไม้อยู่ในห้วงฌานอันล้ำลึก ต่อมาเขาได้สรุปประสบการณ์ในครั้งนั้นของเขาด้วยคำพูดสั้นๆ ว่า "ผมกำลังมึนเมาในพระเจ้า"

การตายของนิตยาน้องชายของเขาด้วยโรคปัจจุบันทันด่วน ในเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1925 เมื่อกฤษณะมูรติอายุ 30 ปี ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งในชีวิตของเขา เพราะมันทำให้ชีวิตหลังจากนั้นของเขาไม่คิดที่จะไปยึดมั่นผูกพันกับคนผู้ใดอีกเลย และ "การไม่ยึดมั่นถือมั่น" ก็ได้กลายมาเป็นใจความสำคัญในคำสอนของเขา หลังจากนั้นด้วย

กฤษณะมูรติเปลี่ยนไปมาก เขากลายเป็นคนช่างคิดจริงจังมากขึ้น และเต็มใจที่จะปฏิบัติตามคำบอกของสมาคมเทวญาณวิทยาน้อยลง ความเป็นขบถทางจิตใจของกฤษณะมูรติเริ่มขึ้นแล้ว และนำไปสู่การแตกหักครั้งใหญ่ของเขากับสมาคมเทวญาณวิทยา ในเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ. 1929

ณ ที่แคมป์ออมเมนในประเทศฮอลแลนด์ ต่อหน้าสมาชิกของสมาคมเทวญาณวิทยาจากทั่วโลกกว่าสามพันคน กฤษณะมูรติได้ประกาศยุบเลิกพรรคตราบูรพาที่สมาคมเทวญาณวิทยาจัดตั้งขึ้นมารับใช้เขา โดยเฉพาะในฐานะว่าที่คุรุของโลกและเขายังได้ประกาศก้องว่า

"สัจธรรมเป็นดินแดนที่ไร้หนทาง ไม่อาจมีการจัดตั้งองค์กรใดๆ ขึ้นมาเพื่อชี้นำ หรือบังคับผู้คนให้เดินตามไปบนหนทาง เฉพาะทางใดทางหนึ่ง ทั้งนี้เพราะ สัจธรรมเป็นสิ่งที่ไร้ขอบเขต และไร้เงื่อนไข มันไม่อาจถูกจัดตั้ง และไม่อาจเข้าถึงได้ โดยผ่านศาสนา นิกาย หรือองค์การใดๆ ทั้งสิ้น"

กฤษณะมูรติชี้แจงว่า ตัวเขาไม่ต้องการเป็นคนขององค์การทางจิตวิญญาณใดๆ เพราะองค์การดังกล่าวจะกลายเป็นไม้เท้าค้ำพยุง เป็นความอ่อนแอ เป็นพันธะผูกมัดทำให้ปัจเจกชนต้องพิการ เขาจึงประกาศว่า เขาไม่ต้องการผู้ติดตาม หรือสาวกใดๆ ทั้งสิ้น

ทุกๆ คนในที่ประชุมตกตะลึงไปตามๆ กัน แต่ก็ไม่มีใครสามารถยับยั้งกฤษณะมูรติได้ เขาลาออกจากสมาคมเทวญาณวิทยา และบอกเลิกทุกสิ่งทุกอย่างที่คนอื่นหยิบยื่นให้แก่เขา ขณะนั้นเขามีอายุ 34 ปีเต็ม และตลอดชีวิตหลังจากนั้นของเขา เขาไม่เคยปรารถนาเงินทอง อำนาจหรือลาภยศสรรเสริญใดๆ เลย เขาสนใจเพียงแต่จะมุ่งปลดปล่อยผู้คนให้เป็นอิสระจากกรงขัง จากความหวาดกลัวทั้งปวง ด้วยการเดินทางรอบโลกเพื่อพบปะพูดคุยกับผู้คนเท่านั้น และจะไม่ก่อตั้งศาสนาใหม่ หรือหลักคำสอนใหม่ขึ้นมาด้วย

กฤษณะมูรติได้ใช้วิถีชีวิตตลอดทั้งชีวิตของเขาเป็นเครื่องพิสูจน์ยืนยัน คำสอนสุดยอดของเซน ที่ว่า ถึงแม้เป็นฆราวาสก็สามารถบรรลุถึงความเป็นอิสรเสรีอย่างสมบูรณ์ได้ ถ้าสามารถละความยึดมั่นถือมั่นได้อย่างสิ้นเชิง

จากการที่ได้ศึกษาเรื่องราวของกฤษณะมูรติ ทำให้พระหนุ่มอย่างอินทปัญโญได้แง่คิดเกี่ยวกับ ความสำคัญของการพึ่งตนเองในการปลดปล่อยตนเองให้เป็นอิสระทางด้านจิตใจ โดยไม่ยึดถืออะไรเป็นที่พึ่ง ถ้าหากคนคนนั้น ปรารถนาจะประสบภาวะ "พุทธธรรม" อันประเสริฐ ทั้งนี้เพราะนิพพานหรือสัจธรรมแห่งพุทธธรรมจะปรากฏแก่บุคคลได้ ก็ต่อเมื่อคนผู้นั้นมีจิตใจที่เป็นอิสระโดยสมบูรณ์แล้วเท่านั้น

อินทปัญโญยิ่งตระหนักได้ชัดยิ่งขึ้นว่า ประสบการณ์แห่งการรู้แจ้ง นั้น มันเป็นเรื่อง การปฏิวัติภายใน ของคนผู้นั้นอย่างแท้จริง ซึ่งไม่อาจเห็นได้จากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการนุ่งห่ม กิริยาท่าทาง หรือแม้แต่การพูดจาเองก็ตาม ผู้รู้ที่บอกเล่าถึงภาวะจิตใจอันเป็นอิสระดังกล่าวก็บอกได้แต่เพียงภาวะนั้นให้รับทราบเท่านั้น

สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการรู้แจ้งคือ การมีจิตที่เป็นอิสระจากทุกสิ่งว่างจากอัตตาความคิดทั้งปวง ไม่ใช่อำนาจวิเศษใดๆ หรือความสามารถทางอภิญญาใดๆ ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคทางจิตวิญญาณในขั้นละเอียดยิ่งได้ การจะทำเช่นนั้นได้ จึงไม่อาจพึ่งพาใครได้แม้แต่พระผู้เป็นเจ้า นอกจากคนผู้นั้นจะต้องเป็น "ผู้ดู" จิตของตนเองอย่างถึงที่สุดเท่านั้น

อนึ่งในปี พ.ศ. 2480 นั้นเอง สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) แห่งวัดเทพศิรินทราวาส พระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นประธานกรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งกำลังทำหน้าที่บัญชาการสงฆ์แทนองค์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ได้มาเยือนสวนโมกข์ของพระหนุ่มอินทปัญโญถึงที่ รวมทั้งยังได้แสดงความชื่นชม และพอใจงานของสวนโมกข์เป็นลายลักษณ์อักษรอีกด้วย

การมาเยือนของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ในครั้งนั้น เป็นไปท่ามกลางความงงงันของอินทปัญโญ โดยไม่มีใครคาดฝันว่าจะได้รับความเมตตาปรานีจากบุคคลสูงสุดในวงการสงฆ์ถึงขนาดนี้ สมเด็จท่านใช้เกียรติสูงสุดของท่านเป็นเดิมพันเสี่ยงไปเยี่ยมสำนักสงฆ์เถื่อนของอินทปัญโญ ซึ่งในขณะนั้นยังถูกคนส่วนใหญ่หาว่าแหวกแนวหรืออุตริวิตถารอยู่ เรื่องนี้ยังความปลาบปลื้มและเป็นกำลังใจให้แก่อินทปัญโญและคณะธรรมทานเป็นล้นพ้นว่า พวกเขาเดินมาถูกทางแล้ว




 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้