9. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 9 วันคืนแห่งกรรมฐาน 27/6/49

9. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 9 วันคืนแห่งกรรมฐาน 27/6/49

พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส (ตอนที่ 9)


9. วันคืนแห่งกรรมฐาน

"การปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องอย่างเดียวเท่านั้น ที่จะเป็นระดับวัดความเสื่อมและความเจริญของพุทธศาสนาได้อย่างแน่นอน มิใช่การมีภิกษุสงฆ์มากหรือน้อย"

พุทธทาสภิกขุ

อินทปัญโญกลายเป็นผู้มีชื่อเสียงไปแล้ว นับตั้งแต่ได้ไปแสดงปาฐกถาธรรมที่พุทธสมาคม กรุงเทพฯ เรื่อง "วิถีแห่งการเข้าถึงพุทธธรรม" ในปี พ.ศ. 2483 (ค.ศ. 1940) เป็นต้นมา มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่หลังจากได้อ่านปาฐกถาชิ้นนี้ที่มีผู้นำไปตีพิมพ์เผยแพร่หลายครั้ง แล้วเกิดความแตกตื่นฮือฮา และกระหายใคร่รู้ว่า พระหนุ่มอย่างอินทปัญโญที่เป็นเพียงพระบ้านนอก ห่างไกลปืนเที่ยงรูปนี้ไปมีความลุ่มลึกอย่างลึกซึ้งในพุทธธรรมถึงขนาดนี้ได้อย่างไร บางคนก็เกิดความสงสัยแบบปุถุชนว่า พระหนุ่มในวัยฉกรรจ์อย่างอินทปัญโญ ไม่เคยเกิดความกระสันคิดถึงเพศตรงข้าม จนรบกวนจิตใจเหมือนอย่างบุรุษหนุ่มในโลกียวิสัยทั่วไปบ้างเลยหรือ

พระหนุ่มบางรูปที่อยู่ในสวนโมกข์ก็เคยถาม อินทปัญโญอย่างตรงไปตรงมาว่า โรคกระสันถึงเพศตรงข้าม ไม่มารบกวนย่ำยีบ้างดอกหรือ? แทนที่อินทปัญโญจะตอบคำถามนี้ตรงๆ เขากลับเสตอบในเชิงอุปมาอุปไมยว่า

เพศตรงข้ามที่เป็นนางมนุษย์จะมารบกวนตัวเขาได้อย่างไร ก็ในเมื่อตัวเขาก็กำลังคลุกคลีอยู่กับ "นางฟ้า" ทั้งกลางวันและกลางคืนอยู่แล้ว และตราบใดที่ "นางฟ้า" ของเขายังคงชนะน้ำใจของเขาได้อยู่เช่นนี้ โรคกระสันถึงเพศตรงข้ามที่เป็นนางมนุษย์คงไม่เกิดขึ้นได้หรอก


พระหนุ่มรูปนั้น พอได้ฟังคำตอบเช่นนี้จากปากของอินทปัญโญ ถึงกับทำหน้างุนงงนึกว่าอินทปัญโญถอดจิตไปสู่เทวภูมิไปคลุกคลีอยู่กับเหล่าเทพธิดาจริงๆ จนอินทปัญโญต้องรีบชี้แจงให้เข้าใจเสียใหม่ว่า "นางฟ้า" ที่เขาหมายถึง นี้คือ พุทธพจน์ต่างๆ ในพระไตรปิฎกอันแสนจะงดงามที่กล่าวจากพระโอษฐ์แห่งพระจอมมุนี เป็นที่ใฝ่ฝันถึงของสัตว์ทั้งหลายที่ปรารถนาความรู้แจ้ง และเป็นที่ผูกมัดดวงใจของเหล่าพุทธบุตรทั้งปวงให้หลงใหลยินดี

"มันจะเป็นนางฟ้าได้อย่างไร ทำไมท่านจึงเห็นหนังสืออย่างพระไตรปิฎกเป็นนางฟ้าได้ ผมไม่เข้าใจเลย" พระหนุ่มรูปนั้นซึ่งอินทรีย์ทางธรรมยังไม่แก่กล้าได้ถามสอดขึ้นมาโดยอินทปัญโญยังไม่ทันอธิบาย เมื่ออินทปัญโญอธิบาย เขาก็ฟังด้วยความเอาใจใส่ดังต่อไปนี้

"ฉันไม่ได้หมายความว่า หนังสือเล่มๆ เป็นนางฟ้าหรอกนะ แต่ฉันหมายเอา รสชาติอันเกิดจากการศึกษาปริยัติคือพระไตรปิฎก หรือจากการปฏิบัติตามพระไตรปิฎก และปฏิเวธคือการได้รู้ความจริงจนแจ่มแจ้งตามพระไตรปิฎกต่างหากว่าเป็นนางฟ้า..."

จะมีก็แต่บุคคลที่เคยมี ประสบการณ์ที่สวยงามที่สุดในชีวิตกับคำสอนโดยตรงจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า อย่างอินทปัญโญมาก่อนแล้วเท่านั้น ถึงจะสามารถเสพ "ความเป็นทิพย์" ที่เป็นรสชาติอันปีติล้ำลึกยิ่งกว่าการเสพด้วยประสาทสัมผัสแห่งกายเนื้อทั้งหลายทั้งปวงได้

ประสบการณ์ทางจิตวิญญาณที่แสนจะวิเศษ ที่ตัวอินทปัญโญได้สัมผัสพบจาก "คุรุ" ที่เป็น พระพุทธเจ้าโดยตรง โดยผ่านพระไตรปิฎกนี้ มันทำให้วันคืนแต่ละวันแต่ละคืนที่ตัวเขาผ่านพ้น ในช่วงเก้าปีมานี้ได้กลายเป็น วันคืนแห่งกรรมฐาน แทบทุกลมหายใจเข้าออกของตัวเขา

การศึกษาและปฏิบัติตามพระไตรปิฎกของเขา มันทำให้ตัวเขา เสพติดในพุทธธรรม ได้เช่นเดียวกับที่ชายหนุ่มคนหนึ่งหลงใหลหญิงสาวคนหนึ่งที่ตนเห็นว่าสวยและดีพร้อมว่าหญิงใดในโลก และที่มันเป็นเช่นนี้ได้ ก็เพราะตัวเขาเป็นคนที่หมกมุ่นสนใจในเรื่องพุทธธรรมนี้อย่างแท้จริงอย่างมีอิทธิบาท 4 ครบบริบูรณ์ กล่าวคือ ตัวเขาทั้งพอใจในพุทธธรรม มีความพยายาม สละได้ทุกสิ่งเพื่อเข้าถึงพุทธธรรม มีความเอาใจใส่ฝักใฝ่ตลอดเวลาในพุทธธรรม และคิดค้นหาเหตุผลและคำตอบอยู่เสมอในเรื่องที่เกี่ยวกับพุทธธรรม

การใส่ใจในพุทธธรรมอย่างครบองค์แห่งอิทธิบาท 4 เช่นนี้เองที่ทำให้วันเวลาที่ผ่านพ้นไปของอินทปัญโญกลายเป็นวันคืนแห่งกรรมฐาน

สำหรับ อินทปัญโญแล้ว วันคืนแห่งกรรมฐานของเขา คือวันคืนแห่งการคิด แห่งการวิปัสสนาเรื่องพุทธธรรมเท่านั้น จากการศึกษาของเขา ตัวเขาได้ค้นพบว่า ไม่เคยมีใครบรรลุวิมุตติด้วยการสงบหรือสมถะเลย ทุกคนบรรลุด้วยการคิดหรือการวิปัสสนาจน ปลงตก ทั้งนั้น

ปลงตก คือ การเห็นทะลุแจ้งอย่างแตกฉานซึมซาบใจในสิ่งนั้น จริงอยู่สมถะเป็นสิ่งจำเป็น เมื่อจิตใจยังถูกความวิตกชั่วร้ายมารบกวน แต่ถ้ามันไม่มารบกวนแล้วจะมัวไปคิดถึงสมถะทำไม สู้ทำลายอกุศลวิตกให้แหลกละเอียดด้วยการคิด การวิปัสสนาไม่ดีกว่าหรือ

สิ่งที่อินทปัญโญใช้เป็นหลักยึดตลอดวันคืนแห่งกรรมฐานของเขา จึงเป็น "สติ" ที่เขาใช้ทำหน้าที่เป็นยามระวังเหตุให้แก่ใจเขาอยู่เสมอ ไม่ว่าอกุศล ลามกธรรมใดๆ ที่ผ่านเข้ามาในใจเขาแม้เพียงเล็กน้อย "สติ" ที่ตัวเขาฝึกฝนไว้อย่างดีแล้ว จะเป็นผู้จับกุมมันส่งไปยังกองปัญญาหรือวิปัสสนาทันที จากนั้นก็ทำการสอบสวน ค้นหาสาเหตุ-ผลลัพธ์ วิธีทำลาย และป้องกันอย่างเคร่งครัดทุกครั้งเสมอ

สำหรับอินทปัญโญแล้ว การประหารกิเลสทุกชนิดที่เข้ามาติดตาข่ายแห่งสติของตัวเขาเสมอไปทุกครั้งก็คือ "นิพพาน" น้อยๆ ของตัวเขาทุกครั้งเช่นกัน นิพพานแห่งกิเลสตัวน้อยๆ ที่ตัวเขาค่อยๆ ขุดรากถอนโคนมันออกไปทีละน้อยๆ ในแค่ละวันคืนแห่งกรรมฐานที่ นักภาวนา อย่างเขาผ่านพ้น

การคิดหรือวิปัสสนา ถ้าไม่แยบคาย ก็ดูเหมือนจะไม่มีอะไรให้คิด แต่ถ้าคิดให้แยบคาย คิดให้ลึกในเรื่องที่เกี่ยวกับทุกข์ และการดับทุกข์แล้ว อินทปัญโญได้พบว่า ปัญหานิพพานคืออะไร?นี้ มันสามารถคิด สามารถวิปัสสนาได้ทุกวัน มีแง่ให้คิดกระทั่งทุกอิริยาบถก็ล้วนแต่มีแง่สำหรับคิดทั้งนั้น ในความเข้าใจของอินทปัญโญ เขามีความเห็นว่า พระพุทธองค์ก็น่าจะผ่านวันคืนแห่งกรรมฐานของพระองค์ ด้วยการคิดตีปัญหานั้นเรื่อยๆ จนทะละปรุโปร่งไปหมด พระองค์น่าจะทรงคิดมาแล้วเป็นอันมาก คิดมาก่อนที่ทรงจะตรัสรู้ และคงคิดมาตั้งแต่ชาติก่อนๆ ด้วยซ้ำ และการคิดของพระองค์ได้มารวบรวมเหตุผลตัดสินเป็นหนึ่งเด็ดขาดลงไปในวันตรัสรู้นั่นเอง ซึ่งเป็นวันที่ถึงที่สุดแห่งการคิดแต่เพียงนั้นของพระองค์

ก่อนที่จะทรงผนวช พระองค์คงทรงคิด ทรงค้นคว้ามาเรื่อยๆ ว่าอะไรคือทุกข์ อะไรให้เกิดทุกข์ อะไรดับทุกข์ได้ และอะไรให้ถึงความดับทุกข์นั้น ครั้งเมื่อพระองค์ทรงรวบรวมเหตุผลได้มากพอ ก็ทรงพบความจริงสูงสุดอันนี้ ที่ถูกต้องคงที่ไม่แปรปรวนอีก จึงเห็นได้ว่าวันคืนแห่งกรรมฐานคือการคิด! หาใช่ความสงบระงับ หาความสุขจากวิเวกแต่ถ่ายเดียวก็หาไม่ ผลสำคัญนั้นอยู่ที่การคิด การวิปัสสนา เหตุที่คนเราต้องสงบก็เพื่อให้คิดให้วิปัสสนาได้อย่างลึกซึ้ง จนกระทั่งคิดตกปลงตกได้ แล้วการคิดตกปลงตกนั่นแหละที่จะกลายมาเป็นอาวุธที่สามารถทำลายราคะ โทสะ โมหะของผู้นั้นให้สิ้นได้

เพราะการคิดตกปลงตกจนใจโล่งโปร่งอกโปร่งใจ กระทั่งหมดความอยากใดๆ หมดความรู้สึกสงสัยใดๆ ในสิ่งที่ตนได้รู้แล้ว และไม่สงสัยว่ามีอะไรที่ดีกว่านี้เหลืออยู่อีก มันจะทำให้ผู้นั้นเยือกเย็นอย่างแสนจะเย็น และมีปีติซาบซ่านอย่างสงบสุขไม่รู้จักแปรผัน อันเป็นรสชาติที่อินทปัญโญได้สัมผัสมาแล้วจากการศึกษา และปฏิบัติพุทธธรรมจนไม่รู้จักลืม และไม่มีวันหมดความภักดีต่อคุรุผู้เป็นพระพุทธองค์ของตัวเขาไปได้

พุทธธรรมได้กลายมาเป็น "วิถีชีวิต" ของอินทปัญโญอย่างสมบูรณ์แล้ว...วิถีแห่งจิตอันมีแต่จะวิวัฒน์ไปในทางที่สูงส่งยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

พุทธธรรม ได้กลายมาเป็น ศาสนาของอินทปัญโญที่ช่วยบำรุง หล่อเลี้ยงชีวิตทางจิตวิญญาณของตัวเขาให้สดชื่นเยือกเย็นอยู่เสมอ

พุทธธรรม ได้กลายมาเป็น ปรัชญา ของอินทปัญโญที่ช่วยให้เกิดอุดมคติอันแรงกล้าในการที่จะกระตุ้นให้ตัวเขาปฏิบัติภารกิจตามอุดมคติอันสูงส่งของตัวเขา

พุทธธรรม ได้กลายมาเป็น วิทยาศาสตร์ ของอินทปัญโญในการช่วยให้เขาเป็นผู้รู้จักเหตุผล และใช้ชีวิตอย่างอยู่ในอำนาจแห่งเหตุผลเสมอ

พุทธธรรม ได้กลายมาเป็น ศิลปะแห่งการครองชีวิต ของอินทปัญโญ ทำให้เขาสามารถบังคับตัวเอง บงการชีวิตของตัวเองได้อย่างสมบูรณ์ จนชีวิตเขาเปี่ยมไปด้วยความแจ่มใส งดงาม น่าชุ่มชื่นใจอยู่เสมอ

พุทธธรรม ได้กลายมาเป็น ภูมิธรรม ของอินทปัญโญ เป็นธรรมสมบัติแห่งความจริง ความดี และความงามในตัวของเขา จนกลายเป็น บุคลิกภาพ ที่น่าเลื่อมใส น่าไว้วางใจ น่าคบหาสมาคมของตัวเขา

พุทธธรรม ได้กลายมาเป็น ความรู้ ของอินทปัญโญ ช่วยให้ตัวเขาสามารถที่จะใช้ความคิดและวินิจฉัยสิ่งต่างๆ เรื่องราวต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง

พุทธธรรม ได้กลายมาเป็น สติปัญญา ของอินทปัญโญ ช่วยให้ตัวเขามีสมรรถภาพและปฏิภาณในการดำเนินงานของชีวิต ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ตาม แนวทางหลุดพ้นด้วยความรู้ (ญาณโยคะ) นอกจากนี้ยังทำให้งานของชีวิตเขาทุกชนิด ทุกระดับดำเนินไปได้โดยง่าย โดยเร็ว โดยสมบูรณ์ และปลอดภัยโดยประการทั้งปวง

สุดท้าย พุทธธรรม ยังได้กลายมาเป็น อนามัย ของอินทปัญโญ ทั้งในฐานกาย ฐานใจ และฐานจิตวิญญาณที่ช่วยนำพาตัวเขาไปสู่จุดหมายสูงสุดของชีวิตได้อย่างตลอดรอดฝั่ง สมตามความปรารถนา

ความลึกซึ้ง ความลึกล้ำในตัวของอินทปัญโญที่เป็นที่ฮือฮา และแตกตื่นของผู้คนในยุคเดียวกับตัวเขานั้น ล้วนมีที่มาจาก องค์คุณ 8 ประการของพุทธธรรม ดังข้างต้นที่ถูกบูรณาการรวมกันเป็น ทางสายเดียวของอินทปัญโญ ทำให้ตัวเขาสามารถดำเนินชีวิตแต่ละวันคืนแห่งกรรมฐานของเขาไปได้อย่างน่าพอใจ จนตัวเขาแทบอยากจะลุกขึ้นมาป่าวประกาศกู่ร้องให้ก้องโลกว่า

"จงลองมาเดินทางสายนี้ อันเป็น เส้นทางแห่งพุทธธรรม ด้วยตัวของท่านเองดูบ้างเถิด ผลในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์ ชื่อเสียง และมิตรภาพ รวมทั้ง ผลในโลกหน้า คือสุคติ และ ผลอันสูงสุด พ้นจากโลกทั้งปวง คือนิพพานย่อมเป็นสิ่งที่หวังได้ครบถ้วน โดยไม่ต้องสงสัยเลย"





 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้