11. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 11 สิบปีในสวนโมกข์ 11/7/49

11. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 11 สิบปีในสวนโมกข์ 11/7/49

พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส (ตอนที่ 11)
 

11. สิบปีในสวนโมกข์

"พวกเราในสวนโมกข์กำลังได้รับความพอใจในงานที่ทำ มีความกล้าหาญรื่นเริง เป็นสุขสบายดีอยู่ทั่วกันทุกคน และตั้งใจที่จะทำหน้าที่ของเราเรื่อยๆ ไป ไม่ว่าสถานการณ์ของโลกจะเปลี่ยนไปอย่างใดก็ตาม"

พุทธทาสภิกขุ พ.ศ. 2486

ตลอดเวลา 2 ปีแรกที่อินทปัญโญเข้าไปอยู่ในสวนโมกข์ตั้งแต่ช่วงกลางปี พ.ศ. 2475 ไม่มีใครอาศัยอยู่ในสวนโมกข์เลย มีแต่อินทปัญโญคนเดียวเท่านั้น กว่าจะมีภิกษุสามเณรจากที่อื่นไปเยี่ยมสวนโมกข์ เพราะได้ข่าวเรื่องสวนโมกข์จากหนังสือพิมพ์พุทธสาสนาที่เขากับน้องชายร่วมกันทำ ก็ตกเข้าในปีที่สาม อินทปัญโญจึงอยู่คนเดียวตลอดเวลา 2 ปีแรกในสวนโมกข์ทั้งในและนอกพรรษา

2 ปีเริ่มแรกของสวนโมกข์ เมื่อเปรียบเทียบกับสิบปีให้หลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังจากที่อินทปัญโญมีชื่อเสียงเป็นที่โด่งดังร่ำลือกันไปทั่วประเทศแล้ว มีความสะดวกสบายต่างกันอย่างเทียบกันไม่ได้ แต่ ความไม่สะดวกในสภาพการเป็นอยู่ของสวนโมกข์ในช่วงสองปีแรกกลับให้ความพอใจที่ล้ำลึกแก่อินทปัญโญมากกว่าในแง่ของการฝึกฝนจิต แบบว่าความสะดวกสบายกัดกร่อนบั่นทอนความเข้มแข็งของคน ขณะที่ความยากลำบากกลับเสริมสร้างคนให้แข็งแกร่ง ทุกสิ่งจึงมี 2 ด้านเสมอ ความสะดวกสบายของชีวิตจึงมี "ราคา" ที่ต้องจ่ายออกไปเหมือนกัน ขณะที่ความยากลำบากของชีวิตก็มี "รางวัล" เป็นผลตอบแทนคืนมาเช่นกัน

ประสบการณ์อันมีค่าที่อินทปัญโญได้รับในช่วงสองปีแรกของการเป็นพระป่าที่ต้องอยู่คนเดียวในสวนโมกข์ก็คือ การได้เผชิญกับความสะดุ้งหวาดเสียวชนิดต่างๆ นับครั้งไม่ถ้วน ทำให้ได้ฝึกกำลังใจ ได้ฝึกความช้าเร็วของสติ และได้ฝึกสู้รบกับความหวาดกลัวจนช่ำชอง

รสชาติของการอยู่คนเดียวในสถานที่อันสงัดและดึกสงัด ที่อินทปัญโญได้สัมผัสนั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจบอกผ่านตัวหนังสือได้อย่างหมดจด จากสิ่งที่เคยกลัวกลายเป็นของธรรมดามากเข้า จนบางครั้งกลายเป็นเรื่องขบขันคนเดียว และเมื่อเป็นไปในทำนองนี้มากเข้า อุปสรรคอันเกิดจากความกลัวที่คอยกีดกันความเป็นสมาธิแห่งจิตของเขาก็มีน้อยเข้าและหมดสิ้นไปในที่สุด

บัดนี้ อินทปัญโญสามารถจะนั่งสมาธิภาวนาอยู่คนเดียวในที่โล่ง ในเวลากลางคืนอันสงัด โดยไม่จำเป็นต้องมีเครื่องคุ้มครองใดๆ นอกจากจีวรที่เขาห่มอยู่ และจิตที่แน่วแน่ในการฝึกฝนได้ตามใจปรารถนาของตัวเขา สิ่งที่อินทปัญโญได้เรียนรู้มากที่สุดจากการอยู่คนเดียวในช่วงสองปีแรก คือการที่ตัวเขาได้ฝึกฝน "การตื่น" และควบคุมการตื่นของเขาให้นิ่มนวลจนอาจคล้อยตามความต้องการของตนได้ทุกเมื่อ

ทรัพย์สมบัติที่อินทปัญโญมีติดตัว ขณะที่อยู่ที่สวนโมกข์ก็มีเพียงบาตร 1 ใบ มีฝาทองเหลืองชนิดตักน้ำฉันได้ กับถังตักน้ำเล็กๆ จากบ่อน้ำใบหนึ่ง และจีวรเท่าที่จำเป็นจะต้องมี นอกจากนี้ก็มีตะเกียงน้ำมันมะพร้าวดวงหนึ่ง ต่อมาเมื่อคิดออกหนังสือพิมพ์พุทธสาสนา ทำให้ต้องมีกระดาษดินสอ และหนังสือบางเล่ม

เมื่อมีงานหนังสือและหนังสือพิมพ์เกิดขึ้น ทำให้มีแขกทั้งที่เป็นบรรพชิตและฆราวาสเพิ่มขึ้น ความเป็นอยู่ในสวนโมกข์หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนไป จากการเป็นอยู่สำหรับคนโดดเดี่ยวมาเป็นการเป็นอยู่อย่างหลายคนหรือเกี่ยวข้องกับคนหลายคนทำให้ต้องสร้างกระต๊อบสำหรับพระเณรมาใหม่ และกระต๊อบทำงานหนังสือ มีเครื่องใช้ไม้สอย สำหรับหลายคนทั้งยามปกติและยามเจ็บไข้ มีที่รับแขก และมีการร่วมมือบางสิ่งบางอย่างกับวัดวาอารามอื่นๆ คือเริ่มเป็นสำนักปฏิบัติธรรมที่เป็นรูปเป็นร่างแล้ว

ในปีที่สามของสวนโมกข์ มีภิกษุอีกรูปหนึ่งมาร่วมจำพรรษากับอินทปัญโญด้วย ภิกษุรูปนี้เป็นชาวภาคอีสาน ได้เดินเท้ามาตลอดทางจนถึงสวนโมกข์ มีความเข้มแข็งอดทนผิดธรรมดา ซื่อตรง เปิดเผย มีคุณสมบัติเหมาะแก่การเป็นนักปฏิบัติธรรมทุกประการ แม้จะมีภูมิทางปริยัติน้อย เทศน์ไม่เป็น แต่อินทปัญโญให้ความชื่นชมเลื่อมใสภิกษุรูปนี้มาก จนถึงกับปรารภว่า ถึงมีคนชนิดนี้เพียงคนเดียว ก็พอแล้วสำหรับสวนโมกข์ที่จะเรียกขานตนเองว่าเป็นสำนักปฏิบัติธรรม คนเราถ้ามีเพื่อนดีๆ เป็นกัลยาณมิตรของกันและกันแค่ 3-4 คน ก็เพียงพอแล้ว สำหรับการเดินทางไปบนเส้นทางธรรมจวบจนวันตาย...นี่คือความเห็นของอินทปัญโญ

ในปีต่อๆ มา มีภิกษุและสามเณรมาขออยู่อาศัยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คราวละรูปสองรูป บางปีอยู่จำพรรษากันถึง 10 รูป ก็ยังมีในตอนหลัง นอกจากนี้ แขกที่เป็นฆราวาสที่แวะมาพักวันสองวันที่สวนโมกข์ก็มีมากขึ้นตามลำดับ

การที่สวนโมกข์ในฐานะที่เป็นสำนักปฏิบัติธรรมมีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้อินทปัญโญในฐานะที่เป็นเจ้าสำนักต้องคิดเรื่องการให้ ของเล่น แก่ภิกษุสามเณรในสำนัก เพราะอินทปัญโญเห็นว่า ของเล่นหรือการเล่นเป็นสิ่งที่คู่กันมากับพัฒนาการของสังคมมนุษย์อย่างแยกกันไม่ได้ ทั้งฆราวาสไม่ว่ายากดีมีจนต่างก็มีการเล่นหรือของเล่นประจำตัวกันทั้งนั้น บรรพชิตก็เล่นเช่นกัน ถ้าเป็นพระที่มีภูมิธรรมสูงแล้ว ก็มักจะเล่นฌาน เล่นสมาบัติซึ่งเป็นการออกกำลังทางจิตเหมือนพวกนักกีฬาที่ออกกำลังกาย ซ้อมกีฬายากๆ ของตน

สำหรับพวกที่เพิ่งบวชหรือยังไกลต่อการเข้าฌาน อินทปัญโญได้แนะให้พวกเขาเล่นสิ่งที่เกี่ยวกับการศึกษา หาความรู้รอบตัว ให้คอยศึกษาธรรมชาติรอบๆ ตัวอย่างละเอียด จากนก จากปลา จากต้นไม้ จากดอกไม้เพื่อเรียนรู้เรื่องการสืบพันธุ์ การงอก การเจริญเติบโตของชีวิต

นอกจากนี้ อินทปัญโญยังแนะให้พวกเขาเล่นเกี่ยวกับงานก่อสร้าง รู้จักใช้และทำเครื่องมือเพื่อสะดวกในการที่จะเล่นหรือทำงานจริงๆ อย่างอื่นๆ ในวันข้างหน้า เครื่องอุปกรณ์เกี่ยวกับการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ เรื่องเสียง แสง ไฟฟ้า และกลศาสตร์ อินทปัญโญก็แนะให้หามาเล่นและค้นคว้าทดลองทำดูตามที่จะหาได้ ทำได้ พาเที่ยวดูได้ อินทปัญโญเห็นว่า แม้สิ่งเหล่านี้จะไม่เป็นของเล่นโดยตรง แต่มันก็สามารถช่วยแปลงสัญชาตญาณในการรักเล่นของคนเราให้ผันแปรไปในทางสร้างสรรค์ ทางการศึกษา เพื่อไม่ให้สัญชาตญาณในการรักเล่นนี้สร้างความเดือดร้อนให้แก่จิตใจ เหมือนพวกปุถุชนที่ไม่รู้วิธีจัดการกับสัญชาตญาณรักเล่น รักสนุกที่ดำรงอยู่ในตน ในทางสร้างสรรค์ จนนำมาซึ่งปัญหาและความวิบัติให้แก่ชีวิตของตน

อินทปัญโญยังชี้แนะพวกเขาให้ใส่ใจในวิชาความรู้ ให้ตั้งใจเรียนมาก ทำงานมาก กินอยู่ง่าย อดทนและบริสุทธิ์ ปรารถนาสูงในการบำเพ็ญประโยชน์ ทั้งแก่ตนและผู้อื่นโดยเขาทำตัวเองให้เป็นแบบอย่าง แต่เขาก็ย้ำให้พวกเขาตระหนักอยู่เสมอว่า จะต้องผ่านพ้นวันเวลาทั้งหลายไปด้วยรอยยิ้ม ด้วยความเพลิดเพลิน ด้วยความรู้สึกสนุก และด้วยเสียงหัวเราะในบางครั้ง เพื่อไม่ให้ชีวิตเคร่งเครียด ไม่ให้ความคิดนึกแคบ ไม่ให้เส้นประสาทตีบตันขมึงเกลียว จนอาจเปิดโอกาสให้แก่โรคภัยบางอย่างซึ่งรวมทั้งการป่วยทางจิตได้

อินทปัญโญย้ำให้ภิกษุสามเณรในสำนักของเขา ใช้ชีวิตในแต่ละวันด้วยการหมั่นสังเกตอย่างระมัดระวัง และละเอียดลออในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการกิน การนอน การได้พบ การได้เห็น การได้ยิน การได้ฟัง การเล่น การเที่ยว การสมาคม ฯลฯ โดยให้ถือเสียว่า ทุกอย่างเป็นการเรียนรู้ เป็นการศึกษาหมด เพื่อช่วยให้พวกเขารู้จักสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริงเร็วเข้า จนไม่เที่ยวติดอยู่ในสิ่งใดๆ และไม่มีความทุกข์ในจิตใจ ให้พวกเขามีชีวิตอยู่ด้วยความตระหนักรู้ หมั่นเพียรขยันทำงาน ขยันศึกษาเรียนรู้ เพียงเพื่อเป็นหน้าที่ของกายสังขารที่ยังไม่แตกดับ ให้มีปัญญา มีความฉลาดรอบรู้ และรู้ทันจิตในทุกๆ อิริยาบถที่เคลื่อนไหวจนกว่าตนเองจะรู้สิ่งที่สูงสุด ไม่มีอะไรรบกวนความอยากรู้อีกต่อไป

จากการศึกษาพัฒนาการของตนเองและคนอื่นอย่างละเอียดและต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน อินทปัญโญได้ข้อสรุปว่า การที่คนเราจะดีได้ หรือจะมีความสามารถจริงๆ ได้นั้น มันกินเวลานานมาก เพราะเพียงแค่การศึกษาจากการอ่านตำรา อ่านหนังสืออย่างเดียวมันไม่เพียงพอต่อการพัฒนาความเป็นมนุษย์ของผู้นั้นอย่างรอบด้าน มันยังจำเป็นจะต้องมีการอบรมเรื่องจรรยามารยาทที่ดีงาม ทั้งทางจิตและทางกายควบคู่ไปกับการศึกษาจากตัวหนังสือด้วย

กล่าวคือ อินทปัญโญเห็นว่า คนเราจะดีได้จริง คนผู้นั้นจะต้องมีวินัยที่ดี คือสามารถบังคับตัวเอง ทั้งในที่ลับและในที่แจ้งให้ได้เสียก่อน โดยการฝึกฝนตนเองให้มีวินัยทั้งภายในและภายนอกนี้จะต้องดำเนินควบคู่ไปกับการศึกษาจากหนังสือถึงจะได้ผล มิหนำซ้ำทั้งสองอย่างนี้ต่างก็กินเวลามากเท่าๆ กันในการบ่มเพาะพัฒนา แถมทั้งคู่ยังเป็นสิ่งที่นานเข้าก็น่าเบื่อ จึงต้องอาศัยการปลุกปลอบเร้าใจจากครู และมิตรสหายอยู่เสมอๆ ด้วย ซึ่งก็เป็นงานหนักอึ้งทีเดียวสำหรับครู เพราะต้องหยั่งทราบถึงความในใจคนอื่นให้ได้ ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อครูมีโอกาสจับตาดูด้วยความสังเกตอย่างใกล้ชิดอยู่เสมอเท่านั้น มิฉะนั้น นักศึกษาเหล่านั้นจะตลอดรอดฝั่งไปไม่ได้

อินทปัญโญได้พยายามอย่างเต็มที่ในช่วงหลายปีหลังๆ ของสิบปีแรกในสวนโมกข์ของเขาที่จะทำให้ทุกๆ คนที่เข้ามาอยู่ในสำนักของเขาอยู่ด้วยกัน อย่างทำตนเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน ปลุกปลอบน้ำใจของกันและกัน โดยอาศัยความรัก ความจริงใจที่มีต่อกันเป็นสำคัญอยู่เสมอ อินทปัญโญได้พยายามทุกวิถีทางในอันที่จะทำให้การกระทำของเขา และคนอื่นที่มาอยู่ร่วมกับเขาผลักดัน ทั้งหมดให้เติบโตพัฒนาไปในทางที่สูงส่งยิ่งขึ้นอยู่ตลอดเวลา

สิบปีในสวนโมกข์ที่ผ่านมานี้ อินทปัญโญเชื่อมั่นว่าตัวเขาและพรรคพวกได้ทำให้ลุล่วงไปตามอุดมคติ และความใฝ่ฝันที่พวกเขาได้ตั้งไว้ตอนเริ่มก่อตั้งสวนโมกข์ใหม่ได้หลายสิบเปอร์เซ็นต์แล้ว และตัวเขาหวังว่า มันคงจะได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์สักคราวหนึ่งในวันข้างหน้า

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขาหวังว่า พวกเขาจะมีความสามารถยิ่งๆ ขึ้นไปในการเผยแผ่พุทธธรรมของพระพุทธองค์ ซึ่งตัวเขาเห็นว่าเป็นหนทางเดียวที่จะสร้างสันติภาพให้แก่โลกได้อย่างยั่งยืน โดยที่ ตัวเขายินดีเสียสละ อดทนต่อการกระทบกระทั่งจากผู้อื่นที่เข้าใจผิด และพร้อมรับการชื่นชมยินดีจากผู้อนุโมทนาสาธุการ เนื่องจากมีความเข้าใจถูกในงานที่พวกเขากำลังทำอยู่ จนกว่าจะลุถึงจุดหมาย

สิบปีมานี้ อุดมการณ์ในการก่อตั้งสวนโมกข์เพื่อส่งเสริมในเรื่องทางจิตวิญญาณให้มีความเข้าใจในเรื่องทางจิตวิญญาณของอินทปัญโญ ไม่เคยเปลี่ยนมีแต่มั่นคงแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกว่าเดิม เขาก่อตั้งสวนโมกข์นี้ขึ้นมาเพียงเพื่อให้เพื่อนมนุษย์ได้รู้จักสิ่งที่เรียกว่า ธรรม ในลักษณะที่ลึกเข้าไปอย่างลึกซึ้งยิ่งจนเข้าไปถึงตัวจริงอย่างสมบูรณ์แท้ ซึ่งเขาเชื่อว่าจะทำให้มนุษย์หมดปัญหาได้

...สิบปีในสวนโมกข์ของอินทปัญโญ เมื่อปี พ.ศ. 2486 (ค.ศ. 1943)
ขณะนั้น อินทปัญโญเพิ่งมีอายุ 37 ปีเท่านั้น แต่ตัวเขาได้ล่วงเข้าสู่ พรมแดนแห่ง "ยอดคน" แล้ว





 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้