13. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 13 เว่ยหล่าง 25/7/49

13. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 13 เว่ยหล่าง 25/7/49

พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส (ตอนที่ 13)
 


13. เว่ยหล่าง

"พุทธะ อยู่หลังม่านแห่ง ความโง่ ของตัวเราเองเสมอ"

พุทธทาสภิกขุ

เว่ยหล่าง (ฮุ่ยเหนิง) เป็นผู้ที่ไม่รู้หนังสือเลย เขาเป็นคนบ้านป่าอยู่ถึงทางใต้ของจีนแถบกวางตุ้ง ขณะที่เขาอายุเพียงยี่สิบสี่ปี ขณะที่กำลังหาบฟืนไปขายที่ตลาด บังเอิญได้ยินชายคนหนึ่งกำลังบริกรรม "วัชรเฉทิกปรัชญาปารมิตาสูตร" (คัมภีร์เพชรที่ตัดทำลายมายา) อยู่ พอได้ยินข้อความบางตอนจากสูตรนี้เท่านั้น ใจของเขาก็ลุกโพลงสว่างไสวในพุทธธรรมในทันที ข้อความตอนนั้นเป็นดังนี้

"ถ้าโพธิสัตว์หรือผู้แสวงธรรม ยังมีจิตยึดมั่นผูกพันอยู่กับ ตัวตน บุคคลแล้วไซร้ เขาก็ยังหาใช่พระโพธิสัตว์แท้จริงไม่...พุทธะ คือ ผู้ที่เป็นอิสระแล้วจากความคิดทั้งปวง แม้แต่การบรรลุธรรมนี้ แท้จริงแล้วมิได้มีการบรรลุเลย จึงเรียกว่า บรรลุธรรม"

เว่ยหล่างซักถามชายผู้นั้นว่ามาจากที่ใด พอได้คำตอบว่า มาจากวัดตุงซั่น เมืองคีเจา มีท่านอาจารย์หวางยั่น (ฮุงเจ็น) ซึ่งเป็นพระสังฆปริณายกแห่งนิกายเซนรุ่นที่ห้าของจีน ซึ่งมักสอนพวกลูกศิษย์ทั้งที่เป็นคฤหัสถ์ และบรรพชิตอยู่เสมอให้บริกรรมสูตรๆ นี้ เผื่อว่าจะสามารถเห็น จิตเดิมแท้ ของตนเองและ เข้าถึงความเป็นพุทธะได้โดยตรง

เว่ยหล่างตัดสินใจเดินทางไปหาพระสังฆปริณายกท่านนี้ทันที แม้จะต้องเดินทางรอนแรมถึงสามสิบวัน เพราะเขาตระหนักรู้แก่ใจตนเองแล้วว่า ในชีวิตนี้ของเขา ตัวเขาไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว นอกจากธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะอย่างเดียวเท่านั้น

เว่ยหล่างตัดสินใจบวชเป็นลูกวัดในวัดของท่านสังฆปริณายกทันทีที่ไปถึง ความที่เขาไม่รู้หนังสือ และมิได้มีฐานะทางสังคมใดๆ เขาจึงถูกส่งไปทำงานโม่ข้าวเป็นแป้งในโรงนาของวัด โดยแทบไม่มีโอกาสฝึกนั่งสมาธิ หรือว่าเรียนธรรมะใดๆ ที่เป็นคำสอนจากในวัดเพิ่มเติมเลย

การที่เว่ยหล่างได้เคยใช้แรงงานในทุ่งนามาก่อน มีส่วนทำให้ร่างกายของเขาแข็งแรง บึกบึน เมื่อเว่ยหล่างถูกส่งให้มาทำงานโม่ข้าว ซึ่งเป็นอิริยาบถซ้ำซาก โดยเขาต้องโม่ข้าวถึงวันละสิบชั่วโมง และมีเวลาได้ฝึกนั่งสมาธิช่วงสั้นๆ ในช่วงตอนเช้ากับตอนเย็นเท่านั้น แต่เว่ยหล่างก็ตั้งใจทำงานที่ได้รับมอบหมายมาอย่างเต็มที่ โดยไม่เคยปริปากบ่นเลย

ในช่วงแรกๆ การหมุนหินโม่ข้าวของเว่ยหล่างที่เพิ่งเริ่มหัดโม่ข้าวยังไม่คล่อง และกินแรงอยู่ ตัวเขาเองก็ต้องใส่จิตใส่ใจอยู่กับการโม่ข้าวอย่างไรให้ถูกต้องและออกมาดีที่สุด เว่ยหล่างได้แปรการทำงานของเขาให้กลายเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างสมบูรณ์แบบ เขาทำการหมุนหินโม่ข้าวอย่างนี้ทั้งวันอย่างไม่รู้สึกเบื่อหน่ายหรือท้อถอย เมื่อเวลาผ่านไปนานวันเข้า เว่ยหล่างก็ยิ่งชำนาญในการโม่ข้าวขึ้นเรื่อยๆ จนเขาเริ่มใส่ใจกับอาการโม่ข้าวน้อยลง เพราะร่างกายเขาเริ่มสามารถหมุนหินโม่ข้าวโดยอัตโนมัติได้แล้ว

บัดนี้เว่ยหล่างเริ่มหันมาใส่ใจกับการ "ดูจิต" ของตนเอง ในขณะที่หินโม่ข้าวกำลังหมุนไปแทน นอกจากนี้ในช่วงตอนเช้ากับตอนเย็น เว่ยหล่างก็ เริ่มฝึกลมปราณ หรือ วิชากำลังภายในแบบเซน ของ ปรมาจารย์ตั๊กม้อ (โพธิธรรม) ซึ่งเป็นพระสังฆปริณายกแห่งนิกายเซนรุ่นที่ 1 ของจีน ในท่านั่งสมาธิที่ได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมาด้วย

นานวันเข้า ทั้งๆ ที่เว่ยหล่างไม่ได้มีโอกาสเรียนธรรมะเพิ่มเติมอีกเลย เพราะตัวเขาต้องทำงานโม่ข้าวทั้งวัน แต่ จิตของเขากลับกระจ่างยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เขาสามารถแลเห็น และตระหนักรู้ความรู้สึก ความคิด และอารมณ์ต่างๆ อย่างละเอียดที่บังเกิดขึ้นภายในจิตใจของเขา ขณะที่ตัวเขากำลังโม่ข้าวอยู่ จากนั้นเว่ยหล่างก็ค่อยๆ พุ่งเป้าถ่ายเทความรู้สึก ความคิด และอารมณ์ต่างๆ ทั้งสิ้นทั้งมวลลงไปในเม็ดข้าวทั้งหมดที่กำลังถูกโม่

เว่ยหล่างเริ่มแลเห็นว่า อดีต ปัจจุบัน และอนาคตแห่งความรู้สึกนึกคิดของเขากำลังผนึกรวมเป็นหนึ่งอยู่ในเม็ดข้าวแต่ละเม็ดที่กำลังถูกตัวเขาโม่ เว่ยหล่างโม่เม็ดข้าวแต่ละเม็ดจนกระทั่งแม้แต่อนุสัย หรือกิเลสที่ตกตะกอนอยู่ในก้นบึ้งที่ลึกที่สุดของหัวใจ เขาก็ยังโผล่ออกมาปรากฏบนเม็ดข้าวให้เขาแลเห็น พิจารณาและตระหนักรู้

พอถึงตรงนี้ ดวงจิตของเว่ยหล่างเริ่มสัมผัสกับสภาวะที่ปราศจากความคิดปรุงแต่ง ความว่างปรากฏขึ้นมาอย่างเป็นไปเองในใจเขา จิตของเขานิ่งและสงบอย่างสิ้นเชิง แม้ในขณะที่กำลังโม่ข้าวอยู่ อาจกล่าวได้ว่าทุกๆ รอบที่หินโม่ข้าวหมุนไปนั้น มันได้ปล่อยเปลื้องตัวเว่ยหล่างให้เข้าถึง บรมสันติ ไปในตัว

เว่ยหล่างทำการหมุนหินโม่ข้าวนับเป็นล้านๆ เที่ยว ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกระทั่งเม็ดข้าวก็คือเม็ดข้าว จิตสติของเขาก็คือจิตสติของเขาอย่างสิ้นเชิง ไม่มีการสับสนเจือปนกันเลยแม้แต่น้อย การหมุนหินโม่ข้าวเป็นจำนวนหลายล้านรอบของเว่ยหล่างในขณะเดียวกัน จึงเป็นการบดขยี้สิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนที่แท้หรือจิตเดิมแท้ของเขาให้หลุดร่วงหมดไปจากตัวเขาอย่างสิ้นเชิงด้วย ขณะนี้เว่ยหล่างหลงเหลือแต่จิตสำนึกที่บริสุทธิ์ล้วนๆ อยู่กับตัวเขาเท่านั้น ก่อนที่ "วันแห่งชะตากรรม" จะมาถึง...วันที่เขาแต่ง บนโศลก อันเลื่องชื่อที่เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์การสืบทอดพุทธธรรมแบบเซนในจีนโดยสิ้นเชิง

* * *

พ.ศ. 2489 ณ วัดธารน้ำไหล

สงครามโลกครั้งที่สองเพิ่งยุติลงเมื่อปีก่อน ความเป็นอยู่ในสวนโมกข์ใหม่ยังคงอยู่ในสภาพที่อัตคัดขาดแคลน เช่นเดียวกับผู้คนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ดวงจิตของ อินทปัญโญในวัยสี่สิบกลับสว่างจ้าโชติช่วงอย่างที่ไม่เคยประสบมาก่อน เขาเพิ่งได้รับหนังสือภาษาอังกฤษที่แปลมาจากภาษาจีนเรื่อง "สูตรของเว่ยหล่าง" จากพระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์มาเมื่อวาน และอ่านรวดเดียวจบในคืนนั้นเลยด้วยความตกตะลึง ทึ่ง และอัศจรรย์ใจ

นอกจากคำสอนของพระพุทธองค์ในพระไตรปิฎกแล้ว อินทปัญโญก็เพิ่งได้พบกับคำสอนแนวเซนของเว่ยหล่างนี่แหละที่ทำให้ตัวเขา "ตาสว่าง" ในฉับพลัน ด้วยสติปัญญาที่ลึกล้ำเหนือสามัญชน อินทปัญโญเข้าใจในทันทีเลยว่า คำสอนของเซนเป็นภาษาใจ หรือภาษาปรมัตถ์ อันเป็นอีกระดับหนึ่งที่ต่างไปจากคำสอนของพระไตรปิฎกที่เป็นภาคบรรยายเชิงปรัชญา ซึ่งตัวเขาคุ้นเคยกับมันมาทั้งชีวิต

อินทปัญโญมองเห็นได้อย่างแจ่มแจ้งแทงตลอดแล้วว่า หลักคำสอนของพุทธธรรมนั้นมีสองระดับคือ ระดับที่เป็นปรัชญาภาคบรรยาย ล้วนๆ ซึ่งมุ่งบรรยายให้เห็นว่า ชีวิตอันประกอบด้วยขันธ์ 5 นั้นมีปัญหา และทางรอดอยู่ในตัวมันเองภายใต้กฎของธรรมชาติอย่างไร ทุกข์สุขเกิดขึ้นสิ้นสุดด้วยกฎแห่งเหตุปัจจัย ขันธ์ 5 เป็นดุจมายากล อวิชชาทำให้มนุษย์ถูกลวงล่อจากปรากฏการณ์ธรรมชาติ ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม เมื่อผู้ปฏิบัติมารู้เห็นความจริงที่เป็นไตรลักษณ์ของปรากฏการณ์ทั้งหลาย แลเห็น ความไม่เที่ยง ความไม่มีตัวตนถาวรในทุกสิ่งได้แล้ว ย่อมจะหน่ายคลายจากความหลงใหลยึดติด หลุดพ้นได้ด้วยปัญญาของตนเอง

แต่พุทธธรรมก็ยังมีคำสอนอีกระดับหนึ่งที่เป็น หลักธรรมภาคปฏิบัติ ขั้นที่ไปพ้นจากความลวงล่อของความชาญฉลาดของสมอง เป็นขั้นที่เป็นความจริงเหนือกว่าภาคปรัชญาบรรยาย จนกล่าวได้ว่าเป็นความจริงที่ไม่เกี่ยวกับคำสอน แม้ของพระพุทธเจ้า หรือของพระศาสดาองค์ใด เพราะมันเป็นปัญหาระดับที่พ้นไปจากสมมติ รูปแบบ คำนิยามใดๆ เพราะมันเป็นความจริงที่เข้าถึงได้ด้วยอิสรภาพทางจิตที่เป็นอิสระจากรูปแบบ พิธีกรรมใดๆ

คำสอนของเซน เป็นคำสอนของพุทธธรรมในระดับหลังนี้ และน่าจะถือได้ว่าเป็น คำสอนที่สุดยอดแล้ว เท่าที่ชาวพุทธผู้มีปัญญาทั้งหลายจะเรียนรู้ได้ในปัจจุบันนี้ อินทปัญโญเข้าใจได้ทันทีเลยว่า หลักคิดและแนวปฏิบัติแบบเซนยุคต้นๆ อย่างของเว่ยหล่าง ที่สาวไปได้จนถึงตั๊กม้อ (โพธิธรรม) จะสามารถมีคุณูปการต่อการยกระดับจิตสำนึก และจิตวิญญาณของชาวพุทธไทยที่มีพื้นเพของศาสนาพุทธแบบเถรวาทอย่างหนักแน่น ทั้งในทางปริยัติและทางปฏิบัติให้สามารถเข้าถึงพุทธภูมิได้ภายในชั่วชีวิตนี้

"เราจะต้องหลอมรวม คำสอนแบบเถรวาท ที่สกัดเอามาเฉพาะ แก่น เข้ากับ คำสอนแบบเซน ได้อย่างกลมกลืน จนกลายเป็น คำสอนของพุทธแท้ หรือคำสอนอย่างของพระพุทธเจ้าอย่างเดียวเท่านั้น เพื่อข้ามพ้นความเป็นแขก จีน ไทย ฝรั่ง ได้อย่างสิ้นเชิง จนเป็นแค่ คำสอนสำหรับจิตมนุษย์ทุกคนในลักษณะที่เป็นสากล เท่านั้น" อินทปัญโญตั้งปณิธานไว้กับตนเองในใจ ก่อนที่เขาจะตัดสินใจถ่ายทอดคำสอนเซนของเว่ยหล่างออกมาเป็นภาษาไทย

อย่างไรก็ดี อินทปัญโญก็ตระหนักถึงปัญหาการถ่ายทอดคำสอนของเซนในประเทศนี้ด้วยว่า คำสอนแบบเซนนี้ ไม่เหมาะ สำหรับชาวพุทธเถรวาทที่ยังยึดมั่นในความรู้เดิมของตนอย่างเหนียวแน่น ไม่เหมาะ สำหรับผู้ที่ไม่ชอบคิด ผู้ที่ชอบแต่จะฟังง่ายๆ ท่องจำง่ายๆ ไม่เหมาะ สำหรับผู้ที่มีจิตใจคับแคบ ที่พอได้ฟังคำที่ผิดไปจากความเชื่อเดิมๆ ของตนก็คัดค้านหรือโยนทิ้ง

การที่อินทปัญโญเห็นว่า ไม่เหมาะ ก็เพราะตัวเขารู้อยู่เต็มอกว่า ความเชื่อทางพุทธศาสนา ของคนไทยจำนวนมากในยุคของเขายังถูกปิดกั้นให้คับแคบอยู่ เพราะความแคบตันในระดับของจิตที่ยังมีวิวัฒนาการไม่สูงพอ และมีความจำเป็นต้องได้รับการวิวัฒนาการให้ก้าวไกลไปกว่าเดิมด้วย การปฏิรูปการศึกษา หรือ ปฏิรูปวิธีการเรียนรู้เสียใหม่

อินทปัญโญเชื่อมั่นอย่างแน่นแฟ้นว่า ประโยชน์ของเซนต่อวิวัฒนาการทางจิตของคนไทยส่วนใหญ่อยู่ที่ตรงนี้ นี่ยังไม่นับถึงคุณประโยชน์ที่ เซน พึงมีต่อคนไทยที่เป็นปัญญาชน และแสวงหาพุทธภูมิซึ่งก็ยังมีอยู่จำนวนไม่น้อยในสังคมนี้ สำหรับคนประเภทนี้ เซนของเว่ยหล่าง และฮวงโป คือ ประทีปแห่งปัญญา โดยแท้




 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้