14. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 14 เซนของอินทปัญโญ 1/8/49

14. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 14 เซนของอินทปัญโญ 1/8/49

พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส (ตอนที่ 14)


14. เซนของอินทปัญโญ

"พุทธศาสนาไม่มีอย่างอื่น อย่างไทย อย่างแขก หรืออย่างฝรั่งหรอก จะมีก็แต่ พุทธศาสนาอย่างของพระพุทธเจ้า อย่างเดียวเท่านั้น"

พุทธทาสภิกขุ

อินทปัญโญแลเห็นแนวทางที่ต่างกันระหว่างของเถรวาทกับของเซนอย่างชัดเจนว่า แนวทางแบบเถรวาทนั้น ใช้วิธีจูงใจคนที่ไม่รู้ให้เดินตามมาข้างหลัง ในขณะที่ แนวทางแบบเซนใช้วิธีต้อนคนที่ไม่รู้ให้ออกไปข้างหน้า เพราะฉะนั้น คนเราจะเลือกชอบวิธีไหนก็ต้องคิดไตร่ตรองให้ดี ให้รอบคอบก่อนที่จะตัดสินใจด้วยตัวเองว่า ตัวเองเป็นคนที่ชอบให้ เขา (คุรุ) จูงจมูกดี หรือว่าเราจะเลือกเดินไปข้างหน้าเองในความดูแลหรือบอกใบ้ของ เขา (คุรุ) เพียงเล็กน้อยดี สำหรับคนที่ชอบแบบหลังนี้ ดูเหมือนว่าแนวทางแบบเซนจะเหมาะและมีประโยชน์มากที่สุด อินทปัญโญโดยนิสัยส่วนตัวของเขาก็เป็นคนที่ชอบแบบหลัง คือชอบที่จะเลือกเดินไปข้างหน้าเอง โดยไม่ยอมให้ใครมาจูงจมูกอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นตัวเขาจึงถูกโฉลกกับเซนเป็นพิเศษ

การที่อินทปัญโญได้มาศึกษาเซนของเว่ยหล่างและฮวงโปแล้ว เข้าถึงแก่นแท้ของเซนได้อย่างรวดเร็ว จึงทำให้เขามองได้ทะลุปรุโปร่งว่า ถึงที่สุดแล้วพุทธศาสนาจริงๆ นั้น ไม่มีอย่างจีน หรืออย่างแขก หรืออย่างไทยหรอก จะมีก็มีแต่ พุทธศาสนาอย่างของพระพุทธเจ้า อย่างเดียวเท่านั้น

แต่ว่า วิธีพูด วิธีบอก หรือวิธีนำให้เข้าถึงนั้น ต่างกันได้มากทีเดียว คือต่างกันตามยุค ตามสมัย และตามถิ่นได้ เดิมทีพุทธศาสนาเป็นเรื่องของคนมีปัญญาอยู่แล้วก็จริง แต่ครั้นเมื่อเข้าไปในประเทศจีนสมัยซึ่งคลุ้งไปด้วยกลิ่นอายแห่งสติปัญญาของเต๋า (เล่าจื้อ) และขงจื้ออยู่อย่างเต็มที่แล้ว พุทธศาสนาจะไปพูดด้วยถ้อยคำอย่างเดียวกัน หรือวิธีเดียวกันกับที่พูดให้แก่คนอินเดียที่รู้จักแต่เพียงเลี้ยงวัว และรีดนมวัวไปวันหนึ่งๆ ได้อย่างไรเล่า?

การที่อินทปัญโญคิดได้เช่นนี้ ก็เพราะตัวเขาได้มองทะลุซึ้งถึง ข้อจำกัดของคำสอนแบบเถรวาทในเมืองไทย ในสมัยของเขาที่ผู้คนส่วนใหญ่ทำนา และสนุกสนานเฮฮาไปวันๆ มิหนำซ้ำบรรยากาศทางวัฒนธรรมในสังคมก็หามีกลิ่นอายแห่งสติปัญญาของสำนักคิดใดๆ อยู่อย่างเต็มที่ก็หาไม่ ผู้คนส่วนใหญ่ยังไม่ชอบคิดอะไรที่ลึกซึ้ง และไม่กระวีกระวาดในการแสวงหาเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองเท่าที่ควร

อินทปัญโญจึงได้คิดว่า แนวทางแบบเถรวาทช่างเป็นการเดินของคนที่เดินตามทางใหญ่ที่อ้อมค้อมนัก ขณะที่แนวทางแบบเซนกลับเป็นการเดินของคนที่เดินทางลัด
หรือดำดินไปผุดขึ้นในที่ที่ตนต้องการจะไปให้ถึงเลย แต่คนที่ทำได้เช่นนี้ หาได้ยากยิ่งนัก

แนวทางของเซนอย่างของเว่ยหล่าง และฮวงโปนี้ นอกจากจะเป็น วิธีการที่ลัดสั้น แล้วยังเป็น วิธีปฏิบัติที่อิงหลักธรรมชาติทางจิตใจของคนทั่วไป โดยไม่จำเป็นต้องรู้หนังสือ ไม่จำเป็นต้องอ่านคัมภีร์พระไตรปิฎกเล่มโตๆ และไม่เกี่ยวกับพิธีรีตองใดๆ ทั้งสิ้น เซน จึงถูกขนานนามว่าเป็น "พุทธศาสนาที่อยู่นอกพระไตรปิฎก" รู้ได้ด้วย จิต สู่ จิต ผู้ที่จะศึกษาเซนแล้วได้ผล จึงควรจะเป็นผู้ที่มีใจเปิดกว้าง สามารถลืมอะไรต่างๆ ที่เคยยึดถือไว้แต่ก่อนให้หมดสิ้นได้เสียก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องลืมพระไตรปิฎกลืมระเบียบพิธีต่างๆ ทางศาสนาที่ตนเคยยึดถือให้สิ้น

อินทปัญโญบอกว่า ผู้นั้นจะต้องกล้าลืม แม้กระทั่งความเป็นพุทธบริษัทของตนเสีย ให้คงเอาไว้แต่ใจล้วนๆ ของมนุษย์คนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งไม่จำกัดว่า ชาติใด เพศใด ภาษาใด และนับถือศาสนาไหนด้วย ขอให้เป็นใจที่กำลังคิดเพื่อแก้ ปัญหาทางใจ ของตนเท่านั้นก็พอ โดยเฉพาะปัญหาที่ว่า "ทำอย่างไร จิต ของมนุษย์ทุกคนในลักษณะที่เป็นสากลดังข้างต้นนี้ ถึงจะสามารถ หลุดพ้น จากความบีบคั้นที่หุ้มห่อพัวพันจิตใจของตนได้โดยสิ้นเชิง?"

เซน ตั้งโจทย์ดังข้างต้นนี้เพียงข้อเดียวเท่านั้น โดยตัดเรื่องอื่นๆ ที่เป็นกากกระพี้ออกไปสิ้น ถ้าผู้ใดก็ตามเข้าใจ เซน อย่างที่อินทปัญโญเข้าใจดังข้างต้นนี้แล้ว ผู้นั้นก็ย่อมแลเห็นความต่างระหว่างเซนกับเถรวาท และนิกายอื่นๆ ในศาสนาพุทธได้เอง

ผู้นั้นย่อมเข้าใจความแตกต่างระหว่างศาสนาพุทธในขอบเขตของคัมภีร์กับ ศาสนาพุทธที่อยู่เหนือคัมภีร์

ผู้นั้นย่อมตระหนักถึงความแตกต่างระหว่างพุทธศาสนาที่อิงอยู่กับพิธีรีตองต่างๆ กับพุทธศาสนาที่เป็นอิสระตามธรรมชาติ และเดินตามหลักธรรมชาติ

ผู้นั้นย่อมแยกแยะความแตกต่างระหว่างพุทธศาสนาที่ให้เชื่อก่อนทำ กับ พุทธศาสนาที่ให้ลองทำก่อนเชื่อ

ผู้นั้นย่อมแลเห็นความแตกต่างระหว่างพุทธศาสนาที่เป็นวรรณคดี นิยาย ตำนาน เรื่องเล่ากับ พุทธศาสนาประยุกต์เชิงปฏิบัติการ แล้วก็ย่อมเข้าใจความแตกต่างระหว่าง พุทธศาสนาที่ใช้ได้กับบางคน กับ พุทธศาสนาที่อาจใช้ให้สำเร็จประโยชน์แก่บุคคลทุกคน แม้ผู้ที่ไม่รู้หนังสือขอเพียงแต่ให้มีสติปัญญาตามปกติสามัญมนุษย์เท่านั้น

ผู้ใดก็ตาม ที่เข้าใจอย่างแจ่มชัดถึงความแตกต่างดังข้างต้น ผู้นั้นก็ย่อมแลเห็น คุณค่าของเซน ในฐานะที่เป็น พุทธศาสนาชนิดที่ปฏิบัติได้จริงตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติและลัดดิ่งตรงไปสู่สิ่งที่ทำให้เกิดความอิ่ม ความพอใจได้โดยเร็ว แม้ว่าคำสอนของเซนจะเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยากในตอนแรกสำหรับคนทั่วไปก็จริง แต่มันก็ไม่เหลือวิสัยที่จะเข้าใจได้ ต่อให้คนผู้นั้นไม่รู้หนังสือ หรือไม่เคยศึกษาพระไตรปิฎกมาก่อนก็ตาม

ทั้งนี้ก็เพราะว่า คำสอนของเซนมุ่งชี้ไปที่ตัว "ชีวิต" ของคนเราโดยตรง โดยถือว่า จิต อันเป็นกลไกที่สุดพิสดารในตัวชีวิต เป็นโจทย์เลขหรือปัญหาที่ต้องตีให้แตกและจบสิ้นกันเพียงเท่านั้น คือเท่าที่จำเป็นจริงๆ เพราะฉะนั้นในคำสอนของเซนจึงไม่มีคำสอนเหลือเฟือ ไม่มีปัญญาเหลือเฟือชนิดที่มุ่งขบปัญหาโลกแตกทางปรัชญาที่ชอบถกเถียงกันในหมู่นักคิดดำรงอยู่เหมือนของนิกายอื่นๆ เลย

แนวทางของเซน จึงเป็นแนวทางปฏิบัติธรรมทางใจโดยอาศัยปัญญาเป็นใหญ่หรือปัญญาวิมุตติ อีกทั้งเป็นแบบหนึ่งที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของตนเองไม่ซ้ำใคร เพราะมุ่งหมายจะให้ เป็นวิธีที่ลัดสั้นที่สุด โดยหลอมรวมสมถะกับวิปัสสนาเข้าเป็นหนึ่งเดียว ภายใต้วิธีการอันน่าพิศวงในสายตาของคนทั่วไป เพราะ หลักคิดของเซน มีอยู่ว่า "เนื่องจากปุถุชนเป็นผู้มีอวิชชา คือมีความเห็นที่ผิดจากความเป็นจริงเป็นปกติอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น สิ่งที่ตรงกันข้ามจากที่คนธรรมดาสามัญคิดหรือเข้าใจ จึงเป็นความเห็นที่ถูก"

หลักคิดแบบ "กลับหน้าเป็นหลัง" ของเซนดังข้างต้นนี้ ปรากฏอย่างชัดเจน แม้ในการเข้าใจธรรมะ หรือในการปฏิบัติธรรม ยกตัวอย่างเช่น ในขณะที่ แนวทางอื่น มักจะสอนผู้คนว่า "จงพยายามชำระใจให้สะอาดเถิด" ซึ่งเป็นคำสอนในระดับศีลธรรมที่คนธรรมดาเข้าใจได้โดยง่าย แต่ เซน กลับสอนว่า

"ใจของคนทุกคนสะอาดอยู่แล้ว จะไปชำระมันทำไมอีก สิ่งที่ไม่สะอาดนั้นไม่ใช่ใจ จะไปยุ่งกับมันทำไม"

หรือ "ใจมันไม่มีตัวไม่มีตน แล้วจะไปชำระอะไรให้แก่ใคร การที่ไปเห็นว่า ใจเป็นใจ และไม่สะอาดนั้นเป็นอวิชชาของผู้นั้นเองต่างหาก"

คำสอนอย่างนี้ของ เซน เป็นคำสอนที่ข้ามพ้นศีลธรรมไปจนถึงขั้นที่หลุดพ้นเป็นอิสระแล้ว ซึ่งเกินกว่าความเข้าใจของผู้คนธรรมดาไปแล้ว เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ โคอาน หรือ ปริศนาธรรม ของ เซน จะถูกนำเสนอออกมาให้คนสามัญทั่วไปงงงวย เพราะโคอานแต่ละข้อล้วนมุ่งเสนอหลักคิดเพื่อให้เห็นสิ่งตรงกันข้ามจากที่คนธรรมดาคิดกันอยู่หรือเห็นๆ กันอยู่ ด้วยเหตุนี้ เซน จึงสอนว่า "สังสารวัฏกับนิพพานเป็นของสิ่งเดียวกัน" เหล่านี้เป็นต้น

อินทปัญโญจึงบอกว่า ใครก็ตามที่มองเห็น ความจริงตามแบบของเซน ข้างต้นได้ก็ย่อมแสดงว่า คนผู้นั้นได้เห็นสิ่งต่างๆ อย่างลึกทะลุ จนถึงขั้นที่มัน ทวนกระแส ตรงกันข้ามจากที่คนทั่วไปเขามองเห็นกันอยู่เป็นปกติ ซึ่งก็หมายความว่า คนผู้นั้น ข้าม มายา ได้แล้วนั่นเอง

คนที่ปฏิบัติเซนอย่างจริงจัง และต่อเนื่องยาวนาน จนกระทั่งสามารถมองเห็นตรงกันข้ามกับความคิดของคนทั่วไปที่ยังมีอวิชชาหุ้มห่ออยู่ จึงย่อมสามารถเข้าถึง ความจริงสูงสุด หรือเข้าถึง จิตของพุทธะ ได้โดยเร็วที่สุด ด้วยเหตุนี้เอง เซน จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "นิกายฉับพลัน" (Sudden School) ซึ่งหมายความว่า ผู้ใดก็ตามที่ปฏิบัติตามวิธีลัดนี้จน "ตาสว่าง" ได้ ผู้นั้นก็ย่อมสามารถ บรรลุธรรม (ซาโตริ) อย่างฉับพลันได้โดยไม่มีพิธีรีตอง

ตอนที่อินทปัญโญแปล "สูตรเว่ยหล่าง" กับ "คำสอนฮวงโป" ออกมาเมื่อเกือบหกสิบปีก่อนนั้น อินทปัญโญอยู่ในวัยสี่สิบต้นๆ ซึ่งเป็นช่วงที่ทั้งพลังชีวิต ทั้งวุฒิภาวะในทางธรรมและทางปัญญาของเขา พุ่งทะยานโลดจนสูงถึงขั้นขีดสุด การแปลคำสอนเซนของอินทปัญโญ จึงต่างจากการแปลของนักแปลคนไทยคนอื่นๆ ในระยะหลังๆ ที่ส่วนใหญ่สักแต่ว่าแปลออกมาเพราะรู้ภาษาต่างประเทศ โดยที่ตัวคนแปลเอง ก็มิได้มีความเข้าใจที่ลุ่มลึกในเซน และมิได้หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับเซน ในขณะที่ถ่ายทอดมันออกมาเป็นภาษาไทย

แต่ในกรณีของอินทปัญโญไม่ใช่เช่นนั้น ด้วยศักยภาพในการคิด การเขียนของเขา ความจริงอินทปัญโญย่อมสามารถเขียนเรื่อง เซน ออกมาโดยไม่ต้องแปลก็ได้ แต่เขาก็ตัดสินใจแปลงานสองชิ้นนี้ออกมาเป็นภาษาไทย ก็เพื่อให้พุทธบริษัทไทยหมู่มากได้อ่าน "ตัวบทเดิม" ของ เซน โดยตรงจะได้ตระหนักเหมือนอย่างที่ตัวเขาได้ตระหนักว่า

"ตราบใดที่พุทธศาสนาอย่าง เซน ยังไม่เป็นที่รู้จัก หรือเข้าใจกันในประเทศไทย ตราบนั้นพุทธบริษัทไทยก็จักได้ชื่อว่า ยังล้าหลังอยู่"

แต่เหนือสิ่งอื่นใด เหตุที่อินทปัญโญต้องลงมือแปล "สูตรเว่ยหล่าง" กับ "คำสอนฮวงโป" ออกมาด้วยตนเอง ก็เพื่อที่ตัวเขาจะได้หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับคำสอนของเซน ซึ่งถือเป็น การต่อยอด จากการแสวงธรรมเพื่อเข้าถึงพุทธธรรมที่ตัวเขาได้ปฏิบัติมาอย่างจริงจังเกือบยี่สิบปีเต็ม ก่อนหน้านี้ เหตุที่อินทปัญโญต้องทำเช่นนี้ เพราะ ตัวเขาเป็นบุคคลที่มีความแปลกประหลาดอยู่อย่างหนึ่ง คือ ความคิดหรือปีติปราโมทย์ของเขาจะเกิดยากในเวลาอื่น แต่จะเกิดง่ายในเวลาจำเป็นจะต้องคิด จะต้องเขียนเพื่อสอนผู้อื่น

ในกรณีเช่นนั้น ความคิดของอินทปัญโญจะเกิดขึ้นเอง จะรู้เองไปพลางแล้วเขียนหรือพูดออกมาพลาง อาบย้อมไปด้วยปีติปราโมทย์อยู่ตลอดเวลา และซาบซึ้งในอรรถรสแห่งธรรมชั้นประณีตอยู่ตลอดเวลา

อินทปัญโญเป็นผู้ที่ตระหนักรู้ได้ว่า ในขณะที่ตัวเขาพยายามคิด พยายามเขียน เพื่อสอนผู้อื่น และเพื่อช่วยยกสถานะทางจิตวิญญาณของเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกให้สูงขึ้น พร้อมกันนั้นมันยังเป็นการช่วยยกระดับจิตของตัวเขาเองให้เข้าถึงพุทธธรรมได้ลึกซึ้งขึ้นไปด้วย

อินทปัญโญ "ซาโตริ" แล้ว!

อินทปัญโญ "บรรลุธรรม" แล้ว!

เขา บรรลุธรรม ในดึกสงัดของคืนหนึ่งในปี พ.ศ. 2490 ภายในกุฏิของเขาที่วัดธารน้ำไหล สวนโมกขพลาราม ขณะที่ตัวเขากำลังเขียนปากกาแปล "สูตรเว่ยหล่าง" อยู่นั่นเอง





 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้