18. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 18 เริงรำระบำคลื่น 29/8/49

18. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 18 เริงรำระบำคลื่น 29/8/49

พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส (ตอนที่ 18)


18. เริงรำระบำคลื่น

"ใกล้ฝั่งโน้น คลื่นประดังประเดโหม
แล่นเรือไป ไร้ฝั่งฟากกลางมหาสมุทรชีวิต
รู้ธรรมแล้ว จึงรำร่าย ณ ที่โล่ง"
เขมานันทะ
วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2491 (ค.ศ. 1948)

อินทปัญโญ นั่งอยู่บนหัวเรือประมงออกสู่ทะเลกว้างมุ่งไปเกาะสมุยและเกาะพงัน วันนั้นฟ้าสว่างสดใส และผิวทะเลค่อนข้างจะราบเรียบแผ่นน้ำสีครามกระเพื่อมขึ้นลง เมื่อแลไปไกลจนเห็นเส้นขอบโค้งของท้องฟ้ากับน้ำทะเลจดชิดเป็นหนึ่งเดียว ในความเงียบสงัดของจิต อินทปัญโญได้ยินเสียงคลื่นน้ำทะเลพูดคุยกับสายลมด้วยเสียงกระซิบเบาๆ

สักพักใหญ่ ลมเริ่มแรงขึ้นอีกระดับหนึ่งจนยอดคลื่นแตกเป็นฟองขาว ฟ้าแลบแปลบปลาบอยู่ทางซีกหนึ่งกลายเป็นม่านทึบสีเทา ปกคลุมซีกหนึ่งของท้องฟ้าจนดูพร่าเลือนและคุกคาม อินทปัญโญเฝ้าดูความแปรปรวนของปุยเมฆบนท้องฟ้าราวกับมันกำลังร่ายระบำประสานกับการ เริงรำระบำคลื่น ของท้องทะเลเบื้องล่าง ปรากฏการณ์อันน่าอัศจรรย์ใจของธรรมชาติได้สะกดอินทปัญโญราวถูกต้องมนต์เพราะตัวเขามีโอกาสน้อยครั้งมากที่จะได้ออกทะเลไกลถึงเพียงนี้

เรือของอินทปัญโญเข้าสู่แนวฝนแล้ว สายฝนกระหน่ำผิวทะเลกระฉูดกระเซ็นเป็นแถวยาวละลานตา อินทปัญโญปักหลักนั่งอยู่กลางสายฝนซึมซับความเร้นลับของท้องทะเลและฟ้าดินที่อยู่เบื้องหลังคลื่นลมที่กำลังเริงรำกลางสายฝน

ไม่นานม่านฝนก็พลันสลายไปจนหมดสิ้น อินทปัญโญเห็นเกาะสมุยอยู่เบื้องหน้า ฟ้าสว่างและเปล่งประกายเรืองรองอีกครั้ง

อินทปัญโญ เริ่มทดลองนำเรือออกตระเวนทางทะเล เพื่อสั่งสอนประชาชนตามท้องถิ่นต่างๆ ตั้งแต่ปีที่แล้ว (พ.ศ. 2490) ในช่วงสองอาทิตย์ก่อนเข้าพรรษา เขาเลือกไปที่อำเภอกาญจนดิษฐ์ เพราะนายอำเภอเป็นพวกเขาเอง และเพราะเขายังไม่เคยเห็นไม่เคยไปที่นั่นซึ่งสะดวกในการเดินทางไปด้วยเรือ

เรือที่พวกเขาใช้ไปเป็นเรือบรรทุกถุงเมล์ พวกเขาไปกันทั้งหมด 12 คน เป็นผู้ชายล้วน เรือออกจากบ้านดอนพุมเรียง บนเรือติดตั้งเครื่องขยายเสียงจึงเทศน์ได้เรื่อยๆ ระหว่างที่เรือแล่นไปตามลำคลอง หรือเข้าปากน้ำ การเทศน์ของพวกเขาสลับด้วยการเปิดจานเสียงเพลงปลุกใจ และจานเสียงแหล่เทศน์ต่างๆ ซึ่งดังกังวานไปไกล เนื่องจากน้ำทะเลขึ้นเวลาดึก เรือของพวกเขาจึงต้องเข้าปากน้ำเวลาดึกเสมอ นับว่าเอิกเกริกกันพอสมควร

การออกจาริกทางเรือตระเวนเทศน์ไปตามที่ต่างๆ ของอินทปัญโญ และคณะในครั้งนั้นปรากฏว่า ไม่มีรายจ่ายเลยแม้แต่สตางค์เดียว เพราะมีคนบริจาคน้ำมันเบนซินมีคนบริจาคข้าวสาร อาหารแห้ง ผลไม้ ฯลฯ ไปตลอดทาง อีกทั้งมีคนอาสาสมัครมาช่วยทำงานเรือ จนนอนเต็มเรือหัวตลอดท้ายพอดี มีการล่องไปตามลำคลองโดยใช้เรือเล็กแจวไป มีการออกทะเลทั้งในที่ตื้นและที่ลึกกลางทะเล รวมทั้งมีการนอนกันกลางทะเลด้วย

ประสบการณ์จาริกทางเรือที่น่าประทับใจในครั้งนั้น ทำให้อินทปัญโญคิดจะล่องทะเลไปเกาะสมุย และเกาะพงันในปีถัดไป ซึ่งเขาคิดว่าคงจะมีรสชาติที่ดีกว่านี้อีกมาก เพราะมันจะเป็นการออกทะเลจริงๆ ซึ่งต้องเอาเรือที่ใหญ่กว่าเรือถุงเมล์ไป

...หลังจากที่อินทปัญโญมาถึงเกาะสมุยแล้ว เขาเลือกชายหาดที่ถูกใจแห่งหนึ่งปูอาสนะใต้ต้นมะพร้าวนั่งทำสมาธิต่อหน้าคลื่นทะเลที่กำลังร่ายรำอย่างมีชีวิตชีวา พร้อมส่งเสียงครืนๆ เบื้องหน้าเขาอันเป็นภาพที่โอฬารตระการตาเป็นอย่างยิ่ง ขณะนั้นเป็นเวลายามเย็นแล้ว

อินทปัญโญทอดสายตามองไปไกลยังเส้นขอบฟ้าเบื้องหน้าที่จดกับน้ำ เขากำหนดจิตเสมอกับความเวิ้งว้างอย่างไม่มีประมาณที่ปรากฏนั้น กำหนดรู้ความว่าง รู้เสมอกับความว่างจนกระทั่งเกิดความผ่องใสออกมาจากภายใน จากนั้นเขาหลับตาแผ่อารมณ์อากาศกสิณที่เขาทำขึ้นออกไปยังทิศต่างๆ โดยไม่มีประมาณ โดยที่เขายังมีสติรู้ตั้งมั่นอยู่ตรงกลาง มิได้ปล่อยให้จิตไถลไปตามความเวิ้งว้างสุดขอบฟ้านั้น

อินทปัญโญรู้ความเวิ้งว้างอย่างไม่มีประมาณนี้ได้คมชัดขึ้นเรื่อยๆ จนบังเกิดปีติและสุขอย่างล้นพ้นตามมา โดยที่จิตยังคงสภาพรู้เป็นผู้ดูอยู่ โดยรู้อย่างเป็นกลางๆ มิได้อาศัยทิศใดๆ ของความเวิ้งว้างเป็นที่ตั้ง

ในที่สุด อินทปัญโญจำแนกได้ว่า ความเวิ้งว้างอันเป็นฝ่ายรูปก็ดี หรือความปีติสุขอันเป็นฝ่ายนามก็ดี ต่างก็ยังเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ถูกดู ถูกเห็นได้อยู่ จึงไม่ใช่ตัวจิต และเพราะจิตของอินทปัญโญตระหนักรู้ได้เช่นนั้น จิตของเขาจึงทรงความบริสุทธิ์ที่เป็นเอกเทศจากรูปนาม และเป็นอิสระจากความเวิ้งว้าง และความปีติสุขเอาไว้ได้

อินทปัญโญเลิกใส่ใจความเวิ้งว้างที่ต้องประมาณขอบเขตด้วยรูป และทิศทางทั้งปวง จิตของเขาหยุดอยู่กับที่ ไม่ส่งออกไปทางทิศใดๆ ไม่สำคัญว่า ไหนซ้าย ขวา หน้า หลัง บน ล่าง จิตเขารั้งอยู่กับความว่างแบบอากาศอันไร้ขอบเขต ไร้ทิศทางเฉยนิ่งอยู่ พ้นจากความกระทบแม้ทางนามธรรมใดๆ เขาแค่รู้ชัดออกมาจากอกตนถึงความว่างอันไม่มีประมาณเท่านั้น

เมื่ออินทปัญโญลืมตาออกจากสมาธิอีกครั้ง ฟ้ามืดแล้ว เดือนเสี้ยวดวงซีดปรากฏอยู่บนแผ่นฟ้าสีหม่น ลมเย็นพัดมาปะทะใบหน้าเขาเอื่อยๆ คลื่นทะเลก็ยังซัดชายหาดอยู่เรื่อยๆ เขารำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อเดือนที่แล้วในวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2491 ที่ตัวเขาไป "บันลือสีหนาท" ที่พุทธสมาคม กรุงเทพฯ อีกครั้ง...

รู้ธรรมแล้ว จึงรำร่าย ณ ที่โล่ง ครั้งนี้เขาไปแสดงปาฐกถาเรื่อง "ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม" ซึ่งเป็นข้อความที่ติดต่อสืบต่อมาจากธรรมกถาครั้งก่อนๆ ของเขา นับตั้งแต่เรื่อง "วิถีแห่งการเข้าถึงพุทธธรรม" เป็นต้นมา คำว่า "ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม" อินทปัญโญหมายถึง เครื่องกีดกั้นขัดขวางวิถีทางแห่งการเข้าถึงพุทธธรรม ซึ่งตัวอินทปัญโญเองได้เคยประสบพบมาด้วยตนเองแล้วทั้งหมดทั้งสิ้น จึงเข้าใจความสำคัญของปัญหานี้อย่างถ่องแท้ยิ่งกว่าใครๆ

เขาพบว่า คนส่วนใหญ่ยังคงยึดถือ ความจริงของความเชื่อ มากกว่า ความจริงของปัญญา ซึ่งยังคงเป็นการหลอกตัวเองอยู่ จะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม

ถ้า ความจริง คือสิ่งเท่าที่ปรากฏแก่ความรู้สึกของผู้นั้น และสำหรับคนคนนั้นในขณะนั้นเท่านั้น ความจริงของพุทธธรรม ก็ย่อมดูได้จาก ความจริงอันประเสริฐของพระอริยเจ้า

ความจริงอันประเสริฐหมายถึง ความจริงเท่าที่จำเป็นจะต้องรู้เกี่ยวกับการพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง และเป็น ความจริงที่พระอริยเจ้ามองเห็น คือเป็นโลกทัศน์และชีวทัศน์จากระดับจิตของผู้ที่เป็นพระอริยเจ้า

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า คนเราจะบัญญัติความจริงได้ก็เท่าที่ตนรู้สึกเอง ตนเห็นอยู่กะใจเองจนตนเชื่อและพอใจเองเท่านั้น เพราะฉะนั้น หากตนเองยังไม่ได้รู้สึกซาบซึ้งกับความจริงหรือความสุขของนิพพาน การถกเถียงกันเรื่องความจริงหรือความสุขของนิพพาน จึงเป็นเรื่องฟั่นเฝือ คนเราจึงควรทำความเข้าใจ ความจริงหรือสิ่งที่ตนเองเรียกว่า ความจริง ว่ามันเป็นสิ่งเท่าที่ตนเองรู้และยึดถืออยู่เดี๋ยวนี้ เท่าที่มันเป็นไปในใจของตนจริงๆ ไม่ใช่แค่สิ่งที่บัญญัติอยู่ในคัมภีร์ลอยๆ เฉยๆ

เพราะมิฉะนั้นแล้ว มันจะเป็นแค่ ความจริงของคัมภีร์ เท่านั้น ยังมิอาจเป็น ความจริงของตนเองไปได้ ด้วยเหตุนี้ คนเราจึงต้องลงมือจัดการกับความจริงของตนเอง ที่เป็นไปในตนเองก่อน จึงจะไม่เกิดเป็นภูเขาที่กีดขวางวิถีแห่งพุทธธรรมขึ้นมา

สิบหกปีมานี้ อินทปัญโญจึงแทบไม่ได้ทำอะไร นอกจาก การลงมือจัดการกับความจริงของตนเอง จนกระทั่งมันเป็นความจริงของพุทธธรรมได้ในที่สุด เมื่อปีที่แล้วนี้เอง การที่ตัวเขากระทำเช่นนั้นได้ ก็เพราะตัวเขาเป็นนักภาวนา นักปฏิบัติธรรมที่ยึดเอาความจริงที่กำลังเป็นอยู่จริงๆ มาเป็นที่ตั้งแทนที่จะเอาความจริงของความเชื่อมาเป็นหลักเหมือนกับผู้อื่น

ความจริงของความเชื่อ นี้เองที่เป็นภูเขาลูกแรกที่มาขวางทางเดินแห่งการเข้าถึงพุทธธรรมเสียเอง ความฟั่นเฝือสับสนที่เกิดขึ้นในคนหมู่มากที่สนใจในพุทธธรรมหรือนิพพานส่วนใหญ่ก็มาจากการมัวแต่จะไปจับเอาความจริงซึ่งไม่ใช่ความจริงของตนเอง แล้วมายัดเยียดบังคับใจของตัวเองให้รับเข้าไว้ว่าเป็นความจริงของตน

โดยหารู้ไม่ว่า "ใครจะรู้สึกว่าอะไรเป็นของจริงได้ ก็เพียงเท่าที่ใจของเขากำลังยึดถืออยู่ว่ามันเป็นความจริงเท่านั้น!!"

พอยึดถือเช่นนั้น สิ่งอื่นนอกจากนั้นจะจริงหรือเท็จก็ตาม ย่อมไม่มีค่าในทางที่จะเป็นความจริงแก่จิตใจของผู้นั้นไปได้ ในเวลานั้น สิ่งที่ผู้นั้นจะต้องเร่งรีบทำโดยเร็วที่สุด ก็คือ การปรี่เข้าไปทำลายความยึดถือที่ผิดๆ ของตัวเขาเกี่ยวกับความจริงของความเชื่อให้พังทลายลงเพื่อที่ปัญญาญาณของตัวเขาจะได้รุดหน้าต่อไปได้ แล้วความจริงของตัวเขาก็จะรุดหน้าตามไปเอง แต่เขาผู้นั้นยังทำเช่นนั้นไม่ได้ ตัวเขาจะเป็น "ความจริง" ของความเชื่ออย่างหนึ่งเท่านั้น และความจริงของตัวเขาก็คือความยึดถือของตัวเขาเองเท่านั้น...

ระลอกคลื่นสาดซัดหาดทราย จนปลุกอินทปัญโญออกจากภวังค์ และความรำลึก ยิ่งมืดค่ำเสียง เริงรำระบำคลื่น ก็ยิ่งดังชัดเจน แม้จะไม่ครืนโครมดั่งห้วงมรสุมเหมือนในช่วงกลางวัน แต่ก็ยังสะท้านก้องเข้าไปในส่วนลึกของอินทปัญโญ

รู้ธรรมแล้ว จึงรำร่าย เริงระบำท้าคลื่นแห่งอวิชชา

และมหาสมุทรแห่งการเวียนว่ายตายเกิด

เสียง เริงรำระบำคลื่น แห่งชีวิต คือเสียงเพลงที่ไม่มีวันสิ้นสุดของสังสารวัฏ

เรื่องราวของ อินทปัญโญ อาจเป็นแค่ตำนานเล็กๆ เรื่องหนึ่งของวิญญาณที่แสวงหาจนรู้ธรรมดวงหนึ่ง

คลื่นซัดหาดสาดความทะยานอยากของท้องทะเลมิรู้จบ

แต่ผู้คนส่วนใหญ่เล่า ยามปั่นป่วนด้วยตัณหาและ

ความทะยานอยาก พวกเขาสมควรสาดซัดใจไปที่ใด?





 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้