20. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 20 มายาแห่งธรรมในทะเลใจ 12/9/49

20. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 20 มายาแห่งธรรมในทะเลใจ 12/9/49

พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส (ตอนที่ 20)

 

20. มายาแห่งธรรมในทะเลใจ

"คืนนั้นคืนไหนใจเพ้อฝัน คืนและวันฝันไปไกลลิบโลก ดั่งนกน้อยลิ่วล่องลอย แรงลมโบก พออับโชคตกลงกลาง ทะเลใจ"

คาราบาว

อินทปัญโญ กล่าวว่า การตรัสรู้ของพระพุทธองค์ คือการพบความจริงหรือการคลำพบตัวเองอย่างถูกต้อง นั่นเอง แต่ก่อนหน้านั้น พระพุทธองค์เองก็เคยเที่ยวคว้าเที่ยวตะครุบเอาสิ่งต่างๆ ขึ้นมาไว้ยึดถืออย่างนับไม่ถ้วนเหมือนมนุษย์คนอื่นๆ เช่นกัน เพราะตอนที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ถึงพุทธธรรม พระองค์ถึงกับอุทานออกมาว่า

"เราได้แต่มัวหลงเที่ยวแสวงหา ผู้สร้าง (พระเจ้า) ที่เราต้องการ และเมื่อยังไม่ปรากฏความสว่างแจ่มแจ้งว่าอะไร เป็นอะไรนั้น ตัวเราก็ต้องท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ ซึ่งมีการเกิดนับไม่ถ้วน ทุกๆ เรื่องที่เราเข้าไปจับฉวยคือทุกๆ ชาติที่เกิดเป็นความทุกข์เสมอ"

จะเห็นได้ว่า ก่อนตรัสรู้ พระพุทธองค์ก็เคยตะครุบเอาผิด เพราะยังไม่ทราบว่าอะไรเป็นอะไรเหมือนกัน ครั้นต่อมาได้ทรงพบความจริงถึงความที่พระองค์เคยผิดพลาดไปแล้วอย่างไรและปล่อยเสียได้ พระองค์ได้ทรงอุทานออกมาด้วยความปีติดังถ้อยคำข้างบน ซึ่งบรรทัดต่อไปมีว่า

"เดี๋ยวนี้เราพบ แก แล้ว เจ้าคนนักก่อสร้างที่เราเคยคิดว่าจะช่วยสร้างสิ่งที่เราต้องการให้เราได้นั้น บัดนี้ เรารู้จัก แก เสียแล้ว แก จะสร้างบ้านเรือนให้เราไม่ได้อีกต่อไป เพราะเรารู้เสียแล้วว่าแก เป็นอะไร"

กล่าวคือ พระพุทธองค์ทรงพบความจริงแล้วว่า "ผู้สร้าง" ที่แท้ก็คือ มายา นั่นเอง "พระเจ้า" กับ มายา คือ สิ่งเดียวกัน และคือ ทะเลใจ อันไร้ขอบเขตของคนแต่ละคน พระพุทธองค์ทรงกล่าวอีกว่า

"เครื่องประกอบที่จะมาสร้างบ้านเรือนนี้ เราหักมันเสียหมดแล้ว กระทั่งโครงยอดหลังคาเรือน เราก็ได้ทำให้มันเป็นสิ่งที่จะนำมาใช้ไม่ได้อีกต่อไป"

กล่าวคือ พระพุทธองค์ทรงค้นพบ วิธี ที่จะ หลุดพ้น จากมายานี้ได้แล้ว พระองค์ได้ทรงคลำตัวตนพบอย่างถูกต้องถึงที่สุดแล้ว พระองค์จึงทรงสรุปว่า

"จิตเราถึงแล้วซึ่งความเป็นสภาพที่อะไรจะหนุนไม่ขึ้นอีกต่อไป คือปรุงแต่งไม่ได้ เปลี่ยนแปลงไม่ได้อีกต่อไป มันได้ขึ้นถึงภาวะแห่งความหมดสิ้นไปของตัณหา เพราะฉะนั้น มันจึงถูกหนุนให้เป็นอะไรไม่ได้อีกต่อไป"

อินทปัญโญบอกว่า จากข้อความข้างต้นจะสามารถเข้าใจพระหฤทัยของพระพุทธองค์ในขณะนั้นได้ว่า เป็น ความรู้สึกของบุคคลที่ได้ทะลุกำแพงขวางของตัณหา และอุปทานออกไปได้สิ้นเชิงแล้ว และค้นพบว่า ตัวเองนั้น ไม่ใช่ตัวเองที่เคยมีความยึดถือว่าเป็นตัวเราเอง และต้องการอะไรต่างๆ อันทำให้เกิดเป็นวัฏสงสารขึ้นมา

พระพุทธองค์ในบัดนี้ได้ทรงพบว่า ตัวผู้ที่เที่ยววิ่งหาต้องการอะไรต่างๆ นั้น มิใช่ตัวตนที่แท้จริงของพระองค์อีกต่อไปแล้ว จิตของคนที่ขึ้นสูงถึงขั้นไม่มีตัวเองนี้ จึงหมดความปรารถนาโดยทุกวิถีทาง เมื่อตัวเองรู้ว่า ไม่มีตัวบุคคลผู้ปรารถนา ความสิ้นไปแห่งความปรารถนาก็เกิดขึ้นแก่จิตนั้น เพราะเหตุที่สามารถทะลุทะลวงภูเขาแห่งความถือว่าตัวตนออกไปได้นั่นเอง

เพราะฉะนั้น อินทปัญโญจึงเสนอว่า การที่ตัวเราจะก้าวหน้าไปจนถึงขั้นหลุดพ้นสิ้นเชิงนั้น จำเป็นที่จะต้อง ละวาง ความยึดถือทุกสิ่งทุกอย่างไปตามลำดับ แม้กระทั่งความยึดถือในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก็ต้องละกันในที่สุด

อย่ายึดถือในพระพุทธ ในทำนองที่จะก่อวิวาทกันด้วยเรื่องพระพุทธ

อย่ายึดถือในพระธรรม อันเป็นนามที่สมมติขึ้นแทนชื่อของความบริสุทธิ์หลุดพ้น ปล่อยว่างขึ้นเป็นตัวตนเป็นรูปแบบต่างๆ จนแตกร้าวกันเพราะพระธรรม

อย่าขัดกันในหลักเรื่องพระสงฆ์ จนต้องเกิดแบ่งแยกแตกร้าวกัน

แต่จงเพ่งกำลังความคิดทั้งหมดตรงไปที่ความหลุดพ้นของจิต ซึ่งกำลังถูกทรมานอยู่ด้วยการหุ้มห่อ

จงยอมเสียสละ ที่จะไม่ต้องมีตัวเราสำหรับจะเอานั่นเอานี่ ได้รับสิ่งนั้นสิ่งนี้

จงค้นหา จนกว่าจะพบความจริงที่ว่า เมื่อดูกันเข้าจริงๆ แล้วก็เห็น มีแต่จิต นั่นเอง ที่กำลังถูกอะไรห่อหุ้มทำให้เกิดทุกข์ทรมานขึ้น ถ้าเอาสิ่งที่ครอบงำจิตออกไปเสียได้ มันก็จะเป็นอิสระเอง ภาวะของความทุกข์ก็จะไม่มีที่จิตอีกต่อไป

ไม่ต้องมีตัวเราอะไรที่ไหนเลย ความพ้นทุกข์อย่างเด็ดขาดก็มีได้โดยสมบูรณ์ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็มีอยู่อย่างถูกต้อง และสมบูรณ์ดุจเดียวกัน

ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า เราจะทำจิตของเราให้ว่าง จากสิ่งที่มาเคลือบหุ้มได้อย่างไรเท่านั้น?

อินทปัญโญ แนะนำว่า วิธีที่ลัดสั้นที่สุดก็คือ การทำในใจถึงภาวะแห่งความบริสุทธิ์ของจิต ซึ่งปราศจากการยึดถือโดยประการทั้งปวง แทนการทำในใจถึงสิ่งต่างๆ อันเป็น มายาแห่งธรรม หรือเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือมากขึ้นๆ ดังเช่น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตามทัศนะของตน การทำในใจอย่างนี้ย่อมเป็นการชำระจิตให้หมดจากสิ่งห่อหุ้มได้จริงๆ เพราะ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ตัวจริงก็คือ ภาวะแห่งความบริสุทธิ์ของจิตอันนี้นั่นเอง

จิตหาใช่ตัวตนของเราไม่ เพราะจิตที่กำลังถูกห่อหุ้มด้วยความยึดถือมันเป็นสังขารธรรม หรือสิ่งที่ผลักดันส่งต่อกันมาโดยเป็นเหตุเป็นผล จึงไม่อาจถือว่าจิตเป็นตัวตนของมันเองได้

จะเห็นได้ว่า ถ้าหากเอาความยึดถือออกไปเสียให้หมดเหลือแต่จิตล้วนๆ มันก็คือ "จิตเดิมแท้" เป็นจิตที่บริสุทธิ์อยู่ มันจะเกิดมีภาวะตรงกันข้าม คือความสงบพ้นจากทุกข์ทรมาน เพราะว่าจิตชนิดนี้ไม่เที่ยวออกรับเอาอะไรว่าเป็นของตน เพราะมันไม่มีตัวเองที่จะเป็นเจ้าของแห่งสิ่งใดได้

จิตเดิมแท้ ชนิดนี้ มันไม่ต้องการพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพราะภาวะแห่งความบริสุทธิ์ในตัวมันนั่นแหละ คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่ถูกต้องตรงตามความหมายอันแท้จริง

อินทปัญโญเสนอว่า ถ้าหากเกิดความคิดนึกอย่างใดขึ้นมาในจิต ก็ให้เข้าใจว่า นั่นไม่ใช่ ภาวะเดิมแท้ แม้จะคิดนึกในทางที่ดีงามก็ตาม เพราะมันก็ยังเกิดตัวตนที่ต้องการให้ไปทำอะไรให้มันสักอย่างหนึ่งตามความต้องการของมันอยู่ดี

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าความคิดชนิดใดเกิดขึ้นในจิต ก็ให้หยิบมันขึ้นวินิจฉัยในทำนองที่ว่า นี่คือภาวะเดิมแท้หรือไม่? ทำนองนี้เรื่อยไป ไม่ว่าในอิริยาบถไหน จะเป็นยืน เดิน นั่ง นอน ก็ตาม ถ้ามันไม่ใช่ภาวะเดิมแท้แล้วล่ะก็ให้เลิกสนใจเสีย ถ้าเป็นเรื่องจำเป็นเฉพาะหน้าที่จะต้องทำ หลังจากที่ รู้ชัด ว่าไม่ใช่ภาวะเดิมแท้แล้ว ก็ให้ปัญญาที่มีประจำตัวจัดการไปตามหน้าที่เท่าที่จำเป็นจะต้องทำ โดยไม่ต้องเกิดความยินดียินร้าย ไม่ต้องกำหนัดขัดเคือง หรือความรู้สึกอย่างอื่น

เพราะว่าเมื่อไม่ใช่ภาวะเดิมแท้แล้ว มันก็มิใช่ตัวเราหรือของเราหรือของใคร และจงปัดทิ้งไปเสมอ ถ้าหากผู้นั้น มีสติสัมปชัญญะระวังจิตให้เป็นไปได้อย่างนี้ติดต่อกันไปได้จริงๆ ชั่วเวลาไม่นาน ผู้นั้นจะพบว่าตัวเองเป็นคนใหม่ผิดไปจากเดิม เพราะอาการที่จิตบริสุทธิ์นั้น ได้แสดงตัวออกมานั่นเอง

กรรมฐานภาวนา ที่อินทปัญโญสนับสนุนให้ทุกคนทำ คือ การบำเพ็ญสติสัมปชัญญะ ที่คอยปัดอารมณ์ที่เกิดขึ้นในจิตว่า นั่นมิใช่ภาวะเดิมแท้ หรือภาวะอันบริสุทธิ์ของจิต ยิ่งบำเพ็ญสติสัมปชัญญะแบบนี้มากเท่าไหร่ อินทปัญโญบอกว่า จิตก็จะยิ่งว่างจากอารมณ์มากขึ้น มีสติสมบูรณ์ยิ่งขึ้น มีสมาธิคล่องแคล่วมากขึ้น ความยึดถือของจิตจะค่อยๆ เหี่ยวแห้งฝ่อตายไปเหมือนต้นไม้ขาดน้ำ เหลือจากนั้นก็เป็นหน้าที่ของธรรมชาติในการที่จะทำให้เกิดการเห็นแจ้งโดยเด็ดขาด เป็นความสว่างไสวไม่กลับคืนขึ้นในเวลาอันสมควร

โดยการบริกรรมง่ายๆ ว่า "นี่ไม่ใช่นั่นหรอก!" ทุกครั้งที่มีอารมณ์เกิดขึ้นในจิต ทำให้จิตมีปัญญารู้ทันเล่ห์กระเท่ห์ของการปรุงแต่งมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งจิตพ้นจากอำนาจของสิ่งปรุงแต่ง แม้ศีล สมาธิ ปัญญา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีความจำเป็นจะต้องยึดถืออีกต่อไป จิตของผู้นั้น ย่อมลุถึงความสูงส่งในขั้นที่ปล่อยวางสังขารการปรุงแต่งทั้งปวงได้ เป็นจิตที่ไม่มีความรู้สึกแม้แต่ตัวเองว่าเป็นตัวตน จึงมีความดับเย็น ความสงบ ความบริสุทธิ์ และความสว่างไสวอันถาวร เป็นอนันตกาลที่ไม่เกี่ยวกับเวลา

ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม ย่อมถูกทำลายได้ด้วยการประคองภาวะที่ปราศจากอาการของความยึดถือหรือที่เรียกว่า ภาวะเดิมแท้ นั้น ให้โชติช่วงอยู่ในปริมณฑลของจิตผู้นั้นเรื่อยไปในชีวิตประจำวันจนกว่ามันจะกลายเป็นโครงสร้างทางจิตใจ หรือนิสัยถาวรของผู้นั้น มิฉะนั้นแล้ว คนเราก็จะจมปลักเวียนว่ายอยู่ในมายาแห่งธรรมในทะเลใจมิรู้จักจบสิ้น...

ปาฐกถาเรื่อง "ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม" ของอินทปัญโญในครั้งนั้น เป็นที่โด่งดัง และวิพากษ์วิจารณ์กันมากจนถึงกับมีผู้ต่อต้านอินทปัญโญอย่างเปิดเผย หนึ่งในนั้นคือ พระทิพย์ปริญญา (ธูป กลัมพะสุต) บุคคลผู้นี้ได้ทำหนังสือถึงผู้บริหาร ทั้งฝ่ายอาณาจักร และศาสนจักรกล่าวหาว่า อินทปัญโญเป็นคอมมิวนิสต์ หรือไม่ก็รับจ้างจากคอมมิวนิสต์มาพูดโจมตีพระรัตนตรัยเพื่อทำลายพุทธศาสนา ปรากฏว่าในตอนแรก สมเด็จพระสังฆราช วัดเบญจมบพิตร ทรงเชื่อ จนต้องมีผู้ใหญ่พาอินทปัญโญเข้าเฝ้าเพื่อกราบทูลข้อเท็จจริงให้ทรงทราบ เรื่องจึงไม่บานปลายร้ายแรง

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา หรือนับจากปาฐกถาเรื่อง "ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม" ของอินทปัญโญ เป็นต้นมา ได้มีกลุ่มคนที่ออกมาคัดค้าน ด่าว่า ต่อต้าน ท้าทาย อินทปัญโญอย่างเปิดเผยต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสิบปีหลังจากนั้น แต่อินทปัญโญไม่เคยเขียนตอบโต้และเขาไม่อนุญาตให้เพื่อนหรือศิษย์คนใดเขียนโต้แทนด้วย เพราะอินทปัญโญเห็นว่า มันไม่ใช่หน้าที่ของเขา และไม่มีความจำเป็น เนื่องจากเขาสำนึกตัวอยู่เสมอว่า ตัวเขาเป็นเพียงผู้ที่อุทิศตนเป็นทาสของพระพุทธเจ้าเท่านั้น สิ่งที่ตัวเขาพูดหรือเขียนออกไป ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ "ฝั่งโน้น" หรือ "โลกุตตระ" อันเป็นตัวพุทธศาสนาหรือพุทธธรรมที่แท้จริงเท่านั้น

จะว่าไปแล้ว อินทปัญโญไม่เคยคิดที่จะเขียน หรือพูดกับคนทั้งหมดเลย เขาเขียนให้คนที่สนใจ พอใจจะศึกษาเรื่อง "ฝั่งโน้น" เท่านั้น และเขามุ่งพูดกับคนที่สนใจใน "โลกุตตระ" เท่านั้น อินทปัญโญเชื่อว่า พุทธธรรมคือของจริง และจริงอย่างเหนือกาลเวลา ถึงตัวเขานิ่งไม่ตอบโต้ใดๆ แต่สิ่งที่ตัวเขาได้บันลือสีหนาทออกไป มันย่อมมีส่วนไปช่วยพังทลาย ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรมของคนหลายคน ที่สนใจที่จะ "บินไป" และไม่คิดเป็น "ลูกเป็ดไก่อ่อน" ที่ต้องอยู่ในคอกต่อไปอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นยุคไหน สมัยไหน ก็ตาม





 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้