26. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 26 อนุทินรำลึก 24/10/2549

26. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 26 อนุทินรำลึก 24/10/2549

พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส (ตอนที่ 26)


26. อนุทินรำลึก

"พุทธศาสนาคือ ศาสนาแห่งการชนะ! จงชนะตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไว้เถิดจะก้าวหน้าในมรรคแห่งพุทธศาสนา"

จาก อนุทินปฏิบัติธรรม ของพุทธทาสภิกขุ

พ.ศ. 2477

...กลางปี พ.ศ. 2496 (ค.ศ. 1953)...สวนโมกข์

วันหนึ่งขณะที่อินทปัญโญกำลังจัดรื้อห้องทำงานบนกุฏิไม้หลังเล็กสองชั้นที่เป็นทั้งที่อยู่ และที่ทำงานหนังสือของตัวเขาอยู่นั้น เขาได้พบสมุดบันทึกที่เป็น "อนุทินปฏิบัติธรรม" ของตัวเขาที่ตัวเขาได้จดบันทึกไว้วันต่อวันในระหว่างพรรษาปี พ.ศ. 2477 (ค.ศ. 1934) อันเป็นเวลาสามเดือนเต็มที่ตัวเขาได้กำหนดไว้สำหรับการฝึกฝนตนเองอย่างเข้มข้นโดยงดพูด และงดติดต่อกับบุคคลภายนอกอย่างสิ้นเชิง รูปแบบการบันทึกการปฏิบัติธรรมในตอนนั้นของเขา มีทั้งแบบกรอกข้อความที่เป็นการตรวจสอบเป็นข้อๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับกาย-วาจา-ใจ ในวันนั้นแต่ละวันของเขาว่ามีข้อใดสมบูรณ์บ้าง และข้อใดบกพร่องบ้าง เพื่อเป็นการเตือนตัวเองและตรวจสอบตัวเองอย่างเข้มข้นในแต่ละวัน นอกจากนี้ เขายังเขียนข้อคิดความเห็นพิเศษๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติที่เขาบันทึกเพิ่มเติมไปด้วย

"19 ปีผ่านไปแล้ว" อินทปัญโญคำนึงด้วยความระลึกถึง ช่วงเวลาที่ฝึกฝนตนเองอย่างเข้มข้นที่สุดในช่วงวัยหนุ่มของเขา ในขณะที่เขาพลิกดูแต่ละหน้าของอนุทินเล่มนั้น บันทึกนี้เขียนด้วยลายมือบรรจงอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย และแทบไม่มีรอยขีดฆ่าเลย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการคิดที่เป็นระบบ และความกระจ่างในการคิดของตัวผู้เขียน จึงสามารถถ่ายทอดออกมาเป็นตัวอักษรที่ไหลลื่นสละสลวยเช่นนี้ได้

อินทปัญโญเหลือบไปเห็นบันทึกหน้าหนึ่งที่เขาตั้งหัวข้อว่า "สงครามอินทปัญโญ" ซึ่งบรรยายถึงสงครามระหว่างอินทปัญโญภิกขุกับลิ้นของพระมหาเงื่อม โดยที่ตัวเขากินแต่ผักหรือผลไม้ล้วนๆ เพื่อเอาชนะลิ้น จากนั้นเขาก็เปิดสงครามเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คือ ถ้าเขาเผลอตอนถูกยุงกัดหรือมดกัดแล้วไปเกาจนทำให้มดหรือยุงบอบช้ำไปตัวหนึ่ง เขาก็จะทำโทษตัวเองด้วยการไปนั่งในป่ารกให้มดหรือยุงกัดคราวหนึ่งไม่ต่ำกว่า 200 ตัว และไม่ต่ำกว่า 20 นาที

ถ้าเขาขี้เกียจ เขาจะรบกับความเกียจคร้านของตัวเอง ด้วยการนั่งสมาธิจนสว่างคาตา

ถ้าเขาหิว เขาจะรบกับความโหยของตัวเอง ด้วยการกวาดลาน ให้มากๆ จนไม่หิว

ถ้าเขาเพลีย เขาจะรบกับความล้าของตัวเอง ด้วยการเดินจงกรม ต่อเนื่อง 4-500 เที่ยว

ถ้าเขารู้สึกกลัวในท่าไหน เขาก็จะอยู่นิ่งในท่านั้น จนกว่าจะไม่ขลาด

ถ้าเขารู้สึกอร่อยในอาหาร เขาจะเจือน้ำลงไป หรือทิ้งส่วนนั้นเสีย

ถ้าเขารู้สึกไม่อร่อย เขาจะกินจนรู้สึกว่าเฉย หรืออร่อยโดยสันโดษ

ถ้าเขารู้สึกเพลินในอารมณ์ เขาจะคิดวิปัสสนาจนเห็นอนัตตาในอารมณ์นั้น มิเช่นนั้นแล้ว เขาจะไม่ลุกไปไหน

อินทปัญโญอ่านบันทึกตอนนี้ไปพลางๆ อมยิ้ม ให้กับความเอาจริงเอาจังแบบเด็ดเดี่ยวของคนหนุ่มของตัวเองในสมัยนั้นไปพลาง เขาคำนึงในใจว่า

"เคล็ดลับของพุทธธรรม คือ ทำอะไรต้องทำกันอย่างเต็มที่ หรืออย่างสุดเหวี่ยง คนหนุ่มคนสาวก็ควรใช้ชีวิตให้สุดเหวี่ยง แต่จะต้องเป็นความสุดเหวี่ยงที่กอปรด้วยสติพร้อมบริบูรณ์"

พุทธศาสนาของเรา ไม่เคยสอนให้ทำอะไรอย่างฉาบฉวย หลักเกณฑ์ในทางพุทธศาสนาทุกอย่างทุกชนิด ล้วนเป็นหลักที่จะต้องทำกันอย่างเต็มที่หรือสุดเหวี่ยงทั้งสิ้น

"เราก็เคยใช้ชีวิตในวัยหนุ่มของเราอย่างสุดเหวี่ยงมาแล้ว"

อินทปัญโญบอกกับตัวเองเช่นนั้น ขณะนั้น เขาเพิ่งย่างเข้า 28 ปี ขณะที่ใน ขณะนี้ เขามีอายุ 46 ปีเต็มแล้ว หลายอย่างภายในตัวเขาเปลี่ยนไป จากเดิม "สงครามอินทปัญโญ" หรือ สงครามที่เขาต้องเอาชนะตนเอง มันสิ้นสุดไปหลายปีแล้ว บัดนี้ การฝึกปฏิบัติในแต่ละวันในชีวิตประจำวันของตัวเขา คือ การบ่มเพาะพัฒนาความสามารถในการยอมรับทุกอย่างได้อย่างสมบูรณ์สิ้นเชิงในทุกๆ สถานการณ์ ในทุกๆ สภาวะอารมณ์อย่างไม่มีข้อแม้เงื่อนไขใดๆ และอย่างปราศจากความคับข้องใจใดๆ เพื่อที่ตัวเขาจะสามารถมีประสบการณ์กับทุกๆ สิ่งในแต่ละขณะจิต ในแต่ละปัจจุบันขณะได้อย่างทั้งหมดทั้งสิ้น

เพราะอินทปัญโญทำได้เช่นนี้แล้ว เขาจึงมีพลังงานที่สร้างสรรค์อย่างมหาศาลราวกับไม่มีวันหมดสิ้น เนื่องจากพลังงานของเขาไม่เคยรั่วไหลไปกับกระบวนการคิดและอารมณ์ที่สูญเปล่าไร้สาระ รวมทั้งไม่ต้องสูญเสียพลังงานไปกับการพยายามหลบหนีความจริงของชีวิตในรูปแบบต่างๆ

การปฏิบัติในแต่ละวันของอินทปัญโญในขณะนี้คือ การใช้ชีวิตอันแสนธรรมดาและปกติ เพราะเขารู้แจ้งแล้วว่า "สรรพสิ่งล้วนสมบูรณ์พร้อมอย่างที่มันเป็นอยู่แล้ว" ปรากฏการณ์ทั้งหลายล้วนเป็นแค่ลีลาแห่งความไม่เที่ยง ที่มีความหมายอยู่ในตัวของมัน

แต่ทุกๆ สิ่งก็เป็นแค่สัญลักษณ์ เป็นสมมติ โดยที่ไม่มีความแตกต่างระหว่างสัญลักษณ์กับความจริงที่ถูกรับรู้ในเชิงสัญลักษณ์ สภาวะจิตในขณะนี้ของอินทปัญโญปราศจากความพยายาม ความมุ่งมั่นใดๆ เพื่อการหลุดพ้นหรือการรู้แจ้งอีกต่อไป เพราะเขาสามารถตระหนักได้ว่า พุทธภาวะเป็นสิ่งที่สมบูรณ์พร้อมอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องทำให้พุทธภาวะพัฒนามากไปกว่านี้ เพราะฉะนั้น จึงไม่จำเป็นต้องพยายามเพื่อ "บรรลุ" อะไรอีก ความพยายามใดๆ เพื่อการบรรลุธรรม ล้วนแล้วแต่เป็นการสร้างเงื่อนไข และผิดธรรมชาติทำให้เป็นอุปสรรคขัดขวางการไหลลื่นของจิต

การเจริญสมาธิภาวนาของอินทปัญโญก็เปลี่ยนไปจากเดิม ในแง่ที่ว่า เขาทำมันในฐานะที่มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของเขาเท่านั้น ไม่ต่างไปจากการกินข้าวหรือการหายใจ มันมิได้เป็นสิ่งพิเศษจำเพาะแต่อย่างใดอีกต่อไปแล้ว เพราะอินทปัญโญรู้ดีว่า เขาเจริญภาวนาเพื่อ "ข้ามพ้น" ความพยายาม เขาเจริญภาวนาเพื่อ "ข้ามพ้น" การปฏิบัติธรรม เขาเจริญภาวนาเพื่อ "ข้ามพ้น" เป้าหมายแห่งการหลุดพ้นหรือนิพพาน และเขาเจริญภาวนาเพื่อ "ข้ามพ้น" ความเป็นคู่ระหว่างโลกียะกับโลกุตตระ

การเจริญสมาธิภาวนาของอินทปัญโญในขณะนี้ มันจึงไม่เกี่ยวข้องกับการคาดหวังผลลัพธ์ใดๆ จากการเจริญภาวนานั้น เพราะเขารู้ดีว่า ทุกๆ สิ่งที่ปรากฏขึ้นในสมาธิก็เป็นแค่ลีลาของใจเท่านั้น จึงไม่มีการทำสมาธิที่ดีหรือไม่ดี อินทปัญโญแค่ทำสมาธิ แค่เจริญภาวนาโดยไม่มีความตระหนักรู้ในเชิงตัวตนว่า ตนเองกำลังสมาธิ หรือกำลังเจริญภาวนาอยู่ ในขั้นนี้จึงไม่มีการบังคับหรือใช้ความพยายามใดๆ ในการควบคุมใจทั้งสิ้น เพราะในสายตาของอินทปัญโญในขณะนี้ การเจริญภาวนามันเป็นสิ่งที่สมบูรณ์พร้อมอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องไปปรับปรุงแก้ไขใดๆ อีก

แต่ในบางเรื่อง อินทปัญโญก็ยังคงมีความเห็นเฉกเช่นกับสมัยที่เขาได้บันทึกอนุทินปฏิบัติธรรมฉบับนั้น กล่าวคือ เขายังคงมีความเห็นว่า

ทุกอย่างในโลกนี้มันเป็นความฝันทั้งนั้น! มนุษย์ สัตว์ ต้นไม้ ภูเขา ฯลฯ ที่เห็นอยู่นี้ ล้วนเป็น ความฝัน อย่างเดียวกับที่ตัวเขาเห็นในฝันไม่มีผิด คนเราทั้งหลาย นอนหลับตลอดสังสารวัฏ หลับด้วยอวิชชา จิตของคนเราเป็นผู้หลับ ชาติหนึ่งแห่งมนุษย์คือคราวหนึ่งแห่งความฝันของคืนแห่งจิตที่หลับด้วยอวิชชา

โลกนี้และทุกอย่างในโลกนี้ คือ วัตถุแห่งความฝัน ตัวเราก็คือ "เรา" คนใหม่ที่เกิดขึ้น สำหรับเรื่องในฝันด้วยอำนาจของอุปทานกันทั้งนั้น จนกว่าจะตื่นจริงและรู้ตัวจริง เมื่อได้อรหันตมรรคญาณแล้วเท่านั้น

เมื่อรู้แล้วว่า ทั้งหมดคือ สังสารวัฏแห่งความฝัน ถ้าอย่างนั้นคนเราควรทำอย่างไร กับความฝันอันร้ายกาจไม่น่าเชื่อนี้?

พระพุทธองค์ตรัสว่า สิ่งทั้งปวงเป็นอนัตตา ซึ่งพระองค์หมายความว่า พระนิพพานก็เป็นอนัตตา บุญบาปใหญ่น้อยเป็นอนัตตา ผู้ทำก็เป็นอนัตตา คือเป็นเพียงมายาแห่งจิต เช่นเดียวกับในความฝันที่ฝันกันตามธรรมดา

อนัตตาคือ ภาวะแห่งความฝันของจิต ตัวจิตที่รู้สึกอะไรต่างๆ เหล่านี้คือ ตัวละครสำคัญแห่งความฝัน จิตดวงนี้เกิดมาแต่ความประชุมพร้อมแห่งปัจจัยทาง นามธรรม อันเป็นธรรมชาติประจำอยู่ในโลก เช่นเดียวกับ รูปธรรม อย่างเม็ดกรวดเม็ดทราย จิตดวงนี้เป็นไปโดยอำนาจธรรมชาติ ปรุงแต่งลูบไล้ฉาบทาด้วยอวิชชา มันจึงยึดถือตัวเอง เกิดเป็น "ตัวเรา" ขึ้นสำหรับดำเนินการเรื่องฝันทั้งหลาย

คนเราจึงจำเป็นต้องช่วยตัวเอง ด้วยการชะล้างอวิชชาที่ธรรมชาติฉาบทาไว้จนผ่องใส มีดวงปัญญารู้ว่า "เราหลงไป เราถูกสมมติให้เล่นละครมานานแล้ว เราจะไม่เล่นละครแห่งสังสารวัฏอีก" หลังจากนั้น จึงค่อยชะล้างโคลนคือ อวิชชาออกเหมือนนางละครที่ไม่อยากดำเนินอาชีพนั้นอีก ก็ชะล้างฝุ่นและสีออก ประพฤติตัวเองตามแนวที่ปัญญาพาไปจนหลุดพ้น รู้จักตัวเองถึงที่สุด ผ่องใสอย่างสูงสุด ดับไปโดยธรรมชาติไม่อาจปรุงแต่งได้อีก

นี่คือ การตื่นขึ้นอย่างแท้จริง อันเป็นการตื่นจากทะเลแห่งความฝันของสังสารวัฏซึ่งตัวอินทปัญโญได้ "ตื่น" ขึ้นมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว




 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้