30. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 30 นาลันทาสังเวช 21/11/2549

30. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 30 นาลันทาสังเวช 21/11/2549

พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส (ตอนที่ 30)


30. นาลันทาสังเวช

"พระตถาคตหรือพระพุทธเจ้าทั้งหลาย จะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม ความจริงที่เป็นภาวะตามธรรมดา ก็คงอยู่ของมันอย่างนั้น พระตถาคตทรงค้นพบความจริง คือหลักที่เป็นธรรมนิยามนั้น แล้วก็ทรงนำมาแสดงชี้แจง ทำให้เข้าใจได้ง่าย"

พระไตรปิฎก

"ความยิ่งใหญ่ที่ทำให้ทั้งเจริญและเสื่อม"

พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต)

...23 ตุลาคม พ.ศ. 2498 (ค.ศ. 1955)

ณ นาลันทามหาวิหาร

อินทปัญโญกำลังยืนอยู่ท่ามกลางซากปรักหักพังของ นาลันทามหาวิหาร ซึ่งเคยมีอดีตอันยิ่งใหญ่เคียงคู่กับความเจริญรุ่งเรืองของพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย โดยที่ความเสื่อมโทรมจนสูญสิ้นของพุทธศาสนาจากประเทศอินเดีย ก็สัมพันธ์กับการถูกทำลายจนย่อยยับของนาลันทามหาวิหารแห่งนี้ด้วย...

ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ได้มีการรวมวัดประมาณ 6 วัด เข้าด้วยกัน โดยการล้อมกำแพง 6 วัดนี้ ให้อยู่ในเขตเดียวกัน แล้วเรียกเป็น "มหาวิหาร" นาลันทามหาวิหารได้ถือกำเนิดหลังจากนั้น โดยที่สถานที่นี้อยู่ในถิ่นที่เป็นบ้านเกิด (หมู่บ้านนาลันทาหรือนาลันทคาม) ของพระสารีบุตร ผู้เป็นอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า และมีการสร้างสถูปของพระสารีบุตรอยู่ในนาลันทามหาวิหารด้วย

เมื่อนาลันทามหาวิหารได้เกิดขึ้นแล้ว พระราชามหากษัตริย์ที่นับถือพุทธศาสนา ก็ให้การอุปถัมภ์จนนาลันทากลายเป็น มหาวิทยาลัย หรือศูนย์กลางการศึกษานานาชาติแห่งยุค เพราะแม้แต่ นาครชุน ปราชญ์คนสำคัญของมหายานผู้ก่อตั้งปรัชญามาธยมิก ก็ยังมาอยู่ที่นาลันทา ส่วนพระสงฆ์จากอาณาจักรอื่นๆ ที่นับถือพุทธศาสนา เช่น อาณาจักรศรีวิชัย ก็ยังเดินทางมาเล่าเรียนที่มหาวิทยาลัยนาลันทานี้ หรือทางฝ่ายจีนก็มีพระมาเรียน ที่สำคัญคือ หลวงจีนเหี้ยนจัง หรือ พระถังซัมจั๋ง

ยุครุ่งเรืองของมหาวิทยาลัยนาลันทาดำเนินไปพร้อมๆ กับความรุ่งโรจน์ของพุทธศาสนาแบบมหายานในอินเดีย ที่ "ปรากฏ" ขึ้นมาบนความเสื่อมของพุทธศาสนาแบบเถรวาทที่เคยรุ่งเรืองมาราวๆ 5 ศตวรรษหลังพุทธกาล ก่อนที่จะค่อยๆ เสื่อมไปจากอินเดีย แล้วไปมีศูนย์กลางใหญ่อยู่ที่ศรีลังกาแทน

ความเสื่อมของพุทธศาสนาในอินเดียเพียงไม่กี่ร้อยปี หลังพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน เริ่มต้นจากการที่ พุทธศาสนาถูกนำไปใช้ เพื่อตอบสนอง "จุดมุ่งหมายของรัฐ" มากกว่าตอบสนอง "จุดมุ่งหมายของความเป็นมนุษย์" หรือความเป็นอิสรภาพโดยสมบูรณ์ทางจิตวิญญาณ พุทธศาสนาถูกรัฐต่างๆ ในอินเดียนำไปใช้ในฐานะที่เป็น "ระบบศีลธรรม" มากกว่า "ระบบการพัฒนาจิต" ความแตกแยกระหว่างรัฐต่างๆ แยกไม่ออกจากความแตกแยกเป็นนิกายต่างๆ ในพุทธศาสนาซึ่งมีไม่น้อยกว่า 18 นิกาย โดยที่ต่างฝ่ายต่างก็โจมตีตอบโต้กันอย่างรุนแรง

ไม่แต่เท่านั้น การปรับตัวของศาสนาพราหมณ์หลังพุทธกาลเป็นศาสนาฮินดู ก็มีส่วนทำให้เกิดการตีความพุทธศาสนาในเชิงผสมผสานกับศาสนาฮินดู จนนำไปสู่การเสื่อมสูญของพุทธศาสนาจากอินเดียในที่สุด ความยืดหยุ่นในการปรับปรุงตัวของศาสนาฮินดู เห็นได้จากมีการรับเอาหลักธรรมคำสอนบางเรื่องของพุทธศาสนาไปใช้ รวมทั้งมีการตั้งวัด และคณะสงฆ์ขึ้นมาเลียนแบบพุทธศาสนา ทั้งๆ ที่ศาสนาพราหมณ์เดิมก่อนที่จะเป็นฮินดูนั้น ไม่มีวัด ไม่มีพระสงฆ์

การประสานปรองดองกันระหว่างพุทธศาสนาแบบมหายานกับศาสนาฮินดู โดยที่ทางมหายานต้องปรับปรุงหลักปรัชญา และวิธีการสอนเพื่อที่จะสนองความต้องการของประชาชนทั่วไป โดยการสร้างลัทธิพระโพธิสัตว์ขึ้นมาให้ชาวบ้านมีที่เคารพบูชาร้องขอความช่วยเหลือ คล้ายๆ กับเทพเจ้าของศาสนาฮินดู จึงเป็นการแข่งขันกับศาสนาฮินดูของมหายานที่นำไปสู่ความเสื่อมของพุทธศาสนาในประเทศอินเดียอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก แม้กษัตริย์ฮินดูยังคงให้การอุปถัมภ์มหาวิทยาลัยนาลันทาอยู่ แต่ก็เป็นการให้การสนับสนุนในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษาของรัฐที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะ การศึกษาพุทธศาสนาอีกต่อไป แต่ยังครอบคลุมการศึกษาวิชาการทั่วไปด้วย

ความยิ่งใหญ่ของนาลันทามหาวิหาร ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการศึกษาทำให้พระส่วนใหญ่มุ่งเข้าสู่ตัวเมืองที่เป็นศูนย์กลางการศึกษา ทำให้วัดในชนบทอ่อนแอ ไม่ค่อยจะมีพระอยู่ ถึงจะมีอยู่บ้างก็เป็นพระที่ไม่ค่อยมีคุณภาพ ผลก็คือ พระส่วนใหญ่ในนาลันทามหาวิหาร หันไปสนใจเรื่องปรัชญา ถกเถียงปัญหาทางอภิปรัชญาแบบ "หอคอยงาช้าง" กันมาก จนเกิดความห่างเหินจากประชาชน

ลำพังความขัดแย้งระหว่างศาสนาพุทธกับศาสนาฮินดูอย่างเดียวยังพอทำเนา แต่เมื่อกองทัพเติร์กมุสลิม ซึ่งได้กรีธาทัพโจมตีประเทศอินเดียมานานแล้วเป็นร้อยๆ ปี โดยเข้าโจมตีรุกรานทางตะวันตกเฉียงเหนือทางอัฟกานิสถาน ปากีสถานได้ใช้โอกาสเหล่านี้ กวาดล้างทั้งผู้นับถือศาสนาพุทธ และศาสนาฮินดูไปพร้อมๆ กันครั้งแล้วครั้งเล่า ในที่สุด อวสานของนาลันทามหาวิหาร ก็มาถึงในปี พ.ศ. 1700 เมื่อแม่ทัพอิสลามยาตราทัพเข้าโจมตีเมืองมคธ พร้อมๆ กับทำลายมหาวิทยาลัยวิกรมศิลา ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดในพุทธศาสนาจำนวน 108 วัด และศูนย์กลางของนักศึกษาพุทธศาสนานับหมื่น และอาจารย์สอนพุทธศาสนานับร้อยๆ คนลงไปอย่างราบคาบ จากนั้นจึงบุกเข้าปิดล้อมนาลันทามหาวิหารที่เป็นสถานศึกษาพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เก่าแก่ที่สุด และมีชื่อเสียงที่สุด แล้วใช้ไฟเผามหาวิทยาลัยแห่งนี้จนราบเรียบ ทรัพย์สมบัติในวัดถูกปล้นทำลาย พระภิกษุถูกฆ่าตายเกือบหมด พระสงฆ์ที่รอดตายได้ต้องหนีเข้าไปในเนปาลและทิเบต โดยไม่มีผู้ใดกล้ากลับมาอินเดียอีกเลย...

อินทปัญโญรำลึกถึงความรุ่งเรืองและล่มสลายของพุทธศาสนาในอินเดียที่ร่วมชะตาเดียวกับนาลันทามหาวิหารอย่างปลงสังเวช เขารำพึงในใจว่า

"ผู้คนต่างเข่นฆ่าทำลายล้างกันเพียงเพราะความต่างในความเชื่อทางศาสนา ช่างน่าสังเวชเหลือเกิน!

ผู้คนเหล่านี้ช่างไม่เฉลียวใจแม้แต่น้อยเลยว่า

พุทธะอยู่หลังม่านความโง่เขลาของคนเราเสมอ และ พระผู้เป็นเจ้าก็อยู่หลังฉากมายาชีวิตของทุกผู้คนอยู่เสมอเช่นกัน"

ในสายตาของอินทปัญโญ ทั้ง "พุทธะ" และ "พระเจ้า" จะไม่ใช่สิ่งที่ขัดแย้งกันเลย ถ้าหากผู้นั้นเข้าใจในเรื่อง ไกวัลยธรรม!

ไกวัลย์ หมายถึง สิ่งที่เป็นได้ทั้งสิ่งเดียว และทุกสิ่ง

ไกวัลย์ คือ ธรรมธาตุ อันสิงซึมอยู่ในทุกปรมาณูของสังขารทั้งปวง ทำให้เห็นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไกวัลย์ คือ ความมี "หนึ่งเดียว" โดยที่ทั้งความมีและความไม่มี มันก็คือ สิ่งเดียวกัน

"ธาตุแห่งความมี" จักหาพบได้จาก "ธาตุแห่งความไม่มี" ในเมื่อความมีเป็น "หนึ่งเดียว" เพราะฉะนั้น ความไม่มี ย่อมมี "มากมายหลายสิ่ง" จึงกล่าวได้ว่า ไกวัลย์ คือ สิ่งเดียวในทุกสิ่ง และทุกสิ่งในสิ่งเดียว

หนึ่งสิ่งในทุกสิ่ง และทุกสิ่งในสิ่งหนึ่ง เปรียบได้ด้วย น้ำไกวัลย์ เปรียบได้ด้วยน้ำ แม้จะแยกออกไปอยู่ที่ใดก็ตาม ย่อมยังสภาพแห่งความเป็นน้ำอย่างเดียวกัน เอาไว้เสมอ

ในสายตาของ ไกวัลยธรรม ทุกศาสนาย่อมมีจุดมุ่งหมายอย่างเดียวกันคือ "ดับทุกข์" เพราะฉะนั้น ทุกศาสนาแม้จะต่างกันโดยชื่อหรือรูปแบบ แต่ก็ตั้งอยู่ใน กฎแห่งไกวัลยธรรม อย่างเดียวกัน

ในเมื่อ ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ และ คุณลักษณะของพระเจ้า ต่างก็เป็นอันเดียวกับไกวัลยธรรม โดยเหตุนี้จึงกล่าวได้ว่า ทุกศาสนาย่อมมีธรรมชาติแห่งความเป็น "พุทธะ" หรือมีคุณลักษณะของ "พระเจ้า" อย่างเดียวกัน

สิ่งที่เรียกว่า "ไกวัลยธรรม" หมายถึง สิ่งที่มีอยู่ก่อนสิ่งทั้งปวง และ อยู่หลังสิ่งทั้งปวง อันได้แก่ ธรรมชาติที่ไม่รู้จักเปลี่ยนแปลง

ไกวัลย์ เป็นภาษาสันสกฤต ตรงกับภาษาบาลีว่า "เกวะละ" แปลว่า "สิ้นเชิง" และยังแปลได้อีกหลายความหมาย อย่างเช่น

- ความเต็มไปหมด ไม่มีที่ว่าง - ความไม่รู้จักพอ ไม่รู้จักเต็ม

- ความโดดเดี่ยวที่สุด - ความแบ่งแยกซอยละเอียดถี่ยิบ

ไกวัลย์ เป็นสิ่งตรงกันข้ามกับสังขารทั้งปวง เมื่อเอาสิ่งทั้งปวงออกไปให้หมด ก็จะพบ ความว่าง คือ ไกวัลยธรรม

โดยแท้แล้ว ไกวัลยธรรม คือสิ่งเดียวกับสิ่งที่เรียกว่า อสังขตะ หรือ นิพพาน หรือ สุญญตา นั่นเอง เนื่องจาก สิ่งที่เรียกว่า ไกวัลย์ นั้น ไม่มีจุดเริ่มต้นและไม่มีความสิ้นสุด จึงอยู่ในฐานะที่เป็นสิ่งมีอยู่ก่อนสิ่งทั้งปวง และอยู่ภายหลังสิ่งทั้งปวง หมายความว่า สิ่งทั้งปวงมีความหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป ท่ามกลางอาณาจักรแห่งความไม่เปลี่ยนแปลงของ "ไกวัลย์" นั้น

การรู้เรื่อง ไกวัลย์ นี้ และ ปฏิบัติไกวัลยธรรม ด้วย ย่อมทำให้ผู้นั้นเข้าถึง "พุทธบูรณา" ทำให้ความเป็นพุทธะของผู้นั้นสมบูรณ์ขึ้น

คำว่า "พุทธะ" แปลว่า ผู้ตื่น หมายถึง การตื่นขึ้นในไกวัลยธรรม อันเป็นการเข้ารวมเป็นอันเดียวกับกาลเวลาอย่างเต็มพื้นที่

"ไกวัลย์" จะทำให้มนุษย์ทุกคนเป็นมิตรกันหมด เพราะการกำหนดว่าเป็นเราเป็นเขา เป็นของเราของเขาจะทำให้เกิดการแบ่งแยก การแย่งชิง การเบียดเบียน การเป็นศัตรูกัน ด้วยการไปยึดถือ สิ่งเล็กน้อยที่เปลี่ยนแปลง อันเป็นแค่ ฟองคลื่นแห่งไกวัลย์

แต่ถ้ามีการเข้าถึงสิ่งที่เรียกว่า "ไกวัลย์" อันเปรียบประดุจ แผ่นน้ำอันกว้างใหญ่ของมหาสมุทร แล้ว จะทำให้เห็นว่าทุกคนย่อมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่อาจแบ่งแยกออกจากกันได้เลย แล้วความรัก ความเมตตา ความเป็นมิตรกับผู้อื่นก็เกิดขึ้น

แม้แต่การทะเลาะวิวาทกันในระหว่างศาสนาก็จะพลอยสิ้นสุดลงไปด้วย เพราะ ไกวัลยธรรม คือ สภาวะที่เป็นหนึ่งเดียวอันเต็มเปี่ยม และมีอยู่ทั่วไปในทุกหนทุกแห่ง นั่นคือ ย่อมมีอยู่ในทุกศาสนาด้วย

ดังนั้น ใครก็ตามเมื่อเข้าถึงความหมายของศาสนาแห่งตนแล้ว ย่อมทำให้เห็นตรงกันว่า โลกนี้มีเพียงศาสนาเดียวเท่านั้น คือ "ศาสนาแห่งไกวัลย์!"

อินทปัญโญ เดินจากนาลันทามหาวิหาร ด้วยจิตใจที่สว่างไสวไปด้วย ปัญญาญาณแห่งไกวัลยธรรม เพื่อท่อง "พุทธภูมิ" ต่อไป






 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้