36. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 36 กามาวจรจิต 2/1/2550

36. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 36 กามาวจรจิต 2/1/2550

พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส (ตอนที่ 36)


36. กามาวจรจิต

จิตปรมัตถ์ นั้น เมื่อกำหนดว่าเป็นธรรมชาติรู้อารมณ์ ก็อาจถือได้ว่ามีอยู่ประการเดียว แต่เนื่องจากพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ด้วยปัญญาอันยิ่งว่า จิตที่เกิดดับติดต่อกันแต่ละครั้ง หรือที่เรียกว่า ดวงหนึ่งๆ นั้น ย่อมแตกต่างกันตามเงื่อนไขปัจจัยซึ่งประชุมปรุงแต่งมันขึ้นมา จึงทรงจำแนกจิตออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ตามการอยู่เหนือโลกหรือการอยู่ในโลก คือ

(1) โลกุตตรจิต (จิตเหนือโลก) ซึ่งมี 8 ดวง แบ่งย่อยออกเป็นมรรคจิต 4 ดวง และผลจิต 4 ดวง

(2) โลกียจิต (จิตในโลก) ซึ่งมี 81 ดวง โดยแบ่งย่อยออกเป็นกามาวจรจิต 54 ดวง รูปาวจรจิต 15 ดวง และอรูปาวจรจิต 12 ดวง

สรุปแล้ว จิตปรมัตถ์ มีจิตอยู่ทั้งสิ้น 81 ประเภทหรือ 81 ดวง ตามการตรัสรู้ของพระพุทธองค์ แต่ในที่นี้จะกล่าวถึง กามาวจรจิต 54 ดวง เป็นหลัก เพราะนี่คือ โฉมหน้าที่แท้จริงของ ลัทธิวัตถุนิยม และลัทธิบริโภคนิยมที่กำลังสร้างวิกฤตอันใหญ่หลวงให้กับโลกใบนี้

กามาวจรจิต 54 ประกอบขึ้นเป็น กามาวจรภูมิ ซึ่งเป็นระดับจิตที่ยึดหน่วง รูป รส กลิ่น เสียง สิ่งต้องกาย และความคิดนึกอันเนื่องด้วยสิ่งเหล่านี้เป็นอารมณ์ โดยที่ใน กามาวจรจิต เองก็ได้จำแนกย่อยออกเป็น โสภณจิต (จิตดีงาม) 24 ดวง และ อโสภณจิต (จิตไม่ดีงาม) 30 ดวง ดังต่อไปนี้

(หนึ่ง) อโสภณจิต 30 นั้น จำแนกย่อยลงไปอีกเป็น อกุศลจิต 12 และ อเหตุกจิต 18 จิตที่เป็นอกุศลนั้น ก็เพราะมีเจตสิกที่ไม่ดี (อกุศลเจตสิก) เข้าประกอบด้วย ส่วนอเหตุกจิตนั้น ไม่มีทั้งเจตสิกดีงามและเจตสิกที่ไม่ดีเป็นเหตุประกอบ

สำหรับ อเหตุกจิต 18 ก็ยังแยกย่อยออกเป็น

(ก) อกุศลวิบาก 7 ซึ่งเป็น จิตที่เกิดเป็นผลจากอกุศลกรรมในอดีต แจกแจงออกได้เป็น ธรรมชาติรู้อารมณ์ที่ไม่ดีทางตา หู จมูก ลิ้น กาย (ทวาร 5) จำนวน 5 ดวง กับ จิตทำหน้าที่รับอารมณ์ที่ไม่ดีทั้ง 5 ต่อจากการรู้อารมณ์ที่ไม่ดีจากทวาร 5 นั้น 1 ดวง และ จิตที่ทำหน้าที่ไต่สวนอารมณ์ที่ไม่ดีทั้ง 5 โดยรับช่วงต่อมาอีกทอดหนึ่งอีก 1 ดวง รวมแล้วเป็นอกุศลวิบากจิต 7 ดวง

(ข) อเหตุกกุศลวิบาก 8 ซึ่งเป็นจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ เป็นธรรมชาติรู้ทางทวาร 5 รู้อารมณ์ที่ดี นับว่าเป็นผลของกุศลกรรมในอดีตจำนวน 5 ดวง กับจิตที่รับอารมณ์ที่ดีจากทวาร 5 นี้ 1 ดวง และจิตที่ไต่สวนอารมณ์ที่ดีจากทวาร 5 นี้อีก 1 ดวง รวมทั้งจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกสุขใจ เป็นธรรมชาติรู้ทางทวาร 5 ไต่สวนอารมณ์ที่ดีมาก โดยเป็นผลของกุศลกรรมในอดีตอีก 1 ดวง รวมทั้งสิ้นมี อเหตุกกุศลวิบากจิต 8 ดวง

(ค) อเหตุกกริยาจิต 3 เป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยลำพัง ไม่เป็นบุญหรือบาป มิได้เกี่ยวกับกรรม ไม่ประกอบด้วยเหตุมีอยู่ 3 ดวงคือ

(1) จิตที่เกิดพร้อมด้วยความรู้สึกเฉยๆ ทำหน้าที่พิจารณาอารมณ์ใหม่ทางทวาร 5

(2) จิตที่เกิดพร้อมด้วยความรู้สึกเฉยๆ ทำหน้าที่พิจารณาอารมณ์ใหม่ทางทวารใจ

(3) จิตที่เกิดพร้อมด้วยความรู้สึกสุขใจ แม้เมื่อเสพอารมณ์ที่ไม่ดีเป็นจิตที่เกิดกับ อริยบุคคล เท่านั้น (เรียกว่า หสิตุปปาทจิต)

สำหรับ อกุศลจิต 12 หมายถึง จิตที่เกิดขึ้นเสพอารมณ์ เมื่อผู้นั้นกำลังกระทำกรรมชั่วซึ่งจะมีผลในอนาคต จำแนกย่อยออกเป็นโลภมูลจิต 8 โทสมูลจิต 2 และโมหมูลจิต 2 ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

(1) โลภมูลจิต 8 ซึ่งได้แก่

(1.1) จิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกสุขใจ ประกอบด้วยความเห็นผิดเกิดขึ้นโดยไม่มีการชักจูง

(1.2) จิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกสุขใจ ประกอบด้วยความเห็นผิดเกิดขึ้นโดยมีการชักจูง

(1.3) จิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกสุขใจ ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิดเกิดขึ้น โดยไม่มีการชักจูง

(1.4) จิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกสุขใจ ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิดเกิดขึ้นโดยมีการชักจูง

(1.5) จิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ ประกอบด้วยความเห็นผิดเกิดขึ้นโดยไม่มีการชักจูง

(1.6) จิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ ประกอบด้วยความเห็นผิดเกิดขึ้นโดยมีการชักจูง

(1.7) จิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิดเกิดขึ้นโดยไม่มีการชักจูง

(1.8) จิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิดเกิดขึ้นโดยมีการชักจูง

(2) โทสมูลจิต 2 ซึ่งได้แก่

(2.1) จิตที่เกิดพร้อมกับความทุกข์ใจ ประกอบด้วยความขัดเคืองเกิดขึ้นโดยไม่มีการชักจูง

(2.2) จิตที่เกิดพร้อมกับความทุกข์ใจ ประกอบด้วยความขัดเคืองเกิดขึ้นโดยมีการชักจูง

อนึ่งในบรรดาจิตทุกประเภทมี จิตโกรธ 2 ดวงนี้เท่านั้นที่เกิดขึ้นพร้อมกับ ความทุกข์ทางใจ ไม่ว่าในลักษณะใดก็ตาม นับได้ว่าเพราะมีจิตดวงใดดวงหนึ่งในสองดวงนี้เกิดขึ้นเสพอารมณ์ จิตโกรธ นี้ครอบคลุมอาการกว้างขวางมากตั้งแต่ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ริษยา หวงแหน เสียใจ ถึงความขุ่นใจ หรือแม้แต่ความคิดมองโลกมองคนในแง่ร้าย

(3) โมหมูลจิต 2 ซึ่งได้แก่

(3.1) จิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ ประกอบด้วยความลังเลสงสัย

(3.2) จิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ ประกอบด้วยความฟุ้งซ่าน

(สอง) โสภณจิต 24 นั้น จำแนกย่อยลงไปอีกเป็นมหากุศลจิต 8 มหาวิบากจิต 8 และมหากิริยาจิต 8 ดังต่อไปนี้

(1) มหากุศลจิต 8 เป็นจิตพื้นฐานของคุณความดีทั้งปวง และเป็นจิตที่เกิดขึ้นได้ในปุถุชนทั่วไป ที่ว่า มหากุศลจิต นี้เป็นพื้นฐานของคุณความดีก็เพราะ ไม่ว่าผู้นั้นจะปรารถนาปฏิบัติพัฒนาตนเองให้ก้าวหน้าไปไกลเพียงใดก็ตาม ก็ต้องเริ่มต้นด้วยการเจริญให้เกิด มหากุศลจิต นี้ขึ้นก่อนเสมอ ซึ่งประกอบด้วย

(1.1) จิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกสุขใจ ประกอบด้วยปัญญาเกิดขึ้นโดยไม่มีการชักจูง เป็นจิตดี

(1.2) จิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกสุขใจ ประกอบด้วยปัญญาเกิดขึ้นโดยมีการชักจูง เป็นจิตดี

(1.3) จิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกสุขใจ ไม่ประกอบด้วยปัญญาเกิดขึ้นโดยไม่มีการชักจูง เป็นจิตดี

(1.4) จิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกสุขใจ ไม่ประกอบด้วยปัญญาเกิดขึ้นโดยมีการชักจูง เป็นจิตดี

(1.5) จิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ ประกอบด้วยปัญญาเกิดขึ้นโดยไม่มีการชักจูง เป็นจิตดี

(1.6) จิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ ประกอบด้วยปัญญาเกิดขึ้นโดยมีการชักจูง เป็นจิตดี

(1.7) จิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ ไม่ประกอบด้วยปัญญาเกิดขึ้นโดยไม่มีการชักจูง เป็นจิตดี

(1.8) จิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ ไม่ประกอบด้วยปัญญาเกิดขึ้นโดยมีการชักจูง เป็นจิตดี

(2) มหาวิบากจิต 8 เป็นจิตที่เป็นผลของมหากุศลจิต 8 จึงจับเป็นคู่เทียบเคียงได้กับมหากุศลจิตแต่ละดวง

(3) มหากิริยาจิต 8 เป็นจิตของพระอรหันต์เท่านั้น คือจิตที่สิ้นกิเลสแล้ว แต่ยังดำเนินชีวิตอยู่ในโลกรับรู้ รูป รส กลิ่น เสียง สิ่งต้องกาย และความนึกคิดเนื่องด้วยสิ่งเหล่านี้ คือ จะเสพอารมณ์เช่นเดียวกับจิตดีของปุถุชน 8 ดวงทุกประการ แต่ต่างกันตรงที่จิตของท่านเป็นจิตซึ่งไม่สร้างผลใดๆ ให้เกิดในอนาคต จึงเรียกแยกออกมาต่างหากว่า มหากิริยาจิต

อนึ่ง โปรดเข้าใจด้วยว่า สำหรับปุถุชนทั่วไปที่ยังไม่ได้ปฏิบัติธรรมกระทำความเพียรทางจิต อบรมจิตจนถึงขั้นได้ ฌาน หรือ มรรคผล ก็จะไม่มีจิตชนิดรูปาวจรจิต 15 อรูปาวจรจิต 12 และโลกุตตรจิต 8 เกิดขึ้น และถึงแม้ในกามาวจรจิต 54 ดวงเอง พวกปุถุชนก็ยังไม่สามารถมี มหากิริยาจิต 8 และ หสิตุปปาทจิต ซึ่งเป็นจิตของพุทธะหรือพระอรหันต์เท่านั้น

กล่าวมาถึงขั้นนี้ ถือว่าได้อธิบาย กามาวจรจิต 54 ดวง อันเป็นจิตซึ่งเกิดในระดับจิตใจที่ยึดหน่วงรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งต้องกาย และความคิดนึกเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ ซึ่งรวมเรียกว่า "กาม" เป็นอารมณ์ อันเป็น กามาวจรภูมิ ที่กำลังครอบโลกทุนนิยมในปัจจุบันอยู่อย่างเพียงพอสำหรับทำความเข้าใจขั้นต้นแล้ว

แต่ก่อนที่จะแจกแจงไปถึงรูปาวจรจิต 15 อรูปวจรจิต 12 และโลกุตตรจิต 8 อันเป็นจิตระดับสูง ที่รับรู้ได้ด้วยปัญญาญาณอันยิ่งของพระพุทธเจ้า มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าใจเรื่อง เจตสิก อันเป็นธรรมชาติที่เกิดประกอบกับจิตเสียก่อน ซึ่งจะทำให้เข้าใจเรื่องราวของจิตได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ความรู้เรื่อง เจตสิกปรมัตถ์ นี้ก็เป็นความรู้ที่ได้มาจากการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเช่นกัน






 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้