37. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 37 เจตสิกปรมัตถ์ 9/1/2550

37. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 37 เจตสิกปรมัตถ์ 9/1/2550

พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส (ตอนที่ 37)


37. เจตสิกปรมัตถ์

เพราะปรากฏการณ์ที่เป็นโลก เป็นชีวิตในสายตาของ พุทธะ คือ การที่ จิตรู้อารมณ์ แต่ในการที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น จะต้องมี เจตสิก อย่างน้อยที่สุดเกิดประกอบร่วมรู้อารมณ์ด้วยเสมอไป จิตซึ่งไม่มีเจตสิกประกอบด้วยเลยจึงมีไม่ได้

เจตสิก คือ ธรรมชาติประกอบจิต เจตสิกเป็นธรรมชาติรู้เช่นเดียวกับจิต ดังนั้นจึงมีลักษณะ 4 ประการคือ

(1) เกิดขึ้นพร้อมกับการเกิดขึ้นของจิต

(2) ดับลงพร้อมกับการดับลงของจิต

(3) ในขณะที่ดำรงอยู่นั้น มีอารมณ์อันเดียวกับจิต

(4) มีที่อาศัยเกิดอย่างเดียวกับจิตดวงที่ตนเกิดดับมีอารมณ์ร่วมด้วยนั้น

จะเห็นได้ว่า เจตสิกกับจิตแยกกันไม่ได้ เมื่อมีจิตก็ต้องมีเจตสิกประกอบอยู่ด้วย และรับรู้กระทำหน้าที่ต่ออารมณ์เดียวกันด้วยเสมอ ส่วนเจตสิกจะเกิดขึ้นโดยลำพัง โดยไม่มีจิตเป็นประธานก็ไม่ได้เช่นกัน

เจตสิกสามารถจำแนกออกเป็น 52 ชนิด หรือประเภทได้ด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระพุทธเจ้า โดยแบ่งออกเป็น 3 พวก ตามคุณค่าทางจริยธรรมซึ่งได้แก่

(ก) เจตสิกพวกดีงาม ซึ่งเรียกว่า โสภณเจตสิก มี 25 ชนิดหรือ 25 ดวง ซึ่งสามารถจำแนกย่อยได้อีกเป็น 4 กลุ่มคือ

กลุ่มที่หนึ่ง โสภณสาธารณเจตสิก หรือเจตสิกที่เกิดทั่วไปกับจิตดีงามทุกดวง เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดมี 19 ดวง นับว่าเป็นรากฐานของความดีในจิตที่งาม ดังต่อไปนี้

(1) ความเชื่อมั่น (ศรัทธา)

(2) ความระลึกรู้อยู่ (สติ)

(3) ความละอายต่อบาป (หิริ)

(4) ความสะดุ้งเกรงต่อบาป (โอตตัปปะ)

(5) ความไม่อยากได้ (อโลภะ)

(6) ความไม่คิดประทุษร้าย (อโทสะ)

(7) ความเที่ยงตรง (ตัตตรมัชฌัตตตา)

(8) ความสงบรำงับแห่งกาย (กายปัสสัทธิ) (ความสงบแห่งกองเจตสิก)

(9) ความสงบรำงับแห่งจิต (จิตตปัสสัทธิ)

(10) รู้สึกกายเบา (กายลหุตา) (ความเบาแห่งกองเจตสิก)

(11) จิตเบา (จิตตลหุตา)

(12) รู้สึกกายนุ่มนวล (กายมุทุตา) (ความนุ่มนวลแห่งกองเจตสิก)

(13) จิตนุ่มนวล (จิตตมุทุตา)

(14) รู้สึกกายควรแก่งาน (กายกัมมัญญตา) (ความควรแก่งานแห่งกองเจตสิก)

(15) จิตควรแก่งาน (จิตตกัมมัญญตา)

(16) รู้สึกกายคล่องแคล่ว (กายปาคุญญตา) (ความคล่องแคล่วแห่งกองเจตสิก)

(17) จิตคล่องแคล่ว (จิตตปาคุญญตา)

(18) รู้สึกกายตั้งตรง ซื่อตรง (กายุชุกตา) (ความซื่อตรงแห่งกองเจตสิก)

(19) จิตซื่อตรง (จิตตุชุกตา)

กลุ่มที่สอง วิรตีเจตสิกหรือเจตสิกซึ่งเป็นตัวความงดเว้น เพื่อรองรับการปฏิบัติดีในชีวิตประจำวันมี 3 ดวง ได้แก่

(1) เจรจาชอบ (สัมมาวาจา)

(2) กระทำชอบ (สัมมากัมมันตะ)

(3) เลี้ยงชีพชอบ (สัมมาอาชีวะ)

วิรตีเจตสิก 3 นี้ เมื่อมาปรากฏในจิตดีงามทั่วไป จะไม่ปรากฏพร้อมกัน แต่จะปรากฏเฉพาะดวงใดดวงหนึ่ง ในขณะที่บุคคลกำลังกระทำการใดๆ ที่เจตสิกเป็นพื้นฐานเท่านั้น

กลุ่มที่สาม อัปปมัญญาเจตสิกหรือเจตสิกที่กำหนดสภาวะอันไร้ขอบเขตมี 2 ดวง ได้แก่

(1) ความสงสาร สรรพสัตว์ผู้มีทุกข์ (กรุณา)

(2) ความยินดีต่อสรรพสัตว์ผู้ได้สุข (มุทิตา)

กลุ่มที่สี่ ปัญญินทรีย์ หรือ อโมหะ เป็นความรู้เข้าใจไม่หลงอันเป็นธรรมชาติที่ตรงข้ามกับโมหะหรืออวิชชามีดวงเดียว

(ข) เจตสิกพวกกลางๆ (ไม่เข้าข้างใคร) ซึ่งเรียกว่า อัญญสมานาเจตสิก มี 13 ชนิดหรือ 13 ดวง ซึ่งสามารถจำแนกย่อยได้อีกเป็น 2 กลุ่มคือ

กลุ่มที่หนึ่ง สัพพจิตตสาธารณเจตสิก เป็นเจตสิกที่จะพร้อมกันมาปรากฏอยู่เสมอ ไม่ว่าจิตประเภทใดเกิดขึ้นมีอยู่ 7 ดวง ดังต่อไปนี้

(1) กระทบอารมณ์ (ผัสสะ)

(2) เสวยอารมณ์ (เวทนา)

(3) จำอารมณ์ (สัญญา)

(4) กระตุ้นชักชวนให้ธรรมชาติที่เกิดร่วมทำหน้าที่กับอารมณ์ (เจตนา)

(5) แน่วแน่ในอารมณ์เดียว (เอกัคคตา)

(6) รักษาธรรมชาติที่เกิดร่วม (ชีวิตินทรีย์)

(7) มุ่งและนำธรรมชาติที่เกิดร่วมสู่อารมณ์ (มนสิการ)

เจตสิก 7 ดวงข้างต้นนี้ จะเห็นได้ว่า แต่ละดวงล้วนมีความสำคัญต่อการเกิดขึ้นของจิตอย่างที่จะขาดเสียมิได้ จึงเกิดขึ้นพร้อมกันในจิตทุกประเภท

กลุ่มที่สอง ปกิณณกเจตสิก เป็นเจตสิกที่อาจแยกย้ายกันเกิดประกอบกับจิตบางประเภท เว้นไม่เข้าประกอบกับจิตบางประเภท แต่ก็สามารถประกอบกับจิตทั่วไปได้แต่ไม่ใช่ทุกดวงมีอยู่ 6 ดวง ดังต่อไปนี้

(1) นำธรรมชาติที่เกิดร่วมสู่อารมณ์ ได้แก่ คิดหรือตรึก (วิตก)

(2) เคล้าคลึงอารมณ์หรือตรอง (วิจาร)

(3) ตัดสิน ปักใจลงในอารมณ์ (อธิโมกข์)

(4) ความเพียรพยายาม (วิริยะ)

(5) ความชื่นชม อิ่มใจ (ปีติ)

(6) ความพอใจ ปรารถนาอารมณ์ (ฉันทะ)

สรุปได้ว่า เจตสิกที่เป็นกลางทั้ง 13 ดวงนี้ ไม่ดี ไม่ชั่วในตัวเอง คือพร้อมที่จะเข้าข้างฝ่ายดี หรือฝ่ายชั่วอย่างเต็มที่ เมื่อเกิดร่วมกับฝ่ายใดก็ตาม

(ค) เจตสิกพวกชั่ว ซึ่งเรียกว่า อกุศลเจตสิก มี 14 ชนิดหรือ 14 ดวง ซึ่งสามารถจำแนกย่อยได้อีกเป็น 5 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่หนึ่ง กลุ่มหลงผิด 4 เป็นอกุศลเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิตทุกดวง มีอยู่ 4 ดวง ได้แก่

(1) ความหลง (โมหะ) เป็นความไม่รู้ไม่เข้าใจในหลักความเป็นเหตุเป็นผลสืบเนื่องของชีวิต ในเรื่องกรรมและผลของกรรม ในเรื่องอริยสัจและปฏิจจสมุปบาท รวมทั้งเรื่องสติปัฏฐาน

(2) ความไม่ละอายต่อบาป (อหิริกกะ) ไม่ละอายที่จะเกลือกกลั้วกับความชั่วต่ำทราม

(3) ความไม่สะดุ้งเกรงต่อบาป (อโนตตัปปะ) แสดงออกเป็นพฤติกรรมทางกาย วาจาใจที่ต่ำทราม

(4) ความฟุ้งซ่าน (อุทธัจจะ) เป็นธรรมชาติที่ทำให้จิตขาดความสงบระงับโดยคิดพล่าน ไม่มั่นอยู่ในอารมณ์เดียว จิตใจหวั่นไหว เลื่อนลอย มีกำลังอ่อน ถูกชังจูงไปตามอารมณ์ที่มาปรากฏทางทวารต่างๆ ได้โดยง่าย

ตราบใดที่โมหะหรือความหลงยังเกิดขึ้นในจิต ตราบนั้นความฟุ้งซ่านก็จะเข้าประกอบด้วยเสมอไป เพราะความหลงเป็นเหตุของความฟุ้งซ่าน ทำให้รับรู้อารมณ์และความคิดนึกอย่างไม่ถูกต้อง ไม่แยบคาย จึงเกิดความฟุ้งซ่านขึ้นเป็นเงาตามตัว

กลุ่มที่สอง กลุ่มโลภ 3 มีโลภะเป็นประธาน มีอยู่ 3 ดวงได้แก่

(1) อารมณ์ความอยากได้ (โลภะ)

(2) ความเห็นผิด (ทิฏฐิ)

(3) ความถือตัว (มานะ)

ในเจตสิกกลุ่มนี้ โลภะอาจเข้าประกอบดวงเดียว หรืออาจพร้อมด้วยบริวาร คือทิฏฐิหรือมานะดวงใดดวงหนึ่ง แต่ทิฏฐิและมานะจะไม่ปรากฏในจิตดวงเดียวกัน

กลุ่มที่สาม กลุ่มโกรธ 4 มีโทสะเป็นประธาน มีอยู่ 4 ดวง ได้แก่

(1) ความคิดประทุษร้าย (โทสะ)

(2) ความริษยา (อิสสา)

(3) ความตระหนี่ (มัจฉริยะ)

(4) ความเดือดร้อนใจ (กุกกุจจะ)

ในการเข้าประกอบกับจิต โทสะอาจเข้าประกอบแต่ดวงเดียวจากกลุ่มนี้ โดยมีอัญญสมานาเจตสิก เข้าร่วมส่งเสริมด้วยทุกดวงยกเว้นปีติเจตสิก ส่วนในโทสมูลจิตนั้น อิสสา มัจฉริยะ หรือกุกกุจจะดวงใดดวงหนึ่งอาจเข้าร่วมด้วย โดยมีโทสะเป็นประธานแต่ก็ไม่พร้อมกัน 2-3 ดวง อนึ่ง อกุศลเจตสิกกลุ่มโลภ 3 กับกลุ่มโกรธ 4 จะไม่เข้าประกอบจิตพร้อมกัน คือไม่อยู่ในจิตดวงเดียวกัน เพราะความโลภกับความโกรธเป็นธรรมชาติที่ขัดแย้งกันในตัว ไม่อาจอยู่ร่วมในขณะเดียวกันได้

กลุ่มที่สี่ กลุ่มหดหู่ 2 เป็นเจตสิกที่จะมาปรากฏในอกุศลจิตพร้อมกันทั้ง 2 ดวง คือ

(1) ความหดหู่ (ถีนะ)

(2) ความง่วงเหงา ถดถอย (มิทธะ)

จิตที่อกุศลเจตสิก 2 ดวงนี้ อาจมาประกอบได้ คือจิตโลภ และจิตโกรธ โดยมีผลบั่นทอนกำลังความคิดแรงของจิตนั้นๆ ซึ่งทำให้จะต้องมีการชักจูง จึงจะเกิดขึ้นได้

กลุ่มที่ห้า ลังเล 1 เป็นอกุศลเจตสิกดวงสุดท้ายที่แยกตัวออกจากกลุ่มอื่นคือ วิจิกิจฉา หรือความคลางแคลงสงสัย เป็นอกุศลเจตสิกที่ทำให้เกิดความลังเล รวนเร ไม่มั่นใจ ตัดสินใจไม่ได้ จึงไม่เกิดร่วมในจิตโลภหรือจิตโกรธ แต่เกิดในจิตหลง คือมีโมหะดวงเดียว

เจตสิก 52 ดวงข้างต้นที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ มีธรรมชาติประกอบกันขึ้นเป็น จิตแต่ละดวง ที่มีอยู่ทั้งสิ้น 81 ดวง แต่ได้กล่าวไปแล้ว 54 ดวง คือ กามาวจรจิต

เนื่องจาก พุทธะ มองเห็น ชีวิต เป็น ขณะจิต ที่เกิดดับสืบเนื่องกันอย่างรวดเร็ว ช่วงชีวิตที่สั้นที่สุด คือ ขณะจิต หรือ อายุขัยของจิตดวงหนึ่งซึ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปในกระแสการเกิดดับของอิทัปปัจจยตา ที่สืบเนื่องมาจากอดีตอันหาจุดเริ่มต้นไม่ได้ และจะดำเนินเรื่อยไปสู่อนาคตไม่สิ้นสุด จนกว่าขบวนจิตนั้นจะได้ผ่านขั้นตอนพัฒนาการของจิต ที่เรียกว่า มรรค-ผล-นิพพาน

โดยทั่วไป กระบวนการเกิดดับสืบเนื่องของจิต เจตสิกที่รู้อารมณ์ ในขณะเดียวกันก็ได้กลายเป็นกระบวนการที่ยึดถือความเป็นตัวกู-ของกู หรือความเป็นตัวตนของบุคคลหนึ่งๆ อันถูกจิต เจตสิกนั้นเองปรุงแต่งสร้างขึ้นมาด้วย

การยึดมั่นในความเป็นตัวตน เป็นบุคคลหรือความเป็น "ตัวกู-ของกู" จึงนำไปสู่การมีชีวิตอยู่อย่างหลงผิดในโลกมายาที่ตัวตนสร้างขึ้นมาเอง และก็มีความทุกข์ไปกับมันในโลกมายาอันไม่จริงนี้

การเรียนเรียนรู้จักจิตของตนเองตามเป็นจริง โดยเริ่มเรียนรู้จาก จิตปรมัตถ์ และ เจตสิกปรมัตถ์ ตาม การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า จึงเป็น กุญแจสำคัญที่จะทำให้รู้จักทั้งโลกที่เป็นจริง และโลกมายาที่จิตสร้างขึ้น ความรู้ที่กระจ่างชัดอย่างนี้เอง ที่จะไปทำลายความหลงผิดและความทุกข์ให้สิ้นไปได้







 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้