39. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 39 คู่มือมนุษย์ 23/1/2550

39. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 39 คู่มือมนุษย์ 23/1/2550

พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส (ตอนที่ 39)


39. คู่มือมนุษย์

วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2499 (ค.ศ. 1956) ณ เนติบัณฑิตยสภา

อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ผู้เป็นอดีตนายกพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย และปลัดกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น กำลังรอการมาปรากฏตัวของ อินทปัญโญ ด้วยจิตใจที่จดจ่อมุ่งหวัง และหวนรำลึก เพราะเขารู้จักท่านมานานกว่ายี่สิบห้าปีแล้ว ตั้งแต่ตอนที่เขากำลังเรียนกฎหมายอยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ แล้วอินทปัญโญได้เขียนจดหมายจากพุมเรียงไชยาไปหาเขาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของกันและกัน เกี่ยวกับเรื่องการเผยแผ่หลักธรรมแห่งพระพุทธศาสนา เพราะทั้งคู่ต่างก็มีศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า แม้ว่าคนหนึ่งจะเป็นพระภิกษุ แต่อีกคนหนึ่งเป็นฆราวาสผู้มุ่งมั่นที่จะเดินบน วิถีแห่งสัตบุรุษ ก็ตาม

สัญญา ธรรมศักดิ์ เพิ่งได้เจอตัวจริงของอินทปัญโญเป็นครั้งแรก ก็ในปี 2476 เมื่อเขาสำเร็จการศึกษาแล้วกลับมาเมืองไทยได้สักพักก็ถูกเชิญให้ไปเป็นล่ามของ "พระโลกนาถ" ซึ่งเป็นพระฝรั่งอิตาเลียนที่มาแสดงปาฐกถาให้พระไทยฟังที่วัดบวรนิเวศ แล้วอินทปัญโญก็มาฟังรวมทั้งซักถามพระโลกนาถหลายข้อด้วย สัญญารู้สึกประทับใจและเลื่อมใสในภูมิปัญญา และความมุ่งมั่นของภิกษุหนุ่มอินทปัญโญที่เขาเพิ่งได้รู้จักตัวจริงเป็นอย่างมาก

ความทุ่มเทที่อินทปัญโญหนุ่มอุทิศให้แก่พุทธศาสนา ได้เป็นแรงบันดาลใจให้สัญญา ธรรมศักดิ์ ตัดสินใจยอมเหนื่อยทำงานให้แก่พุทธสมาคมแห่งประเทศไทยที่เพิ่งก่อตั้งขึ้น ทั้งๆ ที่ตัวเขาเองก็เพิ่งเป็นผู้พิพากษาฝึกหัดอยู่ ซึ่งเป็นงานที่หนักอยู่แล้ว

สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นหนึ่งในกลุ่มปัญญาชนสยามที่ติดตามพัฒนาการในทางธรรม และทางจิตของอินทปัญโญมาตั้งแต่แรก และอย่างต่อเนื่องมาจนถึงบัดนี้ด้วยความทึ่ง และความเลื่อมใสในความล้ำลึกแห่งพุทธธรรมของอินทปัญโญ

ในปี 2481 สัญญา ธรรมศักดิ์ ได้ติดตามท่านเจ้าคุณลัดพลีธรรมประคัลภ์ (วงศ์ ลัดพลี) ซึ่งเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ และเคยเป็นอาจารย์สอนกฎหมายเขาไปสวนโมกข์ เพื่อพบอินทปัญโญ เมื่อคณะของสัญญาไปถึงสถานีรถไฟไชยาในตอนเช้ามืด อินทปัญโญได้มายืนรอรับพวกเขาที่สถานีรถไฟอยู่ก่อนแล้ว จากนั้นอินทปัญโญก็เดินนำหน้าพาคณะของพวกเขาไปสวนโมกข์ที่พุมเรียง

ภาพของอินทปัญโญผู้มีร่างสูงใหญ่ ที่เดินตัวปลิวผ่านเส้นทางที่ขรุขระเป็นหลุมเป็นบ่อ ท่ามกลางทุ่งนาป่าละเมาะ เป็นภาพที่ยังติดตาสัญญา ธรรมศักดิ์ มาจนถึงทุกวันนี้ ยิ่งเขาได้มาฟังการแสดงปาฐกถาธรรมครั้งสำคัญของอินทปัญโญเรื่อง "วิถีแห่งการเข้าถึงพุทธธรรม" ในปี 2483 สัญญา ธรรมศักดิ์ ถึงกับได้รับความชุ่มใจ และสว่างใจกว่าแต่ก่อนเป็นอย่างมาก ราวกับได้เห็นทางสว่างโล่งที่ทอดอยู่เบื้องหน้า ทำให้คนธรรมดาอย่างเขาสามารถมองเห็น และสัมผัสพระธรรมเนื้อแท้ รวมทั้งจุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาได้กระจ่างชัดอย่างไม่เคยรู้สึกเช่นนั้นมาก่อน วันนั้นเองที่สัญญา ธรรมศักดิ์ น้อมใจยึดถืออินทปัญโญเป็น "ครูทางธรรม" ของตัวเขา แม้ว่าอินทปัญโญจะมีอาวุโสมากกว่าตัวเขาเพียงหนึ่งปีก็ตาม

ในระหว่างที่สัญญา ธรรมศักดิ์ กำลังรอคอยการมาของอินทปัญโญด้วยจิตใจที่จดจ่อนั้น ตัวอินทปัญโญเองก็มีความมุ่งหวังต่อการมาอบรมผู้พิพากษาในครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกอยู่ไม่น้อยเช่นกัน เพราะหลังจากที่ตัวเขาได้ทำประโยชน์ตนสำเร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์แล้วระหว่างที่ไปประเทศอินเดียเมื่อปลายปีที่แล้ว ตัวเขาก็ได้ตั้งใจอย่างเต็มเปี่ยมแล้วว่า จะอุทิศชีวิตที่เหลือทั้งหมดของเขาให้กับการทำประโยชน์แก่ผู้อื่นในวงกว้าง ด้วยการปลุกเร้าให้ผู้คนตื่นขึ้นมาจากความไม่รู้ ความหลงผิดแล้วหันมารับรู้ความเป็นจริงแบบเดียวกับที่พระอริยเจ้ามองเห็น

ราวกับไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ความตั้งใจของอินทปัญโญได้รับการสนองตอบโดยพลัน เมื่ออาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรมและอดีตนายกพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ได้เชิญอินทปัญโญขึ้นมากรุงเทพฯ เพื่อบรรยาย "ตุลาการิกธรรม" ครั้งที่ 1 อันเป็นการบรรยายอบรมผู้ที่จะเป็นผู้พิพากษาทั้งหลาย ให้มีความเข้าใจในหลักธรรมที่แท้จริงของพุทธศาสนา เพื่อที่ตุลาการจะได้เป็นสถาบันหลักที่ตั้งมั่นอยู่ในธรรม และเป็นที่พึ่งพิงแหล่งสุดท้ายในการปกป้องธรรม และความยุติธรรมของสังคมนี้ไปอีกนานเท่านาน

ก้าวแรกในการเผยแผ่พุทธธรรมออกสู่วงกว้างของ อินทปัญโญ จึงไม่มีกลุ่มบุคคลไหนที่เหมาะสมเท่ากับกลุ่มผู้จะเป็นผู้พิพากษาทั้งหลายอีกแล้ว เมื่อคำนึงถึงบริบททางวัฒนธรรมประเพณี และความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นยาวนานที่อินทปัญโญมีกับเหล่าผู้พิพากษาระดับอาวุโสมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว

อินทปัญโญ หยุดยืนอยู่ที่ริมหน้าต่าง แล้วมองออกไปข้างนอก เขาอยู่ในความคำนึงอยู่พักใหญ่ แม้เขารู้ว่าอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ กำลังรอการมาของเขาอยู่ แต่ความงามของท้องฟ้ายามเช้าที่มีเมฆขาวประปราย ดวงอาทิตย์เปล่งแสงสีเหลืองทองกระทบกับต้นไม้ใหญ่เป็นลำดูแจ่มกระจ่างเรืองรอง ขณะที่ดอกบัวกำลังแย้มกลีบรับพลังจากอาทิตย์อุทัยทำให้เขาต้องหยุดอยู่ที่นั่น

มันช่างเป็นภาพที่งดงามนัก แล้วความคิดหนึ่งก็อุบัติขึ้นตรึงอินทปัญโญไว้อยู่กับที่

"ความรัก ความกรุณาอย่างพุทธะ คือเป้าหมายสูงสุด และเป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์จะเสาะแสวงหาได้..."

"...การกอบกู้ค้ำจุนโลก จะทำได้ก็โดยผ่านวิถีแห่งความกรุณา และมีอยู่ในความกรุณาอย่างไม่มีเงื่อนไขเท่านั้น"

มันน่าแปลกใจมั้ย ที่มนุษย์ซึ่งไม่มีทรัพย์สมบัติสิ่งใดในโลกไว้ครอบครองอย่างตัวเขากลับอยู่ในความปีติสุขอย่างล้ำลึกได้แทบตลอดเวลา ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหน หรือว่าไปที่ใด? อินทปัญโญถามตัวเองในความสงบเงียบแห่งห้วงขณะนั้น

ผู้ที่มีจิตใจบริสุทธิ์งดงามย่อมดื่มด่ำกับความปีติของชีวิตได้อย่างไม่มีวันสิ้นสุด และเขาย่อมแลเห็นว่า เป้าหมายอันสูงสุดของการมีชีวิตและการเกิดมาเป็นมนุษย์นั้น มีอยู่จริง เขาย่อมดำรงชีวิตอย่างมีศิลปะ และเปี่ยมไปด้วยศิลปะแห่งการมีชีวิตอยู่

มนุษย์อาจถูกพรากทุกสิ่งทุกอย่างไปจากตนเองได้ ยกเว้นเพียงสิ่งเดียวเท่านั้น นั่นก็คือ อิสรภาพที่จะเลือกวิถีทางของตัวเอง อันเป็นเรื่องของการตัดสินใจเลือกภายในจิตใจของมนุษย์ผู้นั้น

อิสรภาพทางใจ ซึ่งใครก็ไม่สามารถพรากไปได้นี้เอง ที่ทำให้ชีวิตมนุษย์เปี่ยมไปด้วยความหมายและเป้าหมาย อินทปัญโญตระหนักถึง ความสำคัญของอิสรภาพทางใจ ที่เป็นประดุจ "คู่มือมนุษย์" ของตัวเขามาโดยตลอด เพราะมันเปิดโอกาสให้ตัวเขาได้ใช้ใจสัมผัสชีวิต เปิดโอกาสให้ตัวเขาได้ดื่มด่ำกับความงามของศิลปะ และของธรรมชาติได้อย่างเต็มที่

คนทั่วไปที่มักปล่อยให้ตัวเองทดท้อ จิตใจหดหู่ไปเรื่อยๆ เพราะมองไม่เห็นเป้าหมายในอนาคตใดๆ ทั้งสิ้น มักจะพบว่าตัวเองจะจมปลักอยู่กับความฝังใจในอดีตเสมอ อดีตที่ปวดร้าวชวนให้รวดร้าวรันทดเมื่อยามนึกถึง แต่ก็ยากที่จะลืมเลือน

คนเหล่านั้นมักลืมไปว่า สถานการณ์ภายนอกที่ดูทุกข์ยากลำบากมากเป็นพิเศษนั่นแหละ คือโอกาสอันงดงาม และมีค่าในการให้มนุษย์ได้พัฒนาจิตใจและจิตวิญญาณของตนยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา

ด้วยเหตุนี้กระมัง เท่าที่ผ่านมา จึงมีคนเพียงจำนวนน้อยนิดเท่านั้น ที่สามารถไต่เต้าผลักดันพัฒนาตนเองไปจนถึง ขีดขั้นสูงสุดทางจิตวิญญาณได้ การที่พวกเขาสามารถประสบความสำเร็จเช่นนั้นได้ ก็เพราะว่าพวกเขาสามารถเปลี่ยนอุปสรรคของชีวิตให้เป็นชัยชนะแห่งจิตใจได้นั่นเอง

ในโลกนี้ไม่มีใครสามารถแบ่งเบาความทุกข์ของคนเราหรือรับทุกข์ทรมานแทนกันได้ตลอดไปหรอก ความทุกข์เป็นสิ่งที่มนุษย์เราแต่ละคนจะต้องผ่านพ้นก้าวข้ามไปให้ได้ด้วยตัวของเขาเอง ความโดดเด่นของความเป็นมนุษย์คนหนึ่ง จึงอยู่ที่ว่าคนเราจะมีวิธีแบกรับความทุกข์ยากทั้งปวงที่ถั่งโถมเข้ามาสู่ชีวิตไว้ได้อย่างไร และรู้จักอย่างรู้แจ้งในการแปรเปลี่ยนมันให้เป็นการเติบโตทางจิตวิญญาณได้อย่างไรต่างหาก

มนุษย์เราหากไม่คิดถึงตัวเอง แต่กลับมุ่งเสียสละตนเองเพื่อรับใช้บางสิ่งบางอย่างที่สูงส่ง ด้วยความรักความอุทิศตัวเท่าใด มนุษย์ผู้นั้น ก็จะยิ่งกลายเป็น มนุษย์ที่แท้ และ รู้แจ้งในตนเอง ยิ่งขึ้นเท่านั้น

อินทปัญโญรู้ว่าขณะนี้ เขามีอายุย่างเข้าห้าสิบปีแล้ว อันเป็นวัยที่เริ่มจะแก่เฒ่าลงไปแล้ว แต่เขาก็ไม่เคยมองความแก่ชราที่กำลังมาเยือนตัวเขาด้วยความหวาดหวั่นเลย เหมือนกับที่ตัวเขาไม่เคยรู้สึกเสียดายความหนุ่มแน่นที่กำลังจากตัวเขาไปเลย

เขาไม่มีเหตุผลจะอิจฉาคนหนุ่มๆ สาวๆ ที่ตัวเขาพบเห็นหรือเสียดายอาลัยอาวรณ์ความเยาว์วัยที่สูญไปแล้วของตัวเองเลยแม้แต่นิดเดียว เพราะเส้นทางทุกย่างก้าวที่ตัวเขาได้เดินมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงบัดนี้ มันได้ถูกเก็บบันทึกไว้ในความทรงจำของเขาเป็น อนุสรณ์แห่งการดำรงอยู่ของตัวเขา อย่างที่ตัวเขาสามารถย้อนกลับมาคิดทบทวนด้วยความภาคภูมิใจ และเบิกบานใจได้เสมอว่า ตัวเขาได้ทำหน้าที่เป็น "ทาส" รับใช้พระพุทธองค์อย่างสุดชีวิตเท่าที่ผู้ชายคนหนึ่งจะถวายให้แก่ "ครู" ที่ตัวเขาภักดีอย่างหมดหัวใจได้





 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้