40. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 40 แนวทางการทำให้รู้แจ้งตามวิถีธรรมชาติ 30/1/2550

40. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 40 แนวทางการทำให้รู้แจ้งตามวิถีธรรมชาติ 30/1/2550

พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส (ตอนที่ 40)

40. แนวทางการทำให้รู้แจ้งตามวิถีธรรมชาติ

วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2499 (ค.ศ. 1956)

ณ ห้องบรรยายของเนติบัณฑิตยสภา

ในการบรรยายอบรมผู้พิพากษา "ตุลาการิกธรรม" ที่ติดต่อกันมาหลายวัน จนถึงครั้งที่ 6 ในวันนี้ อินทปัญโญได้ปูพื้นฐานให้พวกเขาเข้าใจถึง ใจความสำคัญของพุทธศาสนา ในฐานะที่เป็นระเบียบวิธีปฏิบัติในขั้นสูง เพื่อรู้ว่าตัวของตัวเองเป็นอะไร ชีวิตนี้คืออะไร อันเป็นการรู้อย่างถึงที่สุดว่า สิ่งทั้งปวงคืออะไร ตามที่เป็นจริง จากนั้น อินทปัญโญก็บรรยายเรื่อง ไตรลักษณ์ อันเป็น ลักษณะสามัญของสิ่งทั้งปวง ต่อมาบรรยายเรื่อง อุปทานสี่ ที่เป็นอำนาจของความยึดติด แล้วจึงค่อยบรรยายเรื่อง ไตรสิกขา อันเป็นขั้นตอนการปฏิบัติธรรม และบรรยายเรื่อง เบญจขันธ์ อันเป็นสิ่งที่คนเรายึดติด ตามลำดับ

มาในวันนี้ อันเป็นหัวข้อที่สำคัญที่สุดของการบรรยายชุดนี้ อินทปัญโญได้เริ่มสอน แนวทางการทำให้รู้แจ้งตามวิถีธรรมชาติ ที่มีพื้นฐานมาจากประสบการณ์โดยตรงส่วนหนึ่งของตัวอินทปัญโญเอง อีกทั้งยังอิงอยู่กับหลักปฏิจจสมุปบาทของพระพุทธเจ้า ซึ่งอินทปัญโญได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว เห็นว่า แนวทางนี้เหมาะสมสำหรับบุคคลผู้มีปกติเพ่งพินิจหาเหตุผล จึงสามารถเผยแพร่ออกสู่วงกว้างได้ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาประสบการณ์เร้นลับทางวิญญาณ ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลและมีลักษณะเฉพาะตัว

ก่อนอื่น อินทปัญโญได้เขียนแนวทางหรือลำดับขั้นตอนในการทำให้รู้แจ้ง ตามวิถีของธรรมชาติบนกระดานดำให้พวกผู้พิพากษาได้เห็นภาพรวม ว่ามีอยู่ 10 ขั้นตอน คือ

(1) ปราโมทย์และปีติ ความอิ่มใจในธรรม

(2) ปัสสัทธิ ความรำงับแห่งจิต

(3) สมาธิ จิตพร้อมที่จะพินิจ

(4) ยถาภูตญาณทัสสนะ รู้ตามเป็นจริง

(5) นิพพิทา จิตหน่าย

(6) วิราคะ จิตคลายออก

(7) วิมุตติ จิตหลุด

(8) วิสุทธิ ความบริสุทธิ์

(9) สันติ ความสงบเย็น

(10) นิพพาน ความไม่มีทุกข์

จากนั้น อินทปัญโญก็เริ่มถ่ายทอด แนวทางการทำให้รู้แจ้งตามวิถีธรรมชาติของเขา อย่างละเอียดให้แก่พวกเขา ดังต่อไปนี้

เวลาที่จิตใจของเราผ่องใสชุ่มชื่นเยือกเย็น คือเวลาที่จะรู้ธรรม หรือ รู้แจ้ง คืออาจจะรู้โพล่งๆ เฉยๆ ขึ้นมาได้โดยง่าย ด้วยเหตุนี้เอง คนเราจึงต้องมี "ปีติปราโมทย์" (ขั้นตอนที่ 1) หรือ ความสดชื่น ในขณะที่จะมีสมาธิเพื่อรู้ธรรมเสียก่อน ลำดับของการรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมมันเกิดขึ้นอย่างนี้

ตัวความปีติปราโมทย์นั้น มันก็มีอำนาจอยู่ในตัวมันเองอย่างหนึ่ง ซึ่งจะให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า "ปัสสัทธิ" (ขั้นตอนที่ 2) หรือ ความรำงับ ตามปกติจิตของคนเราไม่ค่อยจะรำงับ เพราะว่าจิตตกเป็นทาสของความคิดความนึก ของอารมณ์ ของเวทนา ของอะไรต่างๆ อยู่ตลอดเวลา เป็นความฟุ้งอยู่ภายใน ไม่เป็นความรำงับ หากแต่ถ้าเกิดความปีติปราโมทย์ทางธรรมอย่างมีอำนาจครอบงำแรงกล้าพอสมควรแล้ว มันจะเกิดความสงบรำงับ หรือปัสสัทธิขึ้นมาเอง จะมีมากน้อยเพียงไรก็ขึ้นอยู่กับอำนาจของปีติปราโมทย์นั้น ว่ามีมากหรือน้อย เป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมมากเพียงไร ประกอบด้วยปัญญาหรือไม่ประกอบด้วยปัญญามากเพียงไรด้วย

เมื่อมีความรำงับดังนี้แล้ว ก็ย่อมจะเกิดอาการที่เรียกว่า สมาธิ (ขั้นตอนที่ 3) ขึ้นมาเองตามธรรมชาติอีกเหมือนกัน จิตที่เป็นสมาธิ คือจิตที่ควรแก่งานทางจิต การที่จิตเป็นสมาธินั้น มิได้หมายความว่า จะต้องมีการกระทำตามแบบพิธีรีตอง หรือเป็นเทคนิคต่างๆ นั้นโดยตรงอย่างเดียวก็หาไม่

แท้ที่จริงแล้ว สมาธิอาจจะมีได้โดยตรงตามธรรมชาติ ซึ่งปราศจากเทคนิคใดๆ สมาธิที่เกิดตามธรรมชาตินั้น ก็ให้ผลได้อย่างเดียวกับสมาธิที่เกิดมาจากการปฏิบัติบำเพ็ญตามวิธีที่เป็นเทคนิค โดยเฉพาะเหมือนกันคือ เมื่อเป็นสมาธิแล้วก็นำไปใช้พิจารณาข้อธรรมต่างๆ ในเชิงวิปัสสนาได้เช่นกัน โดยที่ สมาธิที่เกิดตามธรรมชาติ นั้น มักจะพอเหมาะพอสมกับกำลังของปัญญาที่จะทำการพิจารณา ในขณะที่สมาธิที่เกิดตามวิธีของการบำเพ็ญเป็นเทคนิคโดยเฉพาะนั้น มักจะเป็นสมาธิที่มากเกินไป คือ มักจะเหลือใช้ และยังเป็นเหตุให้คนหลงติดชะงัก เพราะติดสุข ติดสบาย ในความสงบจากสมาธิ

สมาธิที่แท้ต้องเป็นธรรมชาติ โดยไม่มีการบีบเค้นจิต หรือข่มจิต ข่มอารมณ์ใดๆ สมาธิอย่างเป็นธรรมชาติ ควรจะต้องเป็นสิ่งที่ "ผุดบังเกิด" ขึ้นมาเองจากภายใน อันเป็นผลจากการมีท่าทีที่ถูกต้องของคนผู้นั้นในการดำเนินชีวิต หรือสัมมาทิฐินั่นเอง

สมาธิตามธรรมชาตินั้น ย่อมรวมอยู่ในความพยายามเพื่อจะเข้าใจแจ่มแจ้งกระจ่างแจ้ง และต้องมีอยู่ในขณะที่มีความเห็นอันแจ่มแจ้งติดแนบแน่นอยู่ในตัวอย่างไม่แยกจากกันได้ และเป็นไปได้เองตามธรรมชาติ คือ แค่เราตั้งใจลงไปเท่านั้น จิตควรเป็นสมาธิอย่างแน่วแน่ขึ้นมาเองได้ นี่แหละคือ ลักษณะของสมาธิที่เป็นไปเองตามธรรมชาติ ซึ่งตามปกติมักถูกมองข้าม เพราะมันดูไม่ค่อยจะขลัง ไม่ค่อยจะศักดิ์สิทธิ์ ไม่ค่อยจะเป็นปาฏิหาริย์อะไร แต่โดยที่แท้แล้ว นี่แหละคือ ปาฏิหาริย์ที่แท้จริงอันเป็นปาฏิหาริย์แห่งความน่าอัศจรรย์ของ "ความเป็นธรรมดา"

หากคนเราได้สมาธิอย่างเป็นธรรมชาติจากการเฝ้าดูจิตของตนอย่างต่อเนื่อง ปัญญาที่รู้แจ้งในปรากฏการณ์ของจิตนั้น ย่อมสามารถเกี่ยวโยงไปสู่ความรู้แจ้งในปรากฏการณ์ของจักรวาลด้วย คนเราย่อมเกิดความรู้แจ้งในสรรพสิ่งแห่งจักรวาลได้ก็ด้วย การศึกษาให้รู้แจ้งในทุกสภาวะแห่งจิตตน

ทุกสิ่งที่เฝ้าติดตามค้นหา ทุกสิ่งนั้นจะพบได้ในจิตตน จิตอันน้อยนิดของคนเรานี้มีเท่ากับทุกสิ่งที่มีอยู่ในจักรวาล จักรวาลกว้างใหญ่ไพศาลเพียงใด ความไพศาลนั้นย่อมมีอยู่ในจิตมนุษย์นี้ด้วย ความทรงปัญญาของจิตในสมาธิ ซึ่งรอบรู้อย่างกระจ่างแจ้งในสรรพสิ่งทั้งปวงคือ จิตอันทรงปัญญาของพุทธะที่แฝงตัวอยู่ในจิตอันธรรมดาสามัญคนเรานี้เองที่ได้เผยตัวออกมา

นี่คือ ความลับของธรรมชาติที่เกี่ยวกับการรู้แจ้ง เพราะลำดับแห่งความรู้สึกต่างๆ ภายในใจของคนเรา จนกระทั่งเกิดการเห็นแจ่มแจ้งตามที่เป็นจริงนั้น มันจะเผยตัวออกมาตามลำดับนี้เสมอ คือจาก ปีติปราโมทย์ ไปสู่ ปัสสัทธิ ไปสู่ สมาธิ ซึ่งต้องเป็นสมาธิที่แท้จริงในการปฏิบัติธรรมเพื่อตัดกิเลส จึงไม่ใช่ไปทำจิตให้เงียบเป็นก้อนหิน เงียบอย่างหลับหูหลับตา ตัวแข็งทื่ออะไรทำนองนั้นก็หาไม่ ที่แท้จะยังมีลักษณะต่างๆ ปกติอยู่ แต่ว่ามีจิตสงบเป็นพิเศษเหมาะสมที่จะรู้ กำลังมีความผ่องใสที่สุด เยือกเย็นที่สุด สงบรำงับที่สุด จึงจะพิจารณาธรรมได้โดยใช้อำนาจจิตที่มีสมาธิขนาด ฌาน มาเป็นเครื่องมือพิจารณาธรรม แล้วก็จะได้ ยถาภูตญาณทัสสนะ (ขั้นตอนที่ 4) คือ ความรู้ความเห็นตามที่เป็นจริงต่อโลกทั้งหมด ทั้งนี้ก็เพราะว่า ในขณะที่จิตเป็นสมาธิตามธรรมชาตินี้ สิ่งที่เรียกว่า "ญาณทัสสนะ" จะต้องเกิดขึ้นเสมอ และจะต้องตรงตามที่เป็นจริงเสมอ

เมื่อนั้นย่อมเกิดความรู้สึกขึ้นมาเองว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่มีอะไรที่น่าเอา ไม่มีอะไรที่น่าเป็น ไม่มีอะไรที่น่ายึดถือ คือเกิด นิพพิทา (ขั้นตอนที่ 5) คือ จิตหน่าย ครั้นเมื่อเกิดจิตหน่ายโดยอัตโนมัติตามธรรมชาติแล้ว ย่อมจะมีสิ่งที่เรียกว่า วิราคะ (ขั้นตอนที่ 6) คือ จิตคลายออก ระยะที่เกิดวิราคะนี้ ถือว่าเป็นระยะที่สำคัญที่สุด แม้จะไม่ใช่ระยะถึงที่สุด แต่ก็เป็น ระยะที่สำคัญที่สุดของการหลุดพ้น เพราะว่าเมื่อมีการคลายออกจางออกดังนี้แล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่า สิ่งที่เรียกว่า วิมุตติ (ขั้นตอนที่ 7) คือ จิตหลุด จะต้องมีโดยแน่นอน

เมื่อเกิดวิมุตติ หรือหลุดออกมาได้จากความเป็นทาส ไม่ตกเป็นทาสของโลกอีกต่อไป ก็จะมีอาการที่เรียกว่า วิสุทธิ (ขั้นตอนที่ 8) คือ ความบริสุทธิ์ ความไม่เศร้าหมอง เมื่อมีความบริสุทธิ์แท้จริงอย่างนี้แล้ว ก็มีสิ่งที่เรียกว่า สันติ (ขั้นตอนที่ 9) คือ ความสงบอันแท้จริงสืบไป เป็นความสงบรำงับดับเย็นของสังขารทั้งปวง อย่างแทบจะเรียกได้ว่า เป็นขั้นสุดหรือขั้นเดียวกับ นิพพาน (ขั้นตอนที่ 10) ได้

แท้จริงแล้ว สันติ กับ นิพพาน นั้น เกือบจะไม่ต้องแยกกัน ที่แยกกันก็เพื่อจะให้เห็นว่า เมื่อสงบแล้ว ก็นิพพาน เท่านั้นเอง

สรุปได้ว่า แนวทางการทำให้รู้แจ้งตามวิถีธรรมชาตินั้น คือ การประคับประคองจิตให้มีความปีติปราโมทย์ในธรรมอยู่เสมอ เป็นการเป็นอยู่ชอบ เป็นอยู่บริสุทธิ์ทุกลมหายใจเข้าออก ทั้งกลางวัน กลางคืนอยู่เสมอ จนกระทั่งเกิดคุณธรรมต่างๆ ตามลำดับที่กล่าวมาแล้วนี้ได้ตามธรรมชาติ

นี่คือ โอกาสแห่งการทำให้รู้แจ้งที่เปิดไว้สำหรับทุกคน! และเป็นของขวัญที่ธรรมชาติมีไว้สำหรับคนทุกคนโดยแท้จริง





Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้