41. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 41 อานาปานสติสมบูรณ์แบบ 6/2/2550

41. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 41 อานาปานสติสมบูรณ์แบบ 6/2/2550

พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส (ตอนที่ 41)
 

41. อานาปานสติสมบูรณ์แบบ

...ปี 2502 (ค.ศ. 1959) ระหว่างพรรษา ณ สวนโมกข์
แนวทางการทำให้รู้แจ้งตามวิถีธรรมชาติของอินทปัญโญอันนี้ ต่อมาได้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในชื่อของ "อานาปานสติสมบูรณ์แบบ" เมื่ออินทปัญโญได้ทำการถ่ายทอด เคล็ดการฝึกอานาปานสติ เพื่อการทำให้รู้แจ้ง ของเขาให้แก่เหล่าลูกศิษย์ของเขาที่มาบวชเป็นพระที่สวนโมกข์ ดังต่อไปนี้...

วันนี้จะได้กล่าวถึง เคล็ดลับและอุบาย อันมีซับซ้อนอยู่ใน อานาปานสติ ที่เป็นไปเพื่อ บรมธรรม อยากให้พวกเธอเข้าใจว่า พุทธศาสนาทั้งหมดเป็นอุบายสำหรับจะดับทุกข์ ที่ต้องทำอย่างเฉลียวฉลาดอย่างมีศิลปะในการที่จะดับทุกข์ "อานาปานสติ" เป็นเคล็ดลับและอุบายของพระพุทธเจ้าผู้เป็นบุคคลพิเศษ เป็นอัจฉริยะมนุษย์ และเป็นบุคคลสูงสุดผู้ค้นพบความลับอย่างยิ่งของธรรมชาติต่อมนุษย์ในการบังคับจิต

ก่อนอื่น พวกเธอต้องปลุกจิตวิญญาณของพวกเธอให้ตื่นขึ้นก่อน ด้วยการฝึกหายใจให้เข้าไปลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วกลั้นลมหายใจเอาไว้ โดยมีความรู้สึกราวกับว่า ลมปราณ มันเข้ามาเต็มแน่น ซ่านไปทั่วทั้งร่างกายของพวกเธอ จากนั้นก็จงค่อยๆ ผ่อนลมออกด้วยความรู้สึกที่แผ่วเบาและผ่อนคลาย

พวกเธอต้องมีความเข้าใจในระบบการหายใจอย่างมีศิลปะของพุทธะที่ยามหายใจเข้านิ่มนวล เนิบนาบ และเต็มเปี่ยม ยามหายใจออกลึกยาว สุภาพและหมดจด ถ้าหากพวกเธอหายใจได้ดังนี้ พวกเธอจะรู้สึกสดชื่น จิตมีสันติสุขสงบ สมาธิจะตั้งมั่นได้ง่าย

การหายใจได้แบบพุทธะเช่นนี้คือ การมีประสบการณ์โดยตรงของผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ณ ที่นี่และเดี๋ยวนี้! พวกเธอจะตระหนักได้ทันทีถึงชีวิต และวิญญาณที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขสมบูรณ์แห่งสันติที่เยือกเย็นและสงบ

"ความจริง" ของพวกเธอหยั่งรากอยู่แล้วอยู่ในกายของพวกเธอ ร่างกายของเธอเป็นส่วนหนึ่งของเอกภพ กายของเธอมิใช่สิ่งจำกัดหรือมีที่สิ้นสุดไม่ แต่ด้วยอวิชชาความไม่รู้ของเธอทำให้เธอหลงผิดคิดไปว่า ร่างกายเธอไปสิ้นสุด ณ ปลายผิวหนังของเธอ แล้วเกิดเป็น "อัตตา" เป็น "ตัวตน" เล็กๆ ของเธอขึ้นมา

ขณะนี้เธอกำลังหายใจอยู่ ที่เธอหายใจได้ เพราะมีอากาศอยู่โดยรอบ แต่ละขณะเธอสูดหายใจเข้าออกโดยเอาบรรยากาศเข้ามา และออกไปด้วย หากไม่มีอากาศแม้เพียงชั่วครู่ เธอจะถึงแก่ความตาย จึงเห็นได้ว่า ลมหายใจเธอคือชีวิตของเธอ เมื่อเป็นเช่นนี้ บรรยากาศโดยรอบก็ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของเธอ เพราะเธอไม่อาจดำรงอยู่ได้โดยปราศจากมัน ฉะนั้น ขอบเขตของเอกภพก็คือ ขอบเขตของร่างกายเธอ เอกภพทั้งหมดรวมอยู่ในตัวเธอ ร่างกายเธอแท้จริงแล้วหาใช่เพียงแค่ร่างกายไม่ แต่มันคือเอกภพทั้งหมด โดยที่ตัวเธอก็ผุดบังเกิดออกมาจากเอกภพ หรือจักรวาฬนี้ และเป็นส่วนหนึ่งแห่งกระบวนการวิวัฒนาการของมัน

กาย ใจ กับเอกภพหรือจักรวาฬเป็นสิ่งที่สัมพันธ์เชื่อมต่อกัน การฝึกเปิดใจให้กว้าง เพื่อเปิดรับหลอมรวมกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับเอกภพสามารถทำได้ โดยผ่านการกระตุ้นสมองซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกาย ด้วยการฝึกหายใจเข้าออกลึกๆ ในอิริยาบถต่างๆ โดยเฉพาะอิริยาบถนั่ง ยืน เดิน นอน

ขณะที่สูดลมปราณเข้าไปลึกๆ ให้จินตนาการตามไปด้วยว่า พลังชีวิตหรือพลังปราณที่เราสูดเข้าไปนั้น มันไหลผ่านเข้ามาทางกลางกระหม่อมของเรา โดยใช้ 'ตาใน' ของเราเฝ้าดูการไหลเข้ามาทางกลางกระหม่อมของลมปราณนี้ไหลไปทั่วร่างกายของเรา ขณะที่หายใจออกก็ให้จินตนาการตามไปด้วยว่า ลมปราณไหลออกทางฝ่าเท้า และ/หรือกลางกระหม่อมตามแต่อิริยาบถที่เราฝึก

การฝึกลมหายใจอย่างนี้แหละ คือการเตรียมตัวเดินทางไกลได้ไกลที่สุด เพราะไม่มีอะไรๆ นอกจากลมหายใจและความว่างๆ สบายๆ มันจะไกลจนถึงนิพพานทีเดียว และจะทำให้ผู้นั้นได้พบ และเข้าถึงความเป็นพุทธที่ดำรงอยู่แล้วในตน

การฝึกอานาปานสติอย่างมีศิลปะ คือการเจริญสติปัฏฐาน 4 อย่างมีเคล็ดลับและอุบายวิธี จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความรู้ทางปัญญาปริยัติตามตัวอักษรที่แห้งแล้งในพระไตรปิฎกให้กลายเป็นประสบการณ์ทางจิตวิญญาณอันลึกซึ้ง ดังที่ได้ถ่ายทอดไปแล้ว

การเข้าถึงพุทธธรรมมีทางเดียวเท่านั้นคือ ด้วยการปฏิบัติสมาธิภาวนาหลักโพธิปักขิยธรรม โดยเฉพาะสติปัฏฐาน 4 หาใช่การเชี่ยวชาญธรรมด้วยวิธีอื่นไม่

ขอย้ำอีกครั้งว่า ในพุทธศาสนา ทางเดียวแห่งการบรรลุธรรม คือสติปัฏฐาน 4 ผู้มี 'สติ' ในความหมายของศาสนาพุทธ คือผู้ปฏิบัติสติปัฏฐาน 4 ทุกลมหายใจเข้าออก ส่วนผู้มี 'สติสัมปชัญญะ' ในความหมายของศาสนาพุทธ คือผู้มีความรู้สึกตัวในทุกๆ อาการเคลื่อนไหว

เพราะฉะนั้น การเป็นผู้มี 'สติสัมปชัญญะ' ตามความหมายที่แท้จริงของศาสนาพุทธ จึงเป็นสิ่งที่ลึกล้ำยิ่ง ต้องใช้ความเพียรอุทิศกายใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะมันจะต้องเป็นการฝึกสติจนกระทั่งได้สมาธิระดับฌาน ไม่ใช่แค่ฝึกนั่งหลับตาทำสมาธิจนได้ฌานเฉยๆ

สติปัฏฐาน 4 นี้ จักบรรลุได้โดยการฝึกอานาปานสติ 16 ขั้นให้สมบูรณ์ ดังที่พระพุทธองค์ทรงถ่ายทอดไว้ดังนี้

...จงนั่งคู้ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้ตรงหน้า มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก
อานาปานสติ 16 ขั้น

หมวดกาย

(1) เมื่อหายใจเข้ายาวก็ รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว

เมื่อหายใจออกยาวก็ รู้ชัดว่า หายใจออกยาว

(2) เมื่อหายใจเข้าสั้นก็ รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น

เมื่อหายใจออกสั้นก็ รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น

(3) สำเหนียกว่าจะ รู้ชัด กองลมทั้งปวง หายใจเข้า

สำเหนียกว่าจะ รู้ชัด กองลมทั้งปวง หายใจออก

(4) สำเหนียกว่าจะ ระงับ กายสังขาร หายใจเข้า

สำเหนียกว่าจะ ระงับ กายสังขาร หายใจออก

หมวดเวทนา

(5) สำเหนียกว่าจะ รู้ชัด ปีติ หายใจเข้า

สำเหนียกว่าจะ รู้ชัด ปีติ หายใจออก

(6) สำเหนียกว่าจะ รู้ชัด สุข หายใจเข้า

สำเหนียกว่าจะ รู้ชัด สุข หายใจออก

(7) สำเหนียกว่าจะ รู้ชัด จิตตสังขาร หายใจเข้า

สำเหนียกว่าจะ รู้ชัด จิตตสังขาร หายใจออก

(8) สำเหนียกว่าจะ ระงับ จิตตสังขาร หายใจเข้า

สำเหนียกว่าจะ ระงับ จิตตสังขาร หายใจออก

หมวดจิต

(9) สำเหนียกว่าจะ รู้ชัด จิต หายใจเข้า

สำเหนียกว่าจะ รู้ชัด จิต หายใจออก

(10) สำเหนียกว่าจะ ยังจิต ให้บันเทิง หายใจเข้า

สำเหนียกว่าจะ ยังจิต ให้บันเทิง หายใจออก

(11) สำเหนียกว่าจะ ตั้งจิต มั่น หายใจเข้า

สำเหนียกว่าจะ ตั้งจิต มั่น หายใจออก

(12) สำเหนียกว่าจะ เปลื้องจิต หายใจเข้า

สำเหนียกว่าจะ เปลื้องจิต หายใจออก

หมวดธรรม

(13) สำเหนียกว่าจะ พิจารณาเห็น ว่าไม่เที่ยง หายใจเข้า

สำเหนียกว่าจะ พิจารณาเห็น ว่าไม่เที่ยง หายใจออก

(14) สำเหนียกว่าจะ พิจารณาเห็น ความคลายออกได้ หายใจเข้า

สำเหนียกว่าจะ พิจารณาเห็น ความคลายออกได้ หายใจออก

(15) สำเหนียกว่าจะ พิจารณาเห็น ความดับไป หายใจเข้า

สำเหนียกว่าจะ พิจารณาเห็น ความดับไป หายใจออก

(16) สำเหนียกว่าจะ พิจารณาเห็น ความสละคืน หายใจออก

สำเหนียกว่าจะ พิจารณาเห็น ความสละคืน หายใจออก

จะเห็นได้ว่าในการจะบรรลุสติปัฏฐาน 4 หรืออานาปานสติ 16 ขั้นดังข้างต้นนี้
การฝึกสติกับการฝึกลมปราณและการ 'เห็น' ด้วยปัญญาในสมาธิระดับฌาน เป็นสิ่งที่แยกขาดกันไม่ได้เลยในการปฏิบัติพุทธธรรมเพื่อบรรลุความเป็นพุทธะในตน

สิ่งแรกที่จำเป็นที่สุดในการเจริญอานาปานสติ หรือสติปัฏฐาน คือการมีศรัทธาว่า
วิธีนี้เป็นวิธีที่ทำให้เราฉลาด สะอาดสว่าง สงบได้หรือเป็นพุทธะได้

ในการฝึกสติ จิต สมาธิ และปราณนั้น เราต้องมีสติก่อน เมื่อมีสติแล้ว จิตย่อมตั้งมั่น สมาธิปรากฏ เมื่อนั้นปราณกับจิต สติและสมาธิจักผสมผสานกัน

ยามฝึกลำตัวต้องตั้งตรง สายตาทอดต่ำ นั่งด้วยความผ่อนคลาย เดินลมหายใจเข้าเบาๆ ลึก หายใจออก นิ่มนวล ผ่อนคลาย จนกระทั่งกายกับใจรวมกันเป็นหนึ่ง ซึ่งจะทำให้ตัวเราพ้นจากภาวะปรุงแต่งของอารมณ์มีพลัง และสามารถเข้าถึงแหล่งพลังอันไม่มีวันสิ้นสุดได้

การฝึกเจริญสติและสมาธิแบบอานาปานสตินี้ สามารถทำได้ทุกขณะ ไม่จำกัดเวลาและสถานที่ ไม่จำเป็นต้องหาที่วิเวกหรือเวลาที่ปราศจากการงานใด จึงเป็น การเจริญภาวนาแบบวิถีธรรมชาติ ที่เปิดโอกาสให้คนทุกคน ไม่จำกัดเพศ วัย ฐานะ ชาติพันธุ์ และความเชื่อทางศาสนา สามารถเข้าถึงความรู้แจ้งได้โดยตรง และอย่างเป็นธรรมชาติ




 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้