42. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 42 โรงมหรสพทางวิญญาณ 13/2/2550

42. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 42 โรงมหรสพทางวิญญาณ 13/2/2550

พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส (ตอนที่ 42)


42. โรงมหรสพทางวิญญาณ

กิริยาภายนอกของผู้ปฏิบัติธรรมกับผู้ไม่ปฏิบัติธรรมนั้น สังเกตความแตกต่างได้ยาก คนธรรมดาสามัญดำเนินชีวิต กิน ดื่ม นั่ง นอน ยืน เดิน ทำงาน ผู้ปฏิบัติธรรมชั้นสูง ชั้นเหนือโลกทั้งหลายก็ปฏิบัติเช่นเดียวกับคนธรรมดาสามัญโดยรูปภายนอก แต่มีความผิดแผกแตกต่างอย่างมหาศาลตรงที่ผู้ปฏิบัติธรรมชั้นสูงนั้น มีความรู้สึกตัว มีสติตระหนักรู้อยู่เสมอ ซึ่งด้วยการทำอย่างนี้อย่างต่อเนื่องยาวนาน ย่อมนำไปสู่ผลที่แตกต่างกันอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

ปุถุชนที่มีชีวิตอยู่โดยไม่เจริญภาวนานั้น ชีวิตของเขาจะค่อยๆ ขัดข้องมืดมน อารมณ์ต่างๆ ก็เข้ามาเร้ารุม จมปลักอยู่กับความทุกข์ ต่างกับผู้ที่เจริญภาวนาอยู่เสมอ จนมีสติที่เข้มข้นเข้มแข็ง แล้วสมาธิชนิดที่เป็นเองตามธรรมชาติจะปรากฏขึ้นมาเอง ความทุกข์ยากทั้งหลายก็จะค่อยๆ ลดน้อยลงตามลำดับ ที่สุดก็จะสามารถเข้าถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ในตัวเอง ด้วยตัวเอง

กรุงเทพมหานครในปี 2504 (ค.ศ. 1961) โรงภาพยนตร์เริ่มกลายเป็นที่ที่ชาวกรุงเข้าไปพักผ่อนหาความบันเทิง การไปดูภาพยนตร์ได้เริ่มกลายมาเป็นพฤติกรรมสามัญของชาวกรุงในยุคนั้น แทนที่การไปชมศิลปะการแสดงแบบดั้งเดิมอย่างลิเกหรือละคร เพราะภาพยนตร์คือผลผลิตทางเทคโนโลยีล้ำยุค เพื่อความบันเทิงของคนหมู่มากที่ถูกนำเข้ามาเผยแพร่ในประเทศนี้ พร้อมๆ กับกระบวนการทำให้ทันสมัย เพื่อมุ่งไปสู่ความเป็นทุนนิยม และบริโภคนิยมภายใต้การผลักดันอย่างสุดตัวของรัฐบาลในยุคนั้น

ครั้งหนึ่ง อินทปัญโญได้เข้าไปสังเกตการณ์ในโรงภาพยนตร์เฉลิมไทยที่โด่งดังในยุคนั้น เขาเข้าไปนั่งอยู่ด้านหลังสุดที่ถูกจัดเตรียมไว้แยกต่างหาก โดยพวกลูกศิษย์ของเขา ขณะที่ที่นั่งส่วนอื่นๆ มีผู้คนนั่งชมอยู่พอประมาณ เบื้องหน้าของทุกคนคือ จอผ้าใหญ่ซึ่งว่างเปล่า เมื่อดับไฟในโรงมืดลงแล้วก็มีลำแสงสว่างจากเครื่องฉาย ส่องข้ามศีรษะของผู้ชมไปตกบนจอ เพื่อฉายภาพที่ถ่ายและอัดไว้บนม้วนฟิล์มไปตกบนจอทีละภาพ โดยแสงสว่างซึ่งมีสีสันและความเข้มมากน้อยที่ตกบนจอ ด้วยความเร็ววินาทีละ 24 ภาพนั้น จะทำให้ดวงตาของผู้ชมจับการกะพริบมืดสว่างของจอนั้นไม่ทัน จึงนึกว่าจอสว่างอยู่เรื่อยๆ และเห็นว่า รูปร่างของสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏบนจอนั้นเคลื่อนไหว

ภายในเวลาเพียงไม่กี่วินาที ผู้ชมภาพยนตร์ในโรงนั้นทั้งหมดยกเว้นอินทปัญโญก็ลืมไปสนิทว่า พวกเขากำลังมองดูจอว่าง ซึ่งมีเพียงแสงสีสันสว่างมืดฉายไปกระทบ และดับๆ เปิดๆ มืดสว่าง พร้อมกับแสงสีสันสว่างมืดที่เปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ โดยม้วนฟิล์มและเครื่องฉายภาพยนตร์

อินทปัญโญไม่ได้หันไปมองจอภาพอีกแล้ว แต่เขากลับจับจ้องลักษณะอาการของผู้ชมเหล่านั้นที่แสดงอาการหัวเราะร่า หรือสะเทือนใจไปกับเรื่องราวที่กำลังปรากฏ และดำเนินไปในภาพยนตร์นั้นราวกับเป็นเรื่องจริง และอย่างเป็นจริงเป็นจัง ทั้งๆ ที่บนจอภาพหามีสิ่งใดไม่ มีเพียงภาพของแสงและเงาล้วนๆ บนจอเปล่า

"เกิดอะไรขึ้นกับคนเหล่านั้น?" "พวกเขากำลังทำอะไรอยู่?" "พวกเขาถูกปลุกกระตุ้นได้อย่างไร?" "ทำไมพวกเขาถึงหัวเราะขบขัน ร่ำไห้สะอึกสะอื้นกับภาพที่มิใช่เพียงภาพอีกต่อไปแล้ว เพราะพวกเขายึดถือมันอย่างเป็นจริงเป็นจังราวกับมันเป็นเรื่องจริงอย่างเกิดขึ้นมาจริงๆ"...อินทปัญโญตั้งคำถามในใจกับตนเอง ก่อนที่จะได้คำตอบเดี๋ยวนั้นออกมาเลยว่า

ผู้ชมเหล่านั้น กำลังบันเทิงอย่างยอมรับโดยเต็มใจว่า โลกมายาที่ปรากฏเฉพาะหน้าบนจอนั้น มันเป็นจริงในขณะนั้น โดยที่พวกเขาได้ส่งจิตใจของพวกเขาเข้าไปจับบางส่วนของเงามืดสว่างบนจอนั้นราวกับว่าเป็นตัวตนของพวกเขาเอง อย่างพร้อมที่จะร่วมเป็นสุขเป็นทุกข์ หรือตื่นเต้นไปกับเงาที่เป็นพระเอกนางเอกบนจอนั้นด้วย

ในขณะที่ผู้ชมเหล่านั้น กำลังบันเทิงด้วยความสนุกสนานในโลกมายาแห่งจอภาพยนตร์นั้น เป็นขณะที่พวกเขาลืมและหลงไป ไม่มีสติรู้ระลึกว่าที่แท้พวกเขากำลังนั่งมองแผ่นจอว่าง ซึ่งมีเพียงสีสันสว่างมืด เปลี่ยนแปรอยู่เป็นห้วงๆ เท่านั้นเอง แต่พวกเขาก็พร้อมที่จะขาดสติเช่นนี้ตลอดเวลาสองชั่วโมงด้วยความเต็มใจ พวกเขายินดีจ่ายเงินค่าชมเข้าไปนั่งก็เพื่อจะก้าวเข้าไปสู่โลกมายานั้นเพื่อเสพความบันเทิงเริงรมย์

จริงอยู่เมื่อชมภาพยนตร์จบ และเดินออกจากโรงภาพยนตร์แล้ว ผู้ชมเหล่านั้นอาจทบทวนและสามารถบอกแก่ตนเองได้ว่า ประสบการณ์ที่เพิ่งผ่านมานั้น เป็นเรื่องสมมติทั้งสิ้น ไม่มีใครเกิด ไม่มีใครตายจริงในจอนั้น ความตื่นเต้นระทมเศร้าที่มีอยู่ในขณะที่ดูภาพยนตร์อยู่นั้น จะคลายสลายไปหมด เพราะมีความรู้ชัดเกิดขึ้นว่า นั่นมันภาพยนตร์เป็นเรื่องสมมติทั้งนั้น! ความหลุดพ้นจากทุกข์สมมติของโลกมายานี้จึงบังเกิดแก่ผู้ชม เนื่องเพราะมีความรู้แจ้งชัดเจนในกลไกของระบบภาพยนตร์ว่า มันเป็นเพียงภาพฉายสีสันสว่างมืดบนจอว่างเท่านั้นเอง

"สิ่งที่เรียกว่าโลกใบนี้ ปรากฏขึ้นดุจมายากลหรือภาพยนตร์ พวกเธอพึงพิศดูเยี่ยงนี้ แล้วจะเข้าถึงบรมสันติ" นี่คือสิ่งที่อินทปัญโญพร่ำสอนพวกลูกศิษย์ของเขา เขามักบอกกับลูกศิษย์ของเขาอยู่เสมอว่า โลกนี้ก็เป็นเช่นกับภาพยนตร์ ฉะนั้นอย่าไปเคร่งเครียดกับมันจนเกินเหตุ โลกนี้เป็นเพียงละครเท่านั้น

"พวกเธอลองเหลียวดูไปรอบๆ สิ จงมองไปทั่วทุกมิติว่า ชีวิตของเธอคืออะไร หากเธอมีความตระหนักรู้ที่แจ่มชัด เธอก็เห็นได้เองแหละว่า ชีวิตของคนเรานั้น มันดูประหนึ่งความฝันอันยืดยาวเรื่องหนึ่งเท่านั้น" อินทปัญโญ กล่าวกับศิษย์ใกล้ชิด

"ชีวิตคือสันตติ ไม่มีสิ่งใดคงเดิม มันเป็นเสมือนภาพเคลื่อนไหว มันคือกระแสแห่งความนึกคิดที่เกิดดับอย่างต่อเนื่อง ชีวิตประจำวันอย่างที่เป็นอยู่ของคนธรรมดาสามัญ จึงเป็นปรากฏการณ์ที่แทบไม่แตกต่างจากในโรงภาพยนตร์ เพราะมันก็เป็นผลจากการประมวลปรุงแต่งประสบการณ์รู้ของแต่ละขณะจิต ซึ่งเกิดดับสืบเนื่องกันอย่างรวดเร็ว โดยที่ ชีวิตและโลกความจริงมีเพียงขณะจิตเดียว คือขณะจิตที่กำลังเกิดเป็นปัจจุบันอยู่เท่านั้น"

อินทปัญโญรู้ดีว่า ภาพยนตร์คือ มหรสพทางเนื้อหนัง หรือการเสพความเอร็ดอร่อยทางเนื้อหนังหรือทางผัสสะ ต่อไปผู้คนในโลกนี้จะถูกท่วมทับทวีด้วยสิ่งเย้ายวนที่ผลิตขึ้นประดิษฐ์ขึ้นในโลกนี้ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยล้ำยุค จนมันท่วมทับยึดครองจิตใจของผู้คนในโลกนี้จนแทบโงหัวไม่ขึ้น โลกจะเป็นวัตถุนิยม และบริโภคนิยมมากยิ่งขึ้นทุกที

"เราจะเตือนสติชาวโลกได้อย่างไรหนอ?" นี่เป็นสิ่งที่อยู่ในความคำนึงของอินทปัญโญ ปีนี้เขาก็อายุห้าสิบห้าปีแล้ว นับวันก็จะยิ่งแก่ตัวลงไปเรื่อยๆ เขาจะมีเรี่ยวแรงอบรมสั่งสอนผู้คนให้รู้แจ้ง และตื่นทางวิญญาณได้สักกี่ปีกัน

เพราะความตระหนักอันนี้ทำให้อินทปัญโญมีความคิดที่จะสร้าง "โรงมหรสพทางวิญญาณ" ขึ้นมาที่สวนโมกข์ของเขา เพราะขณะที่โลกข้างนอกเต็มไปด้วยมหรสพทางเนื้อหนังที่ขับกล่อมบำเรอผู้คนให้เคลิ้มฝันไปแต่ในทางเนื้อหนัง แต่ โรงมหรสพทางวิญญาณ ที่ตัวเขาจะสร้างขึ้นที่สวนโมกข์นี้ เขาจะทำให้มันเป็นที่ที่ดึงดูดผู้ชม ให้สงบเย็น ให้หยุด และเข้าถึงความสว่าง สะอาด สงบ

อินทปัญโญเริ่มงานก่อสร้างโรงมหรสพทางวิญญาณ ในปีถัดมาคือปี 2505 ซึ่งใช้เวลาถึงสิบปีเต็มกว่าจะเสร็จสมบูรณ์ เขาสร้างโรงมหรสพแห่งนี้โดยมุ่งหมายที่จะให้โรงมหรสพแห่งนี้ช่วยทำหน้าที่สอนธรรมะแทนตัวเขา ที่นับวันก็ยิ่งแก่เฒ่าลงไปทุกที

โรงมหรสพทางวิญญาณของอินทปัญโญ มีแนวคิดใช้ศิลปะเพื่อให้คนถึงธรรมะ และเพื่อให้เป็นที่ประมวลสติปัญญาของมนุษย์ในทางศิลปะ โดยที่ภาพแต่ละภาพที่ประดับอยู่ในโรงมหรสพทางวิญญาณแห่งนี้นั้น จะมุ่งเน้นประโยชน์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของผู้ชม ภาพแต่ละภาพล้วนมีความหมายลึกซึ้งชวนให้ขบคิดพิศวง ส่วนใหญ่อิงมาจาก ประสบการณ์แบบเซน ที่อินทปัญโญเคยมีในวัยฉกรรจ์ อินทปัญโญหวังว่า หากผู้ชมใช้เวลาพิจารณาภาพเขียนแต่ละภาพในโรงมหรสพทางวิญญาณควบคู่ไปกับคำบรรยายของเขา ผู้ชมก็อาจได้พบกับความมหัศจรรย์ของชีวิตที่แอบซ่อนอยู่ในปริศนาภาพจากวิธีการธรรมดาง่ายๆ แบบสวนโมกข์ได้

ภาพปริศนาธรรมภาพแรกของโรงมหรสพทางวิญญาณแห่งนี้ อยู่ที่ผนังตึกโรงหนังด้านนอก ด้านทิศใต้ ภาพนี้มีชื่อว่า "แจกดวงตาแห่งธรรม" มันเป็นภาพแจกดวงตาที่ตึก ในรูปมีคนเพียงไม่กี่คนที่ยอมรับเอาลูกตา นอกนั้นก็วิ่งหนีไปเป็นฝูงๆ โดยที่ไม่มีลูกตาติดไป พวกเขาหนีกลับไป และปฏิเสธอยู่ตลอดเวลาที่จะรับเอาดวงตาแห่งธรรม ในโลกนี้ยังมีน้อยคนนักที่จะสนใจ และจะยอมรับเอาประโยชน์ทางจิตวิญญาณ การมาที่สวนโมกข์นี้จะไม่ได้อย่างอื่น และจะไม่มีอะไรให้นอกจาก "ดวงตาแห่งธรรม" ซึ่งเป็นมรดกของอินทปัญโญนี้เท่านั้น

* * *

"ความแก่หง่อม ย่อมทุลักทุเลมาก ดั่งคนบอดข้ามฟาก ฝั่งคลอง-หา วิธีไต่ไผ่ลำคลานคลำมา กิริยาแสนทุลักทุเลแล

ถ้าไม่อยากให้ทุลักทุเลมาก ต้องข้ามฟากให้พ้นก่อนตนแก่ ก่อนตามืดหูหนวกสะดวกแท้ ตรองให้แน่ แต่เนิ่นๆ รีบเดินเอย"

จาก บทกลอนของอินทปัญโญในโรงมหรสพทางวิญญาณ






 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้