43. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 43 วิวาทะจิตว่าง 20/2/2550

43. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 43 วิวาทะจิตว่าง  20/2/2550

พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส (ตอนที่ 43)


43. วิวาทะจิตว่าง

...กลางดึกของวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2507 (ค.ศ. 1964)

อินทปัญโญกำลังนั่งอยู่บนรถไฟที่ออกจากสถานีหัวลำโพงในตอนเย็นมุ่งหน้ากลับสวนโมกข์ของเขาที่สุราษฎร์ธานี เขาชมดูดวงดาวที่เกลื่อนฟ้าจากที่นั่งริมหน้าต่างรถไฟที่กำลังเคลื่อนตัวไปด้วยความเร็วที่สม่ำเสมอ เขาตกอยู่ในความคำนึงถึงเหตุการณ์วิวาทะหรือการมีความเห็นไม่ตรงกันเรื่อง "จิตว่าง" กับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อบ่ายวันนี้ ณ หอประชุมคุรุสภา ที่ตัวเขาถูกเชิญให้มาบรรยายเรื่อง "การทำงานด้วยจิตว่าง" โดยมี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ซึ่งเป็นปัญญาชนหัวก้าวหน้าที่ทรงอิทธิพลที่สุดแห่งยุคในสมัยนั้นเป็นผู้ซักไซ้ขยายความและสรุป

การบรรยายธรรมของเขาในวันนี้ ความจริงเป็นหัวข้อที่ 2 ที่สืบเนื่องมาจากการบรรยายธรรมหัวข้อที่ 1 เรื่อง "งานคือการปฏิบัติธรรม" ในวันอาสาฬหบูชา 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2506 หรือปีที่แล้ว ณ หอประชุมคุรุสภาแห่งเดียวกันนี้ โดยที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ได้รับเชิญให้มาเป็นผู้ซักถามปัญหาธรรมในวันนั้นด้วย อันที่จริงคณะเจ้าภาพที่เชิญอินทปัญโญมาบรรยาย ต้องการให้อินทปัญโญมาพูดในหัวข้อ "ธรรมในฐานะเป็นเครื่องมือสร้างคน สร้างชาติ และสร้างโลก" แต่อินทปัญโญได้แยกหัวข้อนี้ออกเป็น 3 หัวข้อย่อยคือ

(1) "งานคือการปฏิบัติธรรม"
(2) "การทำงานด้วยจิตว่าง" และ
(3) "หมวดธรรมที่เป็นเครื่องมือสำหรับจะทำงานด้วยจิตว่าง หรือสร้างโลกสร้างชาติให้สำเร็จ"

เนื่องจากในวันนั้น อินทปัญโญบรรยายแค่หัวข้อที่ 1 อย่างเดียวก็หมดเวลาแล้ว คณะเจ้าภาพจึงเชิญอินทปัญโญมาบรรยายหัวข้อที่ 2 ต่อในปีถัดมา การบรรยายของอินทปัญโญเป็นไปอย่างราบรื่น และม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เองก็มีท่าทีคล้อยตาม การนำเสนอของอินทปัญโญทุกเรื่อง นับตั้งแต่การนิยามว่า "ธรรม" คือหน้าที่ และการทำหน้าที่ของตนย่อมเป็นการประพฤติธรรมโดยตัวของมันเอง เพราะมนุษย์ทุกคนจะรู้สึกตัว หรือไม่รู้สึกตัวก็ตาม มีหน้าที่ที่จะต้องทำพระนิพพานให้แจ้งเหมือนกันทั้งนั้น ไม่ช้าก็เร็วเพราะธรรมชาติได้กำหนดไว้เช่นนั้น

แม้เมื่ออินทปัญโญได้นำเสนอว่า "ธรรม" เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ 3 ความหมายคือ (1) เป็นสิ่งทั้งปวงไม่ยกเว้นอะไรหมด (2) เป็นตัวกฎของสิ่งทั้งปวงนั้น และ (3) เป็นหน้าที่จะต้องกระทำต่อกันระหว่างสิ่งทั้งปวงนั้นให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์นั้น เพื่อจะมีชีวิตอยู่ได้โดยผาสุก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ก็มิได้มีความเห็นแย้งแต่ประการใด

จนกระทั่งเมื่ออินทปัญโญนำเสนอเรื่อง "จิตว่าง" ที่หมายถึง สุญตา หรือ ความไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง อันเป็นหัวใจของธรรมะ หรือหัวใจของพระพุทธศาสนา โดยนำเสนอในเชิง ระบบปฏิบัติ อันหนึ่งสำหรับคนทั่วๆ ไปจะเข้าใจได้ปฏิบัติได้ว่า

"จงทำงานด้วยจิตว่าง จงทำงานให้ความว่าง
จงกินอาหารของความว่าง และจงอยู่ด้วยความว่าง"
โดยที่

การทำงานด้วยจิตว่าง คือ การทำงานด้วยจิตที่มีความรู้สึกไม่เห็นแก่ตัว มีแต่สติสัมปชัญญะกับสติปัญญาในการทำงาน

การทำงานให้ความว่าง คือ การทำงานรับใช้สิ่งสูงสุด หรือการทำให้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสิ่งสูงสุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ

กินอาหารของความว่าง คือ กินอาหารของธรรมะอันเป็นอาหารที่บริสุทธิ์ ไม่ประกอบด้วยโทษ ทำความเจริญให้แก่ผู้นั้นโดยแท้

อยู่ด้วยความว่าง คือ การมีชีวิตอยู่มีลมหายใจอยู่โดยไม่รู้สึกว่ามีตัวตนของตน

มาถึงตรงนี้ อาจารย์คึกฤทธิ์ แสดงความไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอข้างต้นของอินทปัญโญอย่างเปิดเผย เขาไม่ได้แย้งว่า สิ่งที่อินทปัญโญพูดนั้นผิด ตรงกันข้ามเขาเห็นด้วยว่า ธรรมะที่อินทปัญโญกล่าวมานั้น เป็นสัจธรรมที่กว้างขวางอย่างกับพระมหาสมุทรเพื่อการพ้นทุกข์ อันเป็นความจริงที่ไม่มีใครปฏิเสธได้

แต่สิ่งที่คึกฤทธิ์ ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับอินทปัญโญก็คือ ข้อเสนอในเชิงระบบปฏิบัติของเราเรื่อง "ทำงานด้วยจิตว่าง ทำงานเพื่อความว่าง กินอาหารของความว่าง อยู่ด้วยความว่าง" เพราะคึกฤทธิ์เห็นว่าอินทปัญโญกำลังพยายามเทน้ำในมหาสมุทรลงไปใส่ขันใบเล็กๆ ซึ่งตัวเขาเชื่อว่ามันใส่ไม่ลง มันล้นไปหมด

พื้นฐานแห่งความแตกต่างของความเห็นระหว่างคึกฤทธิ์กับอินทปัญโญนั้นอยู่ที่ ตัวคึกฤทธิ์เองมีความเชื่อโดยส่วนตัวว่า การใช้ชีวิตด้วยจิตว่าง อย่างที่อินทปัญโญเสนอนั้น มันเป็นสภาวะจิตของพระอรหันต์เท่านั้นที่ทำได้ ส่วนปุถุชนชาวบ้านสามัญที่ทำมาหากินตามปกตินั้น ไม่มีทางทำได้เพราะมันฝืนฆราวาสวิสัย และฝืนความเป็นจริงในสังคม ในขณะที่ตัวอินทปัญโญกลับมองว่า การใช้ชีวิตด้วยจิตว่างเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ทำได้ ต่างกันแค่ระดับของความว่าง และความต่อเนื่องของการคงจิตให้ว่างเท่านั้น

อันที่จริง คำโต้แย้งของคึกฤทธิ์ก็มีเหตุผลอยู่เหมือนกัน ในสายตาของคึกฤทธิ์ คนที่มี "จิตว่างแล้ว" ดุจพระอรหันต์อย่างอินทปัญโญ มิได้ใช้ชีวิตเกลือกกลั้วในทางโลกอย่างตัวเขา ท่านจึง "ว่าง" ได้ แต่การที่จะทำให้คนอย่างเขาไปทำงานด้วย "จิตว่าง" นั้น เขายังมองไม่เห็นหนทางเลย เพราะลักษณะของงานที่เขาทำอย่างนั้น เขารู้สึกว่า มันขัดต่อการมีจิตว่างเหลือเกิน ภาวะของเขาที่เกลือกกลั้วกับเรื่องของอำนาจ และธุรกิจ เขารู้สึกว่ามันว่างไม่ได้ ถ้าว่างไปแล้วมันก็ไม่เป็นตัวตนของเขา ตัวเขาจึงเชื่อว่า ตัวเขาจะมีจิตว่างได้ก็ต่อเมื่อตัวเขาไปบวชแล้วเท่านั้น คึกฤทธิ์กล่าวกับอินทปัญโญตรงๆ ว่า

"ที่ท่านพูดว่า จิตว่างแล้วงานจะประเสริฐ การงานจะรุ่งเรืองนั้น กระผมไม่เชื่อ เพราะงานของโลกมันขัดกับเรื่องจิตว่างหรือเรื่องการพ้นทุกข์ ความสุขทางโลกมันเป็นความทุกข์ในทางธรรม ความสำเร็จของงานเขาหมายความในทางโลก การสำเร็จทางธรรมด้วยจิตว่างมันต้องเสียทางโลก จะเอาพร้อมกันทั้งสองอย่างนั้นไม่ได้หรอกครับ ไม่อย่างนั้น คนจะไปบวชกันทำไม"

เหตุที่คึกฤทธิ์ต้องแย้งอินทปัญโญ ทั้งๆ ที่ตัวเขาคิดว่าเข้าใจในธรรมที่อินทปัญโญอธิบายมา เพราะ คึกฤทธิ์คิดว่า อินทปัญโญยังไม่ค่อยเข้าใจสภาพความเป็นจริงทางด้านกิเลสตัณหาของผู้คนในทุกวันนี้ ที่หายใจเป็นเงินอยู่ตลอดเวลา จึงเกรงว่า เมื่ออินทปัญโญสอนให้ทำงานด้วยจิตว่าง ชาวบ้านพวกนี้ก็จะไปตีความเข้าข้างตัวเองว่า ถ้าทำใจให้ว่างแล้ว เงินทองจะหลั่งไหลเข้ามาหรือจะเป็นเศรษฐี ซึ่งตัวเขาเห็นว่าเป็นคนละเรื่องกัน

จะว่าไปแล้ว ทัศนะแบบคึกฤทธิ์ คือ พุทธทัศน์แบบกระแสหลักที่ครอบงำชนชั้นนำของไทยในยุคสมัยใหม่มาโดยตลอด กล่าวคือ เป็น ทัศนะที่แบ่งแยกโลกุตรธรรมออกจากโลกียธรรมในชีวิตประจำวันของผู้คนอย่างเด็ดขาด อย่างตายตัว อย่างแยกส่วน และอย่างกลไก เพราะมีแต่การแบ่งแยกตัดขาดโลกุตรธรรมออกจากโลกียธรรมเช่นนี้เท่านั้น "ตัวตน" ถึงจะสามารถปฏิเสธ "นิพพาน" ได้อย่างหน้าตาเฉย เหมือนอย่างที่คึกฤทธิ์กล้าพูดต่อหน้าอินทปัญโญในวันนี้ว่า

"ขอกราบเรียนด้วยความสุจริตใจว่า ผมไม่เคยยึดถือเรื่องเป็นพระอรหันต์เลย ผมไม่เคยนึกอยากเป็นพระอรหันต์ ไม่เคยคิดจะเป็น และไม่เคยนึกด้วยว่า การเป็นพระอรหันต์นั้น เป็นของวิเศษวิโสที่พึงปรารถนาอะไรทั้งนั้น"

คำพูดประโยคนี้ของคึกฤทธิ์ยังก้องอยู่ในหูของอินทปัญโญ ขณะที่เขากำลังนั่งรถไฟกลับสวนโมกขพลาราม ฉับพลันนั้นเองที่เขาได้ยินเสียงขลุ่ยของนักเดินทางพเนจรวัยกลางคนผู้หนึ่งที่นั่งอยู่ในตู้โดยสารคันเดียวกัน แต่อยู่ถัดไปจากที่นั่งของเขาพอประมาณ

เสียงขลุ่ยนั้นมีมนต์ขลังขนาดสามารถยุติการคิดคำนึงเรื่องวิวาทะจิตว่างของอินทปัญโญได้โดยพลัน เสียงขลุ่ยของนักพเนจรผู้นี้แปลกพิสดาร คล้ายไม่มีท่วงทำนองที่แน่นอน คล้ายเป่าไปตามอารมณ์ เสียงขลุ่ยนี้คล้ายกับเป็นการพรรณนาจากส่วนลึกของจิตวิญญาณของผู้เป่า ที่สามารถสะกิดความรู้สึกอันล้ำลึกที่ซุกซ่อนอยู่ในส่วนลึกของจิตใจของผู้ฟังขึ้นมา ก่อนที่เสียงขลุ่ยจะชะงักขาดหายไป

เสียงขลุ่ยขาดหายไปแล้ว แต่มันคล้ายกับยังดำเนินต่อไปอย่างอ้อยส้อยวนเวียนอยู่ข้างหูของอินทปัญโญ ในใจของเขาอิ่มเอิบด้วยอารมณ์ที่แปลกประหลาดล้ำ ฉับพลัน ปัญญาญาณได้ผุดบังเกิดขึ้นมาในใจของอินทปัญโญว่า

"จิตว่างหรือความว่างนี้ เป็นดนตรีอันไพเราะอยู่ในตัวมันเอง ชีวิตจะมีสภาพเหมือนดนตรีอันไพเราะต่อเมื่อเรามีจิตว่าง ในขณะใดที่เรามีจิตว่าง ชีวิตย่อมเป็นดนตรีเป็นสิ่งที่น่าชื่นใจ จิตที่เป็นประภัสสรไม่มีกิเลสครอบงำ ย่อมเป็นดนตรีอยู่ในตัวมันเอง ให้ความชุ่มชื่นไพเราะอยู่ในตัวมันเอง และเป็นดนตรีทางจิตวิญญาณ ดนตรีที่แท้คือความไพเราะ ความสวยงาม ความเยือกเย็น ซึ่งได้รับ ได้ยิน ได้ฟัง ได้สัมผัสในขณะที่จิตว่าง และจะต้องทำให้จิตว่างลง สงบเย็นลงด้วย"

อินทปัญโญรู้เดี๋ยวนั้นในทันทีเลยว่า สิ่งที่เขาคิดและได้นำเสนอในตอนบ่ายวันนี้เรื่อง "การทำงานด้วยจิตว่าง" นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว!

เมื่ออยู่ด้วยจิตว่าง แต่ละห้วงขณะของจิต ย่อมกลายเป็นงานเฉลิมฉลองแห่งชีวิต เต็มไปด้วยเสียงดนตรีที่ทั้งกระซิบกระซาบ ทั้งกึกก้องกัมปนาท เพื่อให้ผู้นั้นก้าวเดินไปในกระแสแห่งอิทัปปัจจยตาอย่างงามสง่า มั่นคง ไม่หวั่นไหว ชีวิตของผู้นั้นจึงเป็นเสมือนการบรรเลงเครื่องดนตรีชิ้นหนึ่ง ให้ปรากฏการณ์แห่งกระแสปฏิจจสมุปบาทไหลผ่านในแต่ละห้วงหัวใจของปัจจุบันขณะ จนสามารถเปล่งรัศมีแห่งท่วงทำนองผ่านการเคลื่อนไหวทั้งหมดของผู้นั้น ผ่านรอยยิ้มและแววตาของผู้นั้น จนกระทั่งการเยื้องกรายของผู้นั้นทั้งหมดจะกลายเป็นดนตรี ขับลำนำให้ผู้คนที่อยู่รอบกายผู้นั้น เบิกบานใจขึ้นมาได้เสมอ








 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้