3. โพธิสัตตบูรณาเทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 3) 15/4/2551

3. โพธิสัตตบูรณาเทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 3) 15/4/2551

โพธิสัตตบูรณา:เทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 3)


3. จอมคนของหวงอี้

พลันที่ “เขา” ได้ทราบข่าวว่า หวงอี้ สุดยอดนักประพันธ์นิยายกำลังภายในแห่งศตวรรษที่ 21 จะมาเยือนเมืองไทย และพบปะกับผู้อ่านคนไทยที่โรงแรมแห่งหนึ่งในตอนสายของวันอังคารที่ 18 เดือนกันยายน พ.ศ. 2550 “เขา” ก็ยกเลิกนัดหมายอื่น และกิจกรรมอื่นทั้งปวง มุ่งตรงดิ่งไปพบ หวงอี้ ด้วยจิตใจที่จดจ่อ เพราะนี่อาจเป็นโอกาสเพียงครั้งเดียวในชีวิตของเขาที่จะได้พบตัวจริงๆ ของ หวงอี้ ยอดนักเขียนที่ตัวเขาก็เป็นแฟนพันธุ์แท้คนหนึ่ง ไม่แต่เท่านั้น นิยายของ หวงอี้ ทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็น “เจาะเวลาหาจิ๋นซี” “มังกรคู่สู้สิบทิศ” “เทพมารสะท้านภพ” และ “จอมคนแผ่นดินเดือด” ได้ส่งผลสะเทือนต่อชีวิตของเขาในช่วงหลายปีมานี้อย่างลึกซึ้ง อย่างที่ไม่มีนักเขียนนิยายกำลังภายในคนอื่นทำได้ขนาดนี้มาก่อน

“เขา” เริ่มต้นเรียนพิณกู่เจิง และหมากล้อมอย่างเอาจริงเอาจัง ก็เพราะอิทธิพลของมหากาพย์กำลังภายในของ หวงอี้ เรื่อง “มังกรคู่สู้สิบทิศ” นี่เอง

พลันที่ “เขา” ได้แลเห็น หวงอี้ ปรากฏกายยืนเคียงข้างกับ คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ผู้ซึ่งเป็นบุคคลแรกที่แนะนำนิยายของ หวงอี้ สู่โลกหนังสือของไทย และ คุณ น.นพรัตน์ ผู้แปลผลงานทุกเล่มของ หวงอี้ ข้างต้นออกมาเป็นภาษาไทย จิตใจของ “เขา” พลันบังเกิดความอบอุ่น ความซาบซึ้ง และสำนึกขอบคุณต่อบุคคลทั้งสามนี้เป็นล้นพ้น

“เขา” รู้สึกสำนึกขอบคุณต่อ คุณก่อศักดิ์ ซึ่งเป็นผู้ชักนำ หวงอี้ และ หมากล้อม มามอบเป็นของขวัญให้แก่คนไทย และสังคมไทย

“เขา” รู้สึกสำนึกขอบคุณต่อ คุณ น.นพรัตน์ ผู้สามารถถ่ายทอดงานเขียนของ หวงอี้ ออกมาเป็นภาษาไทยได้อย่างสละสลวย สมบูรณ์ และเข้าถึงอย่างไร้ที่ติ และ “เขา” รู้สึกสำนึกขอบคุณอย่างลึกซึ้งต่อ หวงอี้ ผู้ซึ่งงานเขียนของเขาได้ช่วยทำให้ วิถีแห่งปราชญ์นักรบ ของตัว “เขา” เติมเต็มและสมบูรณ์

“เขา” ต่างกับผู้อ่านคนไทยคนอื่นตรงที่ “เขา” ไม่ได้อ่าน และไม่เคยอ่านงานของ หวงอี้ เพื่อความบันเทิง แต่เขา “ศึกษา” งานของหวงอี้ เพื่อศึกษาตนเอง เพื่อตระหนักในตนเอง และเพื่อเข้าถึงมโนคติสูงสุดที่ตัวเขามีต่อตนเอง

เพราะสิ่งที่ “เขา” มุ่งเสาะแสวงหาอย่างแท้จริงมาเกือบตลอดชีวิตนั้น คือการมุ่งแสวงหา หลักการ และ หลักวิชา ที่คนอ่อนแอกว่า มีทรัพยากรน้อยกว่า มีอำนาจน้อยกว่า ก็สามารถอยู่รอดได้อย่างมีศักดิ์ศรี อย่างสามารถ “ไม่แพ้” ได้โดยไม่ต้องคิด “เอาชนะ” และก็สามารถอยู่ร่วมอย่างสันติกับทุกฝ่ายได้โดยไม่ต้องคิดทำร้ายกันให้สิ้นซากไปข้างใดข้างหนึ่ง หลักการ และ หลักวิชา เช่นนี้จำเป็นอย่างเหลือเกินในโลกยุคปัจจุบันที่อำนาจเป็นใหญ่ ที่นิยมการใช้กำลัง ใช้ความรุนแรงเข้าหักหาญกัน ทำร้ายกัน เบียดเบียนกัน โดยฝ่ายที่มีอำนาจมากกว่าเป็นฝ่ายได้เปรียบ และชอบฉวยโอกาสใช้ความได้เปรียบนั้นไปเบียดเบียนเพื่อนร่วมโลกอย่างไม่ละอายใจ

“เขา” รู้ตัวเองดีว่า ตลอดชีวิตของ “เขา” ตั้งแต่วัยเยาว์ “เขา” มุ่งแสวงหาแต่ความเป็น เลิศมนุษย์ ในตนอย่างเดียวเท่านั้น “เจตนาเพื่ออำนาจ” ไม่เคยเป็นแรงจูงใจหลักในชีวิตของเขาเลย การฝึกฝนตนเพื่อเป็นเลิศมนุษย์เป็นความหมายเพียงหนึ่งเดียวในชีวิตของเขา และ “เขา” ก็ได้พบว่า วรรณกรรมของ หวงอี้ ที่เขียนถึงเหล่ายอดคน และ จอมคน ในนิยายทุกเล่มของเขา ทั้งที่เป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ และเป็นบุคคลสมมติที่ หวงอี้ ใช้ปากกาของเขารังสรรค์ขึ้นมาดุจเทพอักษรานั้น มันได้ให้แรงบันดาลใจแก่ตัวเขามากเหลือเกิน และมันทำให้ตัวเขารู้สึกแนบแน่นกับตัวละครเหล่านั้นอย่างถึงเลือดถึงเนื้อ อย่างถึงความรู้สึกนึกคิด อย่างถึงจิตวิญญาณ

ไม่นานมานี้ “เขา” ได้มีโอกาสกลับมาอ่าน “เจาะเวลาหาจิ๋นซี” ของ หวงอี้ อีกครั้ง แต่การกลับมาอ่านซ้ำในครั้งนี้ “เขา” กลับให้ความสนใจกับ ม่อจื่อ (ปี 470-ปี 390 ก่อนคริสต์ศักราช) มากเป็นพิเศษ

ทั้งๆ ที่ ม่อจื่อ ในนิยาย “เจาะเวลาหาจิ๋นซี” นั้นมีบทบาทน้อยมาก แค่เป็นชื่อเพลงกระบี่ม่อจื่อที่ เซี่ยงเส้าหลง พระเอกของเรื่องได้ร่ำเรียนมาจาก หยวนจง ศิษย์สาวกแห่งสำนักม่อเจียที่มี ม่อจื่อ เป็นศาสดาและเป็นปรมาจารย์เท่านั้น

บุคลิกภาพของ หยวนจง ที่ หวงอี้ บรรยายเป็นดังนี้

หยวนจง เป็นชายวัยกลางคน สวมใส่เสื้อป่านสีน้ำตาล เปลือยเท้าทั้งของข้าง รูปร่างสูงใหญ่ สีหน้าสงบราบเรียบ ดวงตาทั้งคู่เป็นประกายวาววับ นอกจากผ้าโพกศีรษะที่ใช้รัดผมเผ้าแล้ว บนร่างไม่มีเครื่องประดับใด มีลักษณะคล้ายนักบวชที่บำเพ็ญพรต อุดมการณ์ของ หยวนจง เป็นอุดมการณ์เดียวกับ ม่อจื่อ มหาคุรุคนแรกแห่งสำนักม่อเจียของเขาคือ

“มุ่งขจัดมหันตภัยแห่งแผ่นดิน ดำเนินการให้คุณประโยชน์ของแผ่นดินกลายเป็นจริง”
อุดมการณ์แบบนี้ของม่อจื่อ ต่างกับอุดมการณ์ของพวก “ยามเฝ้าแผ่นดิน” ตรงไหน?

หยวนจง ขยายความต่อว่า

“หากกล่าวถึงมหันตภัยแห่งแผ่นดิน ไม่มีใดเกินปลาใหญ่กินปลาเล็ก ผู้เข้มแข็งข่มเหงคนอ่อนแอ ประเทศใหญ่รุกรานประเทศเล็ก คนฉลาดกดขี่ผู้โง่เขลา รากเหง้าแห่งมหันตภัยทั้งปวง ล้วนเกิดจากระหว่างคนต่อคน ปราศจากความรักซึ่งกันและกัน แม้นหากปฏิบัติต่อกันด้วยภราดรภาพ จะมีแต่สันติสุข ไม่มีศึกสงครามต่อไป”

เหตุที่ หยวนจง ถ่ายทอดวิชาความรู้ทั้งหมดที่เขามีให้แก่ เซี่ยงเส้าหลง ก็เพราะ หยวนจง มุ่งหวังให้ เซี่ยงเส้าหลง สืบทอดปณิธานเพื่อบรรลุอุดมการณ์ของ ม่อจื่อ แทนตัวเขาซึ่งรู้ตัวดีว่าคงจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่นานนัก นิยาย “เจาะเวลาหาจิ๋นซี” เรื่องนี้จะว่าไปแล้ว ก็คือเรื่องราวที่บรรยายถึงบทบาทของเซี่ยงเส้าหลง พระเอกของเรื่องที่มีส่วนทำให้แผ่นดินสงบสันติได้ โดยการไปเสาะหาว่าที่จิ๋นซีฮ่องเต้ในอนาคตซึ่งยังอยู่ในวัยเยาว์ และช่วยผลักดันจนกระทั่งสามารถกลายมาเป็นจิ๋นซีฮ่องเต้เจ้าชีวิต ผู้สามารถขจัดข้อแตกต่างระหว่างรัฐ และกวาดต้อนคนทั้งหมดให้อยู่ภายใต้ระบอบการปกครองเดียวกัน รวมประเทศเป็นปึกแผ่นได้นั่นเอง

หากมองในอีกมุมหนึ่ง พระเอก ของนิยายเรื่องนี้ของ หวงอี้ คือการทำให้อุดมการณ์ของ ม่อจื่อ เป็นจริงในโลกแห่งนิยาย โดยผ่านบทบาทสมมติที่ชื่อ เซี่ยงเส้าหลง นั่นเอง เซี่ยงเส้าหลง ของ หวงอี้ ในด้านหนึ่งจึงเป็น ต้นแบบของ “ปราชญ์นักรบ” (warrior sage) ในอุดมคติของตัวหวงอี้ ด้วย เพียงแต่แต่งแต้มเติมสีสัน ทั้งด้านโรมานซ์ และด้านการต่อสู้ทำศึกเข้าไปในนิยายให้ชวนหลงใหลน่าติดตามด้วยเท่านั้น

นอกจากนี้ การที่ “เขา” ได้มีโอกาสชมภาพยนตร์เรื่อง “มหาบุรุษกู้แผ่นดิน” (A Battle of Wits ซึ่งแปลว่า กลยุทธ์แห่งม่อจื่อ) ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ให้แรงบันดาลใจแก่ตัวเขา และสร้างความสะเทือนใจแก่ตัวเขา จนต้องหันมาศึกษาเรื่องราวของ ม่อจื่อ อย่างใฝ่รู้และจริงจัง

เรื่องย่อของภาพยนตร์ “มหาบุรุษกู้แผ่นดิน” ซึ่งเป็นเหตุการณ์ก่อน “เจาะเวลาหาจิ๋นซี” ประมาณ 120 ปี เป็นดังนี้

370 ปีก่อนคริสต์ศักราช สมัยนั้นประเทศจีนอยู่ในช่วงสงครามระหว่างนครรัฐ ทั้ง 15 ที่พากันแย่งชิงความเป็นใหญ่ สุดท้ายเหลือเพียง 7 แคว้นที่เข้มแข็งกว่า คือ แคว้นฉิน, จ้าว, ฉู่, หาน, เว่ย, ฉี และเอี้ยน ขณะนั้นแคว้นจ้าวต้องการขยายอำนาจโดยยกทัพไปตีแคว้นเอี้ยน ระหว่างทางต้องผ่านเมืองเหลียง ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ จึงคิดยึดเมืองเหลียงก่อนเพื่อสะสมเสบียงก่อนจะไปบุกแคว้นเอี้ยน
ในตอนแรกเจ้าเมืองเหลียงต้องการยอมแพ้ แต่เมื่อปราชญ์นักรบลึกลับนาม เก้อหลี่ จากสำนักม่อจื่อ (ม่อเจีย) เดินทางมาถึงเมืองเหลียง และอ้างว่าตนจะมาช่วยในการวางแผนการศึกครั้งนี้ เพื่อช่วยเมืองเหลียงให้รอดพ้นจากเงื้อมมือของทัพจ้าว โดยที่ เก้อหลี่ ขอให้เจ้าเมืองเหลียงมอบอำนาจการบัญชาการกองทัพแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดให้แก่เขา เพื่อจะได้สามารถต่อสู้การศึกด้วยวิธีการกลยุทธ์ของเขาเอง ปรากฏว่า เก้อหลี่ สามารถเกลี้ยกล่อมเจ้าเมืองเหลียงให้มอบอำนาจบัญชาการรบให้แก่ตัวเขาได้เป็นผลสำเร็จ

เก้อหลี่ บัญชาการรบและวางแผนการรบได้อย่างชาญฉลาด ทั้งชาวบ้านและพวกทหารต่างก็นับถือในความฉลาดของ เก้อหลี่ จนสามารถประสบความสำเร็จในการปกป้องเมืองเหลียงให้รอดพ้นจากการโจมตีของทัพจ้าวได้ชั่วคราว

ความสำเร็จในการปกป้องนครของ เก้อหลี่ จนได้รับความนิยมจากชาวเมืองเหลียงเป็นอย่างสูง ได้จุดความระแวง และความไม่พอใจให้แก่พวกเจ้าเมืองด้วยเกรงว่า เก้อหลี่ จะมายึดอำนาจไปจากตน จึงหาทาง “ปูนบำเหน็จ” เก้อหลี่ ด้วยการยัดเยียดข้อหากบฏให้แก่ เก้อหลี่ และพวกพ้องที่นิยมชมชอบในตัว เก้อหลี่ จนเก้อหลี่ ต้องหนีตายหลบหนีออกจากเมืองเหลียง ด้วยความปวดใจและสลดใจ หลังจากนั้นอีก 5 ปี นครเหลียงก็ล่มสลาย

พอได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้ถึงตอนนี้ “เขา” อดสะเทือนใจลึกๆ ไม่ได้ มันทำให้นึกถึงการปฏิบัติที่พวก คมช.และรัฐบาลสุรยุทธ์กระทำต่อฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหลังจากขับไล่นายกฯ ทักษิณให้ตกลงจากอำนาจได้แล้ว ซึ่งแทบไม่ต่างจากการปฏิบัติที่พวกเจ้าเมืองเหลียงได้กระทำต่อพวกเก้อหลี่เลยแม้แต่น้อย

อย่างนี้ ถ้าไม่ให้เรียกว่า เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล แล้วจะให้เรียกว่าอะไร?
คนอย่างเจ้าเมืองเหลียงช่างเป็นบุคคลที่น่าสมเพชที่ไม่มีศักดิ์ศรีเอาเสียเลย ตอนแรกที่ปรึกษาใหญ่บอกให้ยอมแพ้ก็ยอม แต่พอรอดพ้นจากวิกฤตมาได้ก็ลืมตัว หันมาเนรคุณต่อวีรบุรุษผู้กู้แผ่นดินให้แก่ตนอย่างเก้อหลี่ การได้บุคคลเช่นนี้มา “ยึดอำนาจ” ทำการรัฐประหารในวันที่ 19 เดือนกันยายน พ.ศ. 2549 จึงได้กลายมาเป็นที่มาของวิบากกรรมของแผ่นดิน ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน


 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้