4. โพธิสัตตบูรณาเทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 4) 22/4/2551

4. โพธิสัตตบูรณาเทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 4) 22/4/2551

โพธิสัตตบูรณา:เทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 4)



4. จอมคนของหวงอี้ (ต่อ)

สังคมจีนในยุคชุนชิว (ปี 770-476 B.C.E.) และยุคจ้านกั๋ว (ปี 475-221 B.C.E.) ซึ่งเป็นยุคก่อนสถาปนาราชวงศ์ฉิน โดยจิ๋นซีฮ่องเต้ (ปี 221-206 B.C.E.) เป็นสังคมในระบบศักดินาแบบสหพันธรัฐ เจ้าครองแคว้นต่างๆ มีอิสระในการปกครองพื้นที่ของตนเอง แต่ยังคงอยู่ใต้การควบคุมของประมุขร่วมแห่งราชวงศ์โจวตะวันออก เมื่อใดที่เกิดภาวะผู้นำอ่อนแอไร้ความสามารถ ความขัดแย้งระหว่างแคว้นต่างๆ จะเกิดขึ้น เกิดภาวะสงครามแย่งชิงดินแดนกันทุกหนแห่ง ประชาชนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า

ในช่วงเวลาแห่งกลียุคเช่นนี้ ขณะเดียวกันก็เป็นยุคเบ่งบานของปราชญ์นักคิดสำนักต่างๆ ด้วยเช่นกัน แต่ละสำนักล้วนนำเสนอแนวทางในการ “กู้โลก” ตามปรัชญาและความเชื่อของตน สำนักคิดที่สำคัญในยุคนี้ ได้แก่ สำนักเต๋าของ เล่าจื้อ (เกิดประมาณปี 600 B.C.E.) สำนักหยูของ ขงจื้อ (ปี551-479 B.C.E.) สำนักม่อของ ม่อจื่อ (ปี 470-390 B.C.E.) และสำนักฝ่าของ หานเฟยจื่อ (ปี 280-233 B.C.E.)

ม่อจื่อ เกิดในนครรัฐหลู่ในปี 470 B.C.E. (ก่อนคริสต์ศักราช) หรือเก้าปีหลังการเสียชีวิตของขงจื้อ ม่อจื่อมาจากครอบครัวนักรบปลายแถวที่ยากไร้ แต่มีสติปัญญาเหนือคนธรรมดา ตั้งแต่วัยเด็ก ม่อจื่อ ได้ศึกษาศิลปการต่อสู้วิชาพิชัยสงคราม และศิลปะวิทยาการต่างๆ จากครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น บิดาของ ม่อจื่อ เป็นทหารชั้นผู้น้อยซึ่งถูกผู้บังคับบัญชากลั่นแกล้งใส่ร้ายจนต้องถูกจำคุกและถูกสักหน้าด้วยหมึก ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ม่อจื่อ ก็เลิกใช้ชื่อแซ่จริงของตัวเอง หันมาเรียกตนเองว่าคนแซ่ม่อ ที่แปลว่า หมึกที่ใช้สักหน้าอาชญากรแทน

เมื่อเติบใหญ่ ม่อจื่อ กลายเป็น บัณฑิตนักรบ หรือปัญญาชนนักรบ ที่เกลียดชังความอยุติธรรมเป็นอย่างยิ่ง

ม่อจื่อ เป็น บุคคลอันเลิศล้ำ หรือ เลิศมนุษย์ คนหนึ่งในยุคของเขาตลอดทั้งร่างของ ม่อจื่อ เปี่ยมไปด้วยพลังขับเคลื่อนที่มีชีวิตชีวา ดวงตาของเขามักเปี่ยมแววมุ่งหวังรอคอย เมื่อพูดถึงโลกหล้าที่ปราศจากศึกสงคราม ม่อจื่อเป็นลูกผู้ชายอันเข้มแข็งที่รังเกียจพฤติกรรมของคนต่ำช้าที่เห็นสมบัติ เห็นอำนาจแล้วลืมคุณธรรมเป็นที่สุด เขาเป็นคนมีปณิธาน เต็มไปด้วยความคิดต่อสู้ตั้งแต่เล็ก ไม่ว่าอุปสรรคขวากหนามอันใด ล้วนไม่อาจบั่นทอนปณิธานในชีวิตของเขาที่เป็นอุดมคติอันสูงส่ง

ผู้คนที่ได้พบเห็นรู้จัก ม่อจื่อ จะรู้สึกว่า ตลอดร่างของบุรุษผู้นี้เปี่ยมไปด้วยพลังในทุกอากัปกิริยา ให้ความรู้สึกที่ปลอดโปร่งสง่างามแก่ผู้ได้เห็น ม่อจื่อมีรูปร่างปานกลาง ผิวค่อนข้างคล้ำเพราะกรำแดด เขามีโครงสร้างร่างกายที่แข็งแรง ดวงตาทั้งคู่ของเขาเป็นประกายที่ฉายแววเด็ดเดี่ยว และบ่งบอกถึงการมีสติปัญญาที่ล้ำเลิศเหนือผู้คน

ม่อจื่อ เป็นคนที่มีพรสวรรค์ในการเรียนรู้ ไม่ว่าเล่าเรียนอะไร เขาจะเรียนรู้ได้เร็ว และเหนือล้ำกว่าคนทั่วไป ความสงสัยอยากรู้ในทุกเรื่อง เป็นพลังขับเคลื่อนให้ ม่อจื่อ มุมานะฝึกฝนตนเองในศาสตร์ และศิลปะต่างๆ จนเขากลายเป็นผู้ทรงภูมิปัญญาอันลึกล้ำไพศาลในยุคสมัยของเขา

ในวัยฉกรรจ์ ม่อจื่อ อย่างไรก็เป็น ม่อจื่อ ที่ชอบปฏิบัติการตามลำพัง มิให้ผู้ใดก้าวก่าย ต่อเมื่อสูงวัยขึ้นแล้ว เขาจึงก่อตั้ง สำนักม่อ อันเป็นขบวนการจัดตั้งที่เป็นทั้ง ขบวนการความคิด และ กองทัพนักรบแห่งธรรม อยู่ในขบวนการเดียวกัน ขบวนการม่อจื่อ นี้ดำรงอยู่ถึง 200 ปี หลังการเสียชีวิตของ ม่อจื่อ และเป็นสำนักใหญ่ที่เป็นคู่ปรับสำคัญของสำนักหยูของขงจื้อเลยทีเดียว

ม่อจื่อ รู้ดีว่า ลำพังแค่ปรัชญาของเขาไม่อาจทำให้บ้านเมืองสงบสุขได้ จะมีก็แต่ผู้ปกครองเท่านั้น ที่จะปกครองให้บ้านเมืองสงบสุขได้ ม่อจื่อ ไม่กลัวที่จะเอาชีวิตของตนไปเสี่ยงด้วยการออกไปเตือนเจ้าแคว้นต่างๆ อย่าใช้กำลังทหารไปรุกรานแคว้นอื่น

ครั้งหนึ่ง ม่อจื่อ ได้ข่าวว่าแคว้นฉู่จะยกทัพไปตีแคว้นซ่ง ม่อจื่อ รีบไปพบฉู่อ๋อง และกล่าวว่า

“แต่ก่อนมีเศรษฐีคนหนึ่ง ตัวเขามีรถม้าที่ดีเลิศอยู่แล้ว ยังคิดจะขโมยรถม้าเก่าๆ เกือบพังของเพื่อนบ้าน ท่านคิดว่าคนชนิดนี้เป็นคนอย่างไร”

ฉู่อ๋อง ตอบว่า

“เรากล้าบอกว่า เขาไม่แตกต่างกับโจรที่โง่เขลาเท่าไหร่นัก”

ม่อจื่อ กล่าวว่า

“ถูกแล้ว ในเมื่อแคว้นฉู่มีดินแดนกว้างใหญ่ และมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ ทำไมยังต้องไปตีแคว้นซ่ง ซึ่งมีดินแดนนิดเดียวและทรัพยากรน้อยเล่า?”

ในที่สุด ฉู่อ๋องก็ยกเลิกแผนการที่จะไปตีแคว้นซ่ง

ปรัชญาม่อจื่อ ก็เหมือนปรัชญาจีนอื่นๆ แทบทุกสำนัก คือเป็นปรัชญาเพื่อการปฏิบัติมากกว่าจบอยู่แค่การค้นหาความรู้หรือทฤษฎีเฉยๆ จุดมุ่งหมายของ ปรัชญาม่อจื่อ จึงมุ่งที่จะส่งเสริม ความเป็นปราชญ์ภายใน และ ความเป็นผู้นำภายนอก ไปพร้อมๆ กัน

ความเป็น ปราชญ์ภายใน คือ บุคคลที่สามารถพัฒนาตัวเองให้มีคุณธรรม และระดับจิตที่สูงส่ง

ความเป็น ผู้นำภายนอก คือ บุคคลที่บำเพ็ญประโยชน์มหาศาลให้แก่ชาวโลก ม่อจื่อ มุ่งสอนผู้คนให้ดีกับตัวเอง และดีกับโลกไปพร้อมๆ กันเสมอ

มีเรื่องเล่ากันว่า ระหว่างที่ ม่อจื่อ เดินทางจากนครรัฐหลู่ไปยังนครรัฐฉี ระหว่างทางได้แวะเยี่ยมเพื่อนคนหนึ่ง เพื่อนคนนี้ได้กล่าวกับ ม่อจื่อ ว่า

“บัดนี้คนทั่วหล้าต่างก็หวาดกลัว ผู้มีอำนาจเก่ากลับมา จึงพยายามหาทางเอาตัวรอดกันทั้งนั้น แต่ มีเพียงท่านเท่านั้นที่ยังเชิดชูคุณธรรมอยู่ เพราะฉะนั้นท่านจะต้องตกทุกข์ได้ยากอย่างแน่นอน ด้วยความหวังดี ข้าพเจ้าจึงขอแนะนำให้ท่านจงรีบเลิกราเรื่องคุณธรรมเสีย อย่ามามัวคำนึงเรื่องคุณธรรมอีกต่อไปเลย”

ม่อจื่อ กล่าวตอบว่า

“สมมติว่ามีชาวนาคนหนึ่ง เขามีลูกอยู่ 10 คน แต่มีเพียงคนเดียวที่ไปเพาะปลูกในท้องนา ส่วนลูกอีก 9 คนต่างเอาแต่เที่ยวเตร่ เมื่อเป็นเช่นนี้ ลูกคนที่ไปเพาะปลูกในท้องนาก็ย่อมต้องยิ่งทุ่มเท ขยันหมั่นเพียรในการเพาะปลูกให้มากขึ้น เนื่องจากคนกินมีจำนวนมาก แต่คนเพาะปลูกมีจำนวนน้อย บัดนี้ทั่วหล้ามีผู้ปฏิบัติตามคุณธรรมน้อย เพราะฉะนั้นท่านจึงสมควรให้กำลังใจข้าพเจ้าถึงจะถูก เหตุใดกลับมาขัดขวางบั่นทอนจิตใจของข้าพเจ้าเสียเล่า?”

ม่อจื่อ ยังกล่าวต่อไปอีกว่า

“ในสถานการณ์อย่างนี้ จึงสามารถเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า ใครคือ คนจริง และใครคือ ผู้มีปัญญาที่แท้จริง ข้าพเจ้าขอบอกกับท่านว่า ผู้ที่มีอุดมการณ์ไม่แก่กล้า ก็คือผู้ที่มีปัญญาไม่เพียงพอนั่นเอง...”

“...ตัวท่านก็คบหากับข้าพเจ้ามานานปี ท่านยังไม่รู้อีกหรือว่า ตัวข้าพเจ้านั้น เป็นบุคคลประเภท ยศถาบรรดาศักดิ์ไม่อาจมอมเมา-จิตใจ ยากไร้ต่ำต้อยไม่อาจแปรปณิธาน ใต้อิทธิพลอำนาจไม่ยอมสยบ ในสายตาของข้าพเจ้านั้น ชื่อเสียงตำแหน่งทรัพย์สินเป็นของไม่แน่นอน ผู้ที่ยึดถือเรื่องนี้จริงจังเกินไป ไม่รู้เท่าทัน และปล่อยวางไม่ได้ ทุกข์ย่อมท่วมท้นใจของผู้คนเหล่านี้ เพราะคนเหล่านี้ไม่เคยเฉลียวใจเลยว่า ใช่ว่ามีอำนาจ มีทรัพย์สินเงินทองไม่พอ ใจของผู้นั้นต่างหากที่ไม่รู้จักพอ”

ปณิธานอันยิ่งใหญ่ในชีวิตของ ม่อจื่อ นั้น อยู่ที่ ทำให้คนหิวโหยในใต้หล้า อิ่มท้องกับทำให้คนหนาวเหน็บในใต้หล้าอบอุ่น และกอบกู้แผ่นดินโดยขจัดมหันตภัยแห่งแผ่นดิน หากคำนึงถึงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ว่า ม่อจื่อ เกิดก่อนพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานเพียงสิบกว่าปีเท่านั้น แต่ก็มีแนวคิดเชิง ปรัชญาแบบพระโพธิสัตว์ หรือ ความรักสากล (เจี้ยนอ้าย) แล้วก่อนศาสนาคริสต์เกือบสี่ร้อยปีเลยทีเดียว ซึ่งถือว่า มาก่อนกาลมาก เมื่อคำนึงถึงความเป็นจริงอันโหดร้ายของสังคมจีนยุคนั้นที่ทุกฝ่ายล้วนคำนึงถึงตนเอง และไม่ยี่หระที่จะก่อสงครามทำร้ายแว่นแคว้นของคนอื่นอย่างไม่ปรานี

ความล้ำยุคในอุดมการณ์และปรัชญาของ ม่อจื่อ นี่เอง ที่ทำให้แม้ ม่อจื่อ จะมีลูกศิษย์ลูกหามากมายในช่วงที่เขามีชีวิตอยู่ และก่อตั้งสำนักม่อจนกลายเป็นสำนักใหญ่ได้แล้ว แต่ลูกศิษย์จำนวนไม่น้อยกลับตามความคิดของผู้เป็นอาจารย์ไม่ทัน และไม่ได้มีจิตสำนึกสูงส่งเท่า นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หลังจาก ม่อจื่อ เสียชีวิต สำนักม่อก็แตกออกเป็น 3 กลุ่มย่อยๆ บางกลุ่มรักษาแนวทางและอุดมการณ์ของ ม่อจื่อ ผู้เป็นปรมาจารย์อย่างซื่อสัตย์ บางกลุ่มหันไปรับใช้ผู้มีอำนาจ บางกลุ่มตีความคำสอนของม่อจื่อใหม่ แต่ทุกกลุ่มล้วนถูกจิ๋นซีฮ่องเต้แห่งอาณาจักรต้าฉินกวาดล้างจนสำนักม่อในฐานะที่เป็นสถาบัน และเป็นองค์การจัดตั้งที่มีกองกำลังป้องกันตนเองเป็นของตนถูกทำลายอย่างถอนรากถอนโคนในที่สุด

ไม่แต่เท่านั้น สำนักม่อในฐานะที่เป็นสำนักความคิด ก็ถูกสำนักหยูของขงจื้อ “ถอดรื้อ” และ “ฮุบกลืน” ปรัชญาบางส่วนมาเป็นของตนในปี 135 ก่อนคริสต์ศักราช ในสมัยจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้แห่งราชวงศ์ฮั่น เมื่อ ต่งจ้งซู ได้เสนอนโยบาย “ละทิ้งร้อยสำนัก ยึดมั่นหลักการหยู” ผลักดันให้สำนักความคิดหยูกลายเป็นวัฒนธรรมหลักแห่งอาณาจักรต้าฮั่นได้เป็นผลสำเร็จ นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ปรัชญาม่อจื่อ ก็กลายเป็นปรัชญาที่ถูกลืมไปโดยปริยาย แม้แต่ จอมคน อย่าง ม่อจื่อ ก็กลายเป็นนักคิดที่ถูกลืมไปจากสังคมจีนกว่าสองพันปีเช่นกัน กว่าจะมาได้รับความสนใจอีกครั้งในปลายราชวงศ์ชิง เมื่อจีนถูกรุกรานโดยเหล่ามหาอำนาจจากตะวันตก

วิถีของม่อจื่อ นั้นเรียกได้ว่าเป็น วิถีของปราชญ์นักรบ ที่ด้านหนึ่งมุ่งบำเพ็ญปฏิบัติธรรม ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง อย่าสมถะ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มีอุดมการณ์มุ่งช่วยเหลือสังคม ปกป้องผู้ที่อ่อนแอกว่า

แนวทางของม่อจื่อ นั้น น่าจะเรียกได้ว่าเป็น แนวทางแบบเต๋าเพื่อสังคม (engaged Taoism) ของบุคคลที่เป็นปราชญ์นักรบ (warrior sage) ก็ว่าได้ คือเป็น แนวทางของบุคคลที่เป็นทั้งนักคิด นักปราชญ์ นักรบ นักกลยุทธ์ ผู้บำเพ็ญพรต (ฝึกลมปราณและสมาธิสายเต๋า) และผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองและทางสังคมอยู่ในคนคนเดียวกัน

กล่าวโดยนัยนี้ ม่อจื่อ จึงมิใช่นักปราชญ์นักคิดธรรมดา แต่เป็น อัจฉริยะบุรุษอันเลิศล้ำ ที่สามารถบูรณาการศาสตร์แห่งพิชัยสงคราม การบำเพ็ญพรตแบบเต๋า ศิลปะการต่อสู้ และปรัชญาความคิดทางการเมืองที่ล้ำยุค และมาก่อนกาลเข้ามาไว้ในตัวเองได้อย่างกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว

หลังจากที่ สำนักม่อ (ม่อเจีย) ถูกทำลายแล้ว วิถีของม่อจื่อ ข้างต้นได้รับการสืบทอดอย่างลับๆ โดย ชาวเต๋าสายม่อ (ม่อไพ่) ซึ่งเป็นการสืบทอดรุ่นละคนจนมาถึงปัจจุบัน ปรมาจารย์สายม่อคนปัจจุบันเป็นคนแซ่ชาง (รู้จักกันในนาม จอห์น ชาง) เป็นลูกจีนที่เกิดในประเทศอินโดนีเซีย อาจารย์ชาง เรียนวิชาสายม่อมาจากอาจารย์ เลี่ยวเจียชวน ซึ่งเรียนวิชานี้มาจากนักพรตคนหนึ่งชื่อ ไพ่ล็อกเน็น ที่พำนักอยู่ที่ภูเขาหลงหูซาน วิชาสายม่อ ที่อาจารย์ชางได้รับการถ่ายทอดมานี้เป็น วิชากำลังภายใน กับเป็น วิชามวย ที่มีชื่อว่า มวยแปดอัสนี (ปาเล่ยฉวน) เรื่องราวของ วิชาสายม่อ ของ อาจารย์ชาง นี้เพิ่งได้รับการเปิดเผยโดยศิษย์ชาวตะวันตกคนหนึ่งของเขาใน ค.ศ. 2000 โดยพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือชื่อ “The Magus of Java-Teaching of an Authentic Taoist Immortal” ซึ่งเป็นที่ฮือฮามากในโลกตะวันตก และทำให้ชื่อเสียงของ ม่อจื่อ กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งในฐานะที่เป็น เซียนผู้เป็นปราชญ์นักรบ






 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้