8. โพธิสัตตบูรณาเทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 8) 20/5/2551

8. โพธิสัตตบูรณาเทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 8) 20/5/2551

โพธิสัตตบูรณา:เทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 8)


8. จอมคนของหวงอี้ (ต่อ)


ยุค ศรีอาริยะ ปัญญาชนสาธารณะคนสำคัญคนหนึ่งของประเทศนี้ ถือเป็นคนหนึ่งที่สามารถมองทะลุ และมองขาดว่า มูลเหตุรากเหง้าของปัญหาวิกฤตของบ้านเมืองนี้ที่สะท้อนออกมาในรูปของ ความอับจนล้มเหลวของชนชั้นนำไทยทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายระบอบทักษิณ หรือฝ่ายอำมาตยาธิปไตยนั้นล้วนมีต้นตอมาจาก วัฒนธรรม!

กล่าวคือ ในสายตาของเขา วัฒนธรรมไทยแท้แต่โบราณ ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมไพร่ หรือวัฒนธรรมเจ้านาย ล้วนแล้วแต่เป็น วัฒนธรรมที่คิดเรื่องใหญ่ๆ ไม่เป็น หรือ ไม่มีวัฒนธรรมเชิงยุทธศาสตร์ นั่นเอง เนื่องเพราะการคิดในเชิงยุทธศาสตร์เป็นเรื่องของวัฒนธรรม ยิ่งเมื่อลองเปรียบเทียบวัฒนธรรมของคนไทยกับวัฒนธรรมของคนจีน คนเกาหลี คนญี่ปุ่น เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่า ทั้งคนจีน คนเกาหลี คนญี่ปุ่น ล้วนมี วัฒนธรรมในเชิงยุทธศาสตร์ ดำรงอยู่อย่างฝังรากลึก และแน่นแฟ้น ในขณะที่คนไทยส่วนใหญ่กลับไม่ค่อยมีวัฒนธรรมแบบนี้เลย

ยุค ศรีอาริยะ บอกว่า เวลาบ้านเมืองเผชิญวิกฤต วัฒนธรรมในเชิงยุทธศาสตร์ จะมีส่วนช่วยให้คนในประเทศนั้น สามารถคิดหาทางแก้วิกฤตได้อย่างเป็นรูปธรรม ชาติใดก็ตามที่มี วัฒนธรรมในเชิงยุทธศาสตร์ หยั่งรากลึกชาตินั้นจะไม่กลัววิกฤต มิหนำซ้ำยังสามารถแปรวิกฤตให้เป็นโอกาสได้อีกด้วย

ขณะที่วัฒนธรรมไทยเป็นเพียง วัฒนธรรมเชิงยุทธวิธี ที่มีลักษณะฉลาดแกมโกง หรือไม่ก็ตีฝีปากเล่นลิ้น เอาตัวรอดไปวันๆ มิหนำซ้ำ วัฒนธรรมเชิงยุทธวิธี นี้ยังถูกห่อหุ้มอีกชั้น ด้วย วัฒนธรรมเวรกรรม วัฒนธรรมเสพสุข และวัฒนธรรมขำกลิ้ง โดยผ่านการผลิตซ้ำซากจากสื่อไทย โทรทัศน์ไทย นิยายไทย ละครไทย และภาพยนตร์ไทย จึงทำให้คนไทยโดยทั่วไปไม่สามารถแยกแยะระหว่างเรื่องใหญ่ทางยุทธศาสตร์กับเรื่องเล็กๆ ทางยุทธวิธีออกจากกันได้ มีบ่อยครั้งที่สนใจให้ความสำคัญกับเรื่องเล็กๆ มากกว่าเรื่องใหญ่ๆ เสียอีก มิหนำซ้ำยังตัดสินทุกอย่างจากผลประโยชน์ส่วนตัวเฉพาะหน้าเป็นหลัก

คงแทบไม่เป็นการกล่าวเกินเลยไปหรอก ถ้าหากจะบอกว่า รากเหง้าแห่งความโง่งมแห่งชาติในการเมืองปัจจุบันนี้ มีความเป็นมาที่ยาวนาน และหยั่งรากลึกเหลือเกิน

ยุค ศรีอาริยะ บอกว่า โฉมหน้าธาตุแท้ของวัฒนธรรม ในสายตาของ ภูมิปัญญาแบบโพสต์โมเดิร์น นั้นคือ คอกที่สามารถกักขังจิตวิญญาณของมนุษย์ไว้ภายใต้อำนาจของมัน วัฒนธรรมไทยโบราณนั้นมีที่มาจาก วัฒนธรรมไพร่ กับ วัฒนธรรมเจ้านาย โดยที่ วัฒนธรรมไพร่ เป็นคอกขังจิตวิญญาณคนไทยส่วนใหญ่ในอดีต โดยสำแดงอิทธิพลครอบงำผ่านระบบความเชื่อ โลกทัศน์ และแบบแผนการดำเนินชีวิตของผู้คน วัฒนธรรมไพร่ นี้ยังสามารถแยกแยะแยกย่อยออกไปได้อีก 9 แบบดังต่อไปนี้

แบบที่หนึ่ง เรียกว่า วัฒนธรรมสวามิภักดิ์ ต้องแสดงความจงรักภักดีอย่างสุดจิตสุดใจออกมาให้ “เจ้านาย” เห็นอยู่เสมอ

แบบที่สอง เรียกว่า วัฒนธรรมประจบสอพลอ คนที่สามารถประจบสอพลอเจ้านายจนทำให้นายรักได้ คนนั้นจะได้ดี

แบบที่สาม เรียกว่า วัฒนธรรมซุบซิบนินทา เนื่องจากไม่สามารถแสดงความคิดเห็น หรือความรู้สึกออกมาได้ตรงๆ จึงต้องใช้วิธีซุบซิบนินทาเจ้านายแทน

แบบที่สี่ เรียกว่า วัฒนธรรมอิจฉาตาร้อน ใครที่ได้ดี และเจ้านายรักมาก มักจะถูกอิจฉาและถูกกลั่นแกล้งจากคนรอบข้าง เพราะไม่มีใครอยากเห็นคนอื่นเด่นเกิน

แบบที่ห้า เรียกว่า วัฒนธรรมตลบตะแลง แบบศรีธนญชัย กลายเป็นความฉลาดแบบ “ไทยๆ” ที่ได้รับความชื่นชม

แบบที่หก เรียกว่า วัฒนธรรมรู้มากยากนาน หากทำตัวว่าฉลาดรู้เยอะ เจ้านายก็จะชอบใช้งานหนักกว่าคนอื่นๆ แต่ถ้าทำตัวโง่ๆ เข้าไว้ก็ไม่ต้องเหนื่อย และไม่ต้องทำงานหนักรับใช้เจ้านาย

แบบที่เจ็ด เรียกว่า วัฒนธรรมหนีทุกข์ เมื่อไม่พอใจเจ้านาย ก็จะหาทางหนีไปอยู่ที่อื่นๆ หรือหนีด้วยการออกบวช

แบบที่แปด เรียกว่า วัฒนธรรมเอาตัวรอด มุ่งเอาตัวเองให้รอดปลอดภัยไว้ก่อน ใครจะเป็นอะไร ช่างหัวมัน

แบบที่เก้า เรียกว่า วัฒนธรรมเสพสุข ด้วยการกินเหล้า จีบสาว และเล่นการพนัน โดยถือเป็นสิ่งสำคัญในชีวิต

ข้างต้นนี้คือ แบบต่างๆ ของ วัฒนธรรมไพร่ ในสังคมไทยโบราณจะเห็นได้ว่า คนไทยที่เป็นไพร่จะไม่สนใจเรื่องความรู้ และไม่มี วัฒนธรรมในเชิงยุทธศาสตร์ เพราะทั้งชีวิตของพวกไพร่ล้วนขึ้นต่อเจ้านายเป็นสำคัญ

วัฒนธรรมเจ้านาย ที่เป็นองค์ประกอบหลักอีกอันหนึ่งของ วัฒนธรรมไทยโบราณ ก็ไม่ได้ดีไปกว่า วัฒนธรรมไพร่ นัก คือ ถึงเป็น “เจ้านาย” แต่ก็ตกอยู่ในคอกขังจิตวิญญาณเช่นกัน บางอย่างก็เป็นเหมือนกับ วัฒนธรรมไพร่ เพียงแต่อาจมีระดับที่สูงกว่า วัฒนธรรมไพร่ เท่านั้น

วัฒนธรรมเจ้านาย ยังสามารถแยกแยะแยกย่อยออกไปได้อีก 6 แบบดังต่อไปนี้

แบบที่หนึ่ง คือ วัฒนธรรมเสพสุข มุ่งใช้อำนาจ ลาภ ยศที่ตนเองมีไปบำรุงบำเรอความสุขของตนเองเป็นหลัก

แบบที่สอง คือ วัฒนธรรมอำนาจนิยม ที่ชอบใช้อำนาจหรือใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาต่างๆ

แบบที่สาม คือ วัฒนธรรมเสพติดความมั่งคั่ง ชอบความฟุ้งเฟ้อ

แบบที่สี่ คือ วัฒนธรรมหลงตัวเอง คิดว่าตัวเองสูงส่งเทียมเทพยดา จึงเรียกร้องการบูชาจากคนทั่วไป

แบบที่ห้า คือ วัฒนธรรมเอาตัวรอด แบบเดียวกับ วัฒนธรรมไพร่

แบบที่หก คือ วัฒนธรรมปัดสวะ เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น

จะเห็นได้ว่า จิตลักษณ์ (mentality) แบบ วัฒนธรรมไพร่ และ วัฒนธรรมเจ้านาย ในสังคมไทยโบราณข้างต้น ไม่เคยถูก “ถอดรื้อ” และ “ก้าวข้าม” เลย แม้ว่าประเทศไทยจะได้ยกเลิกระบบไพร่ และระบบเจ้านายไปนานแล้วก็ตาม จิตลักษณ์ที่เป็นรากเหง้าแห่งความโง่งมแห่งชาติ เหล่านี้ ยังคงถูกผลิตซ้ำในสังคมการเมืองปัจจุบันในรูปแบบต่างๆ นานา จนกลายเป็น วัฒนธรรมการเมืองไทย ที่กลายเป็นปัญหาของบ้านเมืองในขณะนี้

วัฒนธรรมที่ไร้ยุทธศาสตร์ ไม่สนใจศึกษาหาความรู้ เสพสุข ปัดสวะ เอาตัวรอดไปวันๆ เหล่านี้ คือ จุดอ่อนที่สำคัญของวัฒนธรรมไทย และกลายมาเป็น ปัญหาใหญ่ทางยุทธศาสตร์ ของประเทศนี้ไปแล้ว

จากมุมมองเชิงวิพากษ์วัฒนธรรมเช่นนี้ เราจะพบว่า “คน” เป็นเพียง “ร่างทรง” ให้แก่วัฒนธรรมที่ผลิตซ้ำ ความโง่แห่งชาติขึ้นมาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันเท่านั้น มิหนำซ้ำวัฒนธรรมที่ผลิตซ้ำความโง่แห่งชาตินี้ ได้กลายเป็น คอกที่ขังจิตวิญญาณ ชนชั้นนำไทยทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายระบอบทักษิณ หรือฝ่ายอำมาตยาธิปไตยให้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของมัน ส่วนคนไทยระดับรากหญ้านั้น ยิ่งไม่ต้องพูดถึง พวกเขาล้วนเสพติดและถูกมอมเมาด้วยวัฒนธรรมนี้อย่างถอนตัวไม่ขึ้น

การสร้าง วัฒนธรรมในเชิงยุทธศาสตร์ เป็นฐานรากให้แก่วัฒนธรรมไทยที่ “พวกเรา” จะสร้างขึ้นมาใหม่ในยุคโพสต์โมเดิร์น จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง หาก “พวกเรา” คิดจะสร้างชาติขึ้นมาใหม่

หน้าที่ของ “พวกเรา” ทุกคนในเวลานี้คือ ปลูกฝัง วัฒนธรรมเชิงยุทธศาสตร์ ให้แก่ตนเอง และคนรอบข้าง สิ่งนี้เริ่มต้นได้ไม่ยากเลย โดยเริ่มต้นจากการอ่านวรรณกรรมกำลังภายในของหวงอี้ โดยเฉพาะ “มังกรคู่สู้สิบทิศ” กับ “จอมคนแผ่นดินเดือด”

เพราะ วรรณกรรมของหวงอี้ทุกเล่ม ล้วนเป็นนิยายในเชิงยุทธศาสตร์และยุทธวิธี ที่สอนผู้อ่านให้คำนึงถึงความจริงศึกษาจากสถานการณ์ที่เป็นจริง และอ่านวิกฤตของบ้านเมืองให้ออกเพื่อที่จะได้ คิดการใหญ่ เพื่อพลิกแผ่นดิน โดยมีจิตปณิธานและวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล

การคิดการใหญ่เพื่อพลิกแผ่นดิน ในที่นี้หมายถึง การกล้าคิด กล้าสร้างขุมพลังการเมืองใหม่ และสร้างวัฒนธรรมใหม่ในเชิงยุทธศาสตร์ของฝ่ายประชาชนขึ้นมา เพื่อผ่าทางตันวิกฤตของบ้านเมืองในปัจจุบัน การจะกล้าคิดการใหญ่เช่นนี้ได้ บางทีการหันมาศึกษาและได้แรงบันดาลใจจาก วิถีของโค่วจง ที่เป็นหนึ่งในตัวเอกของนิยายกำลังภายในเรื่อง “มังกรคู่สู้สิบทิศ” ของหวงอี้ น่าเป็นจะสิ่งที่ควรทำที่สุดในสถานการณ์ปัจจุบัน





 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้