14. โพธิสัตตบูรณาเทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 14) 1/7/2551

14. โพธิสัตตบูรณาเทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 14) 1/7/2551

โพธิสัตตบูรณา:เทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 14)

14. จอมคนของหวงอี้ (ต่อ)

เหตุไฉนที่ผ่านมาอันธพาลจึงได้ครองเมือง? ทำไมคนต่ำช้าสามานย์กลับได้เป็นใหญ่เป็นโต? คนเหล่านี้ไม่ละอายต่อบาปหรืออย่างไร? นี่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจยิ่ง จริงๆ แล้วคนเหล่านี้ก็ รู้ว่าอะไรดี อะไรเลว แต่ คนเหล่านี้กลับไม่สามารถควบคุมจิตใจตัวเองให้เลิกทำความเลวแล้วหันกลับมาทำความดีได้ นั่นเอง จะว่าไปแล้ว ผู้คนเกือบทั้งหมดในสังคมนี้ ต่างก็รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรดีอะไรชั่ว ความบาปความชั่วที่ได้เกิดขึ้น กำลังเกิดขึ้น และจะเกิดขึ้นในแต่ละวันเกือบทั้งหมด จึงมิได้เกิดขึ้นเพราะผู้นั้นรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นอย่างจงใจทั้งสิ้น

ความชั่วทั้งหลายส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพราะคนส่วนใหญ่ไม่มีพลังมากพอที่จะควบคุมจิตใจของตนเอง โดยเฉพาะ จิตใต้สำนึก ของตนเอง เพราะฉะนั้น จิตใต้สำนึก นี้ จึงกลายมาเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลบงการเหนือชีวิตของคนผู้นั้น ด้วยการเข้าไปพยายามกระตุ้น จิตสำนึก ของคนผู้นั้นให้เลือกกระทำแต่ในสิ่งที่สนอง ความปรารถนาที่ถูกเก็บกดเอาไว้ในส่วนลึกของจิตใจ

เพราะเป็นเช่นนี้แหละ คำสอนเชิงจริยธรรม หรือเชิงศีลธรรม จึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงนิสัยใจคอของผู้คนให้กลับเนื้อกลับตัวได้

บางทีอาจจะมีแต่ วิชาโยคะ เท่านั้นกระมังที่ทรงพลังกว่าระบบจริยธรรม จึงจะมีพลังพอที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิต เปลี่ยนแปลงจิตใจของผู้คนได้บ้าง ในวรรณกรรมกำลังภายในเรื่อง “มังกรคู่สู้สิบทิศ” ของ หวงอี้ ก็ได้มีการพาดพิงถึง วิชาโยคะ นี้เช่นกัน แต่ในนั้น หวงอี้ เรียกว่า เคล็ดวิชาเปลี่ยนอาทิตย์ โดยคำว่า “อาทิตย์” นี้ หมายถึงพระไวยโรจนะพุทธเจ้าในศาสนาพุทธนิกายมหายาน การเปลี่ยนอาทิตย์ จึงหมายถึง การสับเปลี่ยนภาคร่างของตนกับพระไวยโรจนะ แฝงความหมายของการสำเร็จเป็น พุทธะ ตามแนวทางทิเบต ด้วยการฝึก กุณฑาลินีโยคะ นั่นเอง

ใน วิชาเปลี่ยนอาทิตย์ หรือ กุณฑาลินีโยคะ นี้ หวงอี้ ได้กล่าวถึงลมปราณทั้งห้า ท่อพลังทั้งสาม และจักรทั้งเจ็ด โดยที่ ลมปราณทั้งห้า หมายถึง

(1) ปราณา หรือปราณในช่วงระหว่างลำคอถึงกระบังลม

(2) อปานา หรือปราณที่อยู่ในบริเวณต่ำกว่าสะดือลงไป

(3) สมานา หรือปราณที่อยู่บริเวณสะดือ

(4) อุดานา หรือปราณที่อยู่บริเวณเหนือลำคอ

(5) ไวยานา หรือปราณที่กระจายไปทั่วร่าง

ส่วน ท่อพลังทั้งสาม หมายถึง ท่ออิทะ ท่อปิงคละ และท่อสุษุมนะ ซึ่งเป็นสามช่องทางเดินใหญ่ที่เป็นทางผ่านของจิตสำนึก ปราณ และพลังกุณฑาลินี โดยท่อสุษุมนะเป็นท่องกลาง เริ่มจากก้นกบไปถึงขม่อมเชื่อมต่อกับกระดูกสันหลัง ส่วนท่ออิทะกับท่อปิงคละเป็นท่อซ้ายขวา

สำหรับ จักรทั้งเจ็ด หมายถึงศูนย์พลังภายในกายเจ็ดแห่ง ซึ่งได้แก่ จักรมูลธาร (จักรก้นสมุทร) จักรสวาธิษฐาน (จักรเพศ)

จักรมณีปุระ (จักรสะดือ) จักรอนาหตะ (จักรหัวใจ)

จักรวิสุทธิ (จักรคอ) จักรอาชณะ (จักรหว่างคิ้ว)

จักรสหัสธาร (จักรขม่อม)

วิชาโยคะ หรือ วิชาเปลี่ยนอาทิตย์ คือ ระบบการฝึกฝนตนเองอย่างหนึ่งเพื่อบรรลุการเป็นนายของตนเองให้จงได้ การฝึก วิชาโยคะ จึงเป็น การฝึกเปลี่ยนแปลงตนเองจากภายใน โดยเริ่มจากการฝึกฝนร่างกายให้แข็งแกร่งพอที่จะทนทานต่อการบำเพ็ญตบะ และการฝึกจิตขั้นสูง จากนั้นก็ทำการบ่มเพาะคุณธรรม และคุณสมบัติที่ดีนานัปการไว้ในตัว และพัฒนาคุณธรรมกับคุณสมบัติเหล่านั้นให้เติบใหญ่เข้มแข็ง จนกลายมาเป็น ปัจเจกภาพ และ บุคลิกภาพ อันยอดเยี่ยม น่าพึงยกย่องของคนผู้นั้น

วิถีของโยคะ หรือ วิชาเปลี่ยนอาทิตย์ จึงเป็นการบูรณา ร่างกาย ที่แข็งแกร่ง ทรงพลัง เข้ากับ จิต ที่ได้รับการฝึกฝนมาจนมีวินัยดีแล้ว เพื่อเอื้อต่อ การพัฒนาทางจิตวิญญาณ ให้สามารถพัฒนาไปจนถึงขั้นสูงสุดเท่าที่ศักยภาพทางจิตของผู้นั้น จะสามารถพัฒนาไปถึงในชีวิตนี้ได้

เคล็ดการฝึกสมาธิเพื่อ “ปลุกจักรทั้งเจ็ด” ตามแนวของ วิชาเปลี่ยนอาทิตย์ หรือ กุณฑาลินีโยคะ มีดังต่อไปนี้

เริ่มจากการทำสมาธิเพื่อปลุก จักรอาชณะ (จักร หว่างคิ้ว) ก่อนเป็นอันดับแรก อาชณะ แปลว่ารากฐานของความรู้ทั้งปวง เป็นฐานของการสั่งการทางความคิด และเป็นที่ติดต่อกับจิตวิญญาณภายในของคนเรา และจิตศักดิ์สิทธิ์ภายนอก จักรอาชณะ มีความสำคัญในการฝึกจิตมาก เพราะตำแหน่งนี้เป็นที่บรรจบของช่องทางเดินพลังทั้งสาม คือ อิทะ ปิงคละ และสุษุมนะ การฝึก จักรอาชณะ นี้จะทำให้ผู้นั้นสามารถสัมผัสกับศูนย์รวมแห่งความรู้ และปัญญาญาณที่อยู่ภายในของผู้นั้นได้ ไม่แต่เท่านั้น การฝึก จักรอาชณะ ยังช่วยให้ผู้นั้นสามารถชำระจิตใจของตนให้สะอาดบริสุทธิ์ยิ่งขึ้นได้ เมื่อจิตของผู้ฝึกวิชาโยคะบริสุทธิ์ขึ้นแล้ว จึงจะสามารถไปฝึกจักรอื่นๆ ที่เหลือได้

เพราะถ้าหากผู้ฝึกโยคะไม่ฝึกจิตให้บริสุทธิ์ขึ้นเสียก่อน โดยผ่านการทำสมาธิปลุก จักรอาชณะ แต่กลับรีบร้อนไปฝึกจักรอื่นๆ ก่อน โดยที่จักรอื่นๆ นั้นเป็นที่รวมของความทรงจำฝังลึกที่ผ่านมา ทั้งแบบดีและแบบไม่ดี ทั้งรื่นรมย์และเจ็บปวด ทั้งทางบวกและทางลบ เมื่อถูกปลุกขึ้นมา ความคิดเชิงลบต่างๆ ที่เคยกักเก็บเอาไว้มันจะออกมาหมด หากผู้ฝึกไม่สามารถเผชิญกับความคิดเชิงลบเหล่านี้ได้ จะเกิดผลเสียแก่ตัวผู้ฝึกเอง เพราะฉะนั้นในการฝึก วิชาเปลี่ยนอาทิตย์ หรือ กุณฑาลินีโยคะ จึงจำเป็นที่จะต้องเริ่มต้นจากการปลุก จักรอาชณะ ก่อนที่จะไปปลุกจักรอื่นๆ

“โอม” คือ คำศักดิ์สิทธิ์เพื่อใช้ทำสมาธิในการปลุก จักรอาชณะ เมื่อผู้ฝึกโยคะส่งจิตใจมาจดจ่อที่ จักรอาชณะ นี้ มันจะไปช่วยกระตุ้น ต่อมไพนีล ในสมองให้เปล่งความสามารถที่ซ่อนเร้นออกมา เพราะ ต่อมไพนีล นี้มีความสามารถในการเชื่อมกับจิตวิญญาณภายในของตัวผู้ฝึก กับมีความสามารถติดต่อทางจิตกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในโลกภายนอก

อนึ่ง จักรอาชณะ นี้มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ตาที่สาม” การปลุกจักรอาชณะทำได้โดยการส่งความรู้สึกไปจดจ่อที่จักรนี้ แต่อย่าตั้งใจมากเกินไปจนเครียด ขอให้ส่งจิตไปที่จักรนี้อย่างเป็นธรรมชาติ แล้วจะรู้สึกถึงจักรนี้ได้อย่างเป็นไปเอง ความรู้สึกที่จักรนี้จะเด่นชัดยิ่งขึ้น หากผู้ฝึกโยคะนึกถึงคำว่า “โอม” เพียงแผ่วเบาให้เกิดขึ้นเอง ที่สำคัญคือ อย่าพยายามท่องคำคำนี้ แต่ควรปล่อยให้คำศักดิ์สิทธิ์คำนี้เข้ามาในจิตสำนึกของผู้นั้นเอง

ดับไฟในห้อง นั่งขัดสมาธิแบบปทุมอาสนะ (สมาธิเพชร) หรือกึ่งปทุมอาสนะก็ได้ โดยเท้าขวาอยู่บนหน้าขาซ้าย นั่งตัวตรง หลับตาเพียงแผ่วเบา ไม่สวมแว่นตา ไม่เกร็ง ผ่อนคลาย สองมือทำปางมือที่ถนัด

ในขณะที่หลับตา ขอให้ผู้ฝึกโยคะจงส่งสมาธิไปที่จุดกึ่งหว่างคิ้ว โดยตอนหายใจเข้าขอให้ค่อยๆ บีบรัดหรือขมิบกล้ามเนื้อรอยฝีเย็บใต้อวัยวะเพศ จากนั้นให้กักลมหายใจไว้พักหนึ่ง ในตอนหายใจออกค่อยๆ คลายกล้ามเนื้อออก จงฝึกบีบและคลายกล้ามเนื้อที่รอยฝีเย็บนี้พร้อมๆ กับการหายใจเข้าออก ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ อย่างตั้งใจ แต่อย่าฝืนอย่าเกร็ง ทำเช่นนี้พร้อมๆ กับการจดจ่อความรู้สึกอยู่ที่ จักรอาชณะ โดยไม่เคลื่อนไหวร่างกายส่วนอื่น ฝึกสมาธิปลุกจักรอาชณะราวๆ หนึ่งก้านธูป ก่อนจะออกจากสมาธิ

หลังจากที่ฝึกสมาธิปลุก จักรอาชณะ อย่างจริงจังต่อเนื่องเป็นเวลาไม่ต่ำกว่าหนึ่งปีหกเดือนถึงสองปี จนผู้ฝึกรู้สึกว่าตัวเองสามารถชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ขึ้นได้แล้ว จึงค่อยเริ่มฝึกปลุก จักรมูลธาร เป็นจักรต่อไปได้

จักรมูลธาร มีความสำคัญมากต่อระบบประสาทสัมผัสทั้งห้า และเป็นที่ตั้งของพลังความสามารถแฝงเร้นของมนุษย์ที่เรียกในภาษาโยคะว่า พลังกุณฑาลินีจักรมูลธาร มีความสำคัญมากเพราะมันเป็น บ่อเกิดของพลังชีวิตจำนวนมหาศาลของผู้นั้น ที่สามารถดึงพลังชีวิตอันนี้มาสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้อย่างไม่มีขีดจำกัด มันเป็นที่มาของความสดชื่นมีชีวิตชีวา กระปรี้กระเปร่าของคนผู้นั้น

จักรมูลธาร จึงเป็นจักรที่สำคัญมาก เพราะมันเกี่ยวข้องกับพลังชีวิตของคนผู้นั้น แต่ก็เป็นจักรที่ถูกรบกวนทางจิตได้ง่ายมากเมื่อเทียบกับจักรอื่นๆ เพราะฉะนั้น การปลุก จักรอาชณะ ให้ตื่นขึ้นก่อนที่จะไปปลุก จักรมูลธาร จึงเป็นแนวทางที่ถูกต้องของการฝึก วิชาเปลี่ยนอาทิตย์

ที่ตั้งของ จักรมูลธาร ในเพศชาย ตั้งอยู่ภายในบริเวณใต้รอยฝีเย็บด้านใน ส่วนที่ตั้งของ จักรมูลธาร ในเพศหญิงนั้นอยู่ในบริเวณด้านในของปากมดลูก จักรมูลธารนี้มีลักษณะขมวดเป็นปม เมื่อใดที่ปมอันนี้ถูกทำให้คลายออกด้วยการฝึก วิชาโยคะ หรือ วิชาเปลี่ยนอาทิตย์ เมื่อนั้นความรอบรู้แห่งปัญญาญาณทางธรรม และพลังอันน่าทึ่งจักบังเกิดแก่คนผู้นั้น เคล็ดการทำสมาธิปลุกจักรนั้นอยู่ที่การเริ่มปลุกจักรที่เป็นขั้วตรงข้ามของจักรนั้นก่อน แล้วจึงค่อยเพ่งจิตไปที่จักรที่ต้องการจะปลุกนั้นทีหลัง อันเป็นหลักการเดียวกันกับการรักษาโรคด้วยการฝังเข็ม เพื่อทำให้ลมปราณไหลเวียนได้สะดวกโล่ง

เพราะฉะนั้นในการฝึกสมาธิเพื่อปลุก จักรมูลธาร จึงเริ่มที่การส่งจิตไปจดจ่อที่ปลายจมูกของผู้ฝึกก่อน เพื่อกระตุ้นท่ออิทะกับท่อปิงคละซึ่งเชื่อมโยงไปถึง จักรมูลธาร ที่อยู่ด้านล่าง รวมทั้งพลังกุณฑาลินีที่นอนสงบนิ่งอยู่ที่นั่น จากนั้นจึงเพ่งจิตไปที่จักรมูลธาร พร้อมๆ กับการเพ่งที่ปลายจมูกเพื่อกระตุ้นจักรมูลธารด้วย

เวลาเพ่งจิตไปที่จักรมูลธารบริเวณรอยฝีเย็บ ผู้ฝึกควรขมิบกล้ามเนื้อบริเวณรอยฝีเย็บและคลาย พร้อมๆ กับการหายใจเข้าออกเหมือนเช่นตอนที่ฝึกปลุกจักรอาชณะ แต่ต่างกันตรงที่จุดเพ่งจิตเท่านั้น

ส่วนรายละเอียดการฝึกสมาธิเพื่อปลุกจักรอื่นๆ นั้น ผู้อ่านสามารถศึกษาได้จาก หนังสือ “ยอดคนมหาโยคะ” (สำนักพิมพ์มังกรบูรพา, พ.ศ. 2550) ของผู้เขียน ในที่นี้จะขอกล่าวแต่เพียงว่า หลังจากที่ปลุกจักรมูลธาร และ ไต่ขึ้น ไปฝึกปลุกจักรสวาธิษฐาน, จักรมณีปุระ, จักรอนาหตะ, จักรวิสุทธิ และสุดท้ายคือ จักรสหัสธารที่ยอดศีรษะแล้ว เป้าหมายสุดท้ายของวิชากุณฑาลินีโยคะ นี้ คือการเข้าถึง สภาวจิต ที่ในหนังสือกำลังภายในเรื่อง “มังกรคู่สู้สิบทิศ” ของ หวงอี้ เรียกว่า “พรหมกับตัวตน (อาตมัน) ประดุจหนึ่งเดียว”




 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้