16. โพธิสัตตบูรณาเทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 16) 15/7/2551

16. โพธิสัตตบูรณาเทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 16) 15/7/2551

โพธิสัตตบูรณา:เทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 16)

16. จอมคนของหวงอี้ (ต่อ)

เวลาที่เราอ่าน “มังกรคู่สู้สิบทิศ” ของ หวงอี้ ที่บรรยายถึง จอมคนประเภทต่างๆ ซึ่งมีบุคลิกภาพที่โดดเด่นและหลากหลายนั้น มันทำให้เราอดนึกเปรียบเทียบไม่ได้กับ เหล่ายอดคนในสังคมไทยปัจจุบัน ที่ยังมีชีวิต มีเลือดเนื้ออยู่ในขณะนี้ว่า ใครกันบ้างที่มีบุคลิกภาพที่คล้ายคลึงกับ บรรดาจอมคน ของ หวงอี้ ในวรรณกรรมชิ้นเอกเรื่องนี้ของเขา

อย่างเช่น ผู้เขียนนึกถึงบุคลิกภาพของ สนธิ ลิ้มทองกุล ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับบุคลิกภาพของ โค่วจง ยิ่งกว่าใคร ขณะที่เวลา หวงอี้ บรรยายบุคลิกภาพของ ชอนแชอิม จอมกระบี่หมากล้อม ผู้เป็นหนึ่งในสามของสุดยอดฝีมือแห่งยุค ผู้เขียนกลับนึกถึงบุคลิกภาพของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุลโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่ได้อ่านงานเขียนชิ้นล่าสุดของเขาเรื่อง “ผ่านพ้นจึงค้นพบ” (มีนาคม, 2551)

หวงอี้ ได้บรรยายบุคลิกภาพของ ชอนแชอิม เอาไว้ตอนหนึ่งดังนี้

...ชอนแชอิม กำลังแหงนหน้ามองนภาดาว ด้วยท่วงท่าที่แน่วนิ่ง ทำให้รู้สึกถึงความจดจ่อที่เขามีต่อนภาดาว ชอนแชอิม ชอบกลางคืนมากกว่ากลางวัน เขาเห็นว่า ช่วงเวลาแห่งรัตติกาล เป็นช่วงเวลาสวยงามที่สุด ดังนั้นขณะที่ทุกผู้คนขึ้นเตียงเข้านอน กลับเป็นช่วงเวลาที่ตัวเขาดื่มด่ำกับชีวิต

ชอนแชอิม เฝ้าถามตัวเองมาโดยตลอด ยามที่เขาจดจ่ออยู่กับนภาดาวว่า “ชีวิตเป็นฉันใดหนอ?” ชอนแชอิม เป็นยอดคนที่มุ่งสืบเสาะแสวงหา และทำความเข้าใจกับชีวิตด้วยสายตาที่เปี่ยมไปด้วยความรักต่อสรรพชีวิต และความชื่นชมต่อความงามของธรรมชาติในทุกสรรพสิ่ง แม้แต่ในสิ่งที่ดูเหมือน “อัปลักษณ์” ในสายตาของคนทั่วไป

บ่อยครั้งที่ ชอนแชอิม หลับตาลงเพื่อสดับฟังสำเนียงแห่งธรรมชาติของฟ้าดินยามรัตติกาล ซึ่งมีแต่โสตประสาทอันละเอียดอ่อน เช่น เขาจึงสัมผัสได้ เขาชอบสายน้ำคล้ายกับว่า ราตรีเป็นโลกของวารี น้ำเป็นบ่อเกิดของชีวิต ขณะที่ชีวิตผุดกำเนิดขึ้นมาจากความมืดของรัตติกาล เป็นปริศนาความเร้นลับชั่วนิรันดร

ในสายตาของ ชอนแชอิม คนทั่วไปมีสายตาอันจำกัด จึงไม่อาจมองเห็นความไม่จำกัดของชีวิต จะมีก็แต่ผู้ที่สามารถเปิด “ปัญญาจักษุ” หรือสามารถเบิก ดวงเนตรทางจิต มองทะลุถึงโมหะ โทสะ กิเลสตัณหา ความสับสนเลอะเลือน และความประหวั่นพรั่นพรึงทั้งมวล ผู้นั้นก็จะพบเห็นตัวตน และร่องรอยอันวิจิตรที่แวดล้อมอยู่รอบตัว

สำหรับ ชอนแชอิม แล้ว ตัวตนคือร่องรอยอันวิจิตรอย่างหนึ่งของชีวิต โดยที่ ชีวิตคือสิ่งสุดยอดของการดำรงคงอยู่ทั้งมวลในเอกภาพ ในบรรดาสิ่งมีชีวิตทั้งหลายทั้งปวง จะมีก็แต่ มนุษย์ ผู้เป็นสัตว์ประเสริฐเท่านั้น ที่สามารถคิดอย่างอิสรเสรี จึงสามารถทบทวนถึงการดำรงอยู่ของตัวตนแห่งตน และจึงมี พลังแห่งการเลือก ในชีวิตของตน ชีวิตจึงเป็นทั้งความจำกัด และความไร้ขีดจำกัด การรู้จักตนเอง จึงเป็นวิถีทางเดียวที่จะทำให้มนุษย์เข้าถึงการดำรงคงอยู่ของชีวิต การคงอยู่ของแต่ละชีวิต เป็นแค่ประกายที่ไม่มีวันสิ้นสุดยุติของธารชีวิตสายธารใหญ่แห่งจักรวาล

ข้างต้นนี้ คือ ปรัชญาแห่งชีวิตและการดำรงคงอยู่ของชีวิต ของ ชอนแชอิม ซึ่งเป็นมุมมองชีวิตด้วยกรอบที่กว้างไกลถึงจักรวาล อันอยู่เหนือความนึกคิดของปุถุชนคนทั่วไป มีแต่จากมุมมองนี้เท่านั้น จึงจะสามารถแลเห็นได้ว่า จากนภาดาวอันมืดมิด จนถึงหญ้าทุกต้นไม้ทุกท่อนบนพื้นดิน แม้แต่เมฆขาวสายน้ำไหล ล้วนเป็นการดำรงคงอยู่ของ “ชีวิต” ที่เป็นหนึ่งเดียว การดำรงอยู่ของ ตัวตน เองที่แท้ก็ยังแฝงไว้ด้วยร่องรอยอันวิจิตร และความลี้ลับสุดจะหยั่ง

แต่เนื่องจาก ผู้คนทั่วไปถูกจำกัดด้วยมุมมองเกี่ยวกับตัวตนของตน พวกเขาจึง “หลงทาง” ด้วยความไม่รู้ว่าชีวิตที่แท้มาจากไหน และจะไปยังแห่งหนใด ชีวิตมีความหมายอย่างไร ทางเลือกของผู้คนส่วนใหญ่ จึงแสร้งทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น หมกมุ่นอยู่กับการมีชีวิตที่บำรุงบำเรอด้วยกามและเกียรติ แต่กลับตายอย่างอนาถ ด้วยเหตุนี้ ผู้คนส่วนใหญ่จึงไม่อาจไถ่ถอนตัวเองจากตัวตนของตน จะมีก็แต่ผู้ทรงภูมิปัญญาจำนวนน้อยนิดเท่านั้น ที่สามารถรู้จักตัวเองอย่างถ่องแท้ จึงสามารถเปิดดวงเนตรแห่งจิตใจมองทะลุปริศนาที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังของชีวิตได้

ชอนแชอิม เห็นว่า ในชั่วชีวิตหนึ่งของคนเรา นับตั้งแต่คลอดจากครรภ์มารดา พร้อมกับการเติบโตเจริญวัย คนเราที่พิศวง งง งวย ก็ค่อยๆ ตื่นขึ้นมาทีละน้อย คล้ายออกจากความฝันหนึ่งเข้าสู่อีกห้วงความฝันหนึ่งที่คนเรามักคิดว่าเป็น “ความแจ่มใส” ขณะเดียวกัน คนเราก็เริ่มเกิดความรักชอบส่วนตัว ทำการเลือกรูปแบบของการดำรงอยู่ที่แตกต่างของตนเอง จนละเลยร่องรอยอันวิจิตรของชีวิต ในส่วนลึกของจิตใจทุกผู้คนจึงรู้จักแต่การแสวงหาความต้องการทางวัตถุ ทั้งๆ ที่มันเป็นเพียงแค่ การหาความสุขในกองทุกข์เท่านั้น แต่ยิ่งทำเช่นนี้ คนเราก็ยิ่งจมดิ่งลงไปในทะเลทุกข์ เกิดความรู้สึกที่ไม่รู้จักพอ แต่กลับไม่สามารถมีทางเลือกอื่นอีก ได้แต่กระเสือกกระสนดิ้นรนทุรนทุรายอยู่ในกองทุกข์นั้น

แต่ ชอนแชอิม กลับต่างไปจากผู้คนเหล่านั้น เพราะ ตั้งแต่เขาเติบใหญ่ชีวิตเขาก็มุ่งเฝ้าค้นหาสิ่งที่นำมาซึ่งความหมายเชิงลึกให้แก่ชีวิต ยิ่งเมื่อเขาแหงนมองนภาราตรี มองดูดอกไม้ แม้แต่เฝ้าดูหญิงงามนางหนึ่ง เขาก็มีความรู้สึกราวกับว่า ตัวเขาได้เข้าใกล้สิ่งที่ตัวเขาค้นหาแล้ว ด้วยเหตุนี้เอง ตัวเขาจึงหันมาสนใจเรื่องของ จิตวิญญาณ และมีความเห็นว่า ความรู้แจ้งในความหมายของชีวิต เป็นเพียงความรู้สึกทางจิตใจอย่างหนึ่งเท่านั้น

ชอนแชอิม จึงกลายเป็นบุคคลที่แสวงหาความสมบูรณ์พร้อมของชีวิต โดยผ่านการแสวงหาแก่นแท้ที่อยู่เบื้องหลังความงามของสรรพสิ่งจากมุมมอง และการทำความเข้าใจที่ “ผ่านพ้น” หรือ “ก้าวข้าม” ตัวเขาจึงไม่ยึดติดอยู่กับภาพลักษณ์อันงดงาม หรืออัปลักษณ์ทางภายนอกอีกต่อไป ในที่สุด ชอนแชอิม ก็ได้ค้นพบว่า สิ่งที่ตัวเขามุ่งแสวงหามาชั่วชีวิตนั้น ที่แท้มันดำรงอยู่แล้วในส่วนลึกของคนเรา เป็นคลังสมบัติอันเป็นอริยทรัพย์ที่ลึกลับซ่อนเร้นอยู่ในตัวตนของผู้คนแต่ละคนอยู่แล้ว ชอนแชอิม จึงสามารถหลุดพ้นจากสภาพอันจำเจของชีวิต สามารถปีนป่ายขึ้นจากปลักโคลนของความปวดร้าว เคียดแค้นชิงชัง และการแก่งแย่งชิงอำนาจระหว่างคนต่อคน เขาสามารถเห็นซึ้งถึงพฤติการณ์อันโฉดเขลาที่ต่ำช้าของมนุษย์ และสามารถแลเห็นด้านมืดของมนุษย์ที่ทำลายความสุขของชีวิตตนเองไปด้วยความเขลา และความยึดติดในตัวตนของตนได้อย่างกระจ่างแจ้ง

ใน ชีวิตจริงของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ก็ผ่านพ้นประวัติศาสตร์ทางจิตใจเช่นเดียวกับ ชอนแชอิม เหมือนกัน

ในวัยฉกรรจ์ เสกสรรค์ จึงทั้งคร่ำครวญ ครุ่นคิด แสวงหา ยามแหงนหน้ามองนภาดาว

“ลอยล่องคลอเมฆฟ่องคล้องฟ้า
จะออกค้นหาดวงดาว
แรมรอนอ้อนราตรี...ถึงเช้า
เหนื่อยหนาวโดยลำพังหวังได้พบ”

และ

“ยามเมื่อราตรีคลี่คลุม ยินน้ำค้างหยด
สยบสรรพสำเนียง ทุกชีวิตต่างแอบฟัง
เสียงร่ำไห้ของกาลเวลา...

“ในราตรีเงียบงัน คนหาปลาดับตะเกียงดูดาว
ทว่ากลางกระแสน้ำมืดดำ และสายลมเฉื่อยเหงา
เขากลับค้นพบเรื่องราวของตนเอง...สำหรับ
ผู้คนที่เร่ร่อนอยู่กลางทะเล หากปรารถนาจะเข้าถึงความลึก
ล้วนต้องเดินทางผ่านความเวิ้งว้าง...”

ตั้งแต่วัยหนุ่มแล้วที่ เสกสรรค์ เพียงเคี่ยวกรำตนเองอย่างเปลี่ยวเหงา และขมขื่นเพื่อต้านทาน และแยกใจออกจากกระแสหลักในสังคม แต่ผลที่ออกมาไม่เพียงไม่ช่วยให้โลกดีขึ้น หากความทุกข์ที่ทับทวียังครอบคลุมจิตใจของ เสกสรรค์ ทำให้ห่างไกลจากสันติสุข อย่างมากที่สุดในตอนนั้น เสกสรรค์ ก็ได้แค่สูดดมความรู้สึกที่ตัวเขาจินตนาการเอาเองว่า ตัวเองสูงส่งกว่าคนอื่น จากตัดขาดแยกจากกับผู้อื่น โดยยังมิได้ตระหนักว่า ความรู้สึกแบบนี้ก็เป็นโซ่ตรวนอีกแบบหนึ่งที่แม้จะห้อยแขวนสิ่งที่ดูสวยงามเอาไว้ แต่ก็นับเป็นโซ่ตรวนอันหนักอึ้งอยู่ดี เสกสรรค์ ใช้ประสาทสัมผัสที่เหนือคนของเขาทำความเข้าใจกับชีวิต โดยผ่านนภาดาว

“ดาวนับแสนล้านดวงกะพริบระยิบระยับเหมือนเกล็ดเพชรที่เกลื่อนโรยอยู่บนแผ่นผ้าสีดำ ทางช้างเผือกพาดโค้งฟ้าจากฝั่งหนึ่งสู่อีกฝั่งหนึ่งราวกับสะพานสวรรค์ที่เชื้อเชิญให้ข้ามพ้นไปสู่นิรันดร...ลี้ลับ บรรเจิดและหลอกหลอน เช่นเดียวกับการดำรงอยู่ของชีวิต” และ

“ศักดิ์ศรีเกียรติภูมิถึงที่สุดแล้วก็เป็นเรื่องไร้สาระ เบื้องหน้ามหานทีอายุกว่าพันล้านปี และภายใต้เวิ้งฟ้าป่าดาวที่ดำรงอยู่มานับกัปกัลป์ ชีวิตคงจะมีความหมายมากกว่านั้น”

“...ท่ามกลางความมืดมิด ภาพบางอย่างเริ่มปรากฏ ใช่หรือไม่ว่าชีวิตเป็นดั่งโน้ตดนตรีซึ่งลำพังตัวเองย่อมไม่อาจประกาศท่วงทำนองใดต่อเมื่อค้นพบที่อยู่ในบทเพลงแล้ว จึงได้รับมอบความหมายแห่งการดำรงอยู่และผ่านพ้น”

“...ในบทเพลงไม่รู้จบของเอกภพ ชีวิตอุบัติและลับสูญเช่นดนตรี เสียงหนึ่งในท่วงทำนองแห่งอนันตกาล ในเอกภพมีตัวเรา ในตัวเรามีเอกภพ คือความหลากหลายในหนึ่งเดียว และหนึ่งเดียวในความหลากหลาย เฉกเช่นตัวโน้ตและทำนองเพลงซึ่งมิอาจแยกจากกัน”

เสกสรรค์ ต้องใช้เวลาหลายสิบปีกว่าจะเข้าใจได้ว่า รูปภายนอกล้วนไม่เที่ยงเสียเวลาแสวงหาก็ไร้แก่นสาร ยึดติดต่อต้านก็เปลืองเปล่า เพราะโดยเนื้อในแล้วสรรพสิ่งล้วนเป็นหนึ่งเดียว กว่าที่ตัว เสกสรรค์ จะบรรลุถึง “ห้วงยามแห่งสัจจะ” ข้างต้นนี้ได้ ตัวเขาก็ต้องบอบช้ำกับบาดแผลแห่งตัวตนของเขาอยู่หลายสิบปีเช่นกัน

ครั้งหนึ่งเคยมีพวกซ้ายเก่าระดับปลายแถวบางคนพูดกับ เทิดภูมิ ใจดี ผู้เป็นทั้งสหายของ สนธิ ลิ้มทองกุล และ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

“เฮ้ย เทิดภูมิ ไปอยู่กับ พวกพันธมิตร (ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย) กับ สนธิ มีแต่กินแกลบกินรำนะ อยู่กับ ทักษิณ สิ มีเงินมีทองใช้ มีอำนาจ มีตำแหน่ง”

หากคนเหล่านี้ยังมองว่า คนระดับ สนธิ ลิ้มทองกุล เป็นคนไม่มีเงินแล้วพวกนั้นคงมองคนอย่าง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เป็นคนยากไร้อนาถาเป็นแน่!

ขอบอกให้รู้ไว้ ในบรรดาอดีตซ้ายเก่า อดีตนักปฏิวัติทั้งหลายนั้น จะหาคนที่ยิ่งใหญ่ กล้าหาญ จริงใจต่อประชาชน และมีจิตวิญญาณที่สูงส่งเทียบเท่า เสกสรรค์ ประเสริฐกุล “ผู้มีแต่ตัวและหัวใจ” ได้สักกี่คนกัน

ยิ่งคนเหล่านี้แสดงออกถึง ความต่ำต้อยทางจิตวิญญาณ ของตัวเองออกมามากเท่าใด มันก็ยิ่งกลับไปขับเน้น ความเป็นวีรบุรุษทางจิตวิญญาณ ของคนอย่าง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และ สนธิ ลิ้มทองกุล ให้เห็นเด่นชัดยิ่งขึ้นเพียงนั้น





 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้