18. โพธิสัตตบูรณาเทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 18) 29/7/2551

18. โพธิสัตตบูรณาเทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 18) 29/7/2551

โพธิสัตตบูรณา:เทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 18)

18. จอมคนของหวงอี้ (ต่อ)

ในความเข้าใจของผู้เขียน แก่นแท้ ของ วรรณกรรมหวงอี้ สามารถเข้าใจได้ ด้วยการจำแนกประเภทจอมคน ในวรรณกรรมกำลังภายในของเขาออกเป็น “จอมคนพิชิตแผ่นดิน” กับ “จอมคนเหนือโลก” โดยที่ จิตวิญญาณแห่งวรรณกรรมหวงอี้ นั้นอยู่ที่ “เต๋าเพื่อสังคม” กับ “พุทธเพื่อสังคม”

กล่าวคือจอมคนผู้ปฏิบัติธรรมไม่ว่าในแนวทางพรตหรือแนวทางพุทธ ในนิยายกำลังภายในของ หวงอี้ นั้น ล้วนใส่ใจต่อความเป็นไปของบ้านเมืองทั้งสิ้น และล้วนมีบทบาทสูงยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองในยุคสมัยของพวกเขา

หากจำแนกงานเขียนของ หวงอี้ ตามมุมมองข้างต้นนี้ เราจะพบว่า งานเขียนยุคต้นๆ อย่าง “เทพทลายนภา” “เทพมารสะท้านภพ” และ “เจาะเวลาหาจิ๋นซี” 3 เล่มนี้ เมื่อรวมกันแล้วจึงจะกลายเป็น วรรณกรรมหวงอี้โดยสมบูรณ์ ซึ่งปรากฏออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน และเยี่ยมยอดที่สุดใน “มังกรคู่สู้สิบทิศ” ของเขา ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงลงความเห็นว่า “มังกรคู่สู้สิบทิศ” เป็น มาสเตอรพีซ หรืองานเขียนชิ้นโบแดงที่ดีที่สุดของ หวงอี้ ส่วน “จอมคนแผ่นดินเดือด” ก็เป็นผลงานชั้นเลิศของหวงอี้ที่เขารังสรรค์ออกมา เพื่อให้ฉีกแนวออกไปจาก “มังกรคู่สู้สิบทิศ” ในแง่มุมต่างๆ เท่านั้น แต่มิได้เหนือกว่าแต่อย่างใด สำหรับงานเขียนล่าสุดอย่าง “ศึกรักแดนสนธยา” ของ หวงอี้ ก็เป็นงานสร้างสรรค์แนวใหม่ที่ หวงอี้ ทดลองทำออกมาแบบผ่อนคลายตัวเอง ก่อนจะเริ่มเขียนงานชิ้นใหญ่อีกครั้งเท่านั้น

งานเขียนเรื่อง “เทพทลายนภา” ซึ่งเป็นนิยายกำลังภายในเรื่องแรกของ หวงอี้ ซึ่งจบในเล่มเดียวนั้น ผู้เขียนถือว่า งานชิ้นนี้เป็น ปฐมบท หรือ บทคัดย่อของวรรณกรรมหวงอี้ในเวลาต่อมา เพราะนิยายเรื่องนี้ได้รวบรวมความใส่ใจหลักของ หวงอี้ โดยเฉพาะเรื่อง การหลุดพ้นจากวัฏสงสาร โดยการสำเร็จเป็นเซียน หรือ “การทลายนภา” เอาไว้อย่างชัดแจ้ง

งานเขียนชิ้นต่อมาของ หวงอี้ เรื่อง “เทพมารสะท้านภพ” ก็เป็นการขยายความเรื่อง “การทลายนภา” นี้ออกไปให้พิสดารยิ่งขึ้น โดยแทรก แนวทางจิตวิญญาณนอกรีต สายตันตระ เป็นตัวเดินเรื่องก่อนที่จะไปขมวดปมตอนจบที่ “การทลายนภา” ของตัวเอกฝ่ายธรรมะอย่าง ล่างฟานหวิน และตัวเอกฝ่ายอธรรมอย่าง ผังปาน

ขณะที่งานเขียนเรื่อง “เจาะเวลาหาจิ๋นซี” หวงอี้ได้ลดเรื่องทางจิตวิญญาณให้น้อยลง แต่หันไป “เล่น” กับประวัติศาสตร์มากขึ้น จากนั้นเมื่อ หวงอี้ เริ่มเขียน “มังกรคู่สู้สิบทิศ” เขาจึงบูรณาการเรื่องทางจิตวิญญาณแบบเต๋า กับแบบ พุทธมหายาน โดยเฉพาะแบบ เซน เข้ากับการ “เปลี่ยนแปลง” ประวัติศาสตร์ได้อย่างน่าทึ่งที่สุด แต่ยังเก็บประเด็นเรื่อง “ทลายนภา” เอาไว้ เพื่อที่จะนำประเด็นเรื่อง “ทลายนภา” นี้มาเขียนไว้อย่างละเอียดและสมบูรณ์ใน “จอมคนแผ่นดินเดือด” อันเป็นงานเขียนเชิง “แปลง” ประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกับ “มังกรคู่สู้สิบทิศ” แต่เขียนด้วยลีลาที่จริงจัง และสมจริงกว่าเดิม

ส่วน “ศึกรักแดนสนธยา” ของ หวงอี้ เป็น การนำเอาแนวคิดเรื่องจิตวิญญาณแบบพวก “นวยุค” (New Age) โดยเฉพาะเรื่องรักข้ามชาติภพเข้ามาอยู่ในนิยายกำลังภายในอย่างลงตัว แต่งานชิ้นนี้ของ หวงอี้ ถือว่าฉีกแนวออกไปจากวรรณกรรมกำลังภายในที่ผ่านมาของเขา

เมื่อผู้เขียนทำการสำรวจ ภาพรวมของวรรณกรรมหวงอี้ จากแง่มุมต่างๆ ดังข้างต้นแล้ว ผู้เขียนก็ยิ่งรู้สึกว่า ผู้อ่านควรจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับ พุทธมหายาน ให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม หากต้องการได้รับอรรถรสอย่างสมบูรณ์จากการอ่านวรรณกรรมของ หวงอี้

มหายานเป็นเรื่องของแนวคิดและหลักคิดมากกว่าเรื่องนิกาย ความเป็นมหายาน จึงเป็นความลึกซึ้งที่ปรากฏออกมาในประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนา เมื่อมีเหตุปัจจัยพร้อม โดยเฉพาะเมื่อผู้คนหันมาสนใจ ทางที่มุ่งไปสู่ความเป็นพุทธะ (พระพุทธเจ้า) โดยไม่จำกัดแนวคิดอยู่แค่การเป็นสาวกเท่านั้น

มรรคาแห่ง โพธิสัตว์ จึงบังเกิดขึ้น สำหรับบุคคลที่มีจริตเช่นนี้ และสนใจอุทิศตนตามทางที่มุ่งไปสู่ความเป็นพุทธะนี้ ทางแห่ง โพธิสัตว์ จึงเรียกว่า โพธิสัตวยาน หรือ พุทธยาน ที่จำแนกออกจากปัจเจกโพธิยานและสาวกยาน ที่มีมาอยู่ก่อน

ความต่างระหว่าง โพธิสัตวยาน กับ ปัจเจกโพธิยาน และ สาวกยาน นั้น อยู่ที่การตั้งจิตปณิธานว่าจะช่วยเหลือเวไนยสัตว์โดยไม่จำกัด หรือไม่เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่อง ความต่างของจริต มากกว่า ความต่างของแนวทางว่าทางใดประเสริฐเลิศกว่าทางอื่น สาวกยาน นั้น เหมาะกับจริตที่เบื่อหน่ายในสังสารวัฏ เห็นความเกิดแก่เจ็บตายเป็นทุกข์อย่างยิ่ง จึงตั้งจิตปรารถนาหลุดพ้นจากสภาพดังกล่าวโดยเร็วที่สุด จึงไม่สนใจสั่งสมปณิธานบารมี ไม่คิดจะทำบารมีให้เต็มเปี่ยม แต่สนใจปฏิบัติเพื่อให้ตนเองหลุดพ้นจากกองทุกข์โดยเร็วที่สุดเท่านั้น

ส่วน โพธิสัตวยาน นั้น ต่อมาได้กลายเป็นอุดมการณ์อย่างหนึ่งเรียกว่า อุดมการณ์แห่งโพธิสัตว์ ที่มุ่งไปสู่ ที่สุดแห่งความจริง ความดี ความงาม พร้อมๆ กัน ผู้อยู่บนเส้นทางสายนี้ จึงต้องเป็นผู้ที่ทำงานหนัก และมีปณิธานอันแรงกล้า อีกทั้งยังต้องมีจิตกรุณาอย่างไพศาลมาก จึงจะอยู่บนทางนี้ได้ตลอดรอดฝั่ง คนผู้นั้นจะต้องยินยอม ยินดี และเต็มใจแบกรับความยากลำบากทั้งปวงในชีวิต เพื่อให้ตนเองได้เป็นพุทธะ จะได้บรรลุปณิธานอันยิ่งใหญ่ของตนได้

หวงอี้ ได้บรรยายความเป็น มหายาน ไว้ตอนหนึ่งอย่างมีชีวิตชีวาใน “มังกรคู่สู้สิบทิศ” ของเขาว่า

...ฉับพลัน ฉีจื่อหลิง ก็ได้ยินเสียงเอื้อนเอ่ยเสียงหนึ่งดังกระทบโสตว่า

“หากคนเรียกร้องต่อพุทธะ คนจะสูญเสียพุทธะ แม้นคนเรียกร้องต่อวิถี คนจะสูญเสียวิถี คนที่แท้จะไม่หยิบฉวยความรู้ภูมิปัญญาใคร ไม่หยิบฉวยยศถาบรรดาศักดิ์ใครเพียงต้องการ ธรรมชาติดั้งเดิม ของท่านเท่านั้น คิดนอนก็นอน คิดนั่งก็นั่ง ยามร้อนหาลมเย็น เวลาหนาวเข้าผิงไฟ”

ห้วงสมองของ ฉีจื่อหลิง ปรากฏภาพหลวงจีนที่ไม่ถือพิธีรีตอง ไม่เน้นมารยาทธรรมเนียม ปล่อยตัวตามสบาย หากกอปรด้วยวิถีที่จริงแท้รูปหนึ่งขึ้น เขารู้สึกว่าสิ่งที่เอื้อนเอ่ยสะท้อนถึงภูมิปัญญาอันลึกซึ้งของผู้พูด ฉีจื่อหลิงรู้ได้ในทันทีเลยว่า พระรูปนั้นคือ มหาสมณะ เต้าซิ่น มหาสังฆปรินายกรุ่นที่สี่แห่งนิกายเซน ยามที่ท่านปรากฏตัวต่อหน้าเขา

มหาสมณะเต้าซิ่นหัวร่อฮาฮา กล่าวว่า

“เด็กน้อย ลองตอบคำถามอาตมาสักข้อหนึ่งดู เบื้องบนคือฟ้า เบื้องล่างคือดิน หน้าหลังเป็นวัง ซ้ายขวาก่อกำแพงล้อม ขุมทรัพย์อยู่ที่ใด?”

ฉีจื่อหลิง ตอบว่า

“เฉกเช่นกับที่ปรมาจารย์ที่สี่กล่าวไว้ ขุมทรัพย์ได้แต่ค้นหาจากธรรมชาติดั้งเดิม”

มหาสมณะเต้าซิ่น ยิ้มพลางกล่าวว่า

“ตอบได้ประเสริฐ เด็กเอ๋ย คนอายุแค่ร้อยปี ยึดติดถึงเมื่อใด ความสุขสันต์กระชั้นสั้น ทุกข์ตรมทับถมมากล้น มิสู้ดำรงชีวิตที่อิสรเสรี ปราศจากการควบคุมบังคับมิดีกว่าหรือ ผู้ใดที่จีรัง เพียงขุนเขาที่ยืนยง”

ความโดดเด่นของคำสอนแบบ พุทธมหายาน นั้นอยู่ที่ การให้ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันที่จะเป็นพุทธะหรือพระพุทธเจ้า ทุกคนมีศักยภาพนี้เหมือนกันทั้งนั้น แม้อาจจะไม่เท่ากันในชาติปัจจุบัน ในโลกของความเป็นจริง เนื่องจากแต่ละคนมีวิบากกรรมไม่เหมือนกัน แต่ปณิธานอันแน่วแน่ของมหายานที่จะทำให้ทุกคนไปถึงจุดเดียวกันในที่สุดได้ สะท้อนให้เห็นถึงความกรุณาที่คนจะช่วยเหลือกัน โดยไม่มีใครถูกปฏิเสธหรือถูกทอดทิ้ง โดยที่ การมุ่งช่วยเหลือผู้อื่นอย่างเต็มกำลังนี่แหละ ขณะเดียวกันก็เป็นการถอดถอนอัตตาแห่งตนของผู้ที่เดินบนทางมหายานด้วย

ด้วยเหตุนี้ ในสายตาของชาวมหายาน ภาวะของพระพุทธเจ้าจึงไม่ถูกจำกัดด้วยกาลเวลา เพราะเนื้อแท้ของพระพุทธเจ้า คือ พระปัญญาคุณ พระกรุณาคุณ และพระบริสุทธิคุณที่ดำรงอยู่เหนือกาลเวลา และเป็นที่มาของแนวคิดว่าด้วย ตรีกาย ของพระพุทธเจ้า หรือพระกายสามระดับของพระพุทธเจ้าซึ่งได้แก่ กายเนื้อ(นิรมาณกาย) กายทิพย์ (สัมโภคกาย) และ กายธรรม (ธรรมกาย) โดยที่กายเนื้อเกี่ยวข้องกับร่างกายของพระพุทธเจ้า กายทิพย์สัมพันธ์กับจิตวิญญาณของพระพุทธเจ้า ส่วนกายธรรมเป็นเรื่องของความจริงหรือธรรมชาติ

ธรรมกาย เป็นคำและแนวคิดที่สำคัญมากใน มหายาน เพราะเป็นคำที่เชื่อมพุทธะกับพระธรรมให้แนบแน่นเป็นหนึ่งเดียว ธรรมกาย จึงมิได้มีความหมายแค่แหล่งที่รวมและหลั่งไหลออกมาของพระธรรมคำสั่งสอนที่เป็นความจริงเท่านั้น แต่ยังกินความไปถึงพุทธคุณที่แผ่ซ่านแทรกซึมไปทั่วมหาจักรวาลทั้งในธรรมชาติและจิตของมนุษย์ โดย ธรรมกาย นี้คอยทำหน้าที่เหนี่ยวนำสรรพสัตว์ให้เข้าถึงพระธรรม โดยผ่านนิรมาณกาย (เหล่าคุรุครูบาอาจารย์ทางจิตวิญญาณทั้งหลาย) และ สัมโภคกาย (เหล่าจิตศักดิ์สิทธิ์) รูปแบบต่างๆ

ธรรมกาย แบบ มหายาน ทำให้ การแสวงธรรมกับการแสวงหาพุทธะในตนกลายเป็นเรื่องเดียวกัน การหยั่งสู่พุทธภาวะในตน จึงเป็นการแลเห็นธรรมไปด้วยในขณะเดียวกัน ธรรมกาย จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ตถตา หรือ ความเป็นเช่นนั้นเอง การมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ ธรรมกาย หรือ ตถตา จะกลายเป็น ปัญญาแห่งการปลดปล่อย ของคนผู้นั้น ทำให้คนผู้นั้นมีญาณหยั่งรู้ที่จะ “ผ่านพ้น” หรือ “ก้าวข้าม” ทุกกรอบความเชื่อและทุกอุปทานทุกทิฐิได้




 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้