20. โพธิสัตตบูรณาเทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 20) 12/8/2551

20. โพธิสัตตบูรณาเทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 20) 12/8/2551

โพธิสัตตบูรณา:เทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 20)


20. จอมคนของหวงอี้ (ต่อ)

ความเป็น อิตถีนิยมในวรรณกรรมหวงอี้ ปรากฏให้เห็นเมื่อ หวงอี้ ได้บรรยายถึง ยอดหญิงฉินเมิ่งเหยา ทายาทแห่งเรือนฌานเมตไตรย สถานศักดิ์สิทธิ์ของยุทธจักร ที่งามประดุจโพธิสัตว์กวนอิมจำแลงลงมา ในนิยายกำลังภายในเรื่อง “เทพมารสะท้านภพ” ของเขาไว้อย่างบรรเจิดเพริศแพร้วว่า

...ตาคู่งามของนางเป็นดวงตาที่ผู้ใดเห็นแล้วจะไม่มีวันลืมเลือนไปชั่วชีวิต เพราะนี่เป็นดวงเนตรที่มองเห็นซึ้งในทุกสิ่ง ทั้งกระจ่างใสและแฝงความสงบลึกล้ำที่ซุกซ่อนอยู่ภายใน

นางมีรูปร่างเรียวงาม ช่วงเอวตั้งตรง ฝีเท้าชดช้อย อิริยาบถงามสง่า แม้นางจะสวมใส่เสื้อผ้าธรรมดาสีขาว แต่กลับให้ความรู้สึกที่สะอาดหมดจดยิ่งกว่าอาภรณ์อันเลิศหรูเสียอีก ผมดำขลับเป็นประกายของนางรวบขึ้นอยู่บนศีรษะเพียงเสียบปิ่นไม้ธรรมดาอันหนึ่ง แต่กลับน่าดูยิ่งนัก

ยากจะเชื่อได้ว่าในโลกหล้ากลับมีหญิงงามถึงเพียงนี้ แต่ที่ดึงดูดใจที่สุดในตัวนาง กลับมิใช่เค้าใบหน้าอันงามงดดุจละอองฝนกลางขุนเขาของนาง หากแต่เป็นบุคลิกภาพอันสูงส่งของนางที่มีลักษณะสงบนิ่งราวกับหลุดพ้นจากห้วงโลกียวิสัย นั่นเป็นสิ่งที่เหล่าสาวงามทั้งหลายแห่งตระกูลชั้นสูงทั่วไปไม่อาจเปรียบเทียบได้เลย...

เป็นที่เห็นได้ชัดว่า ความงามของ ยอดหญิง ข้างต้นผู้นี้เป็นความงามที่เปล่งประกายออกมาจากข้างใน อย่างเบื้องลึกสุดของจิตวิญญาณของนาง ความงามชนิดนี้ย่อมเป็นผลมาจากการบำเพ็ญจิตเจริญภาวนาแนวโพธิสัตว์ของนางอย่างแน่วแน่ตั้งแต่ยังเล็ก โดยจดจ่อมุ่งแต่วิถีโพธิสัตว์นี้เท่านั้น อย่างไม่หวั่นไหวโยกคลอนด้วยสิ่งอื่นเลยแม้แต่น้อย

ภายใต้การบ่มเพาะของอาจารย์ที่ล้ำเลิศตั้งแต่เด็ก นางจึงได้รีบการหว่าน เมล็ดพันธุ์แห่งพุทธะ ในจิตของนางตั้งแต่เยาว์วัย เมื่อโพธิจิตบังเกิดและงอกงามนางก็เข้าสู่ภูมิธรรมต่างๆ ที่เผยความเป็นโพธิสัตว์ของนางออกมาตามลำดับ

ภูมิธรรมแรก คือ มุทิตา นางยินดีในความไม่มีทุกข์ของผู้อื่น เมื่อจิตของนางเข้าสู่ภูมิธรรมนี้ นางบังเกิดความยินดียิ่งในการที่ตัวนางจะตั้งปณิธานต่างๆ เพื่อบำเพ็ญเพียรทางจิตตามแนวโพธิสัตว์โดยไม่ย่อท้อ

ภูมิธรรมระดับที่สอง คือ วิมลา หมายถึง ความบริสุทธิ์ปราศจากราคี นางหยั่งสู่ระดับของความยินดีจากการรักษาศีลให้บริสุทธิ์ บำเพ็ญยิ่งในกุศลกรรม การรักษาศีลตลอดจนการบำเพ็ญกุศลกรรมของนาง ประกอบด้วยปัญญาที่หยั่งเห็นความว่างในสรรพสิ่ง เห็นว่าสิ่งทั้งหลายไร้แก่นสาร ปราศจากสาระอันแยกขาดจากสิ่งอื่นได้

ภูมิธรรมระดับที่สาม คือ ประภาการี หมายถึง ความสว่าง ภูมิธรรมระดับนี้เป็นระดับของความเปล่งปลั่งและมีสง่าราศีของโพธิสัตว์ที่เกิดจากปัญญาที่สว่างแจ้ง เป็นความโชติช่วงทางจิตวิญญาณของนางซึ่งได้ฌานสมาบัติจากการเจริญสมาธิภาวนาเข้าใจแจ่มแจ้งในความไม่เที่ยงของสรรพสิ่ง เห็นสรรพสิ่งแปรผันไม่มีอะไรให้ยึดเหนี่ยวได้เลย

ภูมิธรรมระดับที่สี่ คือ อรรถจีสมดี หมายถึง ความรุ่งเรือง เป็นระดับจิตที่มุ่งสู่ หลักโพธิปักขิยธรรม อันทำให้บรรลุพุทธภาวะอย่างเข้มแข็ง ซึ่งต้องใช้ความพากเพียรพยายามอย่างยิ่งยวด

ภูมิธรรมระดับที่ห้า คือ ทุรชยา หมายถึง ความไร้เทียมทานที่ผู้อื่นจะเอาชนะโพธิสัตว์ได้ยาก เพราะนางตั้งมั่นอยู่ด้วยจิตที่จะดำเนินรอยตามเส้นทางของพุทธะ จิตของนางจึงดิ่งอยู่ในอารมณ์เดียว แน่วแน่ สงบเยือกเย็น เป็นสมาธิ สภาวะจิตใจระดับนี้ของนางจึงหยั่งเห็นสุญญตาในสรรพสิ่งบังเกิดจิตกรุณาต่อสรรพชีวิตเริ่มมองเห็นโลกนี้เป็นส่วนหนึ่งของธรรมที่ไม่ควรถูกปฏิเสธ และ มุ่งเรียนรู้ศาสตร์ต่างๆ ทางโลกเพื่อใช้เป็นอุบายในการโปรดสัตว์โดยไม่มองว่า ศาสตร์เหล่านั้นกีดขวางทางหลุดพ้นอีกต่อไป

ภูมิธรรมระดับที่หก คือ อภิมุขี หมายถึง การผินหลังให้ทางนิพพาน เป็นระดับแห่งการรู้แจ้งแทงตลอดใน ปฏิจจสมุปบาท สามารถมองเห็นสิ่งทั้งหลายในเชิงสัมพัทธ์กัน อาศัยซึ่งกันและกันอย่างตระหนักรู้เท่าทัน ปัญญาของโพธิสัตว์ระดับนี้สามารถหลุดพ้นได้แล้ว แต่เนื่องจากไม่เปลี่ยนอุดมการณ์ และเป้าหมาย แม้จิตพร้อมจะนิพพานแล้ว แต่กลับหันหลังให้แก่นิพพานเลือกเดินหน้ากลับคืนสู่สังสารวัฏเพื่อปฏิบัติภารกิจศักดิ์สิทธิ์แทน จิตในระดับนี้เป็นต้นไป การหยั่งเห็นสุญญตาด้วยจิตกรุณาได้เข้ามาแทนที่ความสนใจที่จะหลุดพ้นอย่างสิ้นเชิง

ภูมิธรรมระดับที่เจ็ด คือ ทุรังคมา หมายถึง ไปไกลแล้ว แสดงถึงสภาพจิตของโพธิสัตว์ที่พร้อมทำหน้าที่โปรดสัตว์โดยพิจารณาตามจริตที่แตกต่างกัน และยังสามารถกำหนดเครื่องมือที่เหมาะสมในการโปรดสัตว์แต่ละกรณีได้ด้วย ความก้าวหน้าทางจิตของโพธิสัตว์ในระดับนี้ จะไม่แปรผันตามปัจจัยภายนอกอีกต่อไป

ภูมิธรรมระดับที่แปด คือ อจละ หมายถึง ความแน่วแน่ไม่หวั่นไหว เป็นระดับที่ตื่นจากภวังค์ และถอดถอนมิจฉาทิฐิทั้งหลายทั้งในขณะดำเนินชีวิต และขณะอยู่ในสภาวะอย่างมั่นใจในพุทธะภาวะแห่งตน ในระดับนี้โพธิสัตว์จะทำกิจต่างๆ อย่างเป็นธรรมชาติ และโดยอัตโนมัติ ภายใต้พลังจิตประกอบด้วยปัญญาและกรุณาอย่างแรงกล้า ปราศจากความอยาก แม้แต่จะหลุดพ้น เนื่องจากถึงอย่างไรก็ย่อมหลุดพ้นเพราะเหตุตั้งมั่นแล้ว ผลย่อมดำเนินไปตามเหตุนั้นโดยไม่ต้องกำหนดบังคับแต่อย่างใด

ภูมิธรรมระดับที่เก้า คือ สาธุมดี หมายถึง เปี่ยมไปด้วยพลัง บ่งถึงสภาพจิตของโพธิสัตว์ที่ประกอบด้วยทศพลญาณ แตกฉานในอภิญญา และมีความสามารถในทางธรรมเป็นอย่างยิ่ง

ภูมิธรรมระดับที่สิบ คือ ธรรมเมฆะ หมายถึง การเข้าถึงฝั่งอุดมคติ เป็นการบรรลุพุทธภาวะอย่างสมบูรณ์ หยั่งถึงธรรมกาย พ้นแล้วจากข้อจำกัดทางโลกทุกอย่าง

การเป็นโพธิสัตว์นั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่ใครๆ ก็ทำได้ แต่เป็นเรื่องของการทำหน้าที่ให้แก่ตนเองอย่างสมบูรณ์พร้อมตามเหตุปัจจัยควบคู่ไปกับการปลูกฝังจิตปณิธานชี้นำความเป็นโพธิสัตว์ให้แก่ตนเอง ด้วยมโนกรรมของตนเป็นสำคัญก่อนอื่น ผู้นั้นต้องมีกรุณาจิตอันมั่นคงเข้มแข็ง ยินยอมตรากตรำเหน็ดเหนื่อยในการฝึกฝนตนเอง และยินดีแบกรับอุปสรรค บททดสอบทั้งปวงจากฟ้าดินผู้นั้น ยังจะต้องพยายามยกจิตของตนให้อยู่เหนือพ้นจากการแบ่งแยกขั้วทางความคิดที่สุดโต่ง และไม่พยายามหล่อเลี้ยงความคิดแยกขั้วใดๆ

ผู้นั้นจะทำกุศลโดยไม่ยึดติดอยู่กับภาพลักษณ์ของความดีความชั่ว

ผู้นั้นจะฝึกฝนจิตโดยไม่มุ่งกำจัดกิเลส

ผู้นั้นจะรักษาความบริสุทธิ์โดยถือว่าชีวิตที่แปดเปื้อนเป็นเรื่องปกติ

ผู้นั้นจะไม่มองว่าปัญญาเป็นของสูง อวิชชาเป็นของต่ำ

ผู้นั้นจะเจริญปัญญาโดยไม่รังเกียจอวิชชา เพราะผู้นั้นมองทะลุว่าอวิชชาไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าสภาวะจิตที่แบ่งแยก และสร้างคุณค่าความคิดชุดต่างๆ ออกมาเท่านั้น หากยิ่งรังเกียจอวิชชา ปัญญาของผู้นั้นก็จะยิ่งถูกขวางกั้นจากสภาวะหลงผิดที่ผู้นั้นสร้างภาพขึ้นมาเอง และหลงยึดเอาไว้เอง

ผู้ใดก็ตามที่ในชีวิตนี้มีวาสนาได้พานพบกับ คุรุผู้เป็นโพธิสัตว์ บุคคลผู้นั้นจะรู้เองว่า การได้รับคำสอนจากคุรุผู้เป็นโพธิสัตว์โดยตรง เป็นประสบการณ์ทางวิญญาณที่ตราตรึงที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของคนผู้นั้น

* * *

บทสนทนาครั้งแรกของ “เขา” กับ คุรุผู้เป็นโพธิสัตว์เมื่อหลายปีก่อนเป็นดังนี้

...หลังจากที่เหลือบสายตามาดู “เขา” แวบหนึ่ง พร้อมกับอ่านวาระจิตของเขา คุรุ ก็หันมาพูดกับ “เขา” ด้วยบุคลิกที่น่าเกรงขามว่า

“เธอศึกษาศิลปะ...ศิลปะการต่อสู้...มวยไท้เก๊กใช่มั้ย?”

“ครับ” “เขา” รับคำด้วยความตกตะลึงที่ถูกท่านอ่านจิตออก

“เธอเป็นคนที่แสวงหา พลัง ของธรรมชาติและจักรวาล เธอฝึกฝนตัวเองมาตั้งนานแล้ว เธอได้พบหรือยังว่าอะไรเป็นที่พึ่งได้ในโลกนี้ที่หาสิ่งพึ่งพาได้ยากเหลือเกิน มันไม่ใช่ กาย นี้แน่ แล้วใช่ ใจ หรือเปล่า?”

“เขา” สั่นหน้าปฏิเสธ คุรุ จึงถามเขาอีกว่า

“อ้อ...ไม่ใช่ใจ แล้วเป็นอะไรล่ะที่เป็นที่พึ่งของตัวเธอ?”

“เขา” ใช้นิ้วชี้ขวา ชี้ไปที่ทรวงอกข้างซ้ายของเขาซึ่งเป็นที่ตั้งของจิตวิญญาณในคัมภีร์อุปนิษัท

“อ้อ...เธอหมายถึงพลังแห่งจิตวิญญาณ อย่างงั้นหรือ นี่เธอใช้เป็นที่พึ่ง...นี่เธอเพิ่งได้แค่ขั้นนี้เองเรอะ?”

“???”

“เขา”ตะลึงเป็นครั้งที่สองในคำบอกของท่าน นอกเหนือไปจากพลังแห่งจิตวิญญาณแล้วยังมีสิ่งใดอีกเล่าที่เขาควรพึ่งพิง?
คุรุกล่าวกับ “เขา” ต่อไปอีกด้วยน้ำเสียงที่ทุ้มนุ่มน่าฟังยิ่งว่า

“สิ่งที่ผู้คนเรียกว่าศาสนานั้น ยังไม่ใช่ศาสนาที่แท้จริงหรอก เพราะ ศาสนาคือการรู้จักตนเอง ...มนุษย์สมัยนี้มัวสนใจแต่ทฤษฎีอยากรู้ อยากเห็น แต่ไม่ยอมลงมือทำ ไม่เคยคิดทำ คิดฝึกกันจริงๆ เลย สิ่งแวดล้อมสมัยนี้ก็ดึงดูดจิตใจของผู้คนไปทางอื่นจนใจของพวกเขามืดมัวต่อเรื่อง และศาสตร์ทางจิตวิญญาณไปมากแล้ว”

“เขา” ผงกศีรษะเห็นด้วยกับคำพูดของท่าน คุรุ ยังกล่าวต่อไปอีกว่า

“ศิษย์คนไทยสมัยนี้สอนยาก ฉันได้เคยพยายามทำในสิ่งที่เธอกำลังทำอยู่มาแล้วนะ จนฉันเบื่อหน่ายในการฝึกฝนศิษย์ไปพักใหญ่เลยทีเดียวแหละ”

หลังจากนั้น “เขา” ก็มาหาท่านอีกเพื่อน้อมตัวเองขอเป็นศิษย์ของท่าน จากนั้นท่านก็เริ่มสอน “เขา” อย่างเข้มงวดโดยเริ่มจาก จิตวิญญาณของความเป็นครู

“จำไว้นะ ครูที่ดีไม่ต้องการศิษย์ มีแต่ศิษย์ที่ดีเท่านั้นที่ต้องการครู ศิษย์ที่ดีที่ต้องการครู เมื่อรู้จักเข้าใจความเป็นครู เห็นหน้าครู ก็ต้องทำความซึมซาบและซึมสิงเข้าไปในจิตวิญญาณของครู ต้องรู้จักครู และรู้ว่าครูของเรานั้นเป็นใคร”

“.....” “เขา” นั่งนิ่งตั้งใจฟังคำสอนของ คุรุ อย่างใจจดใจจ่อ เพราะเขารู้ว่าท่านกำลังถ่ายทอด วิถีแห่งความเป็นครู ให้แก่ตัวเขาอยู่ โดยเริ่มจาก วิถีแห่งการเป็นศิษย์ที่ดี ก่อน

“ฉันต้องการจะบอกเธอว่า เมื่อศิษย์ต้องการครูจริงๆ ก็ต้องแสดงวิถีทางของลูกศิษย์ให้ครูได้เห็นด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน ด้วยความจริงจัง ตั้งใจ มีสัจจะ และเต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้สึกเอื้ออาทร การุณย์ต่อผู้เป็นครู ครูผู้ยิ่งใหญ่เมื่อเห็นศิษย์ดีดังนั้น จึงจะสามารถถ่ายทอด จิตวิญญาณของครู ให้แก่ศิษย์ได้...”

การที่ “เขา” น้อมตัวเองเข้าไปเป็นศิษย์ของ คุรุ ท่านนี้เป็นการแสดงออกถึงเจตนารมณ์ของตัวเขาแล้วว่า ตัวเขาต้องการรับการถ่ายทอดจิตวิญญาณของ คุรุผู้เป็นโพธิสัตว์ ในยามนั้น “เขา” ยังไม่ตระหนักเลยว่า นั่นเป็นก้าวแรกบนเส้นทางที่ยาวไกล และต้องผ่านบททดสอบอีกมากมายจากฟ้าดินของ มรรคาแห่งโพธิสัตว์ ที่ตัวเขาคิดเจริญรอยตาม คุรุ ของเขา






 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้