21. โพธิสัตตบูรณาเทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 21) 19/8/2551

21. โพธิสัตตบูรณาเทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 21) 19/8/2551

โพธิสัตตบูรณา:เทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 21)

21. จอมคนเทียนแห่งธรรม

ตัวเอกส่วนใหญ่ในวรรณกรรมกำลังภายในของ หวงอี้ ที่ผู้เขียนยกมากล่าวถึงส่วนใหญ่นั้น ล้วนเป็น บุคคลเชิงอุดมคติแนวเต๋าและแนวเซน ในจินตนาการของ หวงอี้ ทั้งสิ้น แต่ที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นคำสอนของ จอมคนในแนวโพธิสัตว์ ที่มีตัวตนจริง และยังมีชีวิตอยู่ในสังคมนี้

“เขา” กลายเป็นศิษย์และมาปฏิบัติธรรมกับ คุรุ ผู้เป็นโพธิสัตว์ผู้นี้ในช่วงปลายปี 2540 ที่ ถ้ำไก่หล่น จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ลักษณะอันโดดเด่นของถ้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ซึ่งอยู่บนยอดภูเขา ที่ต้องเดินขึ้นไประยะทางราวๆ 300 เมตร คือ มีปล่องอากาศขนาดใหญ่ทางด้านบนสุดของถ้ำ ทำให้สามารถมองเห็นท้องฟ้าเบื้องบนจากในถ้ำได้ จากปากถ้ำเข้าไปมีหินงอกขนาดใหญ่ตั้งสูงตระหง่านจรดเพดาน รูปร่างคล้ายพระพุทธรูปปางสมาธิ ถัดไปเป็นที่ราบโล่งกว้างสามารถจุคนได้เกือบสองร้อยชีวิต มุมด้านในสุดของถ้ำจัดสร้างเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปอันเป็นองค์ประธาน ส่วนมุมทางด้านซ้ายขององค์ประธานยังมีทางเข้าสู่อีกพื้นที่หนึ่งซึ่งมีการสร้างพระมหาเจดีย์เอาไว้

เมื่อดูจากลักษณะของปล่องที่อยู่ด้านบนของถ้ำอันเป็นช่องทาง ส่งพลังงานสุริยันจันทราลงมาสู่ลานตรงพื้นถ้ำมาชั่วนับร้อยนับพันปี จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ภายในถ้ำแห่งนี้จะมีกลิ่นอายบรรยากาศแห่งความศักดิ์สิทธิ์ ความองอาจน่าเกรงขาม แต่ก็แฝงความสงบและความเรียบง่ายดำรงอยู่

คุรุ เคยบอกกับ “เขา” ว่า ถ้ำไก่หล่นนี้มีพลังของไอสุริยันจันทรา และเป็นที่รวมของพลังเร้นลับเหมาะสำหรับทำพิธีกรรม และการปฏิบัติธรรม นอกจากนี้ถ้ำแห่งนี้ในอดีตเคยมีพระโพธิสัตว์มาอยู่ 4 องค์แล้ว ส่วนตีนถ้ำด้านหลังในอดีตกาลอันไกลโพ้นก็เคยเป็นทะเลมาก่อน

คุรุ ก็เคยมาอยู่และปฏิบัติธรรมที่ถ้ำแห่งนี้เมื่อหลายปีก่อน ในตอนนั้น คุรุ เคยเขียนบทโศลกขึ้นมาบทหนึ่งเกี่ยวกับถ้ำแห่งนี้ว่า

“สรรพสิ่งเริ่มประปราย ดารารายเปลี่ยนวิถี
ทะเลลึกนานปี มาบัดนี้กลายเป็นสูง”

คุรุ เคยบอกกับพวกลูกศิษย์รุ่นก่อนๆ ของท่านว่า วิชาสุดยอดของท่านคือวิชาลม 7 ฐาน และเป็นสุดยอดวิชาของพระโพธิสัตว์ วิชานี้เป็นวิชาเก่าแก่ของคนยุคโบราณ เป็นวิชาว่าด้วยการหายใจ และการบังคับลมหายใจให้ลึก ยาว นานและช้าๆ ท่านยังบอกอีกว่า ผู้ที่สำเร็จ วิชาลม 7 ฐาน นี้แล้วจะมีคุณวิเศษมากมาย เช่น มีพลังในตัว ใช้พลังรักษาโรคได้ เวลาป่วยใช้วิธีซึมซับพลังจากธรรมชาติรอบตัวเข้าร่าง สามารถล่วงรู้วาระจิตของผู้อื่น และอายุยืนเหล่านี้ เป็นต้น

คุรุ เคยบอกกับพวกลูกศิษย์รุ่นก่อนๆ ว่า วิชาของท่านสืบทอดมาจาก พระครูเทพโลกอุดร ผู้ซึ่งเป็นภิกษุเร้นลับในตำนานที่มีอายุกว่า 800 ปี เรื่องราวของ พระครูเทพโลกอุดร ท่านบอกว่าเป็น ความลับของฟ้า ตราบใดที่ยังมีพระโพธิสัตว์อยู่ทุกที่แห่งนั้น ก็จะมี พระครูเทพโลกอุดร ปรากฏ โดยที่ พระครูเทพโลกอุดร เป็น ผู้ที่อยู่เหนือโลก

คุรุ ได้เมตตาถ่ายทอด เคล็ดวิชาลม 7 ฐาน ให้แก่พวกลูกศิษย์ที่ไปบวชชีพราหมณ์ปฏิบัติธรรมที่ถ้ำไก่หล่นกับท่านในช่วงต้นเดือนธันวาคมปี 2540 ดังนี้

...เดี๋ยวเรามาปลุกจิตวิญญาณให้ตื่นกันหย่อนดีมั้ย ทุกคนยืดอกขึ้น เรามาฝึก หายใจแบบพญามังกรนอนในถ้ำน้ำแข็ง หรือ การหายใจแบบโกลัมปะ กันดีกว่านะ โกลัมปะ เขาหายใจอย่างไร? เขาหายใจนาทีละ 5 ครั้ง ขณะที่คนธรรมดาจะหายใจนาทีละ 10 ถึง 25 ครั้ง เพราะฉะนั้นเราลองมาดูกันว่า เราจะหายใจได้เข้าไปลึกที่สุด จนถึงขุมขนของปอดหรือไม่ เรามาดูกันว่า เราจะหายใจได้ยาวที่สุดได้แค่ไหน? เรามาทำให้ลมหายใจเราค่อยๆ เคลื่อนออกมาจากจมูกเราอย่างอ่อนโยน และแผ่วเบาได้หรือไม่? และเราทำให้ตัวเองผ่อนคลายได้มั้ย?

...เคล็ดการหายใจแบบนี้ คือ การดื่มด่ำและดูดดื่มกับกลิ่นอายของธรรมชาติ แล้วปล่อยให้อณูของธรรมชาติมันซึมสิงเข้าไปทุกขุมขนของตัวเรา จนกระทั่งถึงไขกระดูก การจะหายใจแบบนี้ได้ ต้องใช้ทั้งผิวหนัง ช่องตา และช่องหูเป็นเครื่องหายใจด้วย ถึงจะเป็นการหายใจชนิดที่สามารถผ่อนคลาย ดื่มด่ำและดูดดื่มกับพลังธรรมชาติได้อย่างแท้จริง

...จำไว้นะ ร่างกายคนเราก็เหมือนกับฟองน้ำ มันสามารถซึมซับสรรพสิ่ง สรรพพลัง สรรพธรรมชาติที่แฝงสิงอยู่ในจักรวาฬและชีวิต วิญญาณได้สำคัญอยู่ที่ว่า เราจะสามารถควบคุมระบบตรงนั้น โดยผ่านการควบคุมการหายใจเพื่อจะซึมสิงได้หรือไม่เท่านั้น

...การฝึกนั่งสมาธิและฝึกหายใจแบบโกลัมปะ จึงเป็นวิชาซึมซับพลังธรรมชาติ เพื่อทำให้คนผู้นั้นมีจิตวิญญาณอันหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับกาย การฝึกหายใจแบบโกลัมปะนี้จะทำให้ผู้นั้นเกิด ปราณ (ชี่) ความหมายของคำว่า ปราณ ในที่นี้คือ สถานที่รวมแห่งพลังภายในกาย ปราณ เป็นกระบวนการที่เคลื่อนไหวได้ภายในกาย ไม่มีรูปร่าง ไม่มีที่ตั้ง แต่เป็นพลังงาน ปราณ ดำรงอยู่ทั้งภายนอกตัวเราและภายในตัวเรา ปราณ มีทั้ง ปราณขั้วบวก (หยางชี่) และ ปราณขั้วลบ (หยินชี่) ปราณ ที่อยู่ในตัวเราเป็น ปราณ ที่เกิดจากกระบวนการสะสมเรียกว่า ปราณขั้วบวก แต่ ปราณ ที่อยู่ข้างนอกเกิดจากขบวนการที่คงที่มีอยู่แล้วเป็น ปราณขั้วลบ

ปราณขั้วบวก เกิดขึ้นโดยการทำให้เกิดและสะสมภายในร่างกายได้ จะสะสมได้ยังไง ก็โดยการทำให้มีสติ ทำให้มีการระลึกรู้ ทำให้เกิดการสัมผัส สำเหนียก ซึมสิง ดูดดื่มในพลังที่อยู่ภายใน รู้จักโครงสร้างร่างกาย และส่งปราณไปตามกระบวนการโครงสร้างร่างกายนั้นๆ จนเรามีความรู้สึกที่เราคิดว่า เราสามารถควบคุมและรักษาดูแลมันได้

ปราณ เป็นกระบวนการแห่งพลังชีวิตชนิดหนึ่ง ปราณ กับ ลมหายใจ เกือบจะเหมือนกัน เกือบจะคล้ายกัน แต่ต่างกันมาก เพราะกระบวนการของ ปราณ นั้น มันเป็นขั้นตอนที่หล่อหลอมออกมาจากลมหายใจอีกทีหนึ่ง แต่ ปราณ ไม่ใช่ลมหายใจ การใช้ ปราณ รักษาผู้ป่วยนั้นทำได้โดยใช้ ปราณ เป็นการกระตุ้น นุ่มนวล ซึมซาบ ซาบซ่าน และดูดดื่ม มุ่งรักษาสมดุลของตัวมันเอง

โดยสภาวะความเป็นจริงของ ปราณ นั้น มันจะโลดแล่นไปทั่วทุกอณูของร่างกาย โดยรู้สึกสัมผัสมันได้ว่า มันอยู่ในกึ่งกลางของโครงสร้างในร่างกายของคนเรา โดยเฉพาะ ในโพรงกระดูกร่างกายของคนเราเป็นจุดกำเนิดของปราณทั้งปวง กระบวนการเกิดของ ปราณ ที่อยู่ในโพรงกระดูกนั้น ที่สำคัญก็คือ การจัดโครงสร้างร่างกาย และการรู้วิธีที่จะนำมันมาใช้และแปรเปลี่ยน ปราณ (ชี่) ให้เป็น พลังจิตวิญญาณ (เสิน) แล้วก็ควบคุมมันได้ ส่วนการจะทำให้ ปราณ กลายเป็น พลังจิตวิญญาณ ได้นั้น ผู้นั้นก็ต้องพัฒนา สติ อีกขั้นหนึ่ง แล้วใช้ สตินี้ประสานปราณกับวิญญาณเข้าด้วยกันจึงจะก่อเกิดเป็น พลังจิตวิญญาณ ของผู้นั้นได้ โดยที่ จิตวิญญาณ คืออำนาจของพลัง และเป็นตัวที่แสดงออกถึงพลังอำนาจของจักรวาฬ จิตวิญญาณจึงเป็นตัวการใหญ่ที่ทำให้ผู้นั้นเข้าถึง และเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาฬได้

ทำไมถึงต้องฝึก วิชาลม 7 ฐาน หากคิดจะเดินบนเส้นทางของโพธิสัตว์? คุรุ เคยตอบคำถามข้อนี้ว่า เพราะ การฝึกวิชาลม 7 ฐานจะทำให้ผู้นั้นฝึกสติให้มีเต็มตัวทั่วพร้อมได้ คุรุ ยังบอกอีกว่า ผู้ใดก็ตามที่อยากจะถึงนิพพาน ผู้นั้นจะต้องมี สติเต็มตัวทั่วพร้อม เสียก่อน การมีสติเต็มตัวทั่วพร้อม จะทำให้ผู้นั้น บูรณา พลังภายในตัวเองได้ ผู้นั้นจะเกิดความชัดเจนใสสะอาดในสำนึกของตน แล้วสามารถเอาความชัดเจนใสสะอาดนี้ไปรับรู้ เรียนรู้ พิจารณากิจการงานที่กำลังจะทำด้วยความโปร่งใจ แจ่มใส และสงบเยือกเย็นได้

เพราะทำได้เช่นนี้ คนผู้นั้นถึงสามารถสร้างสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับสรรพสิ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายกับจิตใจ ความสัมพันธ์ต่างๆ ในชีวิตการงาน และเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งยังจะเกิดความรู้สึกอิสรเสรีในการมีชีวิต และเกิดความปีติอย่างล้ำลึกในการมีชีวิต จนชีวิตของผู้นั้นกลับกลายเป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่งเลยทีเดียว

คุรุ ยังบอกอีกว่า สมาธิ ที่ได้จากการฝึก วิชาลม 7 ฐาน นี้เป็นสมาธิที่จิตรวมเป็นหนึ่งกับกาย ขณะที่จิตรวมกับกายแล้ว มันจะบังเกิดสภาวะจิตที่ไม่แตกแยก เป็นสมาธิที่แท้จริง มีพลังอำนาจอยู่ในตัวเอง สมาธิแบบจิตรวมกับกายนี้ มันจะต้องไม่ปรากฏสิ่งใดๆ เลย ในขณะทำสมาธิ คุรุ จึงสอนพวกลูกศิษย์ของท่านว่า

“ลูกรัก เมื่อใดก็ตามที่เจ้าต้องการสมาธิ และถ้าเผอิญเจ้าไปเจอพระพุทธเจ้า ต้องฆ่าพระพุทธเจ้า ถ้าเจอพระธรรมต้องเผาพระธรรมทิ้ง และถ้าเจอพระสงฆ์ต้องหนีให้ไกลจากพระสงฆ์”

ทั้งนี้ก็เพราะว่า ถ้าขณะที่เรากำลังรวมจิตกับกายแล้ว เผอิญไปเจอพระพุทธเจ้าในสมาธิ เดี๋ยวจิตเราก็จะวิ่งตามพระพุทธเจ้าไปแล้ว หากเจอพระธรรมก็ต้องไปใส่ใจพระธรรมไม่ใส่ใจต่อตัวเอง สมาธิแบบนี้จึงไม่ใช่สมาธิที่แท้จริง อีกประการหนึ่ง ความรู้ที่เกิดจากกายรวมใจนี้ เป็นความรู้ที่จบสิ้นหาข้อยุติได้ แต่ความรู้ที่ใจเลื่อนลอยออกไปนอกกายไม่มียุติ ที่ไม่มียุติก็เพราะมันเลื่อนลอยไปตามอารมณ์ที่จะชักพาฉุดกระชากลากถูผู้นั้นไปนั่นเอง

คุรุ สอนวิธีหายใจแบบ วิชาลม 7 ฐาน แก่พวกลูกศิษย์ของท่านต่อไปอีกว่า

“เมื่อพร้อมแล้ว เตรียมตัวนั่งขัดสมาธิ ยืดอกขึ้น จัดโครงสร้างของกายให้ตรงด้วยความรู้สึกเพ่งเข้าไปในกาย สำรวจโครงสร้างภายในกายตั้งแต่กระดูกข้อต่อของลำคอ หัวไหล่ ไขสันหลัง และกระดูกสันหลังทุกข้อต้องตั้งตรงและอย่าขบกัน ก่อนฝึกหายใจลึกๆ จะต้องสำรวจโครงสร้างภายในก่อน”

“เมื่อเราคิดว่า โครงสร้างข้างในของเราตั้งตรงแล้ว ก็ค่อยๆ หลับตาลงด้วยความรู้สึกนิ่มนวลและแผ่วเบา อย่ากดทับหนังตาด้วยความรู้สึกว่าต้องหลับตาให้สนิท แต่จงหลับตาด้วยความรู้สึกนุ่มนวล และแผ่วเบาจนไม่มีน้ำหนักบนใบหน้าและหน้าตา”

“เมื่อจัดโครงสร้างของกาย ใบหน้า และลูกตาให้เป็นปกติแล้ว จงเริ่มสูดลมหายใจเข้าไปอย่างแผ่วเบา ยาว และลึกที่สุดเท่าที่จะลึกได้...เริ่มได้”

“ถ้ารู้สึกอึดอัด หมายถึงว่า เรายังไม่พร้อมที่จะหายใจยาวก็ผ่อนลมหายใจออกมาก่อน แล้วเริ่มตั้งลมหายใจใหม่ สูดเข้าไปใหม่ให้เต็มจนมีความรู้สึกว่า มันเต็มเข้าไปในปอด ถุงลม ช่องท้อง และลำคอ ทำให้ลมมันซ่านเข้าไปทั่วอวัยวะภายในกาย อย่าให้ลมออกในที่ใด แล้วก็ค่อยๆ ผ่อนลมออกด้วย ความรู้สึกแผ่วเบา นุ่มนวลและสุภาพ...”






 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้