35. โพธิสัตตบูรณาเทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 35) 25/11/2551

35. โพธิสัตตบูรณาเทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 35) 25/11/2551

โพธิสัตตบูรณา:เทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 35)

35. จอมคนเทียนแห่งธรรม (ต่อ)

หนทางนั้นมีอยู่ ผู้ที่เดินอยู่บนหนทางนั้นก็ยังไม่ขาดสาย ผู้มีปัญญาพึงรีบเดินบนหนทางเสียแต่บัดนี้เถิด ก่อนที่รอยเท้าของผู้ที่ได้เดินทางไปก่อนแล้ว และร่องรอยของเส้นทางนี้จะเลือนหายไปจากดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ เพราะเมื่อถึงวันนั้น ผู้คนทั้งหลายก็จะกลายเป็นจิตวิญญาณที่หลงทางไปอีกนานแสนนาน

ผู้ที่ได้เดินทางบนหนทางนี้ล่วงหน้าไปก่อนแล้ว ล้วนกล่าวเหมือนๆ กันว่า หัวใจของการเดินบนหนทางสายเอกสายนี้คือจงหมั่นทำความรู้สึกตัวเฉยๆ ล้วนๆ จงหมั่นดูจิต ดูความคิด จงอย่าเข้าไปในความคิด แต่ก็อย่าหยุดความคิด จงรู้โดยไม่ต้องรู้อะไรโดยจำเพาะ จงรู้โดยไม่ต้องถาม แต่ก็ไม่ปล่อยให้ความคิดหรือคำถามเกิดขึ้นในใจโดยไม่รู้ทัน โดยไม่รู้ไม่เห็น จงแค่รู้ รู้เฉยๆ รู้ล้วนๆ รู้ถ้วนๆ เพราะความรู้ตัวสดๆ นี้คือชีวิตที่แท้จริง

สิ่งที่ผู้อยู่บนทางควรใส่ใจให้มากที่สุด ในชีวิตประจำวันคือความรู้ตัวที่บริสุทธิ์ล้วนๆ เพราะในความรู้สึกตัวล้วนๆ เช่นนี้ ไม่มีราคะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ เมื่อคนเรารู้สึกต่อสภาพไร้ราคะ ไร้โทสะ ไร้โมหะในขณะที่กำลังรู้สึกตัวล้วนๆ โดยการทำให้จิตรวมกับกายอย่างผนึกแนบแน่นได้ ครั้นพอกระทบกับอารมณ์ที่เป็นราคะ โทสะ โมหะก็จะไม่เอาเองอย่างเป็นธรรมชาติ

พระอริยเจ้าทั้งหลาย ล้วนสอนอริยสัจเหมือนกันดังนี้ว่า ทุกข์นั้นให้รู้ ส่วนสมุทัยนั้นให้ละ ไม่มีใครละ ราคะ โทสะ โมหะได้ตัวละ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ใคร แต่ตัวละ คือความรู้สึกตัวที่บริสุทธิ์ล้วนๆ นี่เอง เพราะโดยการที่มีความรู้สึกตัวล้วนๆ จึงรู้ทุกข์ได้ เมื่อรู้ทุกข์แล้ว จึงละสมุทัยได้ และเมื่อละสมุทัยแล้ว จึงแจ่มแจ้งในนิโรธได้ อริยมรรคจะเกิดเมื่อรู้ทุกข์ ละสมุทัย และแจ้งนิโรธแล้ว หลังจากที่อริยมรรคเกิดขึ้นในขณะจิตเดียวแล้ว ก็จงหมั่นเจริญอริยมรรคให้มากๆ

ศีล สมาธิ และปัญญานั้น ล้วนมีอยู่แล้วในตัวเรา ขอเพียงแต่ผู้นั้นทำการปลุกเร้าให้กายให้จิตของตนตื่นตัวขึ้น จนเกิดเป็นความรู้สึกตัว อยู่บ่อยๆ ยิ่งผู้นั้นสามารถมีสติ รู้สึกตัวได้บ่อยๆ ครั้งมากเท่าใด ผู้นั้นก็จะยิ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเอาชนะ ความคิดต่างๆ ที่ผุดขึ้นในทุกครั้งที่ความคิดบังเกิด จนกระทั่งสามารถอยู่เหนือความคิดได้ในที่สุด

เมื่อใดก็ตามที่ผู้นั้นหมั่นฝึกความรู้สึกตัวสดๆ ล้วนๆ ได้เป็นประจำแล้ว เมื่อนั้น คัมภีร์ที่แห้งแล้งทั้งหลาย จะกลับกลายเป็นคัมภีร์ที่มีชีวิต สัจธรรมที่เคยรางเลือนไปในหน้าของประวัติศาสตร์พุทธศาสนาพลันกลับมาปรากฏให้เห็น ในความรู้สึกตัวล้วนๆในความรู้ตัวที่บริสุทธิ์ของผู้นั้น

เพราะธรรมที่แท้จริงนั้น เข้าถึงด้วยความคิดไม่ได้ จะเข้าถึงได้ก็ด้วยการทำให้ความรู้สึกตัวล้วนๆ ตื่นขึ้นเสียก่อน แล้วก็มุ่งตรงไปสู่ชีวิตจิตใจเดี๋ยวนั้นเลยในทันทีความรู้สึกตัวล้วนๆเช่นนี้แหละที่จะนำความชุ่มชื่นมาสู่เมล็ดพืชแห่งพุทธะ ทำให้ความเป็นพุทธะอันเป็นศักยภาพที่ดำรงอยู่ภายในตัวเราทุกคนงอกงาม และเผยตัวออกมาได้อย่างน่าอัศจรรย์

แกนกลางของการแสดงธรรมและกรรมวิธีปฏิบัติของคุรุ ของ “เขา” คือการหมั่นทำความรู้สึกตัวลึกๆ อยู่เสมอ และพยายามสัมผัสกับความรู้สึกของตัวเองอยู่ตลอดเวลาเท่าที่จะทำได้ โดยการส่งความรู้สึกไปจับที่โครงกระดูกภายในกายของตนอยู่เสมอเพราะความรู้เนื้อรู้ตัวเป็นจุดเริ่มต้นของพลังแห่งความยิ่งใหญ่ที่สามารถทำให้ผู้นั้นเข้าถึงจิตวิญญาณของตัวเองได้วิถีแห่งความรู้สึกตัวล้วนๆนี้คุรุบอกว่า เป็นวิถีแห่งโพธิจิตอันประเสริฐยิ่งใหญ่แผ่ไพศาล ประดุจห้วงน้ำในมหาสมุทร ส่วนวิถีอื่นๆ นั้นเปรียบได้ดั่งพันธุ์พฤกษาที่ยังต้องอาศัยน้ำเป็นอยู่

การรู้เนื้อรู้ตัวรู้สึกตัวล้วนๆ นี้เป็นอาการของการตื่นโพลง ซึ่งคุรุ ของเขาบอกว่า เป็นรากฐานทั้งหมดของศิลปวิทยาการทั้งปวงทั้งนี้ก็เพราะว่า หากคนเราไม่ตื่นตัวแล้ว คนเราย่อมไม่สามารถเรียนรู้อะไรอย่างบริสุทธิ์แจ่มแจ้งได้

ความรู้สึกตัวล้วนๆ ควรหมั่นทำให้เกิดขึ้น ขณะที่เคลื่อนไหวในทุกๆ อิริยาบถ โดยผู้นั้นควรเคลื่อนไหวอย่างไม่มีความอยาก ไม่เกิดความกลัว ไม่มีความมุ่งหวัง ไม่มีความเครียด ไม่ถูกบีบคั้นจากห้วงเวลา มีแต่ความรู้สึกตัวล้วนๆ จึงจะเป็นการเคลื่อนไหวอย่างพุทธะที่เป็นอิสระจากอำนาจร้อยรัด อำนาจปรารถนา และอำนาจความกลัวทั้งปวง ลุถึงอิสรภาพอันบริบูรณ์

วิถีแห่งความรู้สึกตัวล้วนๆนี้ เป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของวิถีพุทธและเป็นวิถีแห่งการเจริญวิปัสสนากรรมฐานซึ่งเป็นการหันมาเผชิญหน้า และเรียนรู้ความจริงของทุกข์อย่างมีสติรู้ตัวอยู่เสมอ กล่าวคือ เมื่อทุกข์อยู่ที่กาย ก็มีสติระลึกรู้กายตามความเป็นจริง และเมื่อทุกข์อยู่ที่จิต หรืออยู่ที่ความคิดก็มีสติรู้ทัน ตามรู้จิต ตามรู้ความคิดของตัวเองตามความเป็นจริง

การดูจิต หรือการดูความคิดตนเอง เป็นหนทางเดียวในการที่จะทำให้คนเราสามารถข้ามพ้นใจ หรือข้ามพ้นความคิดได้ การจะข้ามพ้นความคิด อันเป็นเหตุแห่งทุกข์ส่วนใหญ่ไปได้นั้น ควรเริ่มต้นจาก การมีความนึกคิดที่ไม่ฟุ้งซ่าน หรือมีความนึกคิดที่มีระเบียบ และมีสติกำกับอยู่ เสียก่อน และความนึกคิดนั้นควรจะเป็นความนึกคิดที่สูงส่ง เพื่อทำให้ผู้นั้นรู้สึกดีกับตนเอง รู้สึกถึงปีติและสุขที่เกิดขึ้น อันเนื่องมาจากความนึกคิดอันสูงส่ง เช่นนั้น

ยกตัวอย่างเช่น ขอให้ลองนึกจินตนาการดูว่า อากาศและปราณจากท้องฟ้ากว้าง ที่ตัวเรากำลังหายใจอยู่นี้ มันเป็นอากาศและปราณจากท้องฟ้ากว้างเดียวกันกับที่พระพุทธองค์ได้ เคยสูดหายใจเข้าไปเมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีก่อนโน้น และบัดนี้ ตัวเรากำลังหายใจสูดความรู้สึกนึกคิดของพระพุทธองค์ ให้ซึมสิงเข้ามาสู่ตัวเรา ขณะนี้ตัวเรากำลังดื่มด่ำอยู่กับความรู้สึกนึกคิดของพระพุทธองค์ อย่างลึกซึ้ง ตัวเรากำลังใช้ชีวิตเจริญรอยตามความรู้สึกนึกคิดของพระพุทธองค์ และตัวเรากำลังกลายเป็นความรู้สึกนึกคิดของพระพุทธองค์ อย่างกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน ขอให้ตัวเราจงน้อมนำความรู้สึกนึกคิดอันศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธองค์ นี้ เข้ามาสู่จิตใจของตัวเราโดยผ่านการชักนำพลังงานอันศักดิ์สิทธิ์ ที่เข้ามาสู่ตัวเรา ด้วยการเจริญสมาธิภาวนาในแนวพระโพธิสัตว์อย่างสม่ำเสมอ

โดยการหมั่นนึกถึงความรู้สึกนึกคิดอันสูงส่งและศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธองค์ เช่นนี้อยู่เสมอ ในขณะที่นึกอยู่เช่นนั้นและ รู้สึกตัวล้วนๆ ว่ากำลังนึกถึงความรู้สึกนึกคิดอันสูงส่ง และศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธองค์อยู่ เมื่อนั้นก็จะเป็นการเจริญสติสัมโพชฌงค์ ยามใดที่กำลังพิจารณา ความรู้สึกนึกคิดอันสูงส่งและศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธองค์ ด้วยความรู้สึกตัวล้วนๆ ว่า กำลังพิจารณาอยู่ เมื่อนั้นก็จะเป็นการเจริญธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์

ยามใดที่ใช้ความเพียรนึกถึงและพิจารณาความรู้สึกนึกคิดอันสูงส่งและศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธองค์ ด้วยความรู้สึกตัวล้วนๆ ว่ากำลังใช้ความเพียรอยู่ เมื่อนั้นก็จะเป็นการเจริญวิริยสัมโพชฌงค์จนกระทั่งตัวเราเกิดความแจ่มแจ้งในความรู้สึกนึกคิดอันสูงส่งและศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธองค์ มีปีติเกิดขึ้นด้วยความรู้สึกตัวล้วนๆ ว่ากำลังมีปีติ เมื่อนั้นก็จะเป็นการเจริญปีติสัมโพชฌงค์ ซึ่งจะนำไปสู่การสงบรำงับของกายและใจหรือปัสสัทธิ ด้วยความรู้สึกตัวล้วนๆ ว่ากำลังสงบรำงับทั้งกายและใจ เมื่อนั้นก็จะเป็นการเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ เมื่อเกิดปัสสัทธิขึ้นมาแล้ว ก็ย่อมนำไปสู่สมาธิ ด้วยความรู้สึกตัวล้วนๆ ว่ากำลังมีสมาธิ เมื่อนั้นก็จะเป็นการเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ อย่างเป็นไปเอง และกลายเป็นอุเบกขาคือ ไม่เกิดความรู้สึกทะยานอยาก ไม่ดิ้นรนแสวงหาอะไรอีก ด้วยความรู้สึกตัวล้วนๆ ว่าตัวเองไม่มีความอยากอะไรอีก เมื่อนั้นก็จะเป็นการเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ โดยธรรมชาติ

จะเห็นได้ว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเริ่มต้นเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อการข้ามพ้นใจหรือข้ามพ้นความคิดของตัวเองก็คือ ผู้นั้นพึงรู้สึกตัวอยู่เสมอว่า ขณะนี้ตนเองกำลังนึกถึงความคิดที่สูงส่ง อยู่ และจงเฝ้าดูความคิดที่สูงส่งนี้อย่างให้สัมพันธ์กับจิตใจของตนเอง และอย่างให้เชื่อมต่อกับความรู้สึกของตนเอง

เพราะมีแต่ความคิดที่สูงส่ง ที่ผูกพันอยู่กับความรู้สึกของตนเองอย่างแน่นแฟ้นด้วยแล้วเท่านั้นความคิดที่สูงส่ง นั้น ถึงจะสามารถดึงจิตของผู้นั้นให้อยู่ด้วยบ่อยๆ และนานๆ ได้ และถึงจะสามารถดึงดูดพลังงานอันศักดิ์สิทธิ์ ให้ไหลเข้ามาสู่ตัวผู้นั้นได้ เพราะนี่คือเคล็ดลับหรือ “เดอะ ซีเคร็ต” (The Secret) ของเบื้องบนที่เป็นกฎแห่งกรรม!

ผู้นั้นพึงระลึกไว้เสมอว่าความคิดแทบทุกอย่างเป็นกรรม หรือ กรรมก็คือความคิดนั่นเอง ความคิดที่จะเป็นกรรมได้ จะต้องมี วิบากหรือผลทางนามธรรมที่เกิดจากความคิดนั้นตามมาด้วยเสมอ ส่วนความคิดที่ไม่ก่อให้เกิด วิบาก จะไม่เป็นกรรม แต่จะเป็นแค่ กิริยา เท่านั้น

กิริยา คือการกระทำที่บริสุทธิ์ ไม่เกิดจากกิเลส ไม่มีผลสืบเนื่อง และไม่มีผลบังคับให้ต้องคิดเช่นนั้นบ่อยๆ จนเป็นความเคยชิน ส่วนกรรม เป็นการกระทำที่สืบเนื่องมาจากความคิดที่มีต้นตอมาจากกิเลสหรือความอยาก และมีผลสืบเนื่องต่อๆ ไปเป็นวิบาก กลายเป็นนิสัยสันดาน คือมีผลบังคับให้ต้องคิดเช่นนั้นบ่อยๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่เลิกรา

การฝึกดูจิตหรือดูความคิดตามแบบวิปัสสนากรรมฐานในขั้นเบื้องต้นนั้น คือ การหมั่นรู้สึกตัวอยู่เสมอ เมื่อมีความคิดอย่างใดอย่างหนึ่งผุดโผล่ขึ้นมาในใจ โดยผู้นั้นต้องตระหนักให้ได้ว่า ความคิดที่กำลังเกิดขึ้นนี้เป็นกรรม และต้องมองให้เห็นถึงวิบาก และผลของวิบาก ที่จะปรากฏออกมาภายนอกในอนาคตจาก กรรม ที่เป็นความคิดอันนี้ โดยผู้นั้นต้องมองเห็นที่ในใจตน เดี๋ยวนั้นเลย ด้วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้งและว่องไว ถ้ารู้ทัน ความคิดได้เช่นนี้ ก็จะสามารถระงับความคิดที่เป็นอกุศลกรรม และน้อมรำลึกถึงความคิดที่สูงส่ง ที่เป็นกุศลกรรม เข้ามาแทนได้

จิตโดยธรรมชาตินั้น เป็นสิ่งที่ดิ้นรนกวัดแกว่งรักษาไว้ได้ยาก ห้ามไว้ได้ยากก็จริง แต่ผู้ที่มีปัญญา ซาบซึ้งในธรรม ดื่มด่ำในความรู้สึกนึกคิดที่สูงส่งและศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธองค์ ผู้นั้นย่อมสามารถทำจิตให้สงบให้ตรงให้แน่วแน่ได้

ผู้ที่จะเจริญวิปัสสนากรรมฐานได้ผล จึงควรจะต้องเป็นผู้ที่มีพื้นฐานทางสมาธิดีพอในระดับที่สามารถสำรวมจิตให้สงบและแน่วแน่ถึงขั้นที่มีสติกำกับจิตอยู่เสมอ ได้สั่งสม วิบากของสมาธิ ไว้ในตัวมากพอด้วยการหมั่นเจริญสมาธิภาวนามิได้ขาด เมื่อเริ่มเจริญสมาธิได้แล้วก็หันมาดูจิต ดูความนึกคิดที่กำลังเกิดขึ้นทุกขณะ พร้อมทั้งมองเห็นด้วยว่า ความคิดเหล่านี้เป็น กรรมรวมทั้งมองเห็นถึง วิบาก และ ผลของวิบาก จากความคิดเหล่านี้ด้วย ผู้ที่สามารถทำได้เช่นนี้ คือผู้ที่กำลังเจริญวิปัสสนาในขั้นต้นอยู่ เพียงแต่วิปัสสนาในขั้นนี้ ยังไม่นับว่าอยู่ในภูมิของวิปัสสนา จริงๆ แค่เป็นขั้นเตรียมพร้อมก่อนที่ผู้นั้นจะเข้าไปเจริญภูมิของวิปัสสนาจริงๆ เท่านั้น







 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้