37. โพธิสัตตบูรณาเทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 37) 9/12/2551

37. โพธิสัตตบูรณาเทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 37) 9/12/2551

โพธิสัตตบูรณา:เทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 37)


37. จอมคนเทียนแห่งธรรม (ต่อ)

เมื่อใดที่หัวใจเปิดกว้าง สรรพสิ่งและสรรพวิชาย่อมปรากฏขึ้นอย่างงดงาม และสอดประสานเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างเป็นธรรมชาติ จงเรียนรู้ที่จะเฝ้ามองกาย ดูใจและความรู้สึกของตนอย่างถี่ถ้วนทุกแง่มุม ตลอดจนเฝ้าดูทุกสิ่งทุกอย่างที่เข้ามากระทบจิตของตนในแต่ละขณะจิตอย่างเป็นปัจจุบันอารมณ์ ด้วยความรู้สึกตัว อยู่เสมอ เมื่อนั้นแหละการเติบโตทางจิตวิญญาณ ถึงจะเป็นไปได้

ความรู้สึกตัวล้วนๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากที่กาย ใจ และปราณของผู้นั้นได้รวมกันเป็นหนึ่งเดียวนี้ เป็นสภาวะแห่งความสมดุล และสมบูรณ์พร้อม อันเป็นหนึ่งในประสบการณ์สุดยอดของการเป็นมนุษย์ โดยที่ความรู้สึกตัวล้วนๆ นี้รู้สึกได้ด้วยหัวใจ และตระหนักรู้ได้ด้วยจิต

ความรู้สึกตัวล้วนๆ เป็นสภาวะแห่งความเปิดกว้างตามธรรมชาติ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อจิตของผู้นั้นได้ทำงานอย่างเป็นอิสระ โดยตัวของมันเอง โดยไม่มีการเข้าไปเพ่ง เข้าไปกำหนด เข้าไปยุ่งเกี่ยวแทรกแซงหรือคาดหวังแต่อย่างใดความรู้สึกตัวล้วนๆ จึงเป็นตัวประสบการณ์ของการภาวนาโดยตัวของมันเอง การภาวนาที่ดีที่สุดจะต้องเป็นการภาวนาที่ไหลลื่นอย่างเป็นอิสระ อย่างไม่ข้องติด อย่างเป็นไปเอง เพราะฉะนั้น จงอย่าพยายามที่จะภาวนา แต่ผู้นั้นจะต้องกลายเป็นตัวการภาวนาเองอย่างนั้นหมดทั้งสิ้น ด้วยความรู้สึกตัวล้วนๆ อย่างไม่มีตัวตน และไม่มีผู้ภาวนาในการภาวนานั้น

ภูมิวิปัสสนา คือ การที่ผู้นั้นมีความรู้ความเข้าใจว่า การภาวนา หรือ การรู้สึกตัวล้วนๆ เป็นสภาวะอันเป็นธรรมชาติของจิต หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ธรรมชาติทั้งปวงของจิต จักต้องเป็นการภาวนาของผู้นั้น เมื่อผู้นั้นดำดิ่งลึกลงไปในการภาวนา ผู้นั้นไม่จำเป็นต้องแก้ไข ปรับปรุง ดัดแปลงหรือทำให้การภาวนานั้น “สมบูรณ์แบบ” ยิ่งขึ้นแต่ประการใด ผู้นั้นเพียงแต่จะต้องเฝ้าดูจิตเฉยๆ โดยปล่อยให้ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้น และเป็นไปตามสภาวธรรม อันเป็นธรรมชาติของจิตนั้นโดยไม่เข้าไปแทรกแซงแต่อย่างใดเลย เพราะฉะนั้น จงภาวนาอย่างธรรมดาที่สุด ง่ายที่สุด และตรงที่สุดด้วย ความรู้สึกตัวล้วนๆ อย่างเป็นธรรมชาติ อย่างเปิดกว้าง อย่างตื่นรู้ และอย่างตระหนักรู้ต่อทุกสิ่ง

* * *

วิชชา 8 ของพระพุทธเจ้าคือ (1) วิปัสสนาญาณ (2) มโนยิทธิ (3) อิทธิวิธี (4) ทิพพโสต (5) เจโตปริยญาณ (6) ปุพเพนิวาสานุสติ (7) ทิพพจักขุ (8) อาสวักขยญาณ คุรุ ของ “เขา” บอกว่า วิชชา 8 นี้ เริ่มต้นจาก วิปัสสนาญาณ หรือ ภูมิวิปัสสนา ซึ่งแปลตรงๆ ว่า ญาณหยั่งรู้ตามความเป็นจริง

การตามรู้ “อาการจิต 10 อย่าง” ที่ คุรุ ได้สอนพวกลูกศิษย์นั้น ท่านบอกว่าจัดเป็นองค์คุณแห่งวิปัสสนาญาณ เพราะเป็นการรู้ชัดตามความเป็นจริงในอาการเกิดของจิต ซึ่งเป็น 1 ในวิชชา 8 นอกจากนี้ การรู้อาการจิต 10 อย่าง ยังเป็นพื้นฐานของมโนยิทธิ (หรือฤทธิ์ทางใจ) และเจโตปริยญาณ (หรือการหยั่งรู้ใจตนและคนอื่น) อีกด้วย

เพราะ มโนยิทธิ ก็มีทั้งหมด 10 ภาค คือ ภาคของจิต ภาคของมโน ภาคของหทัย ภาคของมนัส ภาคของปัณฑระ ภาคของมนายตนะ ภาคของมนินทรีย์ ภาคของวิญญาณ ภาคของวิญญาณขันธ์ และภาคของมโนวิญญาณธาตุ แต่ในขั้นต้น คุรุ บอกว่า ต้องรู้ อาการของภาคแห่งจิต ก่อน คือ ต้องเข้าใจธรรมชาติของจิต 10 อาการ อย่างนี้ก่อน ส่วน เจโตปริยญาณ มีสภาพธรรมชาติที่รู้ใจ เข้าใจ ดักใจ ทายใจ แจ่มแจ้งในใจ เพราะฉะนั้น ถ้าผู้นั้นไม่รู้ใจตนเองก่อน ผู้นั้นก็ไม่มีสิทธิที่จะไปรู้ใจคนอื่นได้ ญาณหยั่งรู้ใจตนและคนอื่นจะทำได้จึงต้องรู้ใจตนที่เป็นอาการ 10 อย่างของจิตเสียก่อน

นี่คือพื้นฐานของ 3 วิชชาหลักของพระพุทธเจ้าซึ่ง คุรุ บอกว่า ผู้นั้นจะได้เรียนรู้จากการฝึกตามรู้อาการจิต 10 อย่างนี้ คุรุ ของ “เขา” ยังบอกอีกว่าการฝึกตามรู้อาการจิตต่างๆ เป็นสติ ส่วนการสามารถจำแนกอาการต่างๆ ออกมาว่าเป็นจิต เป็นมโน เป็นหทัย เป็นมนัส เป็นปัณฑระ เป็นมนายตนะ เป็นมนินทรีย์ เป็นวิญญาณ เป็นวิญญาณขันธ์นั้น ท่านบอกว่าเป็น ปัญญา หากผู้นั้นฝึกตามดูอาการจิตไปเรื่อยๆ ท่านบอกว่า ในที่สุดจะลงในอาการที่ 10 คือ มโนวิญญาณธาตุ ซึ่งเป็นปัญญาล้วนๆ เพราะผ่านการฟอกจิต ผ่านการคัดขยะออกจากจิตเพราะรู้ชัดว่าองค์ประกอบของจิตมีอะไรบ้าง

จิตที่ลุถึงองค์ประกอบของมโนวิญญาณธาตุ คือ จิตที่สัมปยุตด้วยมหากุศลเป็นสาธุจิต จิตนี้ไม่กระเพื่อมเลยมีแต่ความเย็นสงบนิ่งผ่อนคลาย แต่องค์ประกอบของ สาธุจิต หรือ มโนวิญญาณธาตุ ก็ยังมาจาก ปัณฑระ ที่เปรมปรีดา ปราโมทย์ สืบต่อเป็นมนายตนะ จากอารมณ์นี้เป็นใหญ่เป็นมนินทรีย์ ดังนั้นสาธุจิต จะเกิดขึ้นเมื่อมีองค์ประกอบเหล่านี้สมบูรณ์จนเป็นจิตที่มีกุศลที่นิ่ง เย็น รู้ชัด ผ่อนคลาย จิตแบบนี้บังคับให้เกิดไม่ได้ ต้องตามรู้กระบวนการของจิตที่ค่อยๆ เกิดแล้วก่อตัวเรื่อยๆ กระทั่งเป็นสาธุจิตหรือมโนวิญญาณธาตุเอง จนลุถึง ตทังควิมุติ หรือการหลุดพ้นชั่วคราว

อนึ่ง สาธุจิต ปัณฑระจิต หรือมโนวิญญาณธาตุ ไม่อาจเกิดได้ด้วยบุญ เพราะบุญยังเกิดจากองค์ประกอบของการสั่งสมเป็นลักษณะของตัณหา คือความอยากได้บุญ แต่ สาธุจิต ปัณฑระจิต หรือมโนวิญญาณธาตุ ต้องเกิดจาก ปัญญา บุญธรรมดาจึงไม่อาจทำให้ถึงมโนวิญญาณธาตุ ขณะที่ ปัญญา แม้จะแตกหน่อมาจากบุญอีกทีหนึ่งก็จริง แต่มันไม่มีโลภะ มันกรองมาแล้ว จึงไม่เหลือความอยากแล้ว จะเห็นได้ว่า ปัญญาที่บริสุทธิ์เกิดขึ้นได้ เพราะความหยุด สงบและพิจารณาโดยไม่มีความอยาก คนธรรมดา จึงมีอาการจิตได้แค่ จิต มโน หทัย มนัส มนายตนะ มนินทรีย์ วิญญาณ และวิญญาณขันธ์ แต่จะไม่เกิด ปัณฑระ กับ มโนวิญญาณธาตุ ซึ่งได้จากการฝึกจิต และการดูจิตเท่านั้น

ปัณฑระจิต เกิดจากการฝึก กายรวมใจ ให้ดีก่อน แล้วจึงค่อยมา ฝึกแยกจิตออกจากกาย แยกอาการทางกายออกจากอาการจิต โดยไม่ปรุงจิต ไม่ได้เก็บไว้เป็นอารมณ์ ไม่ได้น้อมไป ไม่ได้สืบต่อ จิตก็จะเฉยขึ้น เมื่อจิตเฉยมากๆ ขึ้น จิตก็จะเข้าสู่กระบวนการของการรับรู้สภาพธรรมที่ปรากฏแก่จิต แล้วก็จะเกิดความชุ่มชื่น แช่มชื่น เบิกบาน นี่คือ ปัณฑระจิต ซึ่งเป็นจิตที่ความทุกข์ไม่สามารถเข้ามาวุ่นวายครอบงำได้ จะเรียกว่า จิตประภัสสร ก็ได้ จิตแบบนี้เป็นจิตที่รุ่งเรือง สว่างจ้า จนรู้ชัดไปหมด มันทำให้เกิดความเปรมปรีดา ปราโมทย์ด้วยความรู้ชัด และไม่ยึดติดไม่หลงไม่ตกเป็นทาส ไม่อยู่ในอำนาจของความครอบงำ

สภาพธรรมของจิตที่ปรากฏอยู่อันเป็นพื้นฐานเบื้องต้นหล่อเลี้ยง ปัณฑระจิต คือ ความสงบเย็น เฉย นิ่ง ผ่อนคลาย ส่วนการทำงานของสภาพจิตที่เข้าถึง ปัณฑระจิต แล้ว จะเป็นการทำงานที่ไม่มีอารมณ์ปรุงแต่ง มีแต่ปัญญากับตัวสัญญา (ความจำได้) โดยไม่มีสุข ทุกข์ ราคะ โทสะ โมหะ มีแต่ เจตนาจิต เท่านั้น

การฝึกดูจิตนั้น นอกจากจะต้องดู “อาการจิต 10 อย่าง” ดังที่กล่าวไปแล้ว ยังจะต้องดู “ลักษณะจิต 4 อย่าง” คือ คิด-รับ-จำ-รู้ กับต้องดู “ลักษณะการปรุงจิต 3 อย่าง” คือ จิตกุศล-จิตอกุศล-จิตอัพยากฤต และยังต้องดู “สถานะจิต 3 อย่าง” คือ อดีตจิต-ปัจจุบัน-อนาคตจิต ประกอบด้วยทุกครั้ง จึงจะเป็นการดูจิตที่สมบูรณ์

คุรุ ยังบอกอีกว่า อายตนะ คือ แดนเกิดจิต หรือแดนอุบัติแห่งจิต อันเป็นกระบวนการที่ทำให้จิตเกิด อายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ส่วน อายตนะภายนอก คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อารมณ์ (สิ่งที่ถูกรู้) เนื่องจากตัวจิตเองมีลักษณะคิด-รับ-จำ-รู้ อายตนะจึงทำให้เกิดอาการจิต 10 อย่าง พอจิตเกิดแล้วก็รวมไปถึง การปรุงจิต เป็นกุศลจิตกับอกุศลจิต และอัพยากฤตจิต (จิตที่รู้เฉยๆ) และยังก่อให้เกิด สถานะจิต เป็นอดีตจิตกับอนาคตจิต และปัจจุบันจิต อีกด้วยในขณะเดียวกัน

เพราะฉะนั้น คุรุจึงบอกว่า การบรรลุในทวารทั้ง 6 หรือการบรรลุทางตา บรรลุทางหู บรรลุทางจมูก บรรลุทางลิ้น บรรลุทางกาย และบรรลุทางใจ โดยที่คำว่าบรรลุหมายถึง การหลุดพ้นจากเครื่องร้อยรัดทั้งปวง จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เรียกกันว่า “อินทรียสังวร” การบรรลุในทวารทั้ง 6 นั้น จึงหมายถึง เห็นแบบไม่ปรุง เห็นแบบไม่เกิดกุศล อกุศล แต่เกิดเป็นอัพยากฤต แค่รู้เฉยๆ เป็นกลาง รูปจึงไม่อาจครอบงำผู้นั้นได้ ผู้นั้นจึงเป็นอิสระต่อการเห็น ในทำนองเดียวกัน ผู้นั้นก็ต้องมีอิสระต่อการฟัง มีอิสระต่อการดม มีอิสระต่อการรับรส มีอิสระต่อการรับสัมผัส และมีอิสระต่อการนึกคิด

ถ้าทำเช่นนั้นได้ คนผู้นั้นก็จะมีเสรีภาพ มีความรู้เท่าทันปรากฏ มีความเข้าใจลึกซึ้งแจ่มแจ้ง มีความกระจ่าง ผ่อนคลาย โปร่งเบาสบาย และไม่โดนอะไรร้อยรัดครอบงำเกาะกุม ยกตัวอย่างเช่น เมื่อแลเห็นเพศตรงข้าม ถ้าเห็นแล้วไม่คิด ไม่ปรุงแต่ง ก็ให้ผู้นั้นขีดหรือจดแค่ช่อง “วิญญาณ” (8) แต่ถ้าผู้นั้นเห็นแล้วมาคิดปรุงแต่งว่าสวย หรือหล่อก็ให้ขีดหรือจดว่า เกิดอาการจิต 6 อย่างเกิดขึ้นคือ จิต (1) มโน (2) หทัย (3) มนายตนะ (6) มนินทรีย์ (7) และวิญญาณขันธ์ (9)

เมื่อผู้นั้นฝึกฝนดูจิตอย่างต่อเนื่องจริงจังจนวิญญาณ (8) เริ่มไม่คิด ไม่น้อม ไม่เก็บ ไม่สืบต่อ ไม่เป็นใหญ่ในอารมณ์นั้น ในที่สุดจิตของผู้นั้นก็จะเป็น อัพยากฤตจิต หรือ อัพยากฤตวิญญาณ คือจิตที่รู้เฉยๆ โดยไม่เป็นทั้งกุศลและอกุศล จิตแบบนี้ คุรุ บอกว่า เป็นจิตที่มีสติครอง มีสติเป็นเครื่องอยู่ และเป็นสภาพจิตที่เฉียดฉิวองค์ฌานแล้ว

ในสมัยที่ คุรุ ยังอยู่ในช่วงฝึกฝนตนเองอยู่นั้น ท่านมักจะใช้หูเป็นเครื่องรับรู้หลัก แล้วก็ทำความรับรู้ในเสียงที่ได้ยินทางหู โดยวางตนเป็น อุเบกขารมณ์ คือ ฝึกตัวรู้เฉยๆ ไม่ต้องคิด ไม่ต้องจำ ไม่ปรุงเป็นกุศล-อกุศล รู้แล้วเฉยๆ รู้แล้วนิ่ง รู้ไม่เคลื่อนไหว รู้ไม่ขยับขยาย รู้ไม่โยกย้าย รู้ไม่สร้างให้เกิดอารมณ์ เพราะฉะนั้น เวลาท่านจะมองรูป ก็จะมองเฉยๆ มองไม่ปรุง มันก็จะเกิด แต่วิญญาณ (ตัวรู้), วิญญาณ, วิญญาณ และก็วิญญาณเท่านั้น!

โดยเฉพาะตอนที่ คุรุ ไปอยู่ในถ้ำหรือในป่านั้น ท่านก็จะตัดเครื่องสืบต่อทางวิญญาณโดยไม่คิดตาม ไม่น้อมมา ไม่เก็บไว้ และไม่สืบต่อ เช่น ตัดตาเห็นรูป ตัดหูฟังเสียง ตัดจมูกดมกลิ่น ตัดลิ้นรับรส ตัดกายสัมผัส แต่ให้รับรู้ภายในใจ คือ ตามรู้อารมณ์ปรมัตถ์อย่างเดียวเท่านั้น

การบรรลุในทวารทั้ง 6 ด้วย อินทรียสังวร หรือการสำรวมสังวรระวังไม่ให้รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส มาก่อกำเนิดเป็นวิญญาณในกระบวนการของปฏิจจสมุปบาท จึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญมากในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เพราะถ้าหากคนเราสามารถไม่ทำอารมณ์ให้เป็นอะไร หรือไม่ปรุงแต่งอารมณ์ใดๆ ได้แล้ว ผู้นั้นก็จะไม่มีความอาลัยในอารมณ์นั้นๆ

เคล็ดในการฝึก สภาพจิตที่รู้เฉยๆ หรือ อัพยากฤตจิต ที่ คุรุ ได้ถ่ายทอดให้แก่พวกลูกศิษย์นั้น มีดังต่อไปนี้

(1) ส่งความรู้สึกเข้าไปในจิต โดยไม่ต้องสนใจลมหายใจ เพ่งไปที่จิต สภาพจิตที่รู้เฉย ฟังเฉย ดมเฉย คิดเฉย คนที่มีจิตระดับนี้แล้ว สีหน้า แววตา กิริยาท่าทางของผู้นั้น จะผ่อนคลายไปหมด

(2) จงวางเฉยต่ออารมณ์ทั้งปวง แค่สนใจไปที่จิตของตน เพ่งไปที่จิตของตน นิ่งอยู่ในความเฉยนั้น ไม่ต้องค้นหาอะไร เย็นโปร่งเบาสบาย ผ่อนคลาย วางเฉย

(3) ค่อยๆ หรี่เปลือกตา หลับตาลงอย่างผ่อนคลายและสนิทแนบแน่น ไม่วิตกกังวล หูได้ยินเสียงก็เฉย จมูกดมกลิ่นก็เฉย ลิ้นรับรสก็เฉย กายถูกต้องสัมผัสก็เฉย ใจรู้อารมณ์ก็เฉย ระวังอย่าไปเกาะกับเสียงที่ได้ยิน เพราะจะทำให้คิด ทำให้น้อมไป จึงต้องระวังอย่าให้เผลอ เพ่งความเฉยของจิตเป็นสภาพธรรมเป็นอารมณ์

(4) ความเฉยของจิตนั้นจะโล่งๆ ว่างๆ อย่างมีแสงสว่าง นุ่มนวล อบอุ่นเข้าไปสัมผัสก็จะผ่อนคลาย เป็นกลางๆ ที่เรียกว่า อุเบกขา จากนั้น ตั้งใจเพ่งความเมตตาไปสู่สัตว์ทั้งปวง ทำความรับรู้ รู้สึก นำเอาความสงบสุข สันติภาพ ความปลอดภัย ความโปร่งเบาสบาย ความผ่อนคลายที่มีอยู่ในตน แบ่งปันให้แก่หมู่สัตว์ทั้งปวง

แต่การฝึกสภาพจิตที่รู้เฉยๆ นี้ คุรุ บอกว่า ยังไม่ใช่เป้าประสงค์สูงสุดของวิปัสสนากรรมฐาน แต่เป็นแค่ ทางผ่าน ของการฝึกวิปัสสนากรรมฐานเท่านั้น เพื่อพัฒนาจิตของผู้นั้นไปสู่ สุขุมจิต ต่อไป






 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้