41. โพธิสัตตบูรณาเทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 41) 13/1/2552

41. โพธิสัตตบูรณาเทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 41) 13/1/2552

โพธิสัตตบูรณา:เทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 41)


41. ความเป็นมาของทุนนิยมสามานย์ในประเทศไทย กับภารกิจทางประวัติศาสตร์ของขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

“ทุนนิยมสามานย์” ที่ขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมุ่งที่จะ “ก้าวข้าม” ด้วย การเมืองใหม่ นั้น มีความเป็นมาอย่างไร? ผู้เขียนคิดว่าการก่อตัวของ ทุนนิยมสามานย์ ในประเทศไทยซึ่งรูปการล่าสุดคือ ระบอบทักษิณ และรวมทั้ง ระบอบหลังทักษิณ นั้น สามารถสืบสาวย้อนไปได้ถึง พ.ศ. 2531 หรือเมื่อยี่สิบปีก่อนในสมัยของรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เลยทีเดียว

แต่ก่อนที่จะกล่าวถึงการก่อตัวของ ทุนนิยมสามานย์ มีความจำเป็นที่จะต้องทบทวน พลวัตของทุนนิยมไทย ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมานี้เสียก่อน เพื่อที่จะได้เห็นความต่อเนื่อง และความเชื่อมโยงของเรื่องราวทั้งหมด จะได้เข้าใจว่า ภารกิจทางประวัติศาสตร์ของขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้นคืออะไร? พวกเขากำลังต่อสู้กับอะไรและเพื่อใคร?

พลวัตของทุนนิยมไทยที่เริ่มต้นเมื่อ 50 ปีก่อน เกิดจากการร่วมทุนทำธุรกิจร่วมกันระหว่างนายทุนไทยเชื้อสายจีนที่ผันตัวเองมาจากพ่อค้ากับบรรษัทข้ามชาติ โดยเฉพาะจากญี่ปุ่นที่ได้กลายมาเป็นพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาทุนนิยม และอุตสาหกรรมของประเทศไทยมาร่วมกึ่งศตวรรษ ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใน พ.ศ. 2501

ผู้ที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจขนานใหญ่ของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ คือ พวกข้าราชการ นักวิชาการ (เทคโนแครต) จำนวนหนึ่งที่ได้รับการศึกษาจากประเทศตะวันตก ในแง่นี้จึงต่างจาก ทุนนิยมสามานย์อย่างระบอบทักษิณ ที่ผู้ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจกลับมาจากผู้นำจากภาคธุรกิจเอกชนที่ผันตัวเองมาเป็นนักการเมือง

พวกเทคโนแครตส่วนใหญ่นี้เป็น “ลูกจีนรักชาติ” ตัวแทนที่เด่นชัดของข้าราชการ นักวิชาการที่เป็นลูกจีนในรุ่นนั้นก็คือ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ พวกเขามีส่วนผลักดันกระบวนการเศรษฐกิจที่ “ก้าวข้าม” ลัทธิชาตินิยมเชิงชาติพันธุ์ในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยยืนอยู่บนจุดยืนที่ว่า ไม่ว่าจะเป็นทุนไทย ทุนจีน หรือทุนต่างชาติ ถ้าหากมีส่วนช่วยยกระดับประเทศไทยให้เป็นรัฐชาติที่ทันสมัย ทำให้ประเทศสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมได้ล้วนน่ายอมรับทั้งนั้น

นโยบายเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ จึงส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อทุนพ่อค้าชาวจีนในประเทศไทยขณะนั้น (พ.ศ. 2501) ให้ผันตัวเองจาก ทุนพ่อค้า ที่มีความไม่แน่นอนไปเป็น ทุนอุตสาหกรรม ที่แน่นอนกว่า สิ่งนี้เกิดขึ้นพร้อมๆ กับความจำเป็นที่พ่อค้าชาวจีนจะต้องกลมกลืนตัวเองให้กลายเป็นคนไทย ภายหลังจากที่พวกเขาถูก “ตัดขาด” จากมาตุภูมิประเทศจีนที่กลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ตั้งแต่เกิด การปฏิวัติจีนใน พ.ศ. 2492 เพราะฉะนั้น เพื่อที่จะรักษาสถานภาพ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมที่พวกเขามีอยู่ พวกเขาจึงตัดสินใจที่จะฝังรกรากในประเทศไทยอย่างถาวร และพยายามมีความเป็นคนไทยให้มากยิ่งขึ้นอย่างเต็มใจ

พวกเขานี้แหละคือ ตัวตนที่แท้จริงของ “ทุนชาติ” ของประเทศนี้ในเวลาต่อมา และเป็นพลังผลักดันที่สำคัญยิ่งพลังหนึ่งให้แก่การพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมของประเทศไทย จนกระทั่งถึงยุคเศรษฐกิจฟองสบู่แตกใน พ.ศ. 2540

ลักษณะทางวัฒนธรรมแบบจีนที่ยังหลงเหลือของพวกเขา ส่งผลให้พฤติกรรมทางธุรกิจและระบบธุรกิจของพวกเขา ยังคงมีลักษณะเชิงพ่อค้ามากกว่านักอุตสาหกรรม ยังคงพึ่งพาระบบบริหารธุรกิจแบบครอบครัว และเครือข่ายสัมพันธ์กับคนจีนในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ และที่อื่นๆ มากกว่ามุ่งพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นของตนเอง

เพราะฉะนั้น เมื่อพวกเขาได้ตัดสินใจย้ายธุรกิจหลักของตน จากสาขาพาณิชยกรรมไปสู่สาขาหัตถอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ทุนคงที่จำนวนมหาศาลในการซื้อเครื่องจักรอุปกรณ์การผลิต และการสร้างโรงงานสมัยใหม่ ในขณะที่พวกเขาเองก็ไม่ค่อยมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีทางการผลิตมาก่อน

การประกาศใช้นโยบายส่งเสริมการเข้ามาลงทุนของชาวต่างชาติของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ จึงช่วยให้พวกเขาตัดสินใจได้ง่ายขึ้นที่จะร่วมทุนกับบริษัทญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการประสานกันอย่างลงตัวระหว่างความเชี่ยวชาญทางการตลาด ภายในประเทศของพ่อค้าชาวจีนกับเงินทุนและเทคโนโลยีของบริษัทญี่ปุ่น

กลุ่มธุรกิจหัตถอุตสาหกรรมของคนไทยเชื้อสายจีนที่ขยายฐานเศรษฐกิจ และเติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็วตั้งแต่ พ.ศ. 2503 มีอยู่ราวๆ 24 กลุ่มเท่านั้น นอกเหนือไปจากกลุ่มการเงินใหญ่ 4 ตระกูล (หวั่งหลี, ล่ำซำ, โสภณพนิช และเตชะไพบูลย์) ที่มีฐานะเป็นผู้นำของสังคมชาวจีนในประเทศไทยขณะนั้น

ใน 24 กลุ่มนี้มีถึง 17 กลุ่มที่เคยทำธุรกิจนำเข้าหรือเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้านั้นมาก่อน แต่ใน 24 กลุ่มนี้ ไม่มีกลุ่มไหนเลยที่เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก และขนาดกลางที่จบสายช่างมาแล้วพัฒนาธุรกิจของตนเองจนกลายเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เหมือนอย่างกลุ่มโตโยต้า กลุ่มมัตสุชิตะ (พานาโซนิค) กลุ่มโซนี่ ฯลฯ ของประเทศญี่ปุ่น

ในช่วงก่อน พ.ศ. 2503 ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางในประเทศไทย (SMEs) เป็นปัญหาอุตสาหกรรมท้องถิ่นดั้งเดิม ซึ่งแทบไม่มีความเกี่ยวข้องอันใดเลยกับภาคอุตสาหกรรมสมัยใหม่ กล่าวคือ มีแต่ SMEs เฉพาะใน ภาคเศรษฐกิจตลาด เท่านั้น แต่แทบไม่มี SMEs ใน ภาคเศรษฐกิจทุนนิยม ซึ่งต้องเป็นธุรกิจที่มีความสัมพันธ์เชิงแบ่งงานทางอุตสาหกรรมกับธุรกิจขนาดใหญ่เลย

ปัญหา SMEs ในภาคเศรษฐกิจทุนนิยมของประเทศไทย จึงเพิ่งเริ่มปรากฏขึ้นพร้อมๆ กับการขยายตัวของอุตสาหกรรมของประเทศนี้ หลัง พ.ศ. 2501 โดยที่ตัวชี้ขาดในความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการบ่มเพาะ และพัฒนาธุรกิจ SMEs ในประเทศนี้ ก็ยังคงเป็น ชนชั้นกลางไทยเชื้อจีน ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และกลายเป็นทัพหลักของการพัฒนาทุนนิยมไทยมาโดยตลอดอยู่ดี

จึงพอสรุปได้ว่า กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมไทยเป็นผลลัพธ์ที่ลงตัวระหว่างตรรกะของทุนต่างชาติกับความต้องการอันเกิดจากความจำเป็นของรัฐบาลไทย และจิตใจแบบ “เถ้าแก่” หรือ “ผู้ประกอบการ” ของพ่อค้าจีนในไทยที่ผันตัวมาเป็นนักอุตสาหกรรม โดยที่พ่อค้าจีนในไทย โดยเฉพาะพวกลูกจีนรุ่นต่อๆ มาสามารถฉีกตัวเองจาก นายทุนนายหน้า จนกลายมาเป็นผู้บริหารอุตสาหกรรม และเป็นตัวตนที่แท้จริงของพลวัตของระบบทุนนิยมไทยได้จนถึงราวๆ พ.ศ. 2530 ก่อนที่จะเกิด การก่อตัวของทุนนิยมสามานย์ ขึ้นมาแทนที่ และนำมาซึ่ง การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในทิศทางและรูปแบบของการพัฒนาทุนนิยมในประเทศไทย หลังจากนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

การก่อตัวของ ทุนนิยมสามานย์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2531 แยกไม่ออกจาก การเสื่อมทรุดของพลวัตของทุนนิยมไทยก่อนหน้านั้น ที่มีที่มาจากปัญหา “คน” ในระบบธุรกิจขนาดใหญ่ของทุนไทย และปัญหาการขาดการสะสมเทคโนโลยีเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของทุนไทย

ความที่บริษัทขนาดใหญ่ของไทย ล้วนต้องพึ่งพาเทคโนโลยีของบรรษัทข้ามชาติโดยผ่านการร่วมทุน เมื่อผนวกกับข้อจำกัดของการบริหารธุรกิจแบบครอบครัว ทำให้ในสายการผลิต พวกวิศวกรผู้รับผิดชอบในการผลิต จึงมีแนวโน้มที่จะหันไปเรียนต่อทางด้าน MBA หรือด้านบริหารธุรกิจเพื่ออนาคตของการไต่เต้าไปเป็นนักบริหาร ด้วยตระหนักดี ขีดจำกัดในการไต่เต้าของตนเองภายในบริษัทในฐานะที่เป็นวิศวกร

พฤติกรรมเช่นนี้ ถ้ามองจากสายตาของบริษัทก็คือ การละทิ้งทอดทิ้งการสร้างสมเทคโนโลยีภายในบริษัท ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทอ่อนแอลงในอนาคตอันใกล้ แต่ถ้ามองจากจุดยืนของตัววิศวกรเองแล้ว ก็เป็นเรื่องช่วยไม่ได้ที่จะต้องเป็นเช่นนั้น ทั้งนี้ก็เพราะว่า ระบบการบริหารของบริษัทไทย ยังเป็นแบบครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ มิหนำซ้ำยังไม่ค่อยให้ความสนใจในการยกระดับเทคโนโลยีของบริษัทอย่างต่อเนื่อง และอย่างกระตือรือร้นนัก จึงทำให้ช่องทางในการเติบโตไต่เต้าทางวิชาชีพของพวกวิศวกรภายในบริษัทมีจำกัด ต่างฝ่ายต่างก็เลย ยิ่งมีพฤติกรรมแบบลัทธิฉวยโอกาส และก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่ดีต่อทุกฝ่ายในเวลาต่อมา นั่นคือ พื้นฐานทางเทคโนโลยีของบริษัทไทย มีความอ่อนแอ และจำต้องพึ่งพาบรรษัทข้ามชาติทางด้านเทคโนโลยีต่อไป

ไม่แต่เท่านั้น บริษัทไทยเองก็ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะของคนงานไทยในโรงงานอีกด้วย เมื่อเป็นเช่นนั้นคนงานไทยที่ได้รับค่าจ้างที่ค่อนข้างต่ำ จึงต้องแสวงหารายได้ที่สูงขึ้นด้วยการเปลี่ยนงานบ่อยๆ และยิ่งเศรษฐกิจอุตสาหกรรมโดยภาพรวมอยู่ในภาวะที่ขาดแคลนแรงงานฝีมือ ก็เลยยิ่งทำให้ลัทธิฉวยโอกาสในหมู่คนงานไทยมีมากขึ้น ซึ่งก็มีผลทำให้พื้นฐานทางเทคโนโลยีของบริษัทไทยอ่อนแอลงด้วยเช่นกัน

เมื่อเข้าสู่ทศวรรษที่ 2530 พลวัตในการแข่งขันกับต่างประเทศของทุนไทย และบริษัทขนาดใหญ่ของไทย จึงเริ่มอ่อนพลังลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อันเนื่องมาจากปัญหา “คน” ดังข้างต้น แต่แทนที่ผู้นำกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ของไทย และนายทุนไทยจะหันมาปรับปรุงพัฒนาเทคโนโลยีของตนเพื่อผดุงความสามารถในการแข่งขันเอาไว้ พวกเขากลับเลือก “ทางง่าย” อย่างมักง่าย ด้วยการขยายฐานธุรกิจของตนไปสู่ภาคบริการ และอสังหาริมทรัพย์ซึ่งไม่ต้องใช้เทคโนโลยีที่สูงนักแทน หรือไม่ก็หันไปแสวงหา ค่าเช่าทางเศรษฐกิจ ด้วยการเข้าไปเล่น ธุรกิจการเมือง แทนการแสวงหากำไรจากภาคหัตถอุตสาหกรรมเหมือนที่ผ่านมา อีกทั้งยังหันไปสู่ การเก็งกำไร ในตลาดหุ้นและที่ดินเป็นรูปแบบหลักในการสะสมความมั่งคั่งแทน

นี่แหละคือ จุดเริ่มต้นของ ทุนนิยมสามานย์ ในประเทศไทยตั้งแต่ทศวรรษที่ 2530 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ที่มีลักษณะพิเศษตรงที่ ทุนหลัก (dominant capital) ในทุนนิยมสามานย์นี้เป็น ทุนเก็งกำไร และเป็น ทุนที่มุ่งแสวงค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (rent seeking) จากการผูกขาดสัมปทานเป็นสำคัญ นายทุนไทยที่ครอบงำทุนนิยมสามานย์ในประเทศไทย หลังจากนั้นจึงกลายเป็นผู้แสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจซึ่งหมายถึง นายทุนที่มุ่งสร้างเส้นสาย (connection) กับผู้มีอำนาจในรัฐบาล เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจของพวกตน เนื่องจากแหล่งที่มาแห่งผลประโยชน์ของพวกเขามาจากสัมปทาน และสิทธิประโยชน์ที่รัฐบาลมอบให้ เพราะฉะนั้น ผลประโยชน์หรือความร่ำรวยมั่งคั่งที่พวกเขาได้รับ จึงมีลักษณะเป็น ค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (economic rent) มากกว่าที่จะเป็น กำไร (profit)ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้มาจากการแข่งขันกันอย่างยุติธรรม

จะเห็นได้ว่า รูปแบบการสะสมความมั่งคั่งของ นายทุนหลักในระบบทุนนิยมสามานย์ จะเป็น พวกแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นที่มาของการคอร์รัปชันหรือการกินบ้านกินเมืองอย่างมโหฬาร อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประเทศไทย ในช่วงก่อนที่จะกลายมาเป็นทุนนิยมสามานย์ใน พ.ศ. 2531

เท่านั้นยังไม่เลวร้ายพอ นอกจากนายทุนหลักในระบบทุนนิยมสามานย์ของประเทศไทย จะเป็น พวกแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ แล้ว พวกเขายังเป็น นักเก็งกำไร ในคนคนเดียวกันด้วย นักเก็งกำไรคือผู้ที่กล้าเสี่ยงในการลงทุนในตลาดหุ้นและอสังหาริมทรัพย์เพื่อหวังผลตอบแทนจำนวนมหาศาล อันที่จริงพฤติการณ์เก็งกำไรโดยตัวมันเอง มิใช่สิ่งที่เลวร้ายเสมอไปในวงการธุรกิจที่มีความเสี่ยงอยู่แล้ว แต่เมื่อใดก็ตามที่ลักษณะนักเก็งกำไรนี้ไปผนวกกับนักธุรกิจการเมือง และการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ เมื่อนั้นมันจะกลายเป็นทุนนิยมสามานย์ และทุนนิยมฟองสบู่ไปพร้อมๆ กัน และจะนำมาซึ่งความหายนะให้แก่ประเทศนั้นไม่ช้าก็เร็ว

ลักษณะพิเศษที่ชี้ให้เห็นถึงปรากฏการณ์ของทุนนิยมสามานย์ในประเทศไทย นับตั้งแต่ พ.ศ. 2531 เป็นต้นมาคือ การเป็นทุนนิยมพึ่งพาที่พัฒนาอุตสาหกรรมแต่ไร้เทคโนโลยี หรือมิได้ทำให้เกิดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เป็นของตนเอง เมื่อผนวกกับคุณภาพที่ต่ำในการเข้ามาแทรกแซงชี้นำทางเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ทั้งไร้ประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดความสูญเปล่าทางเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล จึงทำให้ ทุนหลัก และ นายทุนหลักของไทย ที่เผชิญกับขีดจำกัดในการพัฒนาระบบทุนนิยมให้เจริญรอยตามประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เพราะตัวเองขาดพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่เข้มแข็งพอที่จะแข่งขันกับต่างประเทศอย่างยั่งยืนได้ต้องผันตัวเองกลายมาเป็น พวกแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ และ นักเก็งกำไร เพื่อเป็นรูปแบบใหม่ในการสะสมความมั่งคั่งแทน จนเป็นที่มาของ ทุนนิยมสามานย์ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ประวัติศาสตร์ทุนนิยมสามานย์ไทย นับตั้งแต่ พ.ศ. 2531 เป็นต้นมา จะค่อยๆ เปิดเผยออกมาเองว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คือ ตัวแทนของทุนหลักแห่งยุคทุนนิยมสามานย์นี้ บุคคลผู้นี้แหละที่ต่อมาจะก่อให้เกิด ระบอบทักษิณ ที่สร้างความวอดวายให้แก่ประเทศนี้อย่างที่ไม่เคยมีผู้ใดทำได้มาก่อน แต่ในขณะนั้น (พ.ศ. 2531) บุคคลผู้นี้เป็นแค่นักธุรกิจวิ่งเต้นรายหนึ่งที่กำลังดิ้นรนแสวงหาความสำเร็จทางวัตถุให้แก่ตนเองและครอบครัว โดยผ่านการสร้างเส้นสายกับผู้มีอำนาจในรัฐบาลเท่านั้น







 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้