44. โพธิสัตตบูรณาเทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 44) 3/2/2552

44. โพธิสัตตบูรณาเทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 44) 3/2/2552

โพธิสัตตบูรณา:เทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 44)



44. ความเป็นมาของทุนนิยมสามานย์ในประเทศไทย กับภารกิจทางประวัติศาสตร์ของขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (ต่อ)

คนเรานอกจาก “ตัวตน” (Self) แล้ว “อำนาจ” (Power) น่าจะเป็นมายาภาพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอีกอย่างหนึ่งของมนุษย์ โดยเฉพาะ อำนาจทางการเมือง ขอให้พวกเราลองคิดดูถึงชะตากรรมของ ผู้มีอำนาจ ทั้งหลายตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันก็ได้ แล้วก็จะเห็นว่า พวกเขาล้วนอาศัยชื่อเสียง หรือไม่ก็กำลังทรัพย์ หรือไม่ก็อิทธิพลตำแหน่ง ซึ่งล้วนเป็น ของนอกกายตน เพื่อ “ประกาศศักดา” หรือเพื่อ “โอ้อวดแสนยานุภาพ” ของตนเท่านั้นเองว่า ตัวเอง “เหนือล้ำ” กว่าคนอื่นและทุกผู้คน แค่นั้นจริงๆ

พวกเขาเหล่านี้ทั้งหลงใหลและเสพติดใน “อำนาจ” เนื่องจาก “อำนาจ” มันทำให้ตัวเขารู้สึกดียิ่งกับตนเอง เมื่อนำตนเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นหรือทุกผู้คน แต่ยามใดก็ตามที่พวกเขาสูญเสีย อำนาจภายนอก ซึ่งเป็นของนอกกายทั้งหลายไป มันจะกลายเป็นความทุกข์อันใหญ่หลวงสำหรับพวกเขา เพราะการสูญเสียอำนาจมันทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองมิใช่ “ผู้ยิ่งใหญ่” อีกต่อไป หากทว่าเป็นประชาชนคนธรรมดาเช่นเดียวกับคนอื่น ซึ่งความรู้สึกอย่างนี้มันช่างขมขื่นเกินกว่าที่อัตตาของพวกเขาจะยอมรับได้

แท้จริงแล้ว “อำนาจ” เป็นเพียงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์เชิงสมมติเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อำนาจทางการเมือง มันจะมีความหมายก็ต่อเมื่อมันสามารถสร้างความพอใจให้แก่ผู้อยู่ใต้อำนาจทางการเมืองนั้นในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเท่านั้น มิเช่นนั้นแล้วก็จะไม่ได้รับฉันทานุมัติให้ใช้อำนาจในการปกครอง ต่อให้กุมอำนาจอยู่ก็จะถูกต่อต้าน ไม่สามารถปกครองใครได้อย่างแท้จริง สุดท้ายก็จะนำไปสู่การสูญเสียอำนาจในที่สุด

โครงสร้างอำนาจทางการเมืองของสังคมไทยได้มี การย้ายอำนาจ (Power Shift) อย่างค่อนข้างชัดแจ้ง หลังจากที่ประเทศไทยได้พัฒนาไปเป็นทุนนิยมสามานย์ตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมา ถ้ากล่าวตามหลักวิชาการอย่างกว้างๆ ด้วยมุมมองที่กว้างไกลแล้ว ทิศทางของ กระบวนการย้ายอำนาจ นั้นจะเคลื่อนย้ายอำนาจจาก อำนาจที่มาจากกองกำลังติดอาวุธ โดยผู้กุมอำนาจคือ พวกขุนศึก (กองทัพ) ไปสู่ อำนาจที่มาจากเงิน โดยผู้กุมอำนาจคือ พวกนักการเมือง (นักธุรกิจ-การเมืองผูกขาด) และไปสู่ อำนาจที่มาจากความรู้ โดยผู้กุมอำนาจคือ ปัญญาชนผู้มีจิตสำนึกทางการเมืองและมีคุณธรรม ในที่สุด

แต่ในขั้นตอนปัจจุบันของสังคมไทยที่เริ่มเข้าสู่การพัฒนาไปเป็นทุนนิยมสามานย์ตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนั้น กระบวนการย้ายอำนาจ เพิ่งเคลื่อนย้าย อำนาจจากเผด็จการทหาร ไปสู่ อำนาจจากเผด็จการรัฐสภาโดยนายทุนผูกขาด และนักการเมือง ที่ใช้เงินซื้อเสียงเข้ามายึดสภาแบบเบ็ดเสร็จเท่านั้น สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงด้านที่เป็น การเมืองสามานย์ ของสังคมไทย อันเป็นโครงสร้างส่วนบนที่ถูกกำหนดบางส่วนโดยวัฒนธรรมอุปถัมภ์ และบางส่วนโดยฐานเศรษฐกิจที่เป็นทุนนิยมสามานย์ซึ่งไร้เทคโนโลยี และมุ่งแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจเป็นหลัก

ในอีกด้านหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นถึงความยากลำบากในการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่ใสสะอาดอย่างแท้จริงขึ้นในสังคมไทยด้วย เพราะถูกขัดขวางจาก เผด็จการทหาร ในอดีต ต่อมาก็ถูกขัดขวางจาก เผด็จการรัฐสภา ซึ่งรูปการณ์ล่าสุดคือ ระบอบทักษิณ หรือ ระบอบธนาธิปไตย นั่นเอง ธนาธิปไตย คือการเมืองการปกครองที่อำนาจตกไปอยู่ในกลุ่มของคนมีเงินกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่ได้ใช้เงินจำนวนมากมายมหาศาลเข้าสู่อำนาจรัฐ แล้วใช้อำนาจรัฐที่ได้มาแสวงหาผลประโยชน์ต่างๆ ให้แก่ตัวเองและพวกพ้อง สร้างความวิบัติให้แก่ประเทศและประชาชน

การลุกขึ้นมาสู้ของเหล่าปัญญาชนผู้มีองค์ความรู้ และมีจิตสำนึกทางการเมืองที่สูงส่งต่อ อำนาจที่มาจากเงินของเผด็จการรัฐสภา ด้วย อำนาจที่มาจากความรู้ จึงเป็นปรากฏการณ์ที่จะต้องเกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็ว ถ้าหากสังคมไทยจะต้องมีวิวัฒนาการยิ่งๆ ขึ้นต่อไป เพียงแต่ในบริบททางประวัติศาสตร์ของสังคมไทย การลุกขึ้นสู้กับ เผด็จการรัฐสภา ที่เป็นตัวแทนของ อำนาจที่มาจากเงิน ด้วย อำนาจที่มาจากความรู้ นั้น มันปรากฏออกมาในรูปการณ์ของ ขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เชิดชู คติแบบราชาชาตินิยม เท่านั้น

ถึงแม้ว่าขบวนการพันธมิตรฯ จะเชิดชูรูปการณ์ทางความคิดที่ออกแนว “ขวาใหม่” ซึ่งสอดคล้องกับบริบททางจิตสำนึกของคนไทยจำนวนมากก็จริง แต่โดยแก่นแท้แล้ว นี่คือ ขบวนการภาคประชาชนที่มีพลวัตแห่งพลังอำนาจทางสังคมที่สูงยิ่ง อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ เพราะฉะนั้น พลังอำนาจทางสังคมของขบวนการพันธมิตรฯ นี้จึงไม่เพียงทรงพลังอย่างยิ่งในการต่อต้านโค่นล้ม เผด็จการรัฐสภา หรือ ระบอบทักษิณ เท่านั้น แต่ยังทรงพลังอย่างยิ่งในการผลักดันสังคมไทยให้ ก้าวล่วง ไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ใสสะอาดยิ่งขึ้นด้วย “การเมืองใหม่” ได้อีกด้วย

หลังจากที่เศรษฐกิจฟองสบู่ในประเทศไทยแตกในปี 2540 กลุ่มทุนไทยขนาดใหญ่ที่รอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 อย่างหวุดหวิดได้แลเห็นความจำเป็นที่จะต้องเข้ามา ยึดอำนาจรัฐผ่านระบบการเลือกตั้ง เพื่อใช้อำนาจรัฐปกป้องธุรกิจของพวกตนจากความผันผวนของเศรษฐกิจแบบโลกาภิวัตน์ที่ยากจะคาดการณ์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกเขาต้องการได้อำนาจรัฐเมื่อมาใช้สนับสนุนส่งเสริมกลุ่มธุรกิจของตนและพวกพ้อง รวมทั้งให้อภิสิทธิ์แก่กลุ่มตนและพวกพ้องด้วยการกำหนดกฎกติกาและนโยบายที่เอื้อประโยชน์แก่ตนและพวกพ้อง พรรคไทยรักไทยภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ขึ้นมาเถลิงอำนาจในปี 2540 คือ ตัวแทนของกลุ่มทุนไทยขนาดใหญ่กลุ่มนี้นั่นเอง

เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของกลุ่มทุนไทยขนาดใหญ่ที่สนับสนุนพรรคไทยรักไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะเห็นได้ว่า ส่วนใหญ่ของกลุ่มทุนเหล่านี้ ดำเนินธุรกิจที่ต้องอาศัยใบอนุญาตหรือสัมปทานจากภาครัฐ หรืออย่างน้อยการมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับภาครัฐ เพื่อเอื้ออำนวยในเรื่องกฎกติกา เป็นสิ่งจำเป็นในการประกอบธุรกิจของพวกเขา เพราะฉะนั้นในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 การที่พวกนายทุนเหล่านี้ได้ผันตัวเองมาเป็น “นักการเมือง” โดยตรงเพื่อยึดกุมอำนาจรัฐ จึงมีความสมเหตุสมผลทางธุรกิจในการที่ลดความเสี่ยงทางธุรกิจของตน โดยการเข้ามาเป็นผู้กำหนดนโยบายโดยตรงด้วยตนเอง “การเมือง” สำหรับพวกนายทุนเหล่านี้ จึงเป็นเรื่องของ “วิธีคิดแบบนักธุรกิจ” ล้วนๆ หาได้มีอุดมคติหรืออุดมการณ์ทางการเมือง อย่างที่พยายามสร้างภาพแต่อย่างใดไม่

จะว่าไปแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มิได้ใช้เพียง อำนาจเงิน เท่านั้น ในการเข้ามาสู่ อำนาจรัฐ โดยการก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2544 โดยได้รับแรงสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากประชาชนส่วนใหญ่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ความสามารถในการตอบสนอง “ความรู้สึกไม่มั่นใจในอนาคต” ของคนไทยส่วนใหญ่หลังวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่ในปี 2540 ของเขาต่างหากที่เป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดที่ทำให้ตัวเขา และพรรคไทยรักไทยของเขาชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายได้

คนไทยส่วนใหญ่ในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ตกอยู่ใน “มายาของอัตลักษณ์” ชนิดหนึ่งที่ด้านหนึ่งก็อยากจะโอ้อวดว่า พวกตนและประเทศของตน “ทันสมัย” อยู่แถวหน้าของประชาคมโลก แต่ในอีกด้านหนึ่ง พวกเขาก็พอใจกับการหลอกตนเองหรือเพ้อฝันเกี่ยวกับตนเองไปวันๆ ว่าพวกตนยังคงเป็น “คนไทย” อยู่เช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลงในส่วนลึก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับวาทกรรมของเขา สามารถตอบสนอง “มายาของอัตลักษณ์” ข้างต้นของคนไทยส่วนใหญ่ได้เป็นอย่างดี อย่างน้อยก็ในช่วงสองปีแรกของการขึ้นมากุมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จของตัวเขา

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ใช้ วาทกรรมที่เป็น “เรื่องเล่า” ที่ตัวเขาและรัฐบาลของเขาเฝ้าเป่าหูกรอกหูประชาชนมาโดยตลอด จนคนไทยส่วนใหญ่ในตอนแรกๆ ตกหลุมพรางหลวมตัวหลงเชื่อในสิ่งที่เป็น “เรื่องเล่า” ที่ตัวเขาพร่ำบอกว่า “เรามาถูกทางแล้ว”

“เรื่องเล่า” อันเป็น มายาคติ ที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพวกสมุนของเขาได้พร่ำบอกกับคนไทยส่วนใหญ่ก็คือ ขอให้เชื่อมั่นในการนำของเขา เพราะเขาจะนำพาคนไทยทั้งผองให้หลุดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ไปสู่ความมั่งคั่งเทียบเท่าอารยประเทศได้อย่างแน่นอน ด้วยแนวทางแบบทักษิโณมิกส์ของเขา

ในช่วง 3 ปีแรกภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดัชนีตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ “ดูดีขึ้น” อย่างน่าอัศจรรย์ด้วยการนำเงินจากอนาคตอัดฉีดเข้าสู่ระบบ โดยไม่คำนึงถึงประสิทธิผลทางเศรษฐกิจ กับด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจฟองสบู่ให้พองโตขึ้นมาอีกครั้ง โดยเฉพาะในตลาดหุ้นโดยหวังว่าจะควบคุมมันได้ ในขณะนั้นจึงมีผู้คนเป็นจำนวนมากในประเทศนี้ที่ “เทใจ” ให้กับผู้นำของพวกเขา ด้วยความเชื่อมั่นจากใจจริงว่า “เรื่องเล่า” ที่ผู้นำของพวกเขากล่อมให้ประชาชนอย่างพวกเขาฟังอยู่ทุกเช้าค่ำนั้น จะเป็นจริงอย่างแน่นอน และคนจนจะหมดจากประเทศนี้ภายใน 6 ปีอย่างแน่นอน

“เรื่องเล่า” ที่เป็น มายาคติ ที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้นำมา “ขายฝัน” ให้แก่ประชาชนด้วย ลัทธิการตลาด อันลึกล้ำจนกระทั่วตัวเขาก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จนั้น มี ตัวเขาเป็นพระเอกดุจอัศวินม้าขวา โดยที่ตัวเขาคือ ความหวังของประเทศนี้ การแสดงออกของเขาในช่วงนั้น คือ การใช้ชีวิตเพื่อให้ “เรื่องเล่า” นี้เป็นความจริงโดยที่ประชาชนส่วนใหญ่ก็แค่สวมบทบาทไปตาม “เรื่องเล่า” ของเขาเท่านั้น กล่าวคือ

“พวกเจ้าคนไทยทั้งหลาย จงมุมานะทำงานหนักในตอนกลางวัน มอมเมาตัวเองด้วยสุราหรือละครโทรทัศน์ในตอนกลางคืน และจงพยายามที่จะไม่วิตกวิจารณ์อะไรมากนักเกี่ยวกับปัญหาของบ้านเมืองที่สะสมอย่างหมักหมมอยู่ในขณะนี้ ที่เหลือปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้นำอย่างข้าเป็นคนจัดการ และรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว”

ฐานคิดที่เป็นอวิชชาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คือโลกทัศน์ที่มุ่งจะพิชิตโลกพิชิตทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้าเขา จนกว่าตัวเขาจะสามารถปกครองได้อย่างเบ็ดเสร็จ และสมบูรณ์แบบด้วยความเชื่อ และการโฆษณาชวนเชื่อของเขาว่า ตัวเขาสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมนี้ให้กลายเป็นสวรรค์บนดินได้...สวรรค์ที่อยู่ภายใต้การปกครองของเขาที่ทำตัวประหนึ่ง “เทวดาเดินดิน”

ในตอนนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้เล่นบทพระเอกใน “เรื่องเล่า” เรื่องนี้ยังไม่ได้ตระหนักเลยว่า พระเอกในเรื่องเล่าเรื่องนี้ ซึ่งก็คือตัวเขาจะมีชีวิตอยู่อย่างรุ่งโรจน์เพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น เพราะหลังจากนั้นอีกไม่นานพร้อมๆ กับ การปรากฏตัวของขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในช่วงต้นปี 2549 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะได้เห็นด้วยตาของเขาเองพร้อมๆ กับผู้คนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ว่า “สวรรค์” ของเขากำลังล่มลง เพราะความหลง ความเขลา ความโลภ ความชอบความรุนแรง ความมีสายตาสั้น และการเล่นพวก อันเป็นกิเลสธรรมดาของปุถุชนคนหนึ่งอย่างตัวเขา ที่มิได้วิเศษเหมือนอย่างภาพลักษณ์ที่ตัวเขาได้เพียรสร้างขึ้นมาในช่วงแรกแต่อย่างใดเลย







 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้